คุณแม่ร้องขอ คุณหมอขอร้อง (Maternal request or Doctor require)

เมื่อไม่นานมานี้ ในการประชุมประจำสัปดาห์ของแผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลตำรวจ วันนั้น ข้าพเจ้าได้รายงานสถิติการผ่าตัดของแพทย์ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าแปลกใจมากที่พบคำย่อคำหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด คือ คำว่า “CDMR” ข้าพเจ้าถามในที่ประชุมว่า คำนี้ ย่อมาจากอะไร? นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งตอบว่า ‘ย่อมาจาก Cesarean section due to maternal request’ แปลว่า ‘ผ่าตัดคลอดเนื่องจาก ตัวคนไข้ (คุณแม่) ร้องขอ ให้คุณหมอทำ’ นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ยินคำเต็มนี้ แต่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับรู้มาเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ อาจารย์ที่ปรึกษาข้าพเจ้ากลับจากองค์การอนามัยโลก ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้พูดถึงข้อบ่งชี้นี้ว่า ถือปฏิบัติกันแล้ว แต่..ไม่มีใครสนใจ หรือนำไปใช้..ซึ่งคงเป็นเพราะเป็นเรื่องใหม่เกินไป และข้าพเจ้าก็ไม่ใช่คนสำคัญ \r\nวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรแทนสูติแพทย์ที่ลาพักหลังคลอด วันนั้น มีคนไข้ท้อง 2 คน มาที่ห้องคลอด คนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณเรณู อายุ 35 ปี มาถึงห้องคลอด ราว 9 นาฬิกา พยาบาลห้องคลอด โทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้าที่บ้านว่า “หมอ! หมอ! มีคนไข้รายหนึ่ง มาห้องคลอด ท้องที่ 2 คนไข้สูง 144 เซนติเมตร ท้องแรก คนไข้คลอดเอง ท้องนี้ หมอจะทำอย่างไรดี ตอนนี้ ปากมดลูกของคนไข้เปิด 1 เซนติเมตร ความบาง 75 %” \r\n“เออ! เตรียมคนไข้ไว้ผ่าตัดคลอดเลย…ให้น้ำเกลือ และสวนถ่ายอุจจาระด้วย” ข้าพเจ้าตอบไป โดยไม่ได้คิดอะไร เพราะคนท้องที่สูงเพียง 144 เซนติเมตร ในทางการแพทย์ ถือว่า ตัวเตี้ย (Short stature) หากคลอดเองตามธรรมชาติ ทารกมีโอกาสติดไหล่ (Shoulder dystocia) และเสียชีวิต หรือพิการ… พูดจบ ข้าพเจ้าก็ยังคงพักผ่อนอยู่บ้าน และดูหนังโปรดของข้าพเจ้าต่อ\r\nราว เที่ยงวันของวันนั้น หลังจากอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกเดินทางจากบ้านไปที่ห้องผ่าตัดและลงมือผ่าตัดคลอดทันที ตอนนั้น มีนักศึกษาแพทย์เข้าช่วยผ่าตัดด้วย นักศึกษาแพทย์คนนั้นพูดด้วยอารามตกใจว่า ‘เด็กตัวใหญ่มาก!! อาจารย์เก่งจังเลย’\r\n‘เก่งอะไรกัน!!’ ข้าพเจ้าตอบ ‘พี่โทรศัพท์มาสอบถามเกี่ยวกับคนไข้เมื่อเช้า พยาบาลบอกว่า คนไข้อยากจะขอผ่าคลอดได้ไหม?? พี่ก็บอกว่า OK!! ก็แค่นั้น’ \r\nความจริง คือ ข้าพเจ้าซักประวัติคนไข้ ได้ความว่า “คุณเรณูเคยคลอดบุตรมาแล้ว 1 คน อายุ 5 ขวบ น้ำหนักแรกคลอดของบุตรคนก่อน คือ 3,800 กรัม คุณหมอต้องใช้เครื่องดูดช่วยคลอด มิฉะนั้น ก็คลอดไม่ได้ โชคดีนะ!! ที่บุตรคนไข้ไม่พิการจากการติดไหล่.. ผมถามคนไข้รายนี้ว่า ‘ลูกคนนี้ใหญ่หรือเล็กกว่าลูกคนแรก’ คนไข้บอกว่า ‘ไม่แน่ใจ!! แต่น่าจะใหญ่กว่า’ ก็แค่นั้น ที่พี่ตัดสินใจผ่าคลอด เพราะคนท้องรายนี้ ตัวเตี๋ย มีโอกาสเกิดการคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia) แม้ทารกจะมีน้ำหนักแรกคลอด เท่าเดิม”\r\nคุณเรณูคลอดเมื่อเวลา 13 นาฬิกา 50 นาที ลูกของเธอ เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 4,500 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอดเท่ากับ 10, 10 (คะแนนเต็ม 10) ที่เวลา 1 และ 5 นาทีตามลำดับ \r\nคนไข้อีกราย ชื่อ คุณพรสววรรค์ อายุ 22 ปี ท้องแรก มาถึงห้องคลอดเมื่อเวลา 13 นาฬิกา เวลาเดียวกับที่คุณพรสวรรค์ เข้าห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ไปตรวจดู พบว่า ปากมดลูกของเธอเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 90% ข้าพเจ้าประเมินน้ำหนักลูกของเธอ น่าจะประมาณ 3,500 กรัม คิดว่า ถ้าปากมดลูกเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยดี ก็จะผ่าตัดคลอด คุณพรสววรรค์บอกว่า “ถ้าหมอดูแล้ว คลอดเองไม่ได้ ก็อยากจะขอผ่าคลอด” ข้าพเจ้าบอกคนไข้ว่า “ลองคลอดเอง ดูก่อน ก็แล้วกัน” จากนั้น ข้าพเจ้าก็เจาะถุงน้ำคร่ำให้กับเธอ พร้อมกับมีคำสั่งให้พยาบาลใส่ยาเร่งคลอด (Syntocinon) ในน้ำเกลือ โดยให้คนไข้งดน้ำ และอาหารแต่บัดนั้น \r\nจากนั้น ข้าพเจ้า ก็เฝ้ารอว่า คุณพรสววรรค์จะมีพัฒนาการคลอด (Progression of labor) ไปถึงไหน?? เนื่องจากยังอยู่ในระยะแรกของการคลอดเท่านั้น พยาบาลห้องคลอด ตรวจภายในให้กับ คุณพรสววรรค์ทุก 4 ชั่วโมง….เวลาผ่านไป 5 – 6 ชั่วโมง ปากมดลูกของคนไข้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจผ่าตัดคลอด ตามคำขอของคนไข้ที่ว่า ‘ปวดจนทนไม่ไหวแล้ว’ ความจริง ในระยะแรกของการคลอดนั้น เป็นช่วงเฉื่อย (Latent Phase) การจะตัดสินว่า ‘ผิดปกติ จนต้องผ่าตัด’ ต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งอาจนานถึง 14 ชั่วโมง แต่หลังจากปากมดลูก เปิดถึง 4 เซนติเมตรและความบาง 100% แล้ว การพัฒนาการคลอดจะรวดเร็วมากแบบเร่ง (Active phase)… \r\nข้าพเจ้า คงไม่รอนานถึง 14 ชั่วโมงหรอก เพราะประสบการณ์สอนข้าพเจ้าว่า ‘การรอนาน เช่นนั้น อาจทำให้ได้ทารกที่คลอดออกมา ขาดออกซิเจน (Severe Hypoxia) ในสมอง’ ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นมา ทารกอาจมีสมองที่ไม่ดี ความคิดความอ่านไม่แจ่มใส ปลอดโปร่ง\r\nคุณพรสววรรค์คลอดเมื่อเวลา 18 นาฬิกา 30 นาที ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,420 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9 ,10 (คะแนนเต็ม 10) ที่เวลา 1 และ 5 นาที ตามลำดับ \r\nเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าออกตรวจคนเดียว ที่แผนกฝากครรภ์ ของโรงพยาบาลตำรวจ เพราะคุณหมอสูติอีก 2 ท่าน เดินทางไปประชุมวิชาการที่ อำเภอบางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นเวา 3 วัน…มีคนไข้รายหนึ่ง ที่น่าสนใจ ชื่อ คุณภาสินี อายุ 18 ปี ท้องแรก พยาบาลได้นำแฟ้มประวัติคนไข้มาปรึกษาว่า ‘คุณภาสินี ต้งครรภ์ได้ 40 สัปดาห์ แต่วัดยอดมดลูก ได้เพียง 32 เซนติเมตร เท่านั้น’ ซึ่ง…ปกติ จำนวนตัวเลข ที่เป็นเซนติเมตร จากการวัดตั้งแต่หัวเหน่า ถึง ยอดมดลูก จะมีค่าเท่ากับอายุครรภ์จริง….อย่างกรณีครรภ์ของคุณภาสินี ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ เราควรจะวัดได้ 40 เซนติเมตร ไม่ใช่ 32 เซนติเมตร \r\nไม่รอช้า!!! ข้าพเจ้ารีบนำตัวคุณภาสินีไปตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ปรากฏว่า ‘วัดเปรียบเทียบสัดส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อหาอายุครรภ์ ก็ได้ค่าออกมาเท่ากับอายุครรภ์จริง.. เพียงแต่ น้ำคร่ำ ภายในโพรงมดลูกมีจำนวนน้อยมาก (Severe oligohydramnios)’ \r\nภาวะน้ำคร่ำน้อย (Severe oligohydramnios) นั้น วินิจฉัยจาก การวัดน้ำคร่ำในแนวดิ่ง 4 มุม (Quadrant) ของช่องท้อง โดยการวางหัวตรวจอัลตราซาวนด์ ที่หน้าท้อง บริเวณใต้ราวนมทั้งสองข้าง และ กระดูกเชิงกรานที่นูนทางด้านล่าง ทั้ง 2 ข้าง ผลบวกรวมกัน เป็น ค่าดัชนีน้ำคร่ำ (AFI = Amniotic fluid index) หากผลรวมของตัวเลขดังกล่าว มีค่าน้อยกว่า 5 ก็ถือเป็นภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) ซึ่งหมายความว่า ทารกกำลังตกอยู่ในห้วงอันตราย… ยิ่งค่ารวมของตัวเลข (AFI) น้อยกว่า 2 (Severe Oligohydramnios) ทารกยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการชีวิตอย่างมากจากการกดทับสายสะดือ\r\nข้าพเจ้าวัดค่าดัชนีน้ำคร่ำ ของคุณภาสินี ได้เพียง 3.3 เท่านั้น ข้าพเจ้าตัดสินใจไม่ส่งตัวคนไข้ให้กับสูติแพทย์เวร เพื่อทำการผ่าตัดคลอด เพราะอาจมีข้อโต้แย้ง ขอทราบเหตุผลในการผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉิน ซึ่ง….ทำให้การคลอดล่าช้าออกไป อันเป็นผลเสียต่อทารกในครรภ์ เหตุการณ์ทำนองนี้ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน และเราต้องสูญเสียทารกในครรภ์ไป 1 ราย ทำให้ข้าพเจ้าอดรู้สึกใจหายไม่ได้ \r\nข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดให้กับ คุณภาสินี ในตอนบ่ายวันนั้น ทารกคลอดเวลา 13 นาฬิกา 54 นาที ทารกเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2,790 กรัม คะแนนศักยภาพแรกเกิด เท่ากับ 10 , 10 ณ เวลา 1 และ 5 นาทีตามลำดับ\r\nความจริงแล้ว คุณภาสินีได้รับการตรวจสุขภาพเด็ก (Non – stress test) ด้วย ในตอนเช้าของวันนั้น และให้ผลการตอบสนองเป็นปกติ (Reactive) ซึ่งอาจแปลผลได้ว่า ‘ทารกในครรภ์ จะอยู่อย่างปกติสุขได้อย่างน้อย 3 วัน’ แต่…กรณีนี้ มันไม่เป็นความจริง และกรณีที่เกิดโศฏนาฏกรรมเมื่อ 2 – 3 สัปดาห์ก่อน การตรวจสุขภาพ (Non stress test) ทารกในครรภ์ ก็ให้ผลบวก (Reactive) !!! การตรวจสภาพทารก (Non stress test) ไม่ได้รับประกัน ‘ความปลอดภัย’ ของทารกในครรภ์ในกรณี ที่ครรภ์นั้นมีน้ำคร่ำน้อย (Severe oligohydramnios) [ปกติ การตรวจสภาพเด็ก (Non stress test) สามารถรับประกันได้ว่า ทารกในครรภ์ จะไม่เสียชีวิต ภายใน 3 – 7 วันข้างหน้า] นี่คือ ความไม่แน่นอน อย่างหนึ่ง ของสิ่งที่เป็นมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ \r\nนอกจากนั้น ยังมีคนท้องอีกหลายราย ที่ครบกำหนดคลอด ซึ่ง..ทารกในครรภ์อยู่ในข่ายที่มีอันตราย แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดแบบถูกต้อง (Fulfill indication for cesarean section) ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้ ในวันถัดจากวันที่ตรวจพบ โดยไม่ลังเล ซึ่งผลออกมา ก็เป็นที่น่าพอใจ\r\nวันนี้ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ข้าพเจ้าได้พบคนไข้รายหนึ่ง อายุ 38 ปี ท้องแรก อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ มีความดันโลหิตสูง และเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ข้าพเจ้าตรวจอัลตราซาววนด์ให้กับเธอ แล้ว พบว่า ‘ครรภ์ของเธอมีน้ำคร่ำอยู่ในปริมาณน้อยมากๆ (severe oligohydramnios)’ ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์แจ้งให้สูติแพทย์เจ้าของไข้มาผ่าตัดคลอดให้คนท้องรายนี้โดยด่วน คุณหมอได้เข้ามาผ่าตัดคลอดให้คนไข้ทันที ปรากฏว่า ทารกได้ถ่ายขี้เทาเข้มข้นออกมา (Thick meconium) แต่..ทารกก็รอดปลอดภัย หากเราทิ้งคนท้องรายนี้ไว้อีกสัก 3 – 4 ชั่วโมง มีหวังเกิดโศกนาฏกรรม ขึ้นอีกแน่… \r\nดังนั้น คนท้องครรภ์ครบกำหนดบางคน อาจไม่จำเป็นต้องร้องขอให้ผ่าตัดคลอด แต่กลับเป็น..คุณหมอต้องขอร้องให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของทารกน้อยในครรภ์ โปรดจำไว้ว่า การผ่าตัดคลอดนั้น ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของทารกได้ทุกอย่าง เมื่อมารดาตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้ว.. ยกเว้น มารดามีข้อห้ามในการผ่าตัดคลอด เท่านั้น\r\nข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบฟังเพลงบรรเลง เวลาเขียนหนังสือ แต่..บทเพลงเหล่านี้จะไพเราะมากยิ่งขึ้น เวลาที่ข้าพเจ้ามีส่วนช่วยเหลือให้คนท้อง ที่ทารกในครรภ์กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย ให้มีชีวิตรอด ปลอดภัย แม้จะไม่เข้าข่ายของข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ผ่าตัดคลอด..เฉกเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายวันมานี้…….\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ.นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *