ช็อคโกแลต ซิส (2)

เรื่องราวของ ช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) นั้น คงไม่มีใครในโลก ที่จะเขียนบรรยาย จนจบได้ในคราวเดียว เพราะโรคนี้มีประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาที่ยาวนาน.. วิทยาการที่ก้าวไกล ช่วยให้เรามีทางเลือกในการรักษาหลากหลาย.. จากการสำรวจ พบว่า ผู้หญิงยุคปัจจุบัน เป็นโรคนี้ มากถึงร้อยละ 15 ซึ่ง..อาจเป็นเพราะสาวสมัยใหม่แต่งงานช้า เมื่ออายุล่วงเลยเกินวัย 30 ปี.. ว่าไปแล้ว นี่แหละ!! สาเหตุสำคัญของโรค เนื่องจากการตั้งครรภ์ เป็นหนทางเดียวที่จะทำลายเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ได้อย่างราบคาบ ดังนั้น หากสตรีผู้ใด มีลูกตอนอายุน้อยและจำนวนหลายคนเหมือนผู้คนสมัยก่อน เธอก็จะไม่ต้อง เผชิญกับ โรคร้ายกาจที่ว่านี้ \r\nหลายวันที่ผ่านมา ข้าพเจ้าพบเจอแต่เรื่องปวดหัวเกี่ยวกับการผ่าตัด ช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) ของคนไข้หลายราย อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของคนไข้เหล่านี้ สามารถบ่งบอกถึงรอยโรคภายในอุ้งเชิงกราน และวิถีชีวิตของคนไข้ได้เป็นอย่างดี โรคนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตลูกผู้หญิง แต่..โลกก็ได้ให้ความสำคัญกับโรคนี้ โดยจัดให้มีการประชุมทุกปี ณ ประเทศต่างๆ ว่าด้วย World congress of the Endometriosis \r\nสัปดาห์ก่อน ข้าพเจ้าเพิ่งผ่าตัด เลาะ ช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) ให้กับคุณนันทวัน ซึ่งน่าสนใจมาก คนไข้รายนี้ อายุ 33 ปี มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง เมื่อ 3 – 4 สัปดาห์ ก่อน จนทนไม่ไหว พอเธอไปเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลระดับ World class ก็ได้รับคำแนะนำให้ผ่าตัดผ่านกล้อง พร้อมด้วยข้อเสนอค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่ว คุณนันทวัน ได้นำเอาประวัติการรักษา พร้อมกัมผลการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด มาปรึกษากับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม).. จากการดูภาพถ่ายจาก DVD ของโรงพยาบาลดังกล่าว ก็พบว่า เธอมีถุงน้ำช็อคโกแลต ซีส ถุงเดียวด้านขวา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 6 เซนติเมตร \r\n.ในห้องผ่าตัด เมื่อวันก่อน ข้าพเจ้ายังจำบรรยากาศได้ดี พอข้าพเจ้าเจาะท้องของคุณนันทวันเข้าไป ก็เห็นถุงช็อคโกแลต ซีส ทางด้านขวา ขนาดใหญ่ ฝังแน่นอยู่กับอุ้งเชิงกราน โดยมีลำไส้ใหญ่ ยึดติดกับด้านหลังของมดลูกส่วนล่าง (sacro iliac ligaments) ส่วนทางด้านซ้าย ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกันนัก แม้ไม่มี ถุงน้ำรังไข่ กล่าวคือ ‘เต็มไปด้วยพังผืด’ \r\nการผ่าตัดเลาะผ่านกล้อง เต็มไปด้วยความยากลำบาก คือ ลำพังตัวถุงช็อคโกแลต ซีส ก็คงไม่เท่าไหร่ เพราะมันโผล่ผิวก้อนขึ้นมาให้เห็นเด่นชัด แต่..พังผืดต่างๆ กลับ น่ากลัวมาก ข้าพเจ้าเริ่มต้นด้วยการเจาะทะลุเข้าถุงช็อคโกแลต ซีส และดูดเอา เลือดเก่าๆภายในถุงออกมา จากนั้น ก็ค่อยๆลอก เอาเปลือกของถุงช็อคโกแลต ซีส ออก การลอกที่ว่านี้ ยุ่งยากกว่าที่คิด กล่าวคือ ผนังของถุงน้ำค่อนข้างเหนียว แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ‘การเลาะพังผืดส่วนที่ยึดติดกับมดลูกและอุ้งเชิงกราน’ เนื่องจาก พอผ่าตัดเลาะ ผนังถุงช็อคโกแลต ซีสได้ สำเร็จ ข้าพเจ้าก็หันมาใช้กรรไกรเลาะพังผืดตรงลำไส้ส่วนที่ยึดติดกับมดลูกส่วนล่างด้านหลัง \r\nตอนแรกๆ เป็นการใช้กรรไกรตัดเลาะแยกพังผืด จากตัวมดลูก ข้าพเจ้าทำได้ดีพอสมควร แต่..พอเลาะตัดออกไปทางด้านข้างขวา ใกล้กับ ถุงน้ำช็อคโกแลต ซีสที่ได้ผ่าตัดไปแล้ว ปรากฏว่า ‘พอตัดเลาะเล็ม ออกไปสักหน่อย ก็เห็นเป็นช่องโหวเข้าไปในอุ้งเชิงกรานส่วนลึกประมาณ 2 เซนติเมตร ข้าพเจ้าเริ่มเสียวสันหลังว่า ‘บริเวณนี้ ข้าพเจ้าจะผ่าตัดเลาะทะลุเข้าไปลำไส้ใหญ่ แต่..ก็ไม่เห็นมีของเหลว หรือ อุจจาระะไหลออกมา’ แพทย์ผู้ช่วยข้าพเจ้าพยายามพูดให้กำลังใจว่า ‘คงไม่ทะลุ rectum หรอก’ \r\nข้าพเจ้าพยายาม ใช้กรรไกร เลาะพังผืดต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับใช้ปลายเครื่องดูดซึ่งเป็นท่อเหล็ก (suction) ดันให้ลำไส้ใหญ่ที่เห็น แยกออกจากมดลูกให้มากที่สุด จนบริเวณนั้น กลายเป็นพื้นที่โล่งกว้าง จากนั้น ข้าพเจ้าก็จี้ไฟฟ้า เพื่อหยุดเลือดที่ซึมออกมา ณ บริเวณพื้นที่เพิ่งผ่าตัดไป (Raw surface) ส่วนทางด้านซ้ายของอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดเลาะพังผืด ข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรมากนัก เพราะยังเห็นส่วนของท่อนำไข่ลอยอยู่ แต่..รังไข่ ซึ่งไม่เป็น ช็อคโกแลต ซีส กลับซ่อนตัวอย่างมิดชิด มิดชิดในพังผืดนั้น \r\nพอผ่าตัดบริเวณนั้นสร็จ ข้าพเจ้า ยังคงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ และได้สั่งการให้ทดสอบว่า ‘ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) ถูกทำให้ทะลุหรือไม่’ การทดสอบดังกล่าว คือ การใส่น้ำเข้าไปในอุ้งเชิงกรานจนท่วมเปี่ยมล้นลำไส้ส่วนที่สงสัยว่า จะทะลุ จากนั้น ก็ให้พยาบาลฉีดลมผ่านท่อยางที่สวนเข้าไปทางรูก้นคนไข้ พยาบาลผู้ช่วยฉีดลมเข้าไปมากทีเดียว ข้าพเจ้าก็มองไม่เห็นฟองอากาศ ปุดขึ้นในน้ำภายในอุ้งเชิงกราน..นั่นแสดงว่า ‘ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่มีการทะลุ’ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก กับภาพที่เห็น และสั่งการให้ยุติการผ่าตัดเพียงแค่นั้น \r\nตอนกลางคืนของคืนนั้น หลังจากข้าพเจ้าเสร็จสิ้นภารกิจในการออกตรวจผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนคุณนันทวัน พอฟังเสียงลมที่บริเวณหน้าท้องของคนไข้ ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะนั่นเป็นสิ่งยืนยัน อย่างหนักแน่นว่า ลำไส้ของคุณนันทวันไม่ทะลุ \r\nก่อนหน้านั้น ไม่นาน ข้าพเจ้าได้ผ่าตัด ช็อคโกแลต ซีส ให้กับคุณบุญรัตน์ ซึ่งมีอายุ 31 ปี เธอปวดท้องน้อยด้านซ้าย อย่างรุนแรงมา 2 เดือน พร้อมกับถุงน้ำในลักษณะหลายถุงซ้อนๆกัน (Complex mass) การผ่าตัดที่ว่านั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการผ่าเปิดหน้าท้องทันที ที่เห็นก้อนถุงน้ำ เพราะก้อนถุงน้ำนั้น มองไม่เห็นเด่นชัด พื้นผิวของถุงน้ำที่โผล่ให้เห็น คล้ายกับผนังของลำไส้ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะมั่นใจว่า มันเป็นผิวของถุงน้ำรังไข่ แต่การยึดติดของพังผืด แผ่ปกคลุมมากเกินไป จนทำให้ผ่าตัดเลาะยาก แม้เลาะผ่านทางกล้องได้ ก็เพียงเล็กน้อย นอกจากนั้น แน่นอน ย่อมจะไม่สามารถรักษาสภาพท่อนำไข่ได้ แต่…เนื่องจากเธอต้องการมีบุตร เธอจึงอยากให้ข้าพเจ้าเก็บรักษาท่อนำไข่นี้ไว้ ตอนนั้น ข้าพเจ้าคิดเพียงว่า หากผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แล้ว ข้าพเจ้าไม่สามารถเก็บรักษาท่อนำไข่ด้านซ้ายได้ ก็ถือว่า ข้าพเจ้าทำดีที่สุดแล้ว การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ถือว่า เป็นวิธีการง่ายที่สุดในการเลาะพังผืด หากจำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ นั่น..ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ ซึ่ง..สุดท้าย ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถรักษาท่อนำไข่ข้างนั้นได้ เพราะพังผืดเกาะแน่นจนม้วนเอาท่อนำไข่เข้าไปอย่างแน่นหนา…นี่แหละ ชะตากรรมของคนไข้ที่มีถุงน้ำช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) ซึ่ง… เอาแน่นเอานอน กับการผ่าตัดแบบอนุรักษ์ (conservative surgery) ไม่ได้ \r\nคุณประภาพร ก็มีสภาพไม่แตกต่างจากคุณบุญรัตน์ เธอมีอายุ 45 ปี มีบุตรแล้ว 1 คน มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงและมีถุงน้ำช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) ด้านซ้าย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร ในอดีต..เมื่อราว 5 ปีก่อน คุณประภาพร เคยผ่าตัดผ่านกล้องกับข้าพเจ้ามาแล้ว แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็น ผ่าเปิดหน้าท้อง เนื่องจาก ‘ตอนที่เจาะท้องเข้าไป ปรากฏว่า มีการทะลุของกระเพาะปัสสาวะ เลยจำเป็นต้องผ่าเปิดหน้าท้อง เข้าไปตัด ช็อคโกแลต ซีส และซ่อมแซมกระเพาะปัสสาวะ’ [จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่]\r\nดังนั้น ครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับคุณประภาพรว่า ‘จะเจาะท้องที่สะดือของคุณประภาพร และสอดใส่กล้องขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร เข้าไปส่องดูพยาธิสภาพในช่องท้อง หากมีพังผืดมาก ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หากมีพังผืดน้อย พอผ่าตัดเลาะได้ ก็จะผ่าตัดผ่านกล้อง’ แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิด…… \r\nที่ห้องผ่าตัด พอข้าพเจ้าเจาะท้องใส่ ลมเข้าที่สะดือคุณประภาพร ด้วย เข็ม Verless ก็เกิดปัญหาใหญ่ กล่าวคือ สงสัยเข็มจะทะลุลำไส้เล็กที่มายึดติดบริเวณนั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องเจาะท้องน้อย ทางด้านข้าง เพื่อส่องดู บริเวณใต้สะดือ ว่าเป็นเช่นไร?? ผลปรากฏว่า มีเยื่อบุลำไส้มากมายเกาะติดตรงใต้สะดือ ตำแหน่งที่ใส่ เข็ม Verless แต่….ไม่มีการทะลุลำไส้แต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงดำเนินการผ่าเปิดหน้าท้อง..และตัดมดลุก.\r\nข้าพเจ้านึกว่า ทุกสิ่งคงสิ้นสุดเพียงเท่านั้น ที่ไหนได้!! ลำไส้ที่เกาะติดส่วนผิวของมดลูก กลับติดแน่นจนเลาะต่อไปไม่ได้ ข้าพเจ้าได้เรียนปรึกษาและเชิญศัลยแพทย์ มาช่วยผ่าตัด หลังจากเห็นพยาธิสภาพ ปรากฏว่า ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดเลาะพังผืด ให้ลำไส้แยกจากมดลูกได้เพียงส่วนหนึ่ง เท่านั้น ยังมีส่วนอุ้งเชิงกรานต่ำสุดที่ศัลยแพทย์เลาะลงไปไม่ได้อีก ในช่วงเวลาดังกล่าว คนไข้เสียเลือดไปค่อนข้างมาก ศัลยแพทย์ผู้นั้นได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ‘พี่ๆ ผมว่า พี่ตัดมดลูกออก โดยเหลือปากมดลูก (Subtotal hysterectomy) น่าจะดีกว่า เพราะพังผืดที่ culdesac หนามาก’ อย่างไรก็ตาม..ข้าพเจ้าไม่ได้คิดเช่นนั้น พอสำรวจสักพัก ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจตัดเอามดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy) การผ่าตัด ยุ่งยากพอสมควร แต่ก็ไม่เกินกว่าประสบการณ์\r\nเมื่อข้าพเจ้าผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย ก็ขอให้ศัลยแพทย์ช่วยประเมินสภาพอุ้งเชิงกรานก่อนปิดหน้าท้อง ศัลยแพทย์ หันมาบอกกับข้าพเจ้าว่า ‘ พี่ๆ ลำไส้ส่วนล่างทะลุ (rectum) นะพี่ ประมาณ 2 เซนติเมตร แต่เย็บได้ เดี๋ยวจะเย็บให้เลย’ เนื่องจากคนไข้มีการเตรียมลำไส้อย่างดี การเย็บส่วนฉีกขาดของลำไส้จึงไม่มีปัญหา คนไข้ ต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 5 วัน จากนั้น ก็กินได้ตามปกติ\r\nในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับคนไข้อื่นๆ ก็มีคนไข้ในลักษณะคล้ายๆกัน ชื่อ คุณนวลจันทร์ อายุ เพียง 35 ปี เธอได้รับการนัดหมายมาโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด มูลเหตุที่จะต้องตัดมดลูก เพราะคนไข้ไม่สามารถทนต่อการเจ็บปวดภายในอุ้งเชิงกรานได้ คุณนวลจันทร์เป็นสาวโสด หน้าตาสะสวย แต่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้อย่างมาก เธอเคยผ่าตัดด้วยโรคนี้ถึง 4 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อราว 10 ปีก่อน โดยสูติแพทย์ท่านหนึ่ง การผ่าตัดเป็นแบบผ่าเปิดหน้าท้อง และตัดเอาถุงช็อคโกแลต ซีส ด้านซ้ายออกทิ้งไปทั้งอัน ถัดมาอีก 4- 5 ปี ก็ได้รับการผ่าตัดเจาะท้องส่องกล้องผ่าตัด 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการผ่าตัดลอกถุงช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) ของรังไข่อีกข้างที่เกิดขึ้นมาใหม่ ส่วนอีกครั้งเป็นการส่องกล้องเข้าไปตัดเส้นเลือด Uterine arteries ทั้งสองข้าง เพื่อลดอาการปวดท้องน้อย ผลจากการผ่าตัด ช่วยลดอาการปวด… หลังจากนั้น ประมาณครึ่งปี เธอก็กลับมาปวดท้องอีกครั้ง เวลามีระดู (severe dysmenorrhea) \r\nเมื่อ 2 ปีก่อน ข้าพเจ้าได้ใส่ ห่วงอนามัย ชื่อ เมอริน่า ซึ่งมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ให้กับเธอ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากภาวะเยื่อบุมดลุกเจริญผิดที่ เวลาผ่านไป 7 – 8 เดือน อาการปวดท้องน้อย ก็กลับมาเหมือนเดิม คุณนวลจันทร์ต้องกินยา Ponstan (500 mg) วันละ 40 – 50 เม็ด เพื่อลดอาการปวดท้องน้อยดังกล่าว ต่อมา ข้าพเจ้าได้ฝังยาคุม (Implanon) ให้เธออีก ซึ่งได้ช่วยลดอาการเจ็บปวดเพียงระยะเวลาหนึ่ง เท่านั้น เมื่อนานมานี้ ข้าพเจ้าได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับเธอ ก็พบถุงถุงช็อคโกแลต ซีส (Recurrent Endometriosis) ของรังไข่ เกิดขึ้นมาอีก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจ ที่รักษาโดยการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ของคุณนวลจันทร์ออกทั้งหมด เพราะนี่คือ หนทางเดียวที่จะลดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดของเธอได้\r\nที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดให้คุณนวลจันทร์แบบผ่าเปิดหน้าท้อง การตัดมดลูก ไม่ถึงกับยากมาก แต่รังไข่ข้างซ้ายที่เหลืออยุ่ มันซ่อนอยูในก้อนของเยื่อบุลำไส้ ทำให้ข้าพเจ้ายุ่งยากกับการผ่าตัดเลาะแยกรังไข่ออกจากลำไส้ ตอนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกหนักใจมาก ว่า จะไปสะกิดเอาผิวของลำไส้ และเกิดการฉีกขาดที่ผิว Serosa ของลำไส้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ลำไส้ทะลุหลังผ่าตัด \r\nวันถัดมา ตอนเช้า ข้าพเจ้ารีบไปเยี่ยมคุณนวลจันทร์ เพื่อฟังเสียงลำไส้ของเธอ แต่…เสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้เบามากๆ พอใกล้เที่ยง ข้าพเจ้าแวะไปเยี่ยมและฟังเสียงลำไส้ของเธออีก แต่..สภาพก็เหมือนเดิม ข้าพเจ้าเริ่มหวาดวิตกว่า ‘คนไข้อาจมีลำไส้ทะลุ’ เวลาประมาณบ่าย สองโมง ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเยี่ยมและฟังเสียงลำไส้ของคุณนวลจันทร์อีก ก็ยังมีความรู้สึกว่า ‘เบา’ โชคดี!!… มีคุณหมอดมยาท่านหนึ่งมาเยี่ยมในเลานั้นด้วย ข้าพเจ้าจึงขอให้คุณหมอช่วยประเมินสภาพของลำไส้ของคนไข้ คุณหมอฟังเสียงลำไส้แล้ว บอกว่า ‘ไม่น่าจะเป็นอะไร’ จากนั้น ก็สั่งให้คนไข้จิบน้ำได้ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมาก ที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาลำไส้ทะลุของคนไข้รายนี้\r\n‘เกิดเป็นหญิง แท้จริง แสนลำบาก’ ก็เพราะโรคร้ายชนิดนี้ ชอบบังเกิดมีแก่ผู้หญิงจำนวนมาก หากเธอไม่มีความรู้ติดตัวไว้บ้าง ก็จะมุ่งไปรักษาอย่างผิดๆ ก่อผลร้ายในภายหลัง โรคนี้ เมื่ออายุน้อยๆ ควรหมั่นสังเกตและเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ยามที่มีอาการปวดระดูอย่างรุนแรง เป็นเวลาหลายวัน…เมื่อตรวจพบแล้ว ก็ต้องรีบรักษาแบบถูกวิธี คือ ผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) เพราะผลที่ได้ มีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะพังผืดที่เกิดหลังผ่าตัดมีน้อยมาก ยังผลให้มีการตั้งครรภ์ ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม แม้ผ่าตัดผ่านกล้อง ก็ต้องเตรียมใจไว้ว่า อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการผ่าเปิดหน้าท้อง หากภายในอุ้งเชิงกราน มีพังผืดยึดแน่นไปหมด จนเลาะผ่านกล้องไม่ได้\r\nฟ้าฝน ปีนี้ วิปริต ปรวนแปร ไม่ค่อยตกต้องตามฤดูกาล บางแห่งในโลก ก็กลับกันดาร แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน บางแห่ง ก็มีน้ำท่วมเสียหายอย่างรุนแรง บางที่ ก็ร้อนและหนาวเหน็บมาก จนผู้คนต้องล้มตายมากมาย หากผู้หญิงท่านใด ยังพอมีบุญ ก็จะไม่ต้องทนทุกทรมาน กํบโรคที่ว่า นี้ และเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องอย่างปลอดภัย หลังจากนั้น ก็มีลูกได้ อย่างมีความสุขสมหวัง ดังนั้น ยังมีเวลา ก็รีบทำความดี ทำบุญ สร้างกุศลไว้มากๆ จะได้ไม่ลำบากหากพบเจอโรคร้ายที่ว่านี้……\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *