มือถือในตู้เย็น

ความยุ่งยากในชีวิตของมนุษย์ มักจะเกิดจากความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น   อย่างเช่น การเอามือถือไปใส่ไว้ในตู้เย็นโดยไม่รู้ตัว นั่นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว เพราะวันหนึ่งข้าพเจ้าซื้อสลัดผักกระป๋องจากร้านอาหารฟ้าสฟู้ด พอมาถึงที่ทำงาน ข้าพเจ้าไม่ว่างที่จะรับประทาน จึงเอาถุงพลาสติกที่บรรจุสลัดไปแช่เก็บไว้ในตู้เย็น เผอิญข้าพเจ้าเอามือถือ 2 เครื่องใส่ไว้ในถุงนั้นด้วยเนื่องจากมือถือเกะกะมือและกระเป๋ากางเกง พอข้าพเจ้าจะใช้มือถือ ก็นึกไม่ออกว่า ‘ไปวางทิ้งไว้ที่ไหน’ ถ้าเสียงโทรศัพท์ไม่ส่งเสียงดังจนคนงานได้ยิน ข้าพเจ้าคงแช่เย็นมือถือตลอดทั้งวันจนกว่าจะอยากกินสลัด 

การตัดสินใจให้การรักษาคนท้องในห้องรอคลอด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายหรือมีสูตรตายตัว การตัดสินใจผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของคุณหมออาจนำอันตรายมาสู่’แม่และลูก’  ข้าพเจ้าอยากจะเล่าเรื่องของคนท้อง 2 -3 รายที่มีปัญหาในช่วงใกล้คลอด และวิเคราะห์ไปด้วยว่า ‘หากคุณหมอตัดสินใจผิดพลาดแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น การแก้ไข อย่างไรจึงเรียกว่าถูกต้องเหมาะสม’

มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อคุณศิริพร อายุ30 ปี ครรภ์ที่ 2  ตั้งครรภ์ได้ ประมาณ 30 สัปดาห์ มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปากช่องคลอดบวมแดงและเจ็บปวดอย่างมากจนแทบจะเดินไม่ได้ ก่อนหน้าที่จะมาพบกับข้าพเจ้า คุณศิริพร ได้ไปพบสูติแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเธอมีประกันสังคมสังกัดอยู่ สูติแพทย์ประจำของโรงพยาบาลแห่งนั้น เดินมาตรวจดู แล้วก็บอกว่า “การบวมของปากช่องคลอดเป็นเรื่องธรรมดาของคนท้อง ไม่จำเป็นต้องรักษา อาการบวมนี้จะหายไปเองในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” คุณศิริพรไม่เชื่อ จึงเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีอาการปวดบริเวณปากช่องคลอดและขาหนีบจนทนแทบไม่ไหว ที่สำคัญคือ เธอต้องการจะทราบว่า  ‘ สิ่งที่คุณหมอคนนั้นพูดเป็นความจริงหรือไม่!!!’ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เธอก็พร้อมที่จะรับกรรม

วันนั้น เผอิญได้พบกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตรวจร่างกายของเธอแล้ว ก็เกิดความเศร้าใจว่า ‘ทำไมสูติแพทย์ท่านนั้นจึงไม่ยอมรักษาให้คุณศิริพร??’ ข้าพเจ้าตอบคุณศิริพรว่า “ปากช่องคลอดของคุณมีการอักเสบ (labial infection) แม้ยังไม่รุนแรงมาก แต่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้ยาแก้อักเสบทางเส้นเลือดดำ” คุณศิริพรดีใจที่ได้รับคำตอบที่แตกต่างไปจากเดิม เธอนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน อาการต่างๆก็ดีขึ้นจนสามารถเดินได้สะดวกโดยมีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อยที่ขาหนีบ

ข้อผิดพลาดของสูติแพทย์คนดังกล่าว คือ การไม่ยอมรักษาภาวะปากช่องคลอดอักเสบของคุณศิริพรแต่เนิ่นๆ โดยอ้างโน่นอ้างนี่ ภาวะนี้เป็นการติดเชื้อบริเวณปากช่องคลอดที่ไม่สามารถหายเองได้ นอกจากนั้น ยังทำให้คนไข้ทุกข์ทรมาน  ซึ่งหากอาการรุนแรงมากขึ้น ปากช่องคลอดย่อมกลายเป็นถุงหนอง (Labial abscess) หรือมีการติดเชื้อทั่วร่างกาย (sepsis)  ถึงตอนนั้นคุณศิริพรอาจแท้งบุตรหรือนอนใน ไอ.ซี.ยู. นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของความผิดพลาดเล็กน้อยของสูติแพทย์ที่ไม่ใส่ใจในคนท้องยามป่วยไข้

วันอังคารที่ผ่านมา ตอนที่ข้าพเจ้ามาเข้าเวร วันนั้น มีคนท้องในห้องรอคลอดเพียงรายเดียว ชื่อคุณประมวล  อายุ 35 ปี  ตั้งครรภ์ที่ 3 โดย 2 ครรภ์แรกแท้งบุตร  คุณประมวล  มาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 10 สัปดาห์ เธอได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็น ‘ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง’ (Chronic hypertension) และควบคุมโดยได้รับยา Aldomet  (250 mg) 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร  ตั้งแต่อายุครรภ์ 14  สัปดาห์

ก่อนหน้านี้ คุณประมวล ได้มานอนพักที่โรงพยาบาล 2 วันแล้ว เธอมีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์เศษและมีการหดรัดตัวของมดลูกบางเวลา ข้าพเจ้าได้เดินไปดูคนไข้ตอนเช้า คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแม้จะมีความดันโลหิตค่อนข้างสูง นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดถามข้าพเจ้าว่า ‘คนไข้อยากจะย้ายขึ้นไปนอนที่หอพักผู้ป่วยชั้น 5  อาจารย์จะอนุญาตไหมครับ? ’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ถ้ามดลูกหดรัดตัวนานกว่า 20 – 30 นาที ก็อนุญาตให้ย้ายได้’  ตอนเย็นวันนั้น คนไข้มีอาการเกร็งตัวของมดลูกน้อยมาก นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดจึงย้ายคนไข้ขึ้นไปพักผ่อนที่หอผู้ป่วยชั้น 5 แต่พอเวลาประมาณเที่ยงคืน คุณประมวล กลับมีการตกเลือดออกมาจากช่องคลอดและได้ใช้ผ้าอนามัยถึง 3 ผืนเต็ม  นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดได้โทรศัพท์มาปรึกษาว่า ‘จะให้ทำอย่างไรต่อไป’ ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่า ‘รอให้ถึงตอนเช้าก่อน ค่อยทำการผ่าตัด ยกเว้นแต่มีการตกเลือดอีกอย่างรุนแรง’

พอถึงตอนเช้าวันพุธ ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้ผ่าตัดคนไข้ตอนเวลาประมาณ 8 นาฬิกา การผ่าตัดเป็นไปอย่างช้าๆ  พอทำคลอดทารกออกมาแล้ว ข้าพเจ้าก็ตรวจดูลักษณะของรกทันที ปรากฏว่า รกเกาะทางด้านล่าง(posterior) ตั้งแต่ส่วนกลางของมดลูกลงมาจนถึงปากมดลูก (low lying placenta)  ข้าพเจ้าชี้ให้พยาบาลผู้ช่วยดู  พลางพูดว่า “รกเกาะเกือบคลุมปากมดลูกด้านใน (internal os )ทั้งหมด ถ้าเรารีบร้อนลอกรกออกจากมดลูกเร็วเกินไป มีหวังเนื้อมดลูกส่วนล่างที่รกเกาะจะฉีกขาดจนเลือดออกอย่างรุนแรง อันส่งผลให้จำเป็นต้องตัดสินใจตัดมดลูกในที่สุด”  ข้าพเจ้าค่อยๆดึงสายสะดือและลอกรก จากส่วนที่เกาะทางด้านบนลงมาทางด้านล่างอย่างช้าๆ  พอมาถึงบริเวณปากมดลูกส่วนล่าง (Lower segment)  ข้าพเจ้าก็ใช้เครื่องมือ (Haeney hysterectomy forceps) ซึ่งมีลักษณะเหมือนคีมปลายโค้งจับส่วนที่รกเกาะติดมดลูกส่วนล่าง และตัดเอารกส่วนที่อยู่เหนือตัวจับทิ้งไป จากนั้น ก็เย็บส่วนด้านล่างของเครื่องมืออย่างแน่นหนา  ข้าพเจ้าเย็บปิดจุดเลือดออกบริเวณนี้ 2 – 3 ครั้ง ก็สามารถหยุดเลือดได้สนิท  นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังได้ทำการถ่างปากมดลูกโดยใช้นิ้วชี้ล้วงถ่างจากบนลงล่างอีกด้วย เพื่อไม่ให้เลือดตกค้างในโพรงมดลูกหลังผ่าตัด คุณประมวลผ่านพ้นการผ่าตัดไปได้ด้วยดี แต่ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังอธิบายถึงวิธีการผ่าตัดรายนี้ให้กับนักศึกษาแพทย์ในห้องคลอดฟัง พยาบาลห้องผ่าตัดก็วิ่งมาหาด้วยสีหน้าแตกตื่น โดยแจ้งให้ทราบว่า “ คนไข้ตกเลือดออกมาทางช่องคลอดประมาณ 300 ซี.ซี. หมอช่วยไปดูหน่อย”

ข้าพเจ้ารีบสั่งการรักษาทันทีว่า “ ฉีดยา Nalador ครึ่งหลอดทางเส้นเลือดดำ แล้วตามด้วย piriton ครึ่งหลอดเช่นกันทางเส้นเลือดดำ” เพื่อทำให้มดลูกหดตัวแข็งเกร็งอยู่ตลอดเวลา จะได้ไม่มีการตกเลือด ขณะที่พยาบาลถือยามาเพื่อจะฉีดเข้าทางสายน้ำเกลือ คนไข้ได้แสดงอาการหายใจหอบตื้นหลายครั้งเหมือนกับคนที่ใกล้จะสิ้นลม (Air hunger) พร้อมกับพูดว่า “ หมอ!!! หนูหายใจไม่เต็มอิ่ม หมอช่วยด้วย!!!!”  ข้าพเจ้าเห็นท่าไม่ค่อยจะดี จึงขอให้พยาบาลเปลี่ยนวิธีการฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดดำมาเป็นการฉีดเข้ากล้าม เพราะ หากฉีดยาเข้าทางสายน้ำเกลือ ยาจะออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงจนอาจทำให้คนไข้อาการแย่ลงอีก ซึ่งถ้าเกิดอะไรที่เลวร้ายขึ้นกับคนไข้  ข้าพเจ้าคงถูกสอบสวนจนไม่เป็นอันกินอันนอน หลังจากนั้น อาการตกเลือดของคุณประมวลก็ดีขึ้นตามลำดับ เธอสามารถกลับบ้านได้หลังจากรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 5 วัน

คนไข้อีกรายที่อยากจะเล่า ชื่อคุณมิ่งขวัญ  อายุ 31 ปี ครรภ์ที่ 3 โดย 2 ครรภ์แรกแท้งบุตรเช่นกัน ฝากครรภ์มาตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ และมาตามนัดทุกครั้ง โดยไม่มีปัญหา จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 33 สัปดาห์ คุณมิ่งขวัญได้เข้าไปรับการตรวจตามนัดจากข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง(ขอสงวนนาม)  และได้รับการวินิจฉัยเป็นครรภ์พิษ (Severe preeclamsia)  เพราะเธอมีความดันโลหิตขึ้นสูงถึง 180/110 มิลลิเมตรปรอท โชคดี ที่ยังไม่มีอาการปวดหัวหรือจุกแน่นหน้าอก (prodomal symptoms) ร่วมด้วย ข้าพเจ้าได้ปรึกษาอายุรแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องหัวใจและหลอดเลือด คุณหมอได้ให้ยาลดความดันโลหิต (Apressoline)  1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร ความดันโลหิตก็ลดลงจนสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ คุณมิ่งขวัญอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนั้นเป็นเวลา 5 วัน ก็ต้องย้ายมาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากความดันโลหิตเริ่มควบคุมได้ไม่ดี แม้จะเพิ่มยาอีก 2 ชนิด นั่นแสดงว่า โรคเลวร้ายขึ้น

  คุณมิ่งขวัญมาถึงโรงพยาบาลตำรวจในวันจันทร์ ตอนนั้น ความดันโลหิตได้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 190/110 มิลลิเมตรปรอท พอคุณมิ่งขวัญได้รับยา 3 ชนิดอย่างเต็มที่เหมือนเดิม ความดันโลหิตก็ลดลงเป็น 160/90 มิลลิเมตรปรอท วันอังคารรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดให้  ทารกเป็นเพศหญิง  คลอดเมื่อเวลา  9 นาฬิกา 12 นาที มีน้ำหนักแรกคลอด 1570 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9, 9 ที่ 1 และ 5 นาที (จากคะแนนเต็ม 10 ) ทารกน้อยไม่มีปัญหาใดๆเลย นอกจากต้องนอนพักรักษาตัวในตู้อบสักระยะหนึ่ง

กรณีของคุณมิ่งขวัญ หากผ่าตัดทันทีที่วินิจฉัยว่า เป็นครรภ์พิษ ก็ทำได้ แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจเนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่  แต่ถ้าผ่าตัดทำคลอดนานช้ากว่านี้ คุณมิ่งขวัญเอง ก็อาจมีปัญหาชักเกร็ง (Eclampsia) จนเส้นเลือดในสมองแตก, ไตเสียหายอย่างถาวร หรือตามองไม่เห็นเนื่องจากเส้นเลือดในจอภาพตา(Retina)มีอาการบวม

ช่วงเวลาที่ทำการผ่าตัดคลอดให้กับคุณมิ่งขวัญ ข้าพเจ้าถือว่า เหมาะสมดี เพราะ คนไข้ได้รับการรักษาและควบคุมความดันโลหิตมาได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ส่งผลให้ ทารกเกิดภาวะเครียดจนปอดมีการพัฒนาไปได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับ ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้ให้ยาเพิ่มศักยภาพของปอดทารก (Steroid) ไป 2 ชุดเมื่อครั้งนอนพักที่โรงพยาบาลเอกชน การที่ข้าพเจ้ากล้าที่จะรักษาแบบประคับประคองให้กับคุณมิ่งขวัญเมื่อตอนวินิจฉัยครรภ์พิษครั้งแรก เพราะมีการปรึกษาหารือรักษาร่วมกับอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหลอดเลือดและหัวใจ อยู่ตลอดเวลา

สำหรับกรณีคุณประมวล  หากเธอได้รับการผ่าตัดก่อนหน้านี้  คุณหมอเวรที่ทำการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอามดลูกทิ้งไป เนื่องจากคนไข้ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนว่า เป็นภาวะรกเกาะต่ำ ดังนั้น จึงอาจทำให้คุณหมอผ่าตัดอย่างไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะเวลาล้วงรกออกจากโพรงมดลูก ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อมดลูกส่วนล่างฉีกขาดมากจนเลือดไหลซึมออกมาไม่หยุด

ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีคุณหมอจบใหม่ท่านหนึ่งได้ผ่าตัดทำคลอดบุตรให้คนไข้ที่เป็นรกเกาะต่ำแบบนี้ ปรากฏว่า ตำแหน่งที่รกถูกลอกบริเวณปากมดลูกส่วนล่าง (Lower segment)  มีเลือดซึมออกมามากอย่างน่ากลัว คุณหมอท่านนั้น คิดว่า คงไม่สามารถที่จะหยุดเลือดได้ จึงทำการตัดมดลูกทิ้งไปโดยเหลือปากมดลูกส่วนล่างไว้ คุณหมอท่านนั้นถามข้าพเจ้า “ ตอนนั้น หนูกลัวมากเลย เวลาเห็นเลือดซึมออกมาตรงที่รกเกาะอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด”  ข้าพเจ้าบอกเธอว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอคงต้องตัดมดลูกของคนท้องทุกคนที่มีภาวะรกเกาะต่ำ เพราะตอนที่เราล้วงลอกรกออกมา มักจะมีเลือดซึมที่ตำแหน่งมดลูกส่วนล่าง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลืออนุเคราะห์แก่คนท้องเหล่านี้ พี่คิดว่า เธอน่าจะหาทางเรียนรู้วิธีการที่เหมาะสมในการผ่าตัดรักษาคนไข้ประเภทนี้”

ความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆของสูติแพทย์ บางทีเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นจริงๆ  ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเป็นด้วยด้อยประสบการณ์ ก็น่าเห็นใจและควรให้อภัย เพราะทำไปด้วยเจตนาดี อย่างไรก็ตาม ความประมาทและความถือดีของคุณหมอบางคน มักก่อผลร้ายอย่างมากมายให้กับคนไข้ทุกผู้ทุกวัย โดยไม่สามารถเรียกร้องเอาสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา โปรดอย่าลืมว่า ความผิดพลาดที่ว่านั้น ไม่ใช่กรณีง่ายๆ เหมือนกับการลืมมือถือไว้ในตู้เย็น. 

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

                                            พ.ต.อ.เสรี  ธีรพงษ์ ผู้เขียน

 

  

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *