เด็กหลอดแก้ว

                        "หลุยส์ บราวน์" เป็นสาวแล้ว

         ในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) "หลุยส์ บราวน์" เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก ได้

ถือกำเนิดขึ้นมาที่ "OLDHAM" ชนบทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง  ทางตอนเหนือของเมืองแมนเชสเตอร์

ประเทศอังกฤษ    ในเวลานั้น เธอนำความตื่นเต้นมาให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างมากมาย พอ ๆ กับ

"ดอลลี่" แกะที่ถือกำเนิดโดยวิธี "โคลนนิ่ง" ในปัจจุบัน  บัดนี้ "หลุยส์ บราวน์" เป็นสาวแล้ว

หน้าตาสดใส ผมยาวสลวยปกคลุมด้านข้างของหน้าผาก หัวไหล่ และใบหู  เธอยังคงเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของวงการแพทย์รักษาผู้มีบุตรยากและเป็น "ต้นแบบ" แห่งความหวังของคนเรา ที่จะสร้าง "มนุษย์" ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

         ก่อนที่จะมาเป็น "หลุยส์ บราวน์" สาวน้อยเด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก  สองนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้ซึ่งสร้างตำนานเรื่องนี้  PATRICK STEPTOEและ ROBERT EDWARDS ได้ใช้ความอดทน มุมานะทำงานอย่างหนักเป็นเวลานานหลายปี จึงจะเกิดมี "หลุยส์ บราวน์" ขึ้นมาได้ โดยเริ่มต้นจาก

         ในปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) นายแพทย์ทั้งสองได้ค้นพบและอธิบายถึงปรากฏการณ์

ของการปฏิสนธิระยะแรกของเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่ & อสุจิ) มนุษย์

         ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514)  ได้ทำงานวิจัยประสบความสำเร็จ  ด้านการปฏิสนธิ ในหลอดแก้วของเซลล์สืบพันธุ์ "หนู" ก่อน และของ "คน" ในเวลาต่อมา     โดยอาศัย "ไข่" ที่เกิดจากการกระตุ้น นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา "น้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อน" อีกด้วย

         ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) 4 ปีต่อมา สามารถประสบความสำเร็จ ทำให้คนไข้ตั้งครรภ์ได้ แต่โชคร้าย คนไข้คนแรกตั้งครรภ์นอกมดลูก   และคนไข้คนที่สองตั้งครรภ์เฉพาะจากการทดสอบผลเลือดเท่านั้น   เพราะในเวลาต่อมา ค่าของผลเลือดบวกกลับลดลงและเป็นศูนย์ในที่สุด

         ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) "เลสลี่ บราวน์" ผู้เป็นแม่ของ "หลุยส์" ได้รับการเจาะท้องส่องกล้อง (LAPAROSCOPE) เพื่อประเมินสภาพภายในอุ้งเชิงกราน ภายหลังจากที่เคยได้รับการผ่าตัดซ่อมแซม "ท่อนำไข่" มาครั้งหนึ่งแล้วแต่ไม่สำเร็จ     ผลปรากฏว่า "ท่อนำไข่" ของ "เลสลี่" ไม่สามารถแก้ไขใด ๆ ได้เลย   เมื่อเป็นเช่นนี้ คู่สามีภรรยาสกุล "บราวน์" จึงได้รับ  การแนะนำและชักจูงให้ทำ "เด็กหลอดแก้ว"  พ่อของ "หลุยส์" กล่าวว่า "เขาได้รับการอธิบายคร่าว ๆ ถึงวิธีการทำ โดยไม่เข้าใจว่า จริง ๆ แล้ว กำลังทำกรรมวิธีอะไร และคิดเอาเองว่า วิธีการที่ว่านี้ คือ การฉีดเชื้อผสมเทียม แต่แท้ที่จริง นั่นคือ จุดประกายความหวังเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งโชคดีที่เขาตัดสินใจคว้ามันเอาไว้"

         วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) ได้ทำการเจาะ "ไข่" ใบที่สมบูรณ์หนึ่งใบออกมา  ในคืนก่อนหยอด "ตัวอ่อน" ตอนเที่ยงคืน    สองนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ไปตรวจดู "ตัวอ่อน" ปรากฏว่า "ตัวอ่อนมีการแบ่งตัวได้ 8 เซลล์อย่างสวยงาม"     ในที่สุด "ความหวังเล็ก ๆ" ของทุกคนที่รอคอยก็เป็นจริง  "เลสลี่ บราวน์" ตั้งครรภ์ได้เป็นผลสำเร็จ  และคลอด"หลุยส์ บราวน์" เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521)

        "หลุยส์ บราวน์" ถือกำเนิดมาเหมือนกับเด็กธรรมดาทั่ว ๆ ไป ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เติบโตขึ้นมาและได้รับการศึกษาเหมือนเด็กอื่น ๆ     เธอเฝ้าบอกกับผู้คนที่สงสัยในตัวเธอว่า "ฉันไม่เคยมีความรู้สึกเลยว่า พิเศษกว่าคนอื่น"

         สาวรุ่นนามว่า "หลุยส์ บราวน์" ยังคงเต็มไปด้วยความสดใสและพลังเหมือนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ๆ อยู่      เธอได้รับเชิญไปปรากฏตัวในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็น "ตัวอย่าง" และ "ตัวแทน" แห่งความสำเร็จในด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่เธอยังคงมองหาอนาคตและอาชีพที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวเองอยู่

         "หลุยส์ บราวน์"  มีน้องสาวอายุอ่อนกว่า 4 ปี  ชื่อ "นาตาลี" (NATALIE) กำเนิดด้วยวิธี "เด็กหลอดแก้ว" เช่นกัน  "นาตาลี" เติบโตขึ้นมาและดำเนินชีวิตเป็นปรกติ เช่นเดียวกับ "หลุยส์ บราวน์"   "หลุยส์ บราวน์" และ "นาตาลี" เป็นตัวอย่างที่ดีของ "เด็กหลอดแก้ว" ทำให้ชาวโลกคลายความกังวลถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นจากกรรมวิธีอัศจรรย์นี้

         ปัจจุบันมี "เด็กหลอดแก้ว" เกิดขึ้นมาแล้วกว่าแสนคน    "เด็กหลอดแก้ว" ทุกคนจะรู้หรือเปล่าว่า    กว่าจะมาเป็นทุกวันนี้ มีความเป็นมายากแค้นแสนเข็ญขนาดไหน  กว่าจะได้ "เด็กหลอดแก้ว" คนแรกต้องใช้เวลานานเกือบ 10 ปี แต่ความสำเร็จ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ  

         การประสบความสำเร็จครั้งแรกครั้งเดียว    ก็เพียงพอที่จะนำความสำเร็จในลักษณะเดียวกันอีกมากมายไม่รู้จบมาให้    อย่างไรก็ตาม คนไข้ทุกคนควรจะได้ทราบและทำใจเผื่อไว้สำหรับความผิดหวังด้วย เพราะจวบจนถึงทุกวันนี้ ความสำเร็จในการทำ "เด็กหลอดแก้ว"      วิธีมาตรฐานยังมีอัตราการตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น

                         @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

                                        พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์   ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *