เด็กหลอดแก้ว 1

ในปี ค.ศ.1979 (พ.ศ.2521) ทั่วโลกตื่นตะลึงกับข่าวความสำเร็จของการทำ
\”เด็กหลอดแก้ว\” รายแรกของโลกที่ชื่อ \”หลุยส์ บราวน์\” ผู้คนพากันตื่นเต้นและพากันคิดว่า
\”เด็กหลอดแก้ว\” เป็น \”เด็กมหัศจรรย์\” หรือ \”เด็กอัจฉริยะ\” ความจริง..เด็กเหล่านี้ก็เหมือน
กับเด็กธรรมดาทั่ว ๆ ไป ไม่ประหลาดอะไรเลย จะต่างกันก็เป็นแต่ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อเขา
เท่านั้น วิทยาการทางด้านนี้ นับจากกำเนิด หลุยส์ บราวน์ ก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแบบก้าว
กระโดด มี \”เด็กหลอดแก้ว\” กำเนิดขึ้นทั่วทุกมุมของโลก บริษัท ผลิตภัณฑ์ยา…ที่ใช้รักษาภาวะ
นี้ได้โหมโฆษณาความสำเร็จ และชักนำสนับสนุนให้ความสำเร็จแผ่กระจายไปทุก ๆ ที่ ทุก ๆ คน
ดีใจกับความสำเร็จใหม่ ๆ ที่ถ่ายทอดมา แต่ก็ต้องพากันตระหนกตกใจในมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้
ถ้าท่านยังไม่มีบุตร ก็อย่าเพิ่งดิ้นรนไปทำ \”เด็กหลอดแก้ว\” เป็นวิธีประเดิม ลองใช้วิธีธรรมดา ๆ
รักษาง่าย ๆ ไปก่อน ก็อาจประสบความสำเร็จมีลูกได้ มิฉะนั้นแล้ว…บางทีเมื่อถึงวันที่ท่านได้
\”เด็กหลอดแก้ว\” มาจริง ๆ ท่านอาจจะไม่อยากได้แล้วก็เป็นได้

ความหมาย : \”เด็กหลอดแก้ว\” มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า \”IVF\” ( ย่อมาจาก
IN VITRO FERTILIZATION ) หมายถึง การช่วยเหลือให้เกิดการปฏิสนธิของไข่และตัวอสุจิ
ภายนอกร่างกายในหลอดแก้วทดลอง ภายใต้สิ่งแวดล้อมอุณหภูมิคล้ายกับภายในร่างกาย เมื่อได้
\”ตัวอ่อน\” ที่สมบูรณ์ในขนาดที่เหมาะสม ก็นำกลับเข้าสู่ภายในร่างกายของสตรีผู้นั้นเพื่อให้ฝังตัว
และเจริญเติบโตเป็นทารกภายในโพรงมดลูกต่อไป

ความเป็นมา ..>>>
ความรู้ในเรื่อง \”เด็กหลอดแก้ว\” เป็นการรวบรวมสุดยอดของความรู้ด้านต่าง ๆ
เข้าด้วยกันทั้งความรู้ด้านการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ชายและหญิง (เชื้ออสุจิ & ไข่), กระบวนการ
เจริญเติบโตและการทำงานของไข่และตัวอสุจิ, การปฏิสนธิ, การเจริญเติบโตของตัวอ่อน, การ
ฝังตัวในโพรงมดลูก,การเจริญเติบโตของทารกและอื่น ๆ อีกมาก ความรู้อันลึกซึ้งเหล่านี้ใช้เวลา
ถ่ายทอดลงมาเป็นร้อยปี ร่วมไปกับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
และการศึกษาอบรม ถ่ายทอดอย่างมีระบบ ส่งผลให้เราสามารถผลิต \”สมบัติที่ล้ำค่าของโลก\” ขึ้นมา
ได้ ซึ่งก็คือ \”มนุษย์\” นั่นเอง

การทดลองนำเอาเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และตัวอสุจิ) มาผสมรวมกันในหลอดแก้วทดลอง
เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว เริ่มทำในสัตว์ทดลองก่อน และประสบความสำเร็จขึ้นมาตามลำดับ
โดย..>>>
* ในปี ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) ROCK และ MENKIN ได้ทำการทดลองให้มีการ
ปฏิสนธิระหว่างไข่และตัวอสุจิของมนุษย์ ได้เป็นผลสำเร็จในห้องปฏิบัติการ
* ปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) McLAREN และ BIGGERS ทำ \”ทารกหลอดแก้ว\”
ในหนูได้สำเร็จและคลอดออกมาเป็นทารกปกติ
* ปี ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) มีรายงานเป็นครั้งแรกโดย CHANG ที่สามารถย้าย
ตัวอ่อนฝากเข้าไปในโพรงมดลูกในกระต่ายเป็นผลสำเร็จ และยังค้นพบน้ำยาเพาะ
เลี้ยงตัวอ่อนด้วยซึ่งมีความสำคัญในขบวนการทำ \”เด็กหลอดแก้ว\” ในเวลาต่อมา
เป็นอย่างมาก
* ในปี ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) STEPTOE และคณะ สามารถทำให้เกิดมีการ
ปฏิสนธิภายนอกร่างกายในหลอดทดลองได้สำเร็จ และได้ใช้ความพยายามอีกเป็น
เวลาประมาณ 10 ปี จึงเกิด \”เด็กหลอดแก้ว\” เป็นรายแรกของโลกได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521)

คนไข้หลายต่อหลายคนคิดว่า \”การทำเด็กหลอดแก้ว\” สามารถแก้ปัญหาทาง \”ภาวะมี
บุตรยาก\” ได้ทุกอย่าง แม้แต่จะเลือกเพศบุตร ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก การ
ทำ \”เด็กหลอดแก้ว\” ครั้งหนึ่ง ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากทีเดียว (สูงกว่าการทำ \”กี๊ฟ\” อีก) และ
ผลการตั้งครรภ์ ก็ไม่มากนักประมาณร้อยละ 5-20 และจะน้อยลง เมื่ออายุสตรีมากกว่า 40 ปี
ดังนั้น การทำเด็กหลอดแก้วแต่ละครั้ง ต้องมี \”ข้อบ่งชี้\” ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ท่อนำไข่
อุดตัน, เชื้ออสุจิอ่อนมาก, ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเกาะผิดที่, พวกที่หาสาเหตุไม่ได้ และในกลุ่มที่
มีหลาย ๆ สาเหตุร่วมกัน
การดูแลคนไข้มีลูกยาก ก่อนที่จะไปถึงขั้นต้องทำ \”เด็กหลอดแก้ว\” นั้น จะต้องผ่าน
ขั้นตอนการหาสาเหตุก่อนเสมอ ถ้าสามารถใช้วิธีการอื่นที่รักษาได้โดยที่ไม่ยุ่งยากและได้ผลดี ก็น่า
จะพิจารณาให้การรักษาวิธีนั้นก่อน

** กระบวนการหาสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ **
1. การฉีดสารทึบรังสีเข้าโพรงมดลูกแล้วเอ็กซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติภายในมดลูก
และท่อนำไข่ ถ้าพบว่าภายในมดลูกผิดปกติ ส่วนใหญ่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการ \”ผ่าตัด\” ส่วน
ท่อนำไข่…หากพบว่า มีการอุดตันเกิดขึ้น ต้องดูว่า…ลักษณะอุดตันที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็น
การอุดตันที่ส่วนกลางและส่วนปลายของท่อนำไข่ โดยมีลักษณะเป็นถุงน้ำตัน ถือว่าเป็นลักษณะอุดตัน
จริง แต่ถ้าอุดตันในตำแหน่งส่วนต้นของท่อนำไข่ที่โผล่ออกจากโพรงมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจาก ภาวะ
ที่ท่อนำไข่หดรัดตัว จนสีผ่านออกมาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความผิดปกติจะเป็นกรณีใด ต้องทำ
การพิสูจน์ด้วยการเจาะท้องส่องกล้องดูอีกครั้ง จึงจะทราบผลที่แน่นอน

2. การเจาะท้องส่องกล้องดู เป็นวิธีการที่สำคัญในการช่วยวินิจฉัยโรคในคนไข้สตรีมี
บุตรยาก โดยปกติควรทำทุกรายที่แต่งงานเกิน 2 ปีขึ้นไปโดยไม่ได้คุมกำเนิด การเจาะท้อง
ส่องกล้อง จะให้รายละเอียดได้ดีมากเกี่ยวกับสภาพของตัวมดลูก, รังไข่, ปีกมดลูก และความผิด
ปกติภายในอุ้งเชิงกราน ในกรณีที่พบความผิดปกติจากการฉายภาพเอ็กซเรย์ ร่วมกับการฉีดสาร
ทึบแสงเข้าในโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่อุดตัน เราจะต้องทำการพิสูจน์ซ้ำด้วยการเจาะท้อง
ส่องกล้องดูทุกครั้ง (เพราะไม่แน่ว่า ท่อนำไข่อาจจะไม่อุดตันจริงก็เป็นได้ ทั้งนี้เนื่องจากท่อนำไข่
หดรัดตัวรุนแรง จนกระทั่งฉีดสีไม่ผ่านนั่นเอง) ถ้ายังพบความผิดปกติในลักษณะเดียวกัน ก็เป็นการ
วินิจฉัยอย่างเอกฉันท์ว่า ท่อนำไข่อุดตัน เมื่อพบพยาธิสภาพในช่องท้องแล้ว ก็มาพิจารณาดูว่า
พยาธิสภาพมีมากน้อยเพียงใด สมควรให้การรักษาวิธีการใดจึงจะเหมาะสม โดยพิจารณาจาก
อายุ,พยาธิสภาพ,ข้อบ่งชี้ และฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วย เป็นเกณฑ์
3. การดูอัลตร้าซาวน์ผ่านทางช่องคลอด นับว่ามีประโยชน์ไม่น้อยในการหาสาเหตุ
อัลตร้าซาวน์…มีบทบาทมากในการวินิจฉัยและการรักษา \”ภาวะมีลูกยาก\” มีข้อได้เปรียบหลาย
อย่าง เช่น …>>>
* ช่วยตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ตัวอย่างเช่น เนื้องอก
มดลูก, เนื้องอก หรือถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น
* ช่วยติดตามดูการเจริญเติบโตของ \”ไข่\” ในระหว่างรักษา
* ช่วยประเมินลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูกในระหว่างที่ทำการรักษา
* ช่วยเหลือในการเจาะไข่
นอกจากนี้ยังเป็นกรรมวิธีที่ \”ไม่เจ็บตัว\” อีกด้วย ส่วนใหญ่..เราใช้อัลตร้าซาวน์ทาง
ช่องคลอด เนื่องจากให้รายละเอียดของอวัยวะภายในสตรีได้ดีกว่า ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องกลั้น
ปัสสาวะ เหมือนการใช้อัลตร้าซาวน์ทางหน้าท้อง
เราเริ่มดูอัลตร้าซาวน์ตั้งแต่วันที่สองหรือสามของรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมน
ทุกอย่างมีอิทธิพลต่อ \”ไข่\” อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ ถ้าตรวจพบถุงน้ำรังไข่โตหรือเนื้องอกใด ๆ
ในช่วงนี้ก็ถือว่าผิดปกติให้ทำการรักษาความผิดปกตินี้ก่อน สำหรับถุงน้ำรังไข่ที่โตเกินกว่า
เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 เซนติเมตร ให้ตรวจดูด้วยว่า ลักษณะของสิ่งที่อยู่ภายใน มีลักษณะความ
เข้มข้นเป็นเช่นไร
ถ้าภายในมีลักษณะความเข้มข้นเหมือนน้ำธรรมดา และขนาดไม่โตมากนัก ก็ให้เฝ้า
สังเกตุติดตามต่อไป โดยไม่ต้องทำอะไร ถุงน้ำรังไข่อาจจะยุบไปเองได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
แต่ถ้าภายในถุงน้ำรังไข่ลักษณะเข้มข้น \”มาก\” หรือ \”ไม่สม่ำเสมอ\” ก็น่าจะเป็น
เนื้องอกรังไข่ผิดปกติ ควรให้การรักษาความผิดปกตินี้ ก่อนที่จะทำการกระตุ้น \”ไข่\”
แต่ถ้าตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ เราก็ให้การรักษา \”ภาวะมีบุตรยาก\” ได้เลย
โดยการกระตุ้นไข่ และติดตามดูการเจริญเติบโตของ \”ไข่\” จนได้ขนาดและระดับฮอร์โมนที่
เหมาะสม จึงทำการกระตุ้นให้ \”ไข่\” เปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งสุดท้ายเพื่อการปฏิสนธิ แล้วทำการ
เจาะเอา \”ไข่\” ออกมา
4. การติดตามดูแลแก้ไขฮอร์โมนในระบบการช่วยเหลือรักษา \”ภาวะมีลูกยาก\” :
ระบบฮอร์โมนในสตรีถือว่ามีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสืบพันธุ์อยู่ไม่น้อย
เซลล์สืบพันธุ์ของสตรีหน่วยที่เล็กที่สุด จะอยู่ในสภาพที่ \”สงบเงียบ\” มาตลอดตั้งแต่
เกิด ตราบจนวันหนึ่งเมื่อเข้าสู่วัยสาว เซลล์สืบพันธุ์ทั้งหลายก็จะมีการทะยอยเจริญเติบโตขึ้นมา
เรื่อย ๆ โดยไม่ทราบกลไกที่แน่นอน เมื่อเจริญขึ้นมาถึงระดับหนึ่ง จะมีคำสั่งหรือสัญญานจากสมอง
มากระตุ้น สัญญาณหรือคำสั่งจากสมอง (สารหลั่งจากสมองที่ชื่อ GONADOTROPIN) มากระตุ้น
ทำให้เซลล์สืบพันธุ์บางส่วนเจริญเติบโตขึ้นมาเป็น \”ไข่\” เริ่มแรกจะมี \”ไข่\” หลายฟองเจริญ
ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน แต่ด้วยกลไกของร่างกาย จะเกิดการคัดเลือกเอา \”ไข่\” ที่สมบูรณ์เพียง
ใบเดียวเท่านั้นให้ตกออกมา และพร้อมที่จะปฏิสนธิ
สาร GONADOTROPIN ประกอบด้วยสาร LH (LUTINIZING HORMONE) และ FSH
(FOLLICLE STIMULATING HORMONE) สารสองตัวนี้ทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์สืบพันธุ์ในรังไข่ เป็น
เสมือน คำสั่งหรือสัญญาณจากสมองส่วนหน้า
ในช่วง 2-3 วันแรกของรอบเดือน FSH และ LH จะต่ำมาก ๆ แต่ถ้าพบว่า FSH
และ LH มีค่าสูงมาก ๆ ในช่วงนี้ ก็เป็นสิ่งบอกเหตุว่า \”รังไข่\” ไม่ทำงานหรือทำงานล้มเหลว
ไม่ผลิตไข่หรือผลิตไข่ที่ไม่มีคุณภาพ ใช้การไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้เราไม่สามารถใช้ \”ไข่\” ของสตรี
ผู้นี้ได้เลย อาจจะหาทางออกได้โดยต้องใช้ \”ไข่บริจาค\” หรือวิธี \”อุ้มบุญ\” เท่านั้นถึงจะมีลูกได้
ในขณะที่ไข่กำลังเจริญเติบโตขึ้นมา ก็จะสร้างฮอร์โมนเอสโตเจนไปด้วย ไข่ที่ดีดูได้
จากขนาดและระดับฮอร์โมนที่สมดุลย์กัน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามขนาด
ของ \”ไข่\” ที่เจริญเติบโต เมื่อระดับของเอสโตรเจนสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง ในระยะเวลาที่นานพอ
สมควรจะกระตุ้นให้เกิด \”LH SURGE\” ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชักนำให้ \”ไข่ตก\” โดยหลังจากนี้
ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ไข่จะตกออกมาและพร้อมที่จะปฏิสนธิ ขณะเดียวกันบริเวณที่ไข่ตก
(CORPUS LUTEUM) ก็จะมีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนขึ้นมาตามลำดับด้วย ฮอร์โมน
เอสโตรเจนและโปรเจสเตอร์โรน จะทำหน้าที่เตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสำหรับการ
ฝังตัวของตัวอ่อนต่อไป และย้อนกลับไปยับยั้งการหลั่งของ FSH และ LH ที่สมองเบื้องบน
ในระหว่างที่ไข่กำลังเจริญเติบโตอยู่แต่ยังไม่ได้ขนาดที่เหมาะสม หากเกิดมี LH
SURGE ขึ้นมา หรือ LH มีระดับสูงกว่าปกติก็จะทำให้ไข่สุกก่อนเวลาอันสมควร (PREMATURE
LUTINIZATION) ไข่เหล่านี้จะขาดคุณสมบัติในการปฏิสนธิ
ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใด ไม่ว่าจะเป็นที่ระบบประสาทส่วนกลาง, ต่อมใต้
สมอง หรือรังไข่ ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ได้
โรคบางโรคที่ตรวจพบสาร LH สูงผิดปกติตลอดเวลา ในขณะที่ FSH ปกติ เช่น โรค
POLYCYSTIC OVARIAN DISEASE จะมีผลทำให้คุณภาพของไข่ไม่ดี ไม่ค่อยจะมีไข่ตก ทำให้
โอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าคนปกติ
ภาวะอื่น ๆ ที่มีผลต่อ คำสั่งหรือสัญญาณจากสมอง (GONADOTROPIN) เช่น ภาวะ
ต่อมธัยรอยด์ ทำงานน้อยหรือมากกว่าปกติ,ภาวะที่ฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือดสูงกว่าปกติ เป็นต้น
ภาวะเหล่านี้ทำให้การทำงานและการเจริญเติบโตของ \”ไข่\” ผิดปกติไปด้วย เพราะฉะนั้น เรา
ต้องทำการรักษาภาวะเหล่านี้ก่อน จะโดยการให้ยารักษา หรือผ่าตัดก็แล้วแต่ความเหมาะสม
สรุปว่า เราต้องติดตามเจาะเลือดหาระดับฮอร์โมนต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ทั้งฮอร์โมน
ที่ทำหน้าที่เป็นคำสั่งจากสมอง, ฮอร์โมนที่รังไข่สร้างขึ้น และฮอร์โมนที่มารบกวนการทำงานของ
ระบบควบคุมการเจริญเติบโตของ \”ไข่\” เพื่อหาทางแก้ไขก่อนที่จะทำการรักษาด้วยวิธีขั้นสูงต่อไป

5. การส่องกล้องดูโพรงมดลูกของสตรี (HYSTEROSCOPE) มีความสำคัญในการ
วินิจฉัย และการรักษาพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เราอาจพบเนื้องอก, พังผืด หรือรูปร่างที่ผิด
ปกติภายในโพรงมดลูกได้ เราสามารถใช้กล้อง HYSTEROSCOPE ในการช่วยเหลือผ่าตัดความ
ผิดปกติภายในโพรงมดลูกได้เช่นกัน ในต่างประเทศ และหลายต่อหลายสถาบันในบ้านเรา นิยมทำ
การส่องดูโพรงมดลูกในรายที่จะเข้ารับการรักษาในกระบวนการทำ \”เด็กหลอดแก้ว\” ทุกราย

6. การตรวจน้ำเชื้ออสุจิ ผู้ชายที่มารับการรักษาในคลีนิคผู้มีบุตรยากต้องทำการตรวจ
น้ำเชื้อทุกราย อย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ถ้าผิดปกติก็ต้องทำการตรวจซ้ำอีก
ในน้ำเชื้ออสุจิ มีตัวอสุจิจำนวนมากมาย มีรูปร่างเหมือนลูกอ๊อด แต่ขนาดเล็กกว่ามาก
มายนัก ที่หัวของตัวอสุจิจะมีถุงคล้ายหมวกภายในมีน้ำย่อยอยู่ ช่วยประโยชน์ในการเจาะไข่
มีส่วนกลางลำตัวเล็ก ๆ และส่วนหางยาวไว้โบกสะบัดในการว่ายให้เคลื่อนไหว การวิเคราะห์
น้ำอสุจิเราจะดูปริมาณ,จำนวนตัวอสุจิ,การเคลื่อนไหว,รูปร่างลักษณะ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
แต่อย่างน้อยจะต้องทราบ จำนวนตัวอสุจิ,การเคลื่อนไหวและรูปร่างลักษณะเป็นสำคัญ ความผิด
ปกติที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราสามารถ วางแผนรักษาได้ถูกต้อง
ยังมีกระบวนการของสาเหตุอีกหลายต่อหลายวิธีทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ที่กล่าวมา
ข้างต้นก็เป็นสิ่งที่กระทำกันบ่อย ๆ ในคลีนิคมีบุตรยาก หากมีความผิดปกติอื่นใดที่สงสัยอีก ก็ต้องทำ
การค้นหาด้วยวิธีอื่นต่อไป
จะเห็นว่า การหาสาเหตุและการแก้ไขสาเหตุเบื้องต้นก่อนการทำ \”เด็กหลอดแก้ว\”
มีความสำคัญมาก การหาสาเหตุเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการรักษา เราไม่ควรละเลยข้าม
ขั้นตอนจุดนี้ไป เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ๆ และผลสำเร็จที่ยังน้อยอยู่ (โดยเราอาจจะต้องทำ
\”เด็กหลอดแก้ว\” (IVF-ET) 5-10 ครั้งจึงจะได้ผลสำเร็จสักครั้งหนึ่ง) ดังนั้น ก่อนจะทำ \”เด็ก
หลอดแก้ว\” ขอให้คิดทบทวนให้ดีอีกสักครั้ง
จริงอยู่ \”ลูก\” มีความสำคัญ แต่ \”คู่ชีวิต\” มีความสำคัญมากกว่า \”คู่ชีวิต\” ต้องมี
ความมั่นคง,มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งก่อนจึงค่อยคิดมี \”ลูกแก้ว\” เวลายังพอมีอยู่ วิทยาการก็ก้าวหน้า
ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ขอให้มีความอดทนและความหวัง ย่อมมีโอกาสสมหวังดังตั้งใจสัก
วันหนึ่ง
ขออย่าเพิ่งรีบร้อนกระทำการใด ๆ โดยไม่ใส่ใจถึงข้อมูลพื้นฐาน อันได้แก่ สาเหตุ,
เศรษฐกิจส่วนตัว,  ภาวะจิตใจ, ข้อบ่งชี้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว, ความรู้ & ความสามารถ &
ความจริงใจของหมอ  ประกอบกับเครื่องมือความพร้อมทางอุปกรณ์การแพทย์  เป็นต้น  เมื่อท่าน
พร้อมใน ความคิดและจิตใจ แล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่จะตัดสินใจทำ \”เด็กหลอดแก้ว\”

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *