การคลอดท่าก้นกับคนมีลูกยาก

เมื่อวันก่อน ตอนเช้า ภรรยาข้าพเจ้าได้นำรถไปจอดรอหน้าร้านค้าแห่งหนึ่ง แล้วลงเดินไปขยับเลื่อนแผงเหล็กที่กั้นช่องจอด ทันใดนั้น ประตูรถก็ล็อคปิดตัวเอง เธอรู้สึกตกใจและโทรศัพท์มาบอกข้าพเจ้า ซึ่งกำลังผ่าตัดคลอดให้กับคนไข้รายหนึ่งอยู่ หลังจากนั้น เธอได้ขอร้องให้เจ้าของร้านช่วยตามช่างกุญแจมาเปิดประตูรถ ช่างกุญแจถามว่า ‘รถยี่ฮ้ออะไร?’ พอได้คำตอบว่า ‘รถเบนซ์’ ช่างก็บอกราคาการเปิดประตูรถแบบโจรกรรมว่า ‘1500 บาท’ ภรรยาข้าพเจ้าต่อราคาได้ 1200 บาท แล้วโทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าบอกเธอว่า ‘ไม่ต้องใช้ช่างกุญแจหรอก เดี๋ยว!! จะกลับไปเอากุญแจรถสำรองที่บ้าน มาให้’ ซึ่ง…กว่าจะเรียบร้อย ก็กินเวลาไปนานถึง 1 ชั่วโมง…. ที่สำคัญ คือ หากประตูรถเบนซ์พังด้วยช่างทำกุญแจข้างถนน ก็จะต้องเสียเงินเสียเวลามากมายกว่านี้ เรื่องนี้ทำให้ได้บทเรียนที่ว่า ‘การกระทำใดๆให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี จำเป็นต้องอาศัยกุญแจหลัก คือ ความรู้จริง และความชำนาญแบบมืออาชีพ รวมทั้ง อย่าได้วางใจคนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ’
คนไข้ที่ข้าพเจ้ากำลังผ่าตัดซึ่งกล่าวถึงข้างต้นนั้น ชื่อ คุณกาญจนา อายุ 34 ปี ตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 บุตรคนแรกของเธออายุ 14 ปี เธอตั้งครรภ์ที่ 2 เมื่อ 10 ปีก่อน แต่โชคร้ายกลายเป็นครรภ์ไข่ฝ่อ (Blighted ovum) จึงได้รับการขูดมดลูก ต่อมา คุณกาญจนาแต่งงานใหม่ และเข้ามารับการรักษาภาวะมีบุตรยากกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เมื่อปี พ.ศ. 2550 เธอตั้งครรภ์สำเร็จในเดือนกันยายน..เมื่อเธอมาหาข้าพเจ้าด้วยเรื่องแท้งคุกคาม ข้าพเจ้าได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับเธอ พบว่า ลูกเธอมีขนาด (Crown – lump lenght ) เท่ากับ 8 สัปดาห์ จึงได้สั่งยากันแท้งชนิดฉีดให้ ต่อมา ยังได้ตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำให้กับเธออีกตอนอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ
คุณกาญจนาฝากครรภ์กับข้าพเจ้ามาตลอดจนอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ เธอก็ขอย้ายไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เพื่อลดค่าใช้จ่าย ข้าพเจ้าอนุญาตตามความประสงค์ พร้อมทั้งให้ประวัติการฝากครรภ์และผลการตรวจทุกอย่างกับเธอ หลังจากนั้น ประมาณเดือนเศษ เธอก็ขอกลับมาฝากครรภ์ต่อกับข้าพเจ้า เพราะการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลของรัฐ ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร การดำเนินการตั้งครรภ์ของเธอเป็นไปตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร จวบจนเมื่อวานนี้ ซึ่งคุณกาญจนาและสามีได้เลือกให้บุตรคลอดเมื่อเวลา 9 นาฬิกา 9 นาที
ณ ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าลงมีดบนผนังท้องน้อยตามรอยแผลเก่า (Pfannenstiel’s incision) ตอนนั้น ข้าพเจ้าลืมไปว่า ครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าตรวจครรภ์ให้กับคุณกาญจนานั้น ลูกของเธอวางตัวนอนอยู่ในท่าขวาง (Transverse lie) ซึ่งจะต้องวางแผนเป็นพิเศษเวลาทำคลอด พอลงมีดผ่านชั้นกล้ามเนื้อมดลูกเข้าถึงถุงน้ำคร่ำ ก็รู้สึกแปลกใจ เพราะคลำไม่ได้ส่วนหัว พลันนึกขึ้นได้… ใช่แล้ว! ทารกน้อยอยู่ในท่าก้น (Breech presentation)
ทารกท่าก้นในครรภ์นั้น ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตรายมาก โดยเฉพาะช่วงที่กำลังคลอด ไม่ว่า จะเป็นคลอดเองหรือโดยการผ่าตัด เพราะเด็กมีโอกาสคลอดติดหัว จนเสียชีวิต หรือปัญญาอ่อนหากรอดชีวิต
การคลอดทารกท่าก้นผ่านทางช่องคลอดนั้น อันตรายต่อทารกมากกว่า การคลอดโดยผ่าตัด (Cesarean section) ยิ่งในสตรีครรภ์แรก ยิ่งอันตราย เพราะช่องคลอดคนไข้ไม่เคยขยายตัวมาก่อน ส่วนลำตัวเด็กซึ่งอ่อนนุ่ม มักจะสามารถผ่านช่องคลอดออกมาได้ แต่ส่วนหัวอาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากคนไข้มักจะเกร็งกล้ามเนื้อช่องคลอด จนบีบรัดส่วนหัวและคอของทารก ทำให้ทารกมีสภาพเหมือนคนถูกแขวนคอ หากสูติแพทย์ไม่สามารถทำคลอดทารกที่ติดหัวได้ภายในเวลา 3 นาที ทารกก็อาจเสียชีวิต
การผ่าตัดคลอดเอาทารกท่าก้นออกทางหน้าท้อง ก็ใช่ว่าจะง่าย ทั้งยังมีอันตรายต่อทารกอย่างมาก ปัญหาแรกที่สูติแพทย์มักเผชิญ คือ การล้วงจับขาของทารกขณะที่ถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งเป็นหัวใจของการทำคลอดทารกท่าก้น เพราะทารกอาจเปลี่ยนท่าเป็นท่าขวางและเอาด้านหลังหันลงมาข้างล่าง (Dorso – posterior) ทำให้คุณหมอไม่สามารถจับขาทารกได้ ซึ่ง..หากน้ำคร่ำไหลออกจากโพรงมดลูกมากๆ มดลูกจะยิ่งหดรัดตัว และบีบอัดตัวทารกจนยากที่จะทำคลอด หากสูติแพทย์ผู้นั้นด้อยประสบการณ์ ปล่อยให้เวลาเนิ่นนาน ผ่านไปอีก ทารกก็คงต้องสังเวยชีวิต วิธีแก้ไข คือ ลงมีดผ่าตัดเปิดมดลูกที่ขอบแผลมดลูกด้านบนตรงกลางในลักษณะตัว T หัวคว่ำ (inverted T) ซึ่งถึงแม้จะทำได้..แต่ ก็ใช่ว่า จะนำเอาตัวทารกออกมาได้ง่ายๆ อีกประการหนึ่งที่อันตรายต่อทารก คือ การทำคลอดส่วนแขนขาของทารก ซึ่ง..เคยมีปรากฏบ่อยๆ ที่สูติแพทย์ทำแขนขาทารกหัก จนต้องเข้าเฝือกอยู่หลายเดือน สำหรับการคลอดติดหัวในกรณีผ่าตัดคลอด ก็พบได้ไม่น้อย เนื่องจากมีรกขวางทางอยู่ ทำให้ช่องทางออกลดขนาดลง
สำหรับกรณีของคุณกาญจนา พอเปิดมดลูกพบถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าก็รีบคว้าจับส่วนฝ่าเท้าทั้งสองข้างขณะที่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก จากนั้นจึงเจาะถุงน้ำคร่ำ…..การคลอดในช่วงแรกๆก็เป็นไปอย่างง่ายดาย..ในขณะที่กระหยิ่มยิ้มย่องอยู่นั้น ก็เกิดปัญหา คือ ทารกคลอดติดส่วนแขนซ้าย ตอนนั้น พอคลอดลำตัวแล้ว ข้าพเจ้าก็ปัดแขนข้างขวาของเด็กออกมาอย่างรวดเร็ว แต่…..พอถึงแขนข้างซ้าย ข้าพเจ้ากลับไม่สามารถปัดออกได้ (nuchal arm) ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจมาก พยายามแก้ไข โดยขยับตัวเด็กพลิกกลับไปและกลับมาหลายครั้ง สุดท้าย เมื่อลองปัดแขนผ่านหน้าเด็กอีกครั้ง ก็สามารถนำเอาแขนทารกข้างซ้ายออกมาได้ ข้าพเจ้าถอนหายใจเฮือกใหญ่ แต่..ก็เกิดปัญหาการติดหัวอีก ในตอนนั้น ข้าพเจ้าต้องทำคลอดส่วนหัวโดยใช้วิธีตะแคงตัวเด็ก แล้วพลิกตีลังกาดึงศีรษะออกมาทางด้านข้าง (Mauriceau’s maneuver) ทารกน้อยร้องส่งเสียงอย่างดัง ตัวแดง และไม่มีลักษณะอาการขาดก๊าซออกซิเจน ข้าพเจ้ารีบส่งเด็กให้กับกุมารแพทย์ แล้วจึงได้เยี่ยมหน้าไปบอกกับคุณกาญจนา ว่า “ลูกแข็งแรงดี สวยงาม” เพราะทารกน้อยเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3,120 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 7 , 8 , 10 ณ นาทีที่ 1 , 5 และ 10 ตามลำดับ จากนั้น ข้าพเจ้าก็รีบเย็บปิดกล้ามเนื้อมดลูกและผนังหน้าท้องอย่างเรียบร้อย รวดเร็ว
พอเสร็จสิ้นการผ่าตัดคลอด ข้าพเจ้าก็รีบขับรถกลับบ้าน เพราะเมื่อสักครู่ ภรรยาข้าพเจ้าได้โทรศัพท์มาบอกข่าวร้ายเรื่องประตูรถของเธอปิดตัวลงกลอนอัตโนมัติในขณะที่เครื่องยนต์ยังไม่ดับ ข้าพเจ้าโทรศัพท์สั่งการให้คนใช้เตรียมหากุญแจสำรองไว้ และยืนรอที่หน้าบ้าน พอขับรถผ่านไป ข้าพเจ้าจะได้ไม่เสียเวลาไปค้นหาอีก เมื่อได้กุญแจสำรองเรียบร้อย เรื่องราวเลวร้ายเกี่ยวกับรถยนต์ของภรรยา ก็จบลงด้วยดี แต่…หารู้ไม่ว่า….เรื่องเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งกำลังก่อตัวขึ้น
เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ที่ห้องตรวจนรีเวช โรงพยาบาลตำรวจ โทรศัพท์ข้าพเจ้าได้ส่งเสียงดังต่อเนื่องอยู่เป็นเวลานาน ข้าพเจ้าอยากจะปล่อยให้มันหยุดเอง เนื่องจากมีคนไข้รอตรวจอยู่จำนวนมาก ในที่สุด เมื่อรับสาย ก็ต้องพบกับข่าวร้าย
“พี่ๆ ฟังให้ดีนะ คือ ลูกคุณกาญจนาเป็น (esophageal atresia ) หลอดอาหารตีบตัน” กุมารแพทย์เอ่ยขึ้นด้วยเสียงสั่นเครือที่ปลายสายอีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกคอตีบตันไปด้วย พลางพูดอย่างละล่ำละลักว่า “อะไรนะ! พูดอีกทีซิ”
“ คือ เด็กเป็น esophageal atresia ซึ่งเป็น emergency case (กรณีฉุกเฉิน) ด้วย ต้องรีบrefer (ส่งต่อ) ไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์หรือโรงเรียนแพทย์ด่วนเลย มิฉะนั้น เด็กจะเสียชีวิต ” กุมารแพทย์พูดอังกฤษปนไทยแบบภาษาแพทย์ เพราะต้องการสื่อสารให้เร็วที่สุด
“ เธอรีบส่งต่อเลย แต่ส่งไปที่โรงเรียนแพทย์นะ เพราะคนไข้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และอย่าลืมอธิบายเหตุผลให้คนไข้และสามีทราบด้วย” ข้าพเจ้าพูดตอบกลับไป จากนั้น ก็ขอตัวไปตรวจคนไข้ ข้าพเจ้าตรวจคนไข้ต่อจนถึงบ่ายโมง แล้วจึงขึ้นไปเข้าห้องผ่าตัดคนไข้ถุงน้ำรังไข่อีกรายหนึ่ง ระหว่างนั้น จิตใจข้าพเจ้า เป็นกังวลตลอด 4 ชั่วโมงของการผ่าตัด
จากนั้น ข้าพเจ้าก็รีบเดินทางไปที่โรงพยาบาลเอกชน เพื่อออกตรวจในตอนเย็น ข้าพเจ้าพยายามสลัดความรู้สึกกังวลใจออกไป แต่ก็ทำไม่ได้ พอตรวจคนไข้เสร็จตอน 2 ทุ่ม ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเยี่ยมคุณกาญจนาที่หอผู้ป่วยชั้น 5 แต่..ก่อนเยี่ยมคนไข้ ข้าพเจ้าได้แวะไปที่ห้องทารกแรกเกิด เพื่อสอบถามเหตุการณ์ในช่วงเช้าว่า เป็นอย่างไร? พยาบาลห้องทารกแรกเกิดเล่าให้ฟังว่า ‘หลังจากทารกขึ้นมาที่ห้อง พวกเธอได้ลองเอาสาย NG tube ใส่ทางจมูกและปาก เพื่อดูดเอาของเหลวในท้องออกมา แต่ใส่ได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ก็ใส่ต่อไปไม่ได้ จึงรายงานให้กุมารแพทย์ทราบ กุมารแพทย์จึงให้ส่งทารกน้อยไปตรวจเอกซเรย์พร้อมกับคาสาย NG tube ปรากฏว่า สาย NG tube ไม่ไม่ได้อยู่ในกระเพาะอาหาร แต่อยู่ในหลอดอาหารที่ระดับ T12 เมื่อทราบคำวินิจฉัย กุมารแพทย์ได้โทรศัพท์ติดต่อข้าพเจ้า และแจ้งคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก พร้อมทั้งส่งต่อทารกไปที่โรงพยาบาลเด็ก
เผอิญ! ในค่ำนั้น มีกุมารแพทย์เวรท่านหนึ่งมาทำงานในห้องทารกแรกเกิด เธอได้ยินเรื่องราวที่พวกเราสนทนา จึงพูดแทรกขึ้นมาว่า “Esophageal Atresia ของเด็กรายนี้ รักษาผ่าตัดไม่ยาก เพราะไม่มีรูติดต่อกับหลอดลม ไม่กี่วัน เด็กก็ดูดนมได้ ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก” ข้าพเจ้าบอกไม่ถูกว่า คำพูดของกุมารแพทย์ท่านนี้มีค่ามากมายเพียงใด แต่..ได้ช่วยชโลมใจให้กับข้าพเจ้าและคุณกาญจนาอย่างมาก เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนไข้ ก็ได้แสดงความเสียใจและบอกข่าวดีนี้ให้ทราบ ทารกน้อยอยู่ในมือของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ จึ่งน่าจะมีการพยากรณ์โรคที่ดี ซึ่ง…จากการติดตามอาการหลังผ่าตัด ก็พบว่า หลายวันมานี้ ทารกน้อยมีปฏิกิริยาตอบสนองได้ดี ร้องส่งเสียงดัง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร
ค่ำคืนนี้ เสียงเพลงและดนตรีชีวิตของมวลมนุษย์ยังคงบรรเลงอย่างต่อเนื่อง ใครเลย! จะทราบความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีลูกพิการ แต่…ละครแห่งชีวิตก็คงต้องแสดงต่อไป ทั้งๆที่มีความทุกข์อย่างแสนสาหัส คุณกาญจนาดีใจได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็ต้องนอนร้องไห้ ตลอดทั้งวัน
ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงช่วยดลบันดาลให้ลูกคุณกาญจนา ได้กลับมาเป็นทารกน้อยปกติเหมือนกับเด็กธรรมดาทั่วไป และปลอดภัย ไร้ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
‘ชีวิต ก็เป็นเช่นนั้น บางครั้งเหมือนดั่งละคร มีสุข มีทุกข์ มีเศร้า ปะปนระคนกันไป ขอเพียงอย่างเดียว คือ อยากให้บทสุดท้ายของละครชีวิต จบลงด้วยความสุข ภายใต้เสียงเพลงที่อ่อนหวานแห่งรัตติกาลที่สวยงาม’………………………..
฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *