เวลาที่เราประสบกับปัญหา แล้วหาทางออกไม่ได้ หากใช้เวลาครุ่นคิดสักนิด บ่อยครั้ง ที่เราสามารถคลี่คลายได้ เนื่องจากเกิดมี ‘สติ’ และ ‘ปัญญา’ ปรากฏขึ้นมา ปัญหาของคนท้องก็เช่นเดียวกัน แก้ไขยาก เพราะหากผิดพลาด อาจหมายถึง สองชีวิตตกอยู่ในอันตราย…..มีอยู่บ่อยๆ ที่คุณหมอสูติต้องคิดพิจารณาอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรดีกับภาวะแทรกซ้อนที่กำลังเผชิญอยู่ นั่น…ก็เป็นส่วนรับผิดชอบของสูติแพทย์ แต่…ในส่วนของคนไข้ ย่อมหนีไม่พ้น ‘การร่วมตัดสินใจกับแพทย์…’ ซึ่งหมายถึง ควรหาความรู้ให้มากที่สุดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่……
วันก่อน มีคนไข้รายหนึ่งชื่อ คุณนาตยา อายุ 27 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 ครรภ์แรกแท้งเมื่อ 6 ปีก่อนขณะตั้งท้องได้ 2 เดือน สำหรับครรภ์นี้ คุณนาตยา ตั้งครรภ์ได้ 11 สัปดาห์ เธอมีปัญหา คือ มีเลือดออกกะปิดกะปรอยจากช่องคลอด 2 -3 วันก่อนมาโรงพยาบาล ร่วมกับปวดท้องน้อย นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดได้มาปรึกษากับข้าพเจ้าในตอนเช้าที่ห้องตรวจครรภ์ ข้าพเจ้าบอกกับเขา ‘ให้เอาคนไข้ไปทำอัลตราซาวนด์ เพื่อยืนยันว่า แท้งจริงหรือไม่” วันนั้น เผอิญ! การทำงานในช่วงเช้าวุ่นวายมาก ทำให้คุณนาตยาไม่ได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ พอถึงช่วงบ่าย นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดคนเดิมได้ตรวจภายในให้กับคนไข้ เมื่อตรวจเสร็จ ก็มารายงานว่า “พบชิ้นเนื้อจุกอยู่ที่ปากมดลูกของคนไข้” ตอนนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจจากคำพูดของเขาว่า ‘คนไข้ได้แท้งบุตรเรียบร้อยแล้ว ชิ้นเนื้อหลุดลอกออกมาจำนวนมาก จนมีชิ้นเนื้อบางส่วนจุกคาที่ปากมดลูก’ จึงพูดตอบว่า “พรุ่งนี้ จะขูดมดลูกให้กับคนไข้และ…” ยังไม่ทันจะพูดจบ
พยาบาลคนหนึ่งที่ห้องตรวจครรภ์ พูดแทรกขึ้นว่า “หมอ! หมอ! ตอนเช้า เห็นเขียนบันทึกไว้ว่า จะดูอัลตราซาวนด์ก่อน ไม่ใช่หรือ?” ข้าพเจ้าอุทานขึ้นมาว่า “เออ! ใช่…ใช่..ยังงั้น เอาคนไข้ไปที่ห้องตรวจนรีเวช ผมจะตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้” พอตรวจภายในให้กับคุณนาตยา ก็ต้องแปลกใจ เพราะไม่พบเลือดในช่องคลอดเลย ส่วนที่ปากมดลูก ก็พบเพียงชิ้นเนื้อเล็กๆ (endocervial polyp) ขนาด 1×2 เซนติเมตรยื่นออกมา ซึ่งไม่ใช่ชิ้นส่วนของรกที่แท้งออกมา แต่…ที่ตกใจมากกว่านั้น คือ สิ่งที่ปรากฏในจอภาพ เพราะเป็นเงาของทารกน้อย ที่มีการกระเพื่อมไหวภายในคล้ายๆกับดวงไฟที่กระพริบในเงามืดยามค่ำ ใช่แล้ว ลูกคุณนาตยายังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าเผลอพูดโพล่งออกมา “โชคดีนะ! ที่ผมไม่เอาคนไข้ไปขูดมดลูกเสียก่อน ผมเกือบจะทำบาปซะแล้ว”
ส่วนกรณีของคุณนิภาภรณ์ ก็น่าเห็นใจไม่น้อย เธอมีอายุเพียง 27 ปี ตั้งครรภ์ที่ 3 ลูกคนแรกอายุ 10 ขวบ แต่แท้งบุตรในครรภ์ที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว สำหรับครรภ์นี้ คุณนิภาภรณ์ฝากครรภ์ตั้งแต่ท้องได้ 2 เดือน จากนั้น ก็ฝากครรภ์ตามนัดมาตลอด จำนวน 10 ครั้ง คาดไม่ถึงว่า ยังต้องมาพบกับเรื่องอันน่าเศร้า ลูกของเธอถูกตรวจพบในเวลาต่อมาว่าเป็นเด็กไร้กะโหลกศีรษะ (Anencephaly)
พออายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ พยาบาลห้องฝากครรภ์บันทึกไว้ว่า ‘ไม่สามารถคลำส่วนนำได้ชัดเจนจากการตรวจหน้าท้อง’ เมื่อคุณนิภาภรณ์ทราบ จึงร้องขอเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ แต่..ก็พลาดโอกาสไป ด้วยสาเหตุบางประการ คำขอร้องของคุณนิภาภรณ์มาสัมฤทธิ์ผลเมื่อสูติแพทย์ท่านหนึ่งกลับจากการลาพักหลังคลอดบุตร 3 เดือน พอคุณหมอวางหัวตรวจอัลตราซาวนด์บนหน้าท้องของคนไข้ ก็ต้องกล่าวแสดงความเสียใจกับเธอว่า “ลูกของคุณไร้กะโหลกศีรษะ!!!!”
อะไรจะทำให้คนท้องเจ็บปวดใจเท่ากับคำพูดของหมอที่ว่า “ลูกพิการ” คุณนิภาภรณ์ได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น โดยสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจอัลตราซาวนด์ ในที่สุด คุณนิภาภรณ์ก็ได้รับการทำแท้งเพื่อการรักษา ที่น่าเสียใจ คือ เธอได้พยายามร้องขอเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์อยู่หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง คุณนิภาภรณ์เพิ่งมาทราบว่าลูกพิการดังกล่าวจนเมื่ออายุครรภ์มากถึง 31 สัปดาห์ ซึ่งการทำแท้ง จะอันตรายมากกว่าตอนอายุครรภ์น้อยๆ
หากคุณหมอท่านใด ได้รับการร้องขอทำอัลตราซานด์จากคนท้อง โปรดเสียสละเวลาสักหน่อย ช่วยตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับเขาเหล่านั้นเถิด เพราะอาจพบความพิการบางอย่างของทารกแต่เนิ่นๆอย่างกรณีนี้ อย่างไรตาม ข้าพเจ้าอยากให้ขอสังเกตว่า ‘ภาวะทารกพิการไร้กะโหลกเช่นนี้สามารถถูกตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ เพียงแค่ 12 สัปดาห์’ นั่นแสดงว่า คุณนิภาภรณ์เสียโอกาสที่จะเข้ารับการทำแท้งเพื่อการรักษาเป็นเวลาถึง 5 เดือน อย่างไรก็ตาม ความพิการอื่นๆของทารกน้อยในครรภ์นั้น จะได้รับการวินิจฉัยได้ดีจากอัลตราซาวนด์ ก็เมื่ออายุครรภ์ของมารดา เกินกว่า 24 สัปดาห์ ไปแล้ว
กรณีแปลกประหลาดรายหนึ่งที่ควรรู้ คือ กรณีของคุณจ๋า ชาวลาว อายุ 24 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 ลูกคนแรกของเธออายุ 6 ขวบ คลอดที่โรงพยาบาลราชวิถี ส่วนครรภ์นี้ ตอนที่มาฝากครรภ์ ธนาคารเลือดได้แจ้งให้แผนกสูติทราบว่า ‘คุณจ๋ามีเลือดกรุ๊ปโอ บอมเบย์ (O Bombay) ซึ่งหาได้ยากมาก’ เจ้าหน้าที่ธนาคารเลือดพยายามติดต่อไปตามโรงพยาบาลศูนย์หลายๆแห่ง ก็พบว่า มีเลือดกรุ๊ปโอ บอมเบย์ (O Bombay) อยู่เพียงแห่งเดียว คือที่โรงพยาบาลศิริราช และมีอยู่เพียง 1 หรือ 2 ถุงเท่านั้นในสภาพแช่แข็ง
ด้วยเหตุที่ไม่เคยมีกรณีดังกล่าว ทางแผนกสูติจึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ของธนาคารเลือดมาพูดถึงความสำคัญและความเป็นมาของเลือดกรุ๊ปนี้ให้ฟัง ในที่สุด ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่า ควรส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลศิริราช พวกเราได้ชี้แจงถึงความจำเป็นให้กับคุณจ๋าฟังว่า “โรงพยาบาลเราไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแล ” ปัญหาจึงจบลง
ถัดมา ก็เป็นกรณีที่พบน้อยมากอีกเช่นกัน คุณนพรัตน์ อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์แรก เดิมเธอฝากครรภ์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ได้ขอย้ายมาฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ ปัญหาคือ เธอป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า ‘CML หรือ Chronic myeloid leukemia’ และโรงพยาบาลตำรวจไม่มี แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคเลือด
สูติแพทย์ที่รับฝากครรภ์ ได้แนะนำคุณนพรัตน์ให้กลับไปฝากครรภ์ยังที่เดิม แต่เธอไม่ยินยอม โดยอ้างว่า บ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาลตำรวจ และคุณหมอที่ รพ.ศิริราช บอกว่า “คลอดที่ไหน ก็ได้” เมื่อคุณนพรัตน์ปฏิเสธที่จะย้ายโรงพยาบาล เธอจึงถูกส่งตัวไปที่แผนกอายุรกรรมเพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการคลอดและมะเร็งเม็ดเลือดว่า จะมีทางออกอย่างไร? คุณนพรัตน์มาฝากครรภ์ที่ รพ. ตำรวจทั้งหมด 4 ครั้ง แต่…เธอไม่ยอมไปหาอายุรแพทย์ และไม่ได้กลับมาหาสูติแพทย์คนเดิม
ต่อมา คุณนพรัตน์เจ็บครรภ์มาห้องคลอดขณะอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ มดลูกแข็งตัวทุกๆ 10 นาที แพทย์เวรตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกยังไม่เปิด (Cone shape) จึงแนะนำให้ไปคลอดที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อความปลอดภัยของเธอและลูก คุณนพรัตน์รู้สึกไม่พอใจ เอ่ยปากว่า “ทำไมไม่รับตัวไว้เพื่อคลอด ถ้ารับคลอดไม่ได้ ทำไมรับฝากครรภ์?” การเจรจาใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง คุณนพรัตน์จึงยินยอมไปคลอดที่โรงพยาบาลศิริราช จากการติดตามสอบถามทางโทรศัพท์ ได้ความว่า คุณนพรัตน์และลูกปลอดภัยดี เรื่องราวของเธอถูกหยิบยกมาเข้าที่ประชุมในวันหนึ่ง สูติแพทย์ที่อยู่เวรให้เหตุผลว่า ‘หากคนไข้มีปัญหาตกเลือดหลังคลอด และเกร็ดเลือดต่ำ จะทำยังไง?’
การตั้งครรภ์ของผู้หญิงนั้น อันตรายและเกิดความผิดพลาดได้ทุกไตรมาส (3 เดือนของการตั้งครรภ์) หากเกิดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อน ขอจงอย่ารีบร้อนตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ทุกคนจะต้องหยุดคิดพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงค่อยตัดสินใจทำอะไรลงไป
ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกนั้น ส่วนใหญ่คนไข้มักมาด้วยเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด โดยจะได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็น ‘แท้งคุกคาม (Threaten abortion)’ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 1.เป็นครรภ์ไข่ฝ่อ (Blighted ovum) 2. ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) 3. ตั้งครรภ์ปกติ (Normal pregnancy) การสืบค้นสำคัญที่สุดเพื่อวินิจฉัยโรค คือ การตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ดังนั้น หากไม่แน่ใจแม้จะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซานด์ ก็ควรตรวจซ้ำในอีก 2 สัปดาห์หรือส่งต่อไปให้แพทย์อื่นช่วยตรวจซ้ำ (Second opinion)
สำหรับการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 คนท้องมักอยากทราบว่า ลูกตนมีปัญหาหรือเปล่า? การเข้ารับการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์เป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารถช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติของลูกน้อยได้บางอย่าง เช่น ภาวะทารกไร้กะโหลก สำหรับการเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis) เพื่อช่วยบอกความพิการทางสมองของทารก ควรมีข้อบ่งชี้และดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งมีอัตราการแท้งได้ร้อยละ 0.5 – 1 สำหรับทางเลือกอื่นก็มี อาทิเช่น การเจาะเลือดมารดา (PAPPA:PREGNANCY-ASSOCIATED PLASMA PROTEIN A) ร่วมกับการตรวจดูส่วนคอของทารกขณะอายุครรภ์ 11 – 14 สัปดาห์ (Nuchal thickness) ซึ่งให้ผลแม่นยำถึงร้อยละ 90 – 97 ในการบอกภาวะปัญญาอ่อนของทารกในครรภ์
ส่วนในไตรมาสที่ 3 นั้น ปัญหาที่สำคัญ คือ การเจ็บครรภ์ , น้ำเดิน หรือ รกลอกตัวก่อนกำหนด รวมทั้งการตกเลือดจากภาวะรกเกาะต่ำ การตัดสินใจให้คลอด หรือยับยั้งการคลอด ถือว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งต้องดูตามสถานการณ์ กุมารแพทย์ก็มีส่วนสำคัญยิ่ง บางที หากจำเป็น ก็ควรส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลอื่น ในกรณีสูติแพทย์ขาดประสบการณ์ หรืออยู่ในโรงพยาบาลที่ไม่มีกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลทารกใน ห้อง ไอ.ซี.ยู. (Newborn specialst)
จากเรื่องราวที่เล่ามาข้างต้น ทุกท่านคงเห็นด้วยกับข้าพเจ้าว่า การดูแลหญิงตั้งครรภ์นั้นยุ่งยากวุ่นวาย เพราะมีภาวะแทรกซ้อนหลากหลาย และผิดแผกแตกต่างกันไปตามอายุครรภ์ นี่เอง..ทำให้สูติแพทย์ต้องตัดสินใจตลอดเวลาว่า จะทำยังไงกับปัญหาเหล่านั้น การด่วนตัดสินใจอาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาผิดพลาด… เคยมีคนท้องหลายรายที่จบลงด้วยการทำแท้งเพียงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกทั้งๆที่ทารกน้อยอาจสมบูรณ์ปกติ เพราะขืนปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป ตัวแม่เองอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ตัวอย่างเช่น คนท้องที่มีความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจากโรคไตบางชนิด หรือเป็นโรคหัวใจล้มเหลวระยะที่ 4 เป็นต้น
ในช่วงเวลาอันน้อยนิดของการตัดสินใจของสูติแพทย์และคนท้อง ยามเจอปัญหาโลกแตก ทุกคนจะต้องหยุดคิด เพื่อรีบดึงเอา ‘สติ’ คืนกลับ และกลั่นเอา ‘ปัญญา’ ออกมา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ หากพิจารณาแล้ว พบว่า เรามีศักยภาพไม่เพียงพอ ก็ขอให้ส่งต่อคนไข้ไปยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า
ใช่แล้ว! หากคุณหยุดคิดสักนิด ชีวิตก็จะผิดพลาดน้อย
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน