ผลกระทบทางสุขภาพของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
โดย พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์
ศาสตราจารย์ นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์
ศาสตราจารย์ นพ.สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์
อาจารย์ วีนัส อุดมประเสริฐกุล
สรุปและข้อเสนอแนะ
ประมาณ 62% ของเหยื่อผู้เสียหาย ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย โดย 19% ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายทั่วไป (non-genital injury) เท่านั้น, 30% ได้รับบาดเจ็บเฉพาะที่อวัยวะเพศเท่านั้น (Genital injuries only) และ 14% ได้รับบาดเจ็บทั้งสองส่วน. การบาดเจ็บส่วนมากมีระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง. อัตราการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ค่อนข้างต่ำ พบเพียง 3% ที่เป็นกามโรค (Neisseria gonorrhea) และ 1.5% มีพยาธิในช่องคลอด (Trichomonas vaginalis). การตั้งครรภ์ ในเหยื่อ พบว่า มีอัตราที่ต่ำมาก (< 2%). Geist RF รายงานว่า การบาดเจ็บทั่วไปในเหยื่อ พบประมาณ 40% แต่พบเพียง 4% เท่านั้นที่มีระดับรุนแรง และน้อยกว่า 1% ที่ต้องให้นอนพักโรงพยาบาล. การบาดเจ็บที่อวัยวะเพศ พบ ประมาณ 50% และ มีเพียงรายเดียวที่ต้องมีการเย็บซ่อมแซม. Riggs N พบในอัตราที่สูงกว่าข้างต้นเล็กน้อย โดยมีอัตราการบาดเจ็บทั้งในกรณี บาดเจ็บทั่วไป 67% และบาดเจ็บเฉพาะที่อวัยวะเพศ 53%. ยิ่งกว่านั้น เหยื่อจำนวน 20% ไม่พบมีการบาดเจ็บส่วนใดเลย. การศึกษามากมายรายงานเหมือนๆกันว่า พบเพียงการบาดเจ็บเพียงระดับเล็กน้อยเท่านั้น แต่การล่วงละเมิดทางเพศจากคนแปลกหน้ามักมีการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า รวมทั้งมีการใช้กำลังและอาวุธบังคับมากกว่าด้วย. รายงานต่างๆเกี่ยวกับอัตราเสี่ยงของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ภายหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะอยู่ระหว่าง 0% ถึง 26.3% และอัตราเสี่ยงต่อการติดไวรัสเอดส์ (HIV) อยู่ระหว่าง 0.1% ถึง 3% แม้ว่า จะมีข้อแนะนำมากมายเกี่ยวกับการให้ยาป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไว้เลยก่อนเกิดอาการ (STI prophylaxis) สำหรับเหยื่อผู้ถูกข่มขืน แต่โดยทั่วไป ก็ปล่อยให้เป็นไปตามการพิจารณาของแพทย์ผู้ดูแล ที่จะตัดสินใจให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์ [HIV infection post-exposure prophylaxis (PEP)]. อย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อ รวมทั้งที่โรงพยาบาลตำรวจ จะเริ่มให้ยาป้องกันโรคเอดส์ (HIV PEP) ในเหยื่อทุกรายที่ถูกข่มขืนกรณีที่ไม่มีรูปแบบเข้ากับแนวนโยบายชัดเจน. จากผลของการศึกษานี้ ความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ( STIs ) หลังถูกข่มขืน พบว่า มีอัตราที่ต่ำมาก. การให้ยาฆ่าเชื้อทันที เพื่อป้องกันอาจไม่มีความจำเป็นนักหากเหยื่อผู้เสียหายสามารถติดตามเข้ามารับการตรวจได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์หลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ. ในสหรัฐอเมริกา, พบมีอัตราการตั้งครรภ์จากการข่มขืน เพียง 5.0% ของผู้หญิงอายุอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (12 ถึง 45 ปี) การศึกษาฉบับหนึ่งที่ประเทศบังคลาเทศ เมื่อ ค.ศ. 2003 ก็รายงานอัตราการตั้งครรภ์ในอัตราเพียง 2% สำหรับงานวิจัยฉบับนี้ ก็พบมีการตั้งครรภ์ในอัตราที่ต่ำเช่นกัน. การที่เราได้รวบรวมข้อมูลแบบศึกษาไปข้างหน้า ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความสมบูรณ์ของข้อมูล. คณะผู้วิจัยได้คำนวณขนาดของตัวอย่าง และดำเนินการวิจัยจนได้ตามตัวเลขเป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการ ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความถูกต้องเกี่ยวกับขนาดของการครอบคลุมผลกระทบทางสุขภาพของเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ. ข้อจำกัดสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ คือ วิธีการที่ใช้ในการตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์. องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เหยื่อผู้ถูกข่มขืนควรได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับกามโรคทุกกรณี (Gonorrhea and Chlamydia) ด้วยการเพาะเชื้อ.10 อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากรของโรงพยาบาลตำรวจ, คณะผู้วิจัยจึงใช้เพียงการย้อมสี Gram stain และการตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ (wet smear and) เพื่อตรวจหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์. สิ่งนี้อาจทำให้การประเมินอุบัติการณ์ของโรคต่ำเกินไป (Prevalence of STI). เนื่องด้วยอัตราการติดเชื้อและการตั้งครรภ์ของผู้หญิงหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศพบไม่บ่อย การศึกษาวิจัยครั้งนี้ จึงไม่มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้ได้อัตราที่ถูกต้องแท้จริง. ข้อจำกัดที่เด่นชัดของการศึกษานี้ คือ สัดส่วนที่สูงของผู้ปฏิเสธเข้าร่วมในโครงการฯ. คณะผู้วิจัยรวบรวมได้เพียง 50% ของผู้ที่เข้าข่ายเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวกับเหยื่อผู้เสียหายที่ปฏิเสธเข้าร่วมในโครงการฯ ในแง่ อายุ,การศึกษา, ที่พักอาศัย, อาชีพ, การรู้จักกับผู้ถูกกล่าวหา, และจำนวนผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้มีความแตกต่างจากผู้เข้าร่วมในโครงการฯเลย. การวิจัยนี้ เจาะจงศึกษาเฉพาะ ผลกระทบทางสุขภาพของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งดูเหมือนว่า จะไม่รุนแรง. แต่ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่ยังขาดอยู่ในด้านผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะในเหยื่อที่เป็นเด็ก หรือวัยรุ่น. การศึกษาในอนาคตควรมุ่งเน้นถึงปัญหาดังกล่าว. กิตติกรรมประกาศ โครงการวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายกองทุนเมธีวิจัยอาวุโส (Thailand Research Fund/ Senior Research Scholar). คณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย นอกจากนั้น ก็ขอขอบพระคุณ พลตำรวจตรี นายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ สำหรับความช่วยเหลือต่างๆในโรงพยาบาลตำรวจและแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย. หมายเหตุ รายละเอียดจะเป็นภาคภาษาอังกฤษ อยู่ใน จดหมายเหตุทางการแพทย์ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย (จพสท) ฉบับที่ Vol 92 No7 July 2009 เรื่อง Physical Health Consequences of sexual assault victims ของแพทย์สมาคม หน้าที่ 885 -890 สามารถค้นได้ที่ http://www.mat.or.th./journal รายละเอียดที่มากกว่านั้น ดูจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ผลทางสุขภาพของผู้๔กล่วงสละเมิดทางเพศที่มาโรงพยาบาลตำรวจแห่งประเทศไทย” ปีการศึกษา 2548 ISBN 974-143744-7 หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาชีวิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย