อุ้มบุญ

อุ้มบุญคืออะไร อุ้มบุญ (surrogacy) เป็นคำเฉพาะที่มีความหมายง่าย ๆ โดยมีที่มาจากการที่ผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มท้องไม่ได้ จึงต้องหาผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่อุ้มท้องแทน การอุ้มท้องให้นี้ถือเป็นการอุ้มสิ่งที่มีบุญมาเกิด จึงใช้คำว่า "อุ้มบุญ" ในความหมายของคนทั่วไป อุ้มบุญ คือ การให้คนอื่นตั้งท้องแทนเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว อุ้มบุญมี 2 แบบ โดยแบ่งตามหน้าที่ในการอุ้มท้องแทน (Surrogate function) คือ อุ้มบุญแท้ (Full surrogacy) และอุ้มบุญเทียม (Partial surrogacy) ดังนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจเรื่องนี้กันก่อน อุ้มบุญเทียม (Partial surrogacy) คือ การใช้ตัวอ่อนซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเชื้อของผู้เป็นพ่อกับไข่ของผู้รับหน้า ที่ท้องแทนหรือผู้อุ้มบุญ (surrogate mother) พอผสมกันได้ตัวอ่อนแล้วก็ใส่เข้าไปในท้องของผู้อุ้มบุญ พูดง่าย ๆ คือ กระบวนการนี้ใช้แค่เชื้ออสุจิของพ่อเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้เกิดในกรณีที่แม่ไม่มีไข่และอุ้มท้องไม่ได้ เช่น แม่เป็นมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด จึงไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองได้ เนื่องจากไข่ถูกทำลายหรือมีการผ่าเหล่า (mutation) ดังนั้น จึงต้องอาศัยไข่ของคนอื่นในการสร้างตัวอ่อน แบบนี้ เรียกว่า อุ้มบุญเทียม (Partial surrogacy) ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ นำไข่ของแม่มาปฏิสนธิกับเชื้อของพ่อแล้ว อาศัยมดลูกของคนอื่นอุ้มท้องแทน แบบนี้เรียกว่า อุ้มบุญแท้ (Full surrogacy) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมดลูกของแม่มีปัญหา จนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่รังไข่ของแม่ยังใช้งานได้ดี สามารถผลิตไข่ได้ตามปกติ เช่น กรณีที่คนไข้ถูกตัดมดลูกแต่ยังมีรังไข่ หรือในกรณีที่แม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองในขณะนั้น เช่น คนไข้รายหนึ่งที่มีอาการแพ้ยาแก้ปวดอย่างมากหลังผ่าตัด จำทำให้เข็ดขยาดกลัวและไม่ยินยอมเข้ารับการผ่าตัดอีกอย่างแน่นอน คนไข้รายนี้เคยมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงตลอดเวลาหลังหยอดตัวอ่อนผ่านทางหน้า ท้อง (ZIFT) ในครั้งแรก จนทำให้รู้สึกกลัวการเจาะท้องส่องกล้องหยอดตัวอ่อน (Laparoscopic surgery) ที่สำคัญ คือ การหยอดตัวอ่อนครั้งแรกประสบความล้มเหลวจึงทำให้หมดกำลังใจที่จะเสี่ยงในระยะเวล าอันใกล้ ต่อมา เธอจึงให้หลานสาว ซึ่งเคยมีลูกมาแล้วช่วยตั้งครรภ์แทน ทำในลักษณะการว่าจ้างแบบช่วยเหลือกัน โดยใช้การทำซิฟท์ (ZIFT) ปรากฏว่าตั้งครรภ์สำเร็จ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน พอคลอดทารกเรียบร้อย ก็เป็นอันหมดหน้าที่ในการเป็นผู้อุ้มบุญของหลานสาว แบบนี้เรียกว่า อุ้มบุญแท้ (Full surrogacy) ทำไมต้องอุ้มบุญ คู่สมรสที่จำเป็นต้องอุ้มบุญ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่แม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เอง สาเหตุมักมาจากปัญหาที่มดลูก คนไข้รายหนึ่ง มดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกแทรกเข้าไปในเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ทำให้มีลูกยาก แต่อยากมีลูก แล้วก็เป็นคนฐานะปานกลาง มีทุนทรัพย์จำกัด เมื่อมารักษาภาวะมีบุตรยากโดยการเจาะไข่ผสมกับเชื้ออสุจิเรียบร้อย ปรากฏว่าได้ตัวอ่อน 3 ตัว แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพร่างกายแล้วหากหยอดตัวอ่อนให้กับแม่แล้ว คิดว่า น่าจะมีโอกาสล้มเหลวจากการหยอดตัวอ่อนในครั้งเดียวสูงมาก เพราะมดลูกชนิดนี้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยาก ประกอบกับการหยอดตัวอ่อนแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมากนับแสนบาทหรือกว่านั้น เธอจึงได้รับคำแนะนำให้แช่แข็งตัวอ่อนแล้วหาคนมาอุ้มบุญแทนจะดีกว่า การตัดสินใจหยอดตัวอ่อน จึงควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ และเลือกใช้วิธีที่มีโอกาสสำเร็จมากที่สุด เพราะกรณีแบบนี้ถ้าหาคนที่ไว้ใจหรือมีสายเลือดเดียวกันซึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยไม่มีปัญหา ก็จะทำให้โอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้น คนไข้จึงให้น้องสาวซึ่งเคยมีลูกมาแล้วเป็นผู้อุ้มบุญ ปรากฏว่าตั้งครรภ์สำเร็จเรียบร้อย คนไข้และสามีได้ลูกสมความตั้งใจ เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีความสุขดี ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก บางครั้งจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจใช้วิธีอุ้มบุญ อย่างกรณีนี้ ทั้งชีวิตมีเงินก้อนเดียว ไม่มีอีกแล้ว ทำได้ครั้งเดียว ไม่มีครั้งที่สอง การเลือกคนที่มีมดลูกดี ๆ มาตั้งครรภ์แทนก็จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า ส่วนใหญ่ คู่สมรสที่เลือกมาทำแบบนี้ จะมีอัตราการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 60 % อุ้มบุญนานแค่ไหนกว่าจะได้ลูก ถ้าพูดถึงช่วงระยะเวลาตั้งครรภ์ ผู้อุ้มบุญก็ใช้เวลาอุ้มท้องเท่ากับคนทั่วไป แต่ช่วงเวลาเตรียมการก่อนตั้งครรภ์จะไม่แน่นอน เพราะส่วนมากตัวอ่อนที่ได้จากคู่สมรสจะนำมาแช่แข็งไว้ก่อน เมื่อเตรียมผู้อุ้มบุญพร้อมจึงจะละลายตัวอ่อนแล้วนำมาหยอดเข้าไปในมดลูก หากใช้วิธีเจาะท้องส่องกล้อง หยอดตัวอ่อนทางท่อนำไข่ก็ต้องหยอดในวันที่ 1 นับจากวันไข่ตก จากนั้นต้องนับไปอีก 14 วัน จึงจะเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าผลปรากฏว่าไม่ท้อง ก็ต้องเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ผู้อุ้มบุญตั้งครรภ์ ก็เพียงแต่ฝากครรภ์ตามปกติ และรอเวลาคลอดเท่านั้น วิธีการคลอดของผู้ที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากส่วนใหญ่จะใช้การผ่าตัดแทบทุกราย ไม่ควรให้มีการคลอดเองทางช่องคลอด เพราะอันตรายกว่าการผ่าตัดคลอด ยกเว้นกรณีที่ไม่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ ก็ต้องดูกันเป็นกรณีไป กรณีตัวอย่าง : อุ้มบุญแบบเลือกเพศ เคยมีคนไข้รายหนึ่งเป็นคนไต้หวัน ร่ำรวยมาก ต้องการเด็กชายเป็นทายาทสืบสกุลก็จัดแจงไปหาสาวจีนฮ่อมา 2 คน เพื่อคัดเลือกว่าใครเหมาะสม วิธีการคัดเลือก คือ ให้สาวจีนฮ่อทั้งคู่มารับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด เพื่อดูความเหมาะสมของมดลูก เยื่อบุมดลูกและรังไข่ ซึ่งจะต้องไม่มีความผิดปกติหรือมีเนื้องอก ผู้อุ้มบุญที่มีความเหมาะสมน่าจะอายุอยู่ในราวไม่เกิน 30 ส่วนจะเคยหรือไม่เคยแต่งงาน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ ลักษณะทางกายภาพที่สามารถตั้งครรภ์ได้ของผู้อุ้มบุญ ได้แก่ มดลูก ปีกมดลูกต้องดี ที่สำคัญเยื่อบุมดลูกต้องดีและเหมาะที่จะเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน หมายความว่า ต้องมีความหนาเกิน 7 มิลลิเมตร และมีลักษณะที่อุ้มน้ำ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า Triple line คนไข้รายนี้ใช้เวลาเป็นปีตั้งแต่เริ่มกระตุ้นไข่ ตั้งครรภ์จนถึงคลอด ซึ่งกรณีนี้นอกจากอุ้มบุญแล้วยังเลือกเพศด้วย วิธีการเลือกเพศคร่าว ๆ คือ ระยะที่ตัวอ่อนแบ่งตัวประมาณ 8 เซลล์ ผู้ชำนาญการเลี้ยงตัวอ่อน (Embriologist) จะใช้เข็มที่ทำจากหลอดแก้วเล็ก ๆ เจาะเข้าไปในตัวอ่อน แล้วดึงเซลล์ออกมา 1-2 เซลล์ นำมาย้อมเพื่อดูโครโมโซม วิธีนี้ได้ประโยชน์ 2 ประการ คือ รู้ความผิดปกติของโครโมโซมและรู้เพศของตัวอ่อน โดยปกติการละลายตัวอ่อนเพื่อทำการเลือกเพศจะละลายตัวอ่อนออกมาหลายตัว เนื่องจากตัวอ่อนจำนวนหนึ่งจะตายระหว่างการเจริญเติบโตอีกจำนวนหนึ่ง จะเป็นตัวอ่อนของเพศที่ไม่ต้องการ จึงเหลือตัวอ่อนของเพศที่ต้องการเพียงไม่กี่ตัว เช่น ถ้ามีตัวอ่อน 5 ตัว เมื่อละลายออกมาทั้งหมด จะตายไป 10-20% พอเลี้ยงถึง 5 วันก็จะตายไปอีก จึงเหลือตัวอ่อนรอดไปถึงระยะที่หยอดได้คือระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) เพียง 1-2 ตัว ซึ่งยังไม่ได้แยกเพศ ฉะนั้นตัวอ่อนที่นำมาละลายในเบื้องต้น ไม่ควรจะน้อยกว่า 6 ตัว หากต้องการเลือกเพศ กรณีสาวจีนฮ่อผู้อุ้มบุญของชาวไต้หวันรายนี้ เจาะไข่ได้ 37 ใบ เมื่อนำไปทำอิ๊กซี่แล้วได้ตัวอ่อน 31 ตัว เรานำไปแช่แข็งไว้ก่อน ถัดจากนั้น 2 เดือน เมื่อเตรียมเยื่อบุมดลูกของผู้อุ้มบุญเรียบร้อย ก็นำตัวอ่อน 11 ตัวมาละลายเหลือรอดประมาณ 7-8 ตัว พอถึงวันที่ 3 ซึ่งตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ในระยะ 6-8 เซลล์ ก็ทำการเจาะดูดเอาเซลล์มา 1-2 เซลล์เพื่อนำไปทำ PGD (Prenatal Genetic Diagnosis) หาเพศชาย ปรากฏว่า ได้ตัวอ่อนเพศชายเพียงตัวเดียว เราก็เลี้ยงเฉพาะตัวอ่อนที่ต้องการไปถึงวันที่ 5 แล้วจึงหลอดเข้าไปในโพรงมดลูก จากนั้นก็รอดูผลว่าตั้งครรภ์หรือไม่ โดยนัดให้คนไข้มาเจาะเลือดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์ในอีก 9 วันถัดมา ตัวอ่อนที่เหลือก็สามารถแช่แข็งเก็บไว้ใช้ได้อีก อย่างตอนนั้นมี 31 ตัว ละลายไป 11 ตัว เหลืออีก 20 ตัว ก็แช่แข็งเก็บไว้ ระยะเวลาการเก็บแช่แข็งตัวอ่อนถ้าอยู่ภายใน 2 ปี เมื่อนำกลับมาละลายเพื่อใช้ในการรักษาครั้งต่อไป โอกาสสำเร็จจะยังสูงอยู่ ที่สำคัญ คือ ได้เด็กออกมาสมบูรณ์แข็งแรง แต่ถ้านานกว่า 2 ปี ตัวอ่อนที่ละลายออกมาจะไม่ค่อยดีเท่าไร แต่มีบางรายเหมือนกันที่แช่แข็งตัวอ่อนเก็บไว้ถึง 5 ปี ค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งตัวอ่อน 1 ตัว ประมาณ 1,000 บาทต่อปี แล้วก็มีค่าเปิดเครื่องอีกต่างหากประมาณ 10,000 บาท ต้องบอกอะไร…ถ้าจะให้ท้องแทน โดยมากคู่สมรสที่มีบุตรยากจะคุยกับผู้อุ้มบุญ ในลักษณะตกลงกันเองเท่าที่ทราบ บางคนก็มีการเซ็นสัญญาแบบใช้ทนาย บางคนก็ใช้สัญญาใจ แต่สิ่งสำคัญที่ควรคิดคำนึง คือ ในขณะตั้งครรภ์ต้องให้ผู้อุ้มบุญอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเกิดผู้อุ้มบุญไปมีเพศสัมพันธ์ ติดยาเสพติด หรือดูแลตัวเองไม่ดี แล้วเกิดไปติดเชื้อเอดส์หรือเชื้อโรคอื่น ๆ มา เด็กในครรภ์ก็จะพลอยได้รับเชื้อโรคร้ายไปด้วย เพราะฉะนั้นในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญของเด็กในท้อง ต้องใกล้ชิดให้มาก อีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้อุ้มบุญควรจะมีคือ จะต้องเข้าใจในเรื่องกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยว่าจะต้องพบกับอะไรบ้าง เช่น การที่จะเอาไข่ออกจากร่างกายต้องมีกระบวนการกระตุ้นโดยการใช้ยาช่วย พอใช้ยาไปจะมีไข่เจริญเติบโตข้างละไม่เกิน 20 ใบ และเมื่อไข่จำนวนนั้นโตมาถึงระดับหนึ่ง เราจะกระตุ้นให้ไข่เปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้ายโดยการฉีดยา HCG ซึ่งเป็นสารที่จะทำให้ไข่เปลี่ยนแปลงความสมบูรณ์จนสามารถปฏิสนธิได้ จากนั้นอีก 36 ชั่วโมบง ก็จะต้องได้รับการเจาะไข่ผ่านทางช่องคลอด เคยมีผู้อุ้มบุญรายหนึ่ง สมมุติว่าจะได้รับการเจาะไข่วันนี้ เธอต้องได้รับการฉีดยา HCG ตอนเที่ยงคืนของเมื่อวาน เพื่อให้ไข่สุกสมบูรณ์และสามารถเข้ารับการเจาะไข่ในตอนเที่ยงของวันรุ่งขึ้น ซึ่งเธอก็รับปากเป็นมั่นเหมาะว่า สามารถไปฉีดยาเองได้ เนื่องจากเธอต้องไปธุระที่ต่างจังหวัด พอวันที่จะต้องเจาะไข่ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ปรากฏว่ามีไข่อยู่สิบกว่าใบ แต่ไม่สามารถเจาะได้ เพราะเธอไม่ได้ฉีดยาในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้าย ทำให้เชื้ออสุจิกับไข่อยู่ต่างระดับขั้นกัน คือ เชื้อพร้อมปฏิสนธิแต่ไข่ไม่พร้อม ถ้าเจาะเอาไข่ออกมาก็จะเป็นไข่ที่อ่อนเกินไปเท่ากับการอุ้มบุญครั้งนั้นล้มเหลว ต้องเริ่มใหม่ ดังนั้น ต้องอธิบายให้ผู้อุ้มบุญเข้าใจก่อนว่า ต้องทำตัวอย่างไร ต้องพบกับอะไรและต้องดูแลตัวเองอย่างไร เลือกคนแบบไหนให้อุ้มบุญ ผู้อุ้มบุญควรจะมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันกับผู้ที่เป็นแม่ ถ้าเป็นสายเลือดเดียวกัน เช่น พี่หรือน้องสาว ยิ่งเหมาะสม ถ้าเคยตั้งครรภ์มาแล้วยิ่งดี แต่ถ้าไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อนก็ควรจะอายุไม่มากนัก อันนี้เป็นลักษณะทางภายนอก ส่วนลักษณะภายในต้องคำนึงถึงมดลูก รังไข่ เยื่อบุมดลูก ซึ่งต้องมีลักษณะสมบูรณ์ดี มีผู้อุ้มบุญบางคนดูภายนอกก็แข็งแรงดีแต่พอมาตรวจภายในปรากฏว่ามีลักษณะที่ไม่ เหมาะสม เช่น เคยติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ตัน มีเนื้องอกในมดลูก เยื่อบุมดลูกบางเกินไป ลักษณะเหล่านี้ไม่เหมาะที่จะอุ้มบุญ ยิ่งถ้าปากมดลูกตีบด้วย ยิ่งเป็นปัญหา ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนเสมอ อุ้มบุญหรือรับกรรม ผลกระทบสำหรับผู้อุ้มบุญก็เหมือนกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยทั่วไป แต่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดมากกว่าเล็กน้อยเพราะเด็กซึ่งเกิดมาโดยวิธีการพิ เศษเหล่านี้เป็นเด็กที่มีค่า (precious child) ดังนั้นช่วง 3 เดือนแรก จะต้องดูแลเต็มที่ อาจมีการนัดอัลตราซาวด์ตั้งแต่อายุครรภ์ 5-6 สัปดาห์ หลังจากรู้ว่าตั้งครรภ์ เพราะบางครั้งอาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ แม้ว่าจะหยอดตัวอ่อนไปทางช่องคลอดก็ยังเคยมีที่ตัวอ่อนหลุดเข้าไปที่ปีกมดลูก แล้วเกิดการตั้งครรภ์ที่ปีกมดลูก จึงจำเป็นจะต้องตรวจอัลตราซาวด์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ถ้าเห็นถุงของการตั้งครรภ์เกิดภายในโพรงมดลูก ก็ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ตามปกติ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6-7 สัปดาห์ ถ้ายังไม่เห็นหัวใจเด็กก็ยังไม่อาจบอกได้ว่า การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์ ต้องนัดมาตรวจอัลจราซาวนด์ซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะพบหัวใจเด็กเต้น จึงจะถือว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ดังนั้น ผู้อุ้มบุญก็ต้องทำใจว่า คงจะต้องมาพบแพทย์บ่อย ๆ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ อย่างนี้ไม่ควรอุ้ม กรณีที่ไม่ควรทำการอุ้มบุญแม้จะหาผู้อุ้มบุญแทนได้ ก็คือเมื่อเกิดปัญหาทางด้านการสื่อสารกับผู้อุ้มบุญ เพราะต้องยอมรับว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้น ถ้ามีปัญหาด้านการสื่อสาร คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจกัน แล้วจะให้ทำการอุ้มบุญไปก่อน อย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้ามีปัญหาขึ้นมาแล้ว ปัญหาจะบานปลายและเป็นผลร้ายต่อคู่สามีภรรยาทั้งทางด้านของกฎหมายและจิตใจ อีกกรณีหนึ่ง คือ ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก ไม่มีไข่หรือมีไข่น้อยเนื่องจากอายุมาก โอกาสสำเร็จในการรักษาก็จะน้อยลง ตามปกติในกรณีเหล่านี้ มักใช้ยากระตุ้นไข่ร่วมกับการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ให้กับฝ่ายหญิงที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก เพราะต้องการความสำเร็จในการปฏิสนธิสูงยิ่งฝ่ายหญิงอายุมากยิ่งควรทำอิ๊กซี่เพร าะต้องการตัวอ่อนจำนวนมาก ฝ่ายหญิงที่อายุมากมักมีไข่น้อย บางคนมีแค่ 2-3 ใบ หรือใบเดียว ดังนั้น ต้องทำใจและอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะอาจจะต้องทำหลายครั้ง เรื่องที่ลืมไม่ได้ คือ เมื่อคลอดแล้วต้องแยกผู้อุ้มบุญออกจากเด็กทันที เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ (Bonding) หรือการเกิดความผูกพันระหว่างผู้อุ้มบุญกับเด็ก แม้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เด็กจะไม่ได้รับนมแม่ก็ตามแต่เรื่องนี้ก็มีทางออก คืออาจจะเพิ่มข้อตกลงกันได้ว่าให้ผู้อุ้มบุญปั๊มนมไว้แล้วนำมาป้อนให้กับเด็กก็ ได้ คุณภาพของเชื้อ คุณภาพของไข่ คุณภาพของเด็ก เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กเมื่อคลอดออกมาแล้วจะแข็งแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับ คุณภาพของไข่และเชื้ออสุจิของคู่สามีภรรยาที่มารับการรักษา แต่ไม่เกี่ยวกับอายุของผู้อุ้มบุญ ถ้าไข่มาจากแม่ที่อายุมากเกิน 35 โอกาสที่เด็กอาจจะเกิดอาการปัญญาอ่อนก็เป็นไปได้ ถ้าเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง คุณภาพไม่ดี ตัวอ่อนก็จะคุณภาพไม่ดีและเจริญมาเป็นเด็กที่อาจจะไม่แข็งแรงได้ ฉะนั้น ถ้ามีปัจจัยเรื่องอายุของแม่หรือเรื่องคุณภาพของเชื้ออสุจิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องมีการตรวจอย่างละเอียดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลัง แต่ถ้าไข่มาจากแม่ที่อายน้อยแล้วผู้อุ้มบุญอายุสัก 40 กว่าปี อย่างนี้ไม่มีปัญหาเพราะตัวอ่อนมีความสมบูรณ์ดี ตัวมดลูกของผู้อุ้มบุญเป็นเพียงรังที่รองรับตัวอ่อนเท่านั้น ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็คือ นำตัวอ่อนที่ดีมาไว้ในรังที่แก่….ไม่เป็นไร แต่ถ้านำตัวอ่อนที่ไม่ดีซึ่งหมายถึง ตัวอ่อนที่มาจากไข่ของหญิงอายุมากเชื้อของชายที่ไม่แข็งแรง ถึงจะนำมาไว้ในรังที่อ่อน ที่สาว ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี เพราะคุณภาพของเด็กขึ้นกับคุณภาพตัวอ่อน มุมมองของกฎหมาย ตอนนี้สำหรับเมืองไทย ยังไม่ออกมาในลักษณะเป็นกฎหมายจริง ๆ เป็นลักษณะของจริยธรรมในด้านการรักษามากกว่า จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษาว่า ควรจะทำอะไรได้บ้าง ถ้ามีคนมาปรึกษาเรื่องนี้ แพทย์ก็ต้องอธิบายให้คู่สามีภรรยาผู้รับการรักษาเข้าใจว่า เขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ให้คำแนะนำกับเขา อย่างเช่น อัตราการตั้งครรภ์มีเพียง 50% แล้วต้องคุยตกลงกันให้ดีใน 3 คนนี้ แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็เป็นเรื่องของคู่สามีภรรยาผู้รับการรักษา มุมมองของแพทย์ ในฐานะแพทย์ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ทำให้คนมีลูกยากสามารถมีลูกได้ รู้สึกมีความสุขไปกับเขาด้วยเสมอที่ทำให้คู่สามีภรรยาผู้มารับการรักษาได้รับ ผลที่ดี มีความสุขกลับไป เวลาที่ไม่ท้อง ไม่สำเร็จ เราก็เครียดไปด้วย เพราะคนที่มารับการรักษาในเรื่องเหล่านี้จะมีความคาดหวังสูงมาก ในขณะที่อัตราการตั้งครรภ์อยู่ที่ 50-60% แต่ความคาดหวังของคนไข้นั้นพุ่งไปถึง 90-100 % ด้วยซ้ำ ดังนั้น อยากบอกทุกคนที่มีลูกยากและอยากจะมีลูกโดยเลือกวิธีนี้ว่าต้องเตรียมใจไว้บ้าง ทุกขั้นตอนมันมีโอกาสที่จะสำเร็จและไม่สำเร็จ เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของผู้อุ้มบุญ คุณภาพของไข่ คุณภาพของเชื้อ ในความเป็นแพทย์ ทุกคนก็พยายามทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

******************************

พ.ต.อ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *