อาถรรพ์ครรภ์แฝด

ครรภ์แฝดธรรมชาตินับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาราวกับว่า สวรรค์ได้สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้มนุษย์ได้สัมผัส โดยเนรมิตรให้คนสองคนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันเกือบทุกประการมาปรากฏอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่…เชื่อหรือไม่ว่า บางที ก็คล้ายๆกับสวรรค์แกล้ง เพราะทารกแฝดทั้งสองนั้น มีความพิการติดตัวมาเหมือนกัน หรือ..ถูกพรากจากแฝดอีกคนหนึ่งด้วยความตาย  หรือ..แม้กระทั่งจบชีวิตพร้อมกันในครรภ์

ตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน สูติแพทย์ท่านหนึ่งได้ผ่าตัดคลอดให้กับคุณแม่ครรภ์แฝดแล้วได้ทารกที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งสองคน ตัวคุณแม่เองมีอายุ 24 ปี ตั้งครรภ์แรก เจ็บครรภ์คลอดมาตอนอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ สูติแพทย์เวรเห็นว่า คงไม่สามารถยับยั้งการเจ็บครรภ์ครั้งนี้ได้ จึงตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ นอกจากนั้น ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียง ก็มีทารกแฝดพิการปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งคู่กำเนิดขึ้นเช่นกันที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ความพิการที่เกิดขึ้นพร้อมกันในทารกแฝดเช่นนี้ มีอะไรเป็นตัวชักนำ? ผู้รู้บางคนเชื่อว่า น่าจะเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่างระหว่างตัวอ่อนแบ่งตัว   แต่ส่วนใหญ่ ไม่กล้าชี้มูลแห่งสาเหตุ

ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่น่ากลัวเกิดขึ้นกับทารกแฝดเช่นกัน แต่คราวนี้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งคู่ในครรภ์ คุณแม่รายนี้อายุ 19 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 บุตรคนแรก แข็งแรงดี  คุณแม่เคยฝากครรภ์เพียงครั้งเดียวที่โรงพยาบาลสิรินทร โดยที่เธอไม่รู้ว่า ตัวเองตั้งครรภ์แฝด คนไข้มาที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากเจ็บครรภ์คลอด เมื่อมาถึงห้องคลอด พยาบาลฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกไม่ได้ และตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิดหมด พร้อมกับมีขี้เทาข้นติดมือออกมาด้วย เพียงไม่นานนัก ทารกคนแรกก็คลอดออกมาในสภาพไร้ชีวิต ตอนนั้น พยาบาลคนดังกล่าวได้ตรวจพบว่า ยังมีทารกหลงเหลืออยู่ในครรภ์อีกคนในลักษณะท่าขวาง (Transverse lie) จึงรายงานให้แพทย์เวรทราบ แพทย์เวรพิจารณาแล้ว สั่งการให้ผ่าตัดคลอด ผลคือ ทารกตัวที่สองคลอดออกมาในสภาพไร้ชีวิตเช่นกัน ทารกทั้งสองเป็นเพศหญิง คนแรกหนัก 2760 กรัม คนที่สองหนัก 2450 กรัม  สาเหตุการตาย คาดว่า  น่าจะเนื่องมาจากภาวะครรภ์เกินกำหนด

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็มีคนท้องครรภ์แฝดที่น่าสนใจอีกรายหนึ่งมาที่ห้องคลอดตอนใกล้ครบกำหนด ทารกแฝดในครรภ์อยู่ท่าหัวทั้งคู่ ซึ่งในทางการแพทย์ สามารถปล่อยให้คนไข้คลอดเองทางช่องคลอดได้ แต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัดคลอดได้เช่นกัน เพื่อลดอันตรายต่อทารกคนที่สอง..โชคไม่ดีที่คนท้องมาถึงห้องคลอดตอนปากมดลูกเปิดหมด ซึ่งหลังจากที่ทารกตัวแรกคลอดออกมาทางช่องคลอด ปรากฏว่า ทารกตัวที่สองเกิดเปลี่ยนท่า เป็นท่าที่เอาใบหน้าเป็นส่วนนำและติดค้างอยู่ตรงปากช่องคลอด (Face presentation) เป็นเหตุให้ไม่สามารถคลอดออกมาได้ สูติแพทย์เวรได้รีบทำการผ่าตัดคลอดให้ทันที แต่ช้าไปเสียแล้ว ทารกคนที่สอง คลอดออกมาในสภาพที่ขาดออกซิเจนอย่างมาก และถูกส่งไปที่ ห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด สภาพของทารกตัวที่สองไม่ดีเลย มีม่านขยายทั้งสองข้าง และไม่รับรู้การสัมผัสใดๆอยู่นานหลายสัปดาห์ ปัจจุบัน เริ่มไม่สามารถรับน้ำนมที่ให้ทางสายยางได้ คาดว่า คงมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน 

สำหรับ ข้าพเจ้าเอง ก็พบครรภ์แฝดในคนท้องที่น่าสนใจเช่นกัน 2 ราย คนท้องรายแรก ชื่อ คุณนพพร อายุ 18 ปี ครรภ์แรก เคยฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนเพียง 1 ครั้ง  คุณนพพรมาที่ห้องคลอด ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ขณะที่มีอายุครรภ์เพียง 28 สัปดาห์ (Breech presentation in preterm pregnancy)  ทารกตัวแรกอยู่ในท่าก้น และปากมดลูกเปิดหมด ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้เข้ารับการผ่าตัดคลอด ทารกทั้งสองเป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 1106 และ1108 กรัมตามลำดับ มีคะแนนศักยภาพแรกเกิดเท่ากับ 9,10 (จากคะแนนเต็ม 10) เท่ากัน ซึ่ง..แฝดทั้งสองมีสุขภาพแข็งแรงดี เพียงแต่ต้องได้รับการดูแลอย่างใก้ลชิดในห้องพิเศษสำหรับทารกเสี่ยง(High risk room) สักระยะหนึ่ง…ทำไมทารกแฝดทั้งสอง จึงไม่ต้องถูกใส่ท่อช่วยหายใจเหมือนกับทารกครรภ์เดี่ยวในครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด? ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ทารกแฝดนั้นโดยธรรมชาติจะอยูในสภาพที่เบียดแย่งกันเติบโตในมดลูกและสารอาหารที่จำกัด ทำให้ปอดของทารกทั้งสองมีการพัฒนาเร็วกว่าปกติ 

ส่วนคนท้องอีกราย ชื่อคุณพนิดา  อายุ 29 ปี ตั้งครรภ์แรก มาฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ได้ 15 สัปดาห์ ตอนนั้น ระดับมดลูก มากกว่าอายุครรภ์ ข้าพเจ้าได้ดูอัลตราซาวนด์ให้เธอตอน 17 สัปดาห์ ก็พบว่า เป็นทารกครรภ์แฝด ตัวเด็กทั้งสองมีขนาดเทียบเท่ากับอายุครรภ์จริง คุณพนิดาได้เข้ามารับการตรวจตามนัดทุกๆ 2 – 3 สัปดาห์ เธอได้รับการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ทุกครั้งที่มาตรวจครรภ์ และไม่พบความผิดปกติอะไร จวบจนอายุครรภ์ได้ 30 สัปดาห์ คุณพนิดาเริ่มมีอาการมดลูกแข็งตัวบ่อยๆ แต่ไม่รุนแรงนัก ข้าพเจ้าได้ให้ยาเพื่อผ่อนคลายการแข็งตัวของมดลูกตั้งแต่นั้น

ถึงแม้ ข้าพเจ้าจะตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคุณพนิดาทุกครั้งที่มา แต่ก็ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติของทารกน้อยทั้งสอง เนื่องจากช่วงนั้น มีกรณีการเสียชีวิตหรือพิการแต่กำเนิดของทารกแฝดเกิดขึ้นหลายราย ประกอบกับข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในส่วนของการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับความพิการของทารกในครรภ์ (Advanced Ultrasonologist) ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ข้าพเจ้าจึงได้ส่งคุณพนิดาไปเข้ารับการตรวจกับผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจอัลตราซาวน์ด้วย ซึ่งผลการตรวจอย่างละเอียด ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังคงให้การดูแลคนไข้แฝดรายนี้อย่างรอบคอบต่อไป

  การดำเนินการตั้งครรภ์ทำท่าจะไม่มีปัญหา แต่พออายุครรภ์ได้ 35 สัปดาห์ คุณพนิดาก็มีมดลูกแข็งตัวบ่อยขึ้น แม้จะรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก ข้าพเจ้าได้ให้เธอนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจโดยกะว่า จะให้นอนพักไปตลอดจนกระทั้งคลอดบุตร ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ให้คุณพนิดา เพื่อประเมินน้ำหนักทารกแฝด เผื่อว่า จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดให้ ซึ่งจากการคาดคะเน คิดว่า น้ำหนักของทารกทั้งสองน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2000 กรัมเท่ากัน  คุณพนิดานอนพักโรงพยาบาลได้ 2 -3 วัน การแข็งตัวของมดลูกของเธอ ก็ไม่สามารถควบคุมได้  ในวันที่ข้าพเจ้ากำหนดให้มีการผ่าตัดคลอดกับเธอ ตอนดึกในคืนนั้น คุณพนิดาเกิดมีอาการเจ็บครรภ์และมดลูกแข็งตัวถี่ขึ้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้ยาฉีดคลายการแข็งตัวของมดลูก เพื่อชะลอการคลอดออกไป เพราะหากคลอดในตอนดึก ย่อมไม่เป็นผลดีต่อทารกน้อยทั้งสองในด้านการดูแลของบุคลากรต่างๆ  โชคดี!….ที่ข้าพเจ้าสามารถยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดครั้งนี้ได้แม้จะเป็นเพียงชั่วคราว

ในตอนเช้า ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดคลอดให้คุณพนิดา การผ่าตัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทารกทั้งสองเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 1920 และ 2190   กรัม โดยมีคะแนนศักยภาพแรกเกิด เท่ากับ 9, 10 (คะแนน 10) ตามลำดับ ข้าพเจ้าดีใจมากที่ทารกทั้งสองแข็งแรงดี แต่…วันรุ่งขึ้น เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยม ก็ต้องแปลกใจที่สามีและคุณพนิดาพากันกลุ้มใจ เพราะคุณหมอเด็กบอกว่า ‘ลูกเป็นโรคหัวใจทั้งคู่ ลูกคนแรกแข็งแรงดีพอสมควร สามารถดูดนมได้ แต่ลูกคนที่สองค่อนข้างซึมและไม่ค่อยจะดูดนม’ 

  ข้าพเจ้าได้รีบรุดไปดูแฝดทั้งสองที่ห้องพิเศษสำหรับทารกเสี่ยง (High risk room) ก็พบว่า ทารกทั้งสองมีรูปร่างภายนอกปกติ แฝดพี่มีสีหน้าท่าทางร่าเริง แต่แฝดน้องมีอาการซึมเล็กน้อย ข้าพเจ้าสอบถามพยาบาลที่นั่นเกี่ยวโรคหัวใจของทารกน้อยทั้งสอง พยาบาลบอกว่า “แฝดทั้งสองเป็นPDA (Patent ductus arteriosus)”

ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจกับข้อมูลที่ได้รับ เพราะภาวะนี้ไม่ใช่โรคหัวใจ แต่เป็นภาวะเส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างปอดกับหัวใจ ไม่ปิดตัวเองหลังคลอด ซึ่งปกติเส้นเลือดนี้จะปิดตัวทันทีหลังคลอด อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดนี้สามารถปิดไปได้เองในระยะเวลา 1 เดือน ถึง 1 ปี นอกจากนั้น ก็ยังมีวิธีการแก้ไขโดยการให้ยาเร่งการปิดตัวของเส้นเลือดนี้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ซึ่งข้าพเจ้าได้อธิบายให้คุณพนิดาและสามีเข้าใจ จนทั้งสองสบายใจขึ้นมาระดับหนึ่ง

ถัดมาอีกวันหนึ่ง สามีคนไข้ได้โทรศัพท์มาปรึกษาว่า “หมอเด็กบอกว่า ลูกทั้งสองเป็นโรคเลือดด้วย ผมจะทำยังไงดี” ข้าพเจ้าบอกให้เขาใจเย็นๆ ซึ่งหลังจากได้พูดคุยกับกุมารแพทย์แล้ว จึงทราบว่า ‘ลูกคุณพนิดาเป็น G 6 PD deficiency แฝดพี่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่แฝดน้องมีอาการเลือดจาง อาจจำเป็นต้องให้เลือด นอกจากนั้น แฝดน้องยังมีปัญหาทางหัวใจด้วยค่อนข้างมาก จนต้องให้ยาบำรุงหัวใจ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจล้มเหลว’ ข้าพเจ้ารู้หนักใจกับแฝดทั้งสองนี้ทีเดียว โดยเฉพาะแฝดน้อง แต่ก็ต้องทำใจดี เข้าไปปลอบสามีและคนไข้ ว่า “แฝดทั้งสองไม่น่าจะเป็นอะไรมาก  คุณหมอน่าจะแก้ไขได้” คุณแม่ของสามีคนไข้ได้ยินเช่นนั้น ก็พูดเสริมขึ้นว่า “พวกเราไม่เคยทำความชั่ว ลูกหลานจึงไม่น่าจะโชคร้าย ” ข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดนี้ และก็เป็นจริงดังว่า

ไม่นานหลังจากนั้น ทารกทั้งสองก็ค่อยๆดีขึ้น แม้ทารกแฝดน้องจะต้องใด้รับน้ำนมทางสายยางและก๊าซออกซิเจนทางจมูกเป็นระยะๆ แต่การตอบรับต่างๆของแฝดน้องดีขึ้นตามลำดับ ทารกแฝดพี่ได้รับอนุญาติให้กลับบ้านได้พร้อมมารดาหลังจากมีอายุได้ 20 วัน ส่วนแฝดน้อง เธอได้รับอนุญาติให้กลับบ้านหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์

ครรภ์แฝดก่อปัญหามากมายเกินกว่าที่จะบรรยายได้หมด ที่พบบ่อย คือ ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว อาทิ ‘การเจ็บครรภ์และคลอดก่อนกำหนด’ ข้าพเจ้าเอง..แทบไม่เคยเจอครรภ์แฝดที่มีอายุครรภ์เกินกำหนดเลย ดังนั้น หากคนท้องท่านใดตั้งครรภ์แฝดเกินกำหนด คงต้องระวังปัญหาทารกเสียชีวิตในครรภ์จากภาวะรกเสื่อม  ซึ่ง..ข้าพเจ้าอยากจะแนะนำให้ท่านเข้ารับการผ่าตัดคลอดโดยเร็วที่สุด  ปัญหาต่อมา คือ ‘เรื่องวิธีการคลอด’ ครรภ์แฝดถือเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด ไม่ว่าแฝดทั้งสองจะอยู่ในท่าอะไร เพราะอันตรายส่วนมากมักตกอยู่กับแฝดตัวที่สอง โดยเฉพาะการคลอดเองทางช่องคลอด การผ่าตัดคลอดจึงถือเป็นวิธีการคลอดที่เหมาะสมที่สุด ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ความพิการแต่กำเนิด’ ทารกแฝดนั้นมีความพิการแต่กำเนิดมากกว่าทารกครรภ์เดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ ความพิการมักเกิดขึ้นกับแฝดทั้งสองคนพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ครรภ์แฝดควรได้รับการประเมิน โดยสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจอัลตราซาวนด์โดยเฉพาะ เพื่อค้นหาความพิการแต่กำเนิด  ซึ่งจะทำให้มีเวลามากพอในการค้นหาวิธีการแก้ไข

ธรรมชาติได้สรรสร้างความมหัศจรรย์ ให้กับครรภ์แฝดมาแล้วในด้านปฏิมากรรมแห่งรูปร่างสรีระ… ความจริง นั่นน่าจะเป็นสิ่งจรรโลงใจให้กับผู้คนบนพื้นโลก แต่ช่วงหลังๆมานี้ ครรภ์แฝดที่กำเนิดออกมา ล้วนแล้วแต่มีปัญหา ข้าพเจ้าเชื่อว่า น่าจะเป็นเพราะเศษกรรมที่ติดตามมาจากอดีตชาติ ซึ่งหากมนุษย์ยังไม่เลิกประพฤติตัวชั่วช้า โดยไม่เกรงกลัวต่อบาป ถึงแม้จะโชคดี ได้ให้กำเนิดทารกแฝด แต่ก็จะมีอาถรรพ์ ถูกบรรดามารเบียดเบียน บันดาลให้เกิดความเป็นไปต่างๆในทางที่ไม่ดีกับลูกน้อย…….

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

  

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *