อย่าเสียดาย

 

เช้าวันนี้ มีพัศดุจากจังหวัดเชียงรายส่งมาจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ภายในมีอาหารกล่องจำพวกแซนวิชบรรจุไว้อย่างสวยงาม ข้าพเจ้ารู้ว่า มันเป็นความปรารถนาดีของเพื่อนที่ส่งอาหารกล่อง มาจากแดนไกล แต่ไม่ว่า อาหารกล่องดังกล่าวจะเดินทางเร็วสักปานใด มันก็คงไม่เหมาะที่จะรับประทานอยู่ดี  เพราะว่า…อาหารคงจะเสียไปแล้ว  อากาศในช่วงหน้าร้อนนี้เป็นตัวเร่งให้อาหาร ที่อับชื้นอยู่ภายในกล่องบูดเน่าเร็วยิ่งขึ้น  ตอนแรกที่เปิดกล่องออกมาเห็นอาหาร ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจและอยากจะรับประทาน แต่เมื่อสังเกตอาหารอย่างละเอียด  ก็มองเห็นมีรอยปื้นดำๆของเชื้อราขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ  หากกินเข้าไป  มีหวังตายแน่  ข้าพเจ้าเก็บเอาความปรารถนาดีของเพื่อนเอาไว้  แต่ได้โยนอาหารกล่องนั้นทิ้งไป อย่างไม่เสียดาย

ช่วงสายๆหน่อย  ขณะที่กำลังผ่าตัดคลอดบุตรให้คนไข้สตรีรายหนึ่งอยู่  พยาบาลห้องคลอดรายงานมาทางโทรศัพท์ว่า “ มีคนไข้อีกรายกำลังตกเลือดหลังคลอดค่อนข้างมาก  ขอให้รีบไปดู ” ข้าพเจ้าไม่สามารถทิ้งคนไข้ที่กำลังผ่าตัดไปกลางคันได้  จึงฝากพยาบาลช่วยตามสูติแพทย์ท่านอื่นที่อยู่ใกล้เคียง  ให้รีบไปดู  สักครู่ พยาบาลกลับมารายงานว่า “ หมอวิภาส ช่วยไปดูให้แล้ว  คิดว่าคงไม่มีอะไร ”

“ ยังงั้น! ค่อยสบายใจหน่อย ” ข้าพเจ้าพูดด้วยความสบายใจ แล้วรีบผ่าตัดต่อไปจนเสร็จ  จากนั้น จึงรีบรุดไปดูคนไข้รายดังกล่าว  พอไปถึง ก็เห็นหมอวิภาสกำลังง่วนอยู่กับการเย็บปากมดลูก ข้าพเจ้าได้ถามว่า “ เป็นยังไงบ้าง  คนไข้ตกเลือดมากไหม? ตกเลือดจากสาเหตุอะไร  พอจะบอกได้ไหม? ”

“ ไม่รู้เหมือนกัน ผมกำลังพยายามเย็บปากมดลูกอยู่ แต่เลือดยังคงไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา  ”  หมอวิภาสตอบกลับมา “ คิดว่า คงต้องตัดมดลูก จึงจะหยุดเลือดได้ ”

 ข้าพเจ้ารีบกล่าวขอบคุณหมอวิภาสที่ช่วยมาดูแทน เนื่องจากวันนี้เป็นเวรที่ข้าพเจ้าจะต้องรับผิดชอบ  จากนั้น ข้าพเจ้าได้หันมาสั่งการกับพยาบาลห้องคลอดว่า “ อย่างนั้น  เอาคนไข้เข้าห้องผ่าตัดด่วนเลย ไม่อย่างนั้น เราอาจเสียคนไข้ ” ขณะที่พยาบาลกำลังเตรียมคนไข้อยู่  ข้าพเจ้ารีบวิ่งไปยังห้องผ่าตัดและร้องตะโกนบอกพยาบาลห้องผ่าตัดว่า “มีคนไข้ตกเลือดหลังคลอด  ขอผ่าตัดเดี๋ยวนี้เลยนะ เพราะตกเลือดมากจนช็อก ”

การจัดเตรียมห้องผ่าตัดและเคลื่อนย้ายคนไข้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนผ่าตัด พยาบาลห้องผ่าตัดสังเกตว่า มดลูกคนไข้หดรัดแข็งตัวดีมาก จึงพูดเป็นเชิงถามความเห็นจากข้าพเจ้าว่า “ มดลูกคนไข้แข็งตัวดีนะ หมอคิดว่า จำเป็นจะต้องตัดมดลูกไหม? ”

ข้าพเจ้าชะงักนิดหนึ่ง แล้วพูดว่า “ อึม..ขอตรวจภายในคนไข้ดูก่อน  ถ้าเลือดออกจากช่องคลอดไม่มากนัก  เราอาจงดการผ่าตัดและเฝ้าสังเกตอาการตกเลือดของคนไข้ต่อไปได้ ” 

พอเปิดผ้าเพื่อตรวจภายใน ก็เห็นเลือดพุ่งออกมาจากช่องคลอดคนไข้อย่างมากมาย ข้าพเจ้าจึงร้องตะโกนบอกกับทุกคนว่า “ ทำผ่าตัดเดี๋ยวนี้เลย  เลือดไหลออกมายังกับท่อน้ำแตก…  ขืนชักช้า มีหวัง..คนไข้ตายแน่ บางที การมีเลือดออกครั้งนี้อาจเกิดจากกลไกการแข็งตัวของเลือดเสียไปแล้ว ตอนนี้ต้องผ่าตัดหยุดเลือดให้ได้ก่อน  เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ”

หลังจากดมยาสลบ ข้าพเจ้ารีบลงมือผ่าตัดด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้พูดเตือนเพื่อนร่วมงานทุกคนว่า “ไม่ต้องรีบ  ใจเย็นๆ  ค่อยๆทำ ค่อยๆไป ทำตามขั้นตอน  จะได้ไม่เกิดปัญหา ”

ถึงแม้จะพูดว่า ไม่ต้องรีบร้อน  แต่มือข้าพเจ้าเคลื่อนไหวไม่ได้หยุด เพราะใจคอยพะวงและเร่งเร้าอยู่ตลอดเวลา  การเสียเวลาแม้สักนาทีเดียว อาจไม่เป็นผลดี  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีแพทย์ฝึกหัดเข้าช่วยผ่าตัด ข้าพเจ้าจึงพูดสอนไปด้วย ถือเป็นการผ่อนคลายความรีบเร่ง ข้าพเจ้าบอกกับนักศึกษาแพทย์คนนั้นว่า “ กรณีคนไข้เช่นนี้พบไม่บ่อยนัก การได้มีโอกาสเห็นการตัดมดลูกคนท้องในห้องผ่าตัด ถือว่า โชคดี  ต่อไปเมื่อเธอไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอ เธอคงสามารถผ่าตัดคลอดลูกได้ แต่หากไม่เคยเห็นหรือเคยช่วยผ่าตัดแบบนี้มาก่อน เธอคงไม่สามารถตัดมดลูกคนท้องได้อย่างปลอดภัย ”

ในระหว่างผ่าตัด  วิสัญญีแพทย์ได้ให้เลือดแก่คนไข้ไปถึง 7 ถุง แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้  หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ วิสัญญีแพทย์ได้ถามข้าพเจ้าว่า “ อีกนานไหมครับกว่าจะผ่าตัดเสร็จ  เพราะคนไข้เสียเลือดมากเหลือเกิน  ผมคิดว่า หลังผ่าตัด คงต้องให้คนไข้ไปนอนอยู่ที่ห้อง ไอ.ซี. ยู. เพื่อดูแลต่ออย่างใกล้ชิด โดยจะไม่เอาท่อช่วยหายใจออกในวันนี้ ”

ข้าพเจ้าพูดตอบว่า “ คงไม่นาน คิดว่า ประมาณครึ่งชั่วโมง  ผมจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ” การผ่าตัดสิ้นสุดในเวลาประมาณ บ่ายโมงครึ่ง โดยใช้เวลาผ่าตัดเกือบ 2 ชั่วโมง คนไข้เสียเลือดไปประมาณ 2-3 ลิตร แต่ก็ได้เลือดทดแทนจำนวนมาก

ที่ห้อง ไอ.ซี. ยู.  คนไข้อยู่ในสภาพนอนสลบไสลและมีท่อช่วยหายใจคาอยู่ที่ปาก ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมตอนประมาณ 5 โมงเย็นครั้งหนึ่ง และถามกับพยาบาลห้อง ไอ.ซี.ยู. ว่า  “ คนไข้เป็นยังไงบ้าง  ความดันโลหิตควบคุมได้หรือไม่  ความเข้มข้นของเลือดเท่าไหร่ และปัสสาวะออกบ้างไหม ” 

พยาบาลประจำการตอบว่า “ตอนนี้ คนไข้ยังไม่ค่อยรู้สึกตัวดี พอหายใจได้บ้าง ความดันโลหิตยังไม่ค่อยแน่นอน  แต่ก็พอไหว  ความเข้มข้นของเลือด 28%  หมอดมยาสั่งไว้ว่า เดี๋ยวจะให้เลือดต่ออีกสัก 1 ถุง  แล้วคอยวัดค่าความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ  ตอนนี้ ได้จองเกล็ดเลือด และ Fresh frozen plasma ( ซึ่งมีปัจจัยช่วยในการแข็งตัวของเลือดอยู่จำนวนมาก )ไว้อย่างละ 10 ถุง ซึ่งจะให้ทันทีที่ส่งมาถึง  สำหรับปัสสาวะของคนไข้ เริ่มออกบ้างแล้ว ประมาณ 30 ซี.ซี.ต่อชั่วโมง ”

ประมาณ 3 ทุ่ม ข้าพเจ้า ได้แวะไปที่ ห้อง ไอ. ซี. ยู. อีกครั้ง  สังเกตว่า  อาการทั่วไปของคนไข้ดีขึ้น  ความดันโลหิตสามารถควบคุมได้  ชีพจรเต้นลดลงจาก 130 ครั้งต่อนาที เป็น 100 ครั้งต่อนาที   ปัสสาวะที่ไหลออกมา มีปริมาณเพิ่มขึ้น  เวลานั้น คนไข้ได้เลือดไปถึง 8 ถุงแล้ว จากการประเมินสภาพของคนไข้  ข้าพเจ้า คิดว่า  คนไข้รายนี้ สามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้อย่างแน่นอน

ข้าพเจ้าลองมองย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ดู  ก็พบความจริงว่า  “ การรักษาคนไข้กรณีฉุกเฉิน จะทำได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์  ซึ่งมักขึ้นอยู่กับประสบการณ์  การตัดสินใจที่ช้าเกินไป  จะนำมาซึ่งผลเสียหายอย่างมาก  คนไข้อาจเสียชีวิต หรือเกิดกรณีไตวายเฉียบพลัน  ในกรณีคนไข้ที่รอดชีวิตแต่เป็นโรคไตวาย  ก็มีสภาพที่น่าสงสารและทุกข์ทรมานไม่น้อย ดังนั้น การที่แพทย์ตัดสินใจช้า  ส่วนใหญ่เกิดจากการเสียดายบางอย่าง  ด้วยความปรารถนาดี เช่น เสียดายมดลูก  เพราะคนไข้ยังไม่เคยมีบุตร เป็นต้น ”  สำหรับคนไข้รายนี้ เธอมีบุตร3 คน รวมทั้งครรภ์นี้ จึงทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจได้ง่ายเข้า  แต่ถึงแม้ ยังไม่เคยมีบุตรมาก่อน หรือบุตรที่คลอดออกมาเสียชีวิต  ข้าพเจ้าก็คงตัดสินใจเหมือนเดิม คือ ตัดมดลูกทิ้งให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดเลือดและเป็นการช่วยชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ.

   คำพูดที่ว่า “ เสียแขน เสียขา  เพื่อรักษาชีวิต ”  เป็นคำที่ผู้คนมักนำมาพิจารณาเวลาเกิดปัญหาใหญ่ๆ   ส่วนกรณีทั่วๆไป ที่อาจดูไม่ร้ายแรง แต่ก่อความเสียหายมากพอสมควร คนเรามักเสียดายที่จะตัดสินใจยกเลิก หรือแก้ไข เช่น  ของกิน จำพวก ไขมัน นมเนย ของหวานจำนวน มากมายในงานเลี้ยง ที่คนอ้วนไม่เคยลดละ  ของใช้ ที่เราชอบใจและซื้อหามากอง เกะกะไว้เต็มบ้านโดยไม่เคยหยิบฉวย แม้กระทั่ง เวลา ที่หลายคนปล่อยมันผ่านเลยไปโดยไม่เคยนำมาให้กับครอบครัว เพราะมัวแต่ทำงานหรือเอาไปใช้ในการศึกษาหาความรู้จนลืมลูกเมีย  

ผู้ชายมากมายที่อายุเกิน 45 ปีและยังไม่มีครอบครัว มัวแต่เสียดายเวลาทำงานหาเงิน โดยไม่คิดมองหาคู่ครอง สุดท้าย เวลาที่ใช้ไปอย่างมีประโยชน์ยิ่ง กลับเป็นสิ่งที่ทำลายบั้นปลายของชีวิต

อาจมีบ้าง บางคนคิดว่า  เวลาที่พูดคุยกับบุตรภรรยา  เป็นเวลาที่สูญไปกับการพูดคุยที่ไร้สาระ ปนกับเสียงหัวเราะที่ไร้เดียงสา  ซึ่ง…น่าที่จะเอาเวลาไปทำในสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เช่น ทำงาน หาเงิน  เข้าสังคม หรือสร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จัก  ข้าพเจ้าคิดว่า  นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์  เวลาที่อยู่กับครอบครัวนั้น เป็นเวลาที่มีคุณค่ามากที่สุด  คำพูดที่ไร้สาระปนกับเสียงหัวเราะภายในครอบครัว คือ คำพูดที่มีคุณค่ามากกว่า คำคมของนักปรัชญาเสียอีก ไม่มีเวลาใดในโลก ที่มีคุณค่ามากไปกว่าเวลาสำหรับครอบครัว การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่กับครอบครัวและหยอกล้อกับบุตรภรรยา จึงเป็นเรื่องสมควรที่สุด ที่มนุษย์ควรทำ ขอทุกคนโปรดอย่าได้เสียดายเวลา ที่จะให้กับครอบครัว.

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *