หนูน้อยวาเลนไทน์

                    

 

          ผ่านวันวาเลนไทน์มาได้ไม่กี่วัน ข้าพเจ้ามีโอกาสรับคลอดทารกเพศหญิงหนึ่งราย ตอน

 5 นาฬิกา ของเช้าวันหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมาก จนอยากจะตั้งชื่อเล่นให้หนูน้อยว่า   "น้องวาเลนไทน์"  เพราะวันนี้เธอนำความสุขมาให้กับทุกคน

          คุณแม่ของน้อง  วาเลนไทน์    เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GESTATIONAL DIABETES) จึงทำให้  น้องวาเลนไทน์    ตัวใหญ่ตั้งแต่ในท้อง  แต่คาดไม่ถึงว่า พอคลอดออกมาจะใหญ่มากขนาดนี้ (4,545 กรัม)

          ท้องนี้เป็นท้องที่ 3 ท่าทางน่าจะคลอดง่าย ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร  แต่

 เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด

          คุณแม่ของน้อง  วาเลนไทน์    เจ็บครรภ์และมานอนโรงพยาบาลประมาณ 01.00 นาฬิกา พยาบาลห้องคลอดรายงานว่า ปากมดลูกเปิดได้ 5 เซนติเมตร และมีความหนา 75%   ข้าพเจ้าจึงรีบรุดไปดู

          "คนไข้" ค่อนข้างเจ็บครรภ์มาก      จึงขอ  หมอดมยา   ช่วยฉีดยาชาผ่านทางสายสอด

 พลาสติกเข้าไขสันหลัง (CONTINUOUS EPIDURAL BLOCK) เพื่อประทังความเจ็บปวด "คนไข้" ได้รับการเติมยาชาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด

          แม้ว่าร่างกายท่อนล่างจะชาด้วยฤทธิ์ยาสลบ    แต่ "คนไข้" สามารถเบ่งคลอดได้ดี

 เพียง 2-3 ที หัวเด็กก็โผล่ออกมาจากช่องคลอดแล้ว

          พอเห็น "หัวเด็ก"    ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจ เพราะหัวเด็กใหญ่มาก ขนาดหัวเด็กยังโต

 ขนาดนี้ แล้ว  ตัวเด็ก   จะโตขนาดไหน?

          ไม่ได้รอให้พยาบาลดูดน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกเด็กเลย  เวลาในช่วงนี้สำคัญมาก

 ที่สุด หากเด็กติดอยู่ในช่องคลอดนานกว่า 3-5 นาที เด็กต้องตายแน่ ๆ

          รวบรวมสมาธิและเรี่ยวแรงเท่าที่มี  ดึงเด็กคลอดโดยใช้วิธีธรรมดา คือ   "คลอดไหล่ 

   หน้าก่อน" 

          ตายละหว่า……ตอนนั้น   คิดจะออกคำสั่งใช้ท่าของหมอ  แมกโรเบิร์ต    ซึ่งมีลักษณะ

 คล้ายกับการ "หกคะเมนตีลังกาเอาเท้าชี้ฟ้า"  (SHARP VENTRAL ROTATION OF MATERNAL  HIP)  อันเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยคลอดกรณี  ติดไหล่    (SHOULDER DYSTOCIA) แต่ขอลองอีกที   คราวนี้โถมทั้งตัวโดยใช้น้ำหนัก 80 กิโลของข้าพเจ้า ดึงหัวเด็กอีกครั้งอย่างสุดแรงเกิด โชคดี.. ครั้งนี้มีเสียงดัง "กรึ๊บ" พร้อมกับ  หัวไหล่หน้าคลอดได้สำเร็จ       แค่นี้ถือว่า สำเร็จไป 90% แล้ว  เมื่อสำรวจตรวจดูที่ไหปลาร้าและหัวไหล่เด็ก    พบว่า ไม่มีส่วนใดหัก ก็รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก  โล่งใจไปหมดเลย   ค่อย ๆ ใช้มือคลายสายสะดือที่พันคอเด็กหนึ่งรอบออก และปัดให้ผ่านตัวเด็กไปทางด้านหลัง  หลังจากนั้น จึงทำการ   คลอดไหล่หลัง    และคลอดทั้งตัวได้อย่างปลอดภัย

            ลองนึกย้อนกลับไป หากดึงคลอดครั้งที่สองไม่สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น   

          วิธีการต่อไปที่จะต้องใช้ คือ รีบปลดเข็มขัดรัดต้นขาคนไข้ทั้งสองข้าง  แล้วใช้ท่าของ

 หมอ  แมกโรเบิร์ต    (McROBERT MANEUVER) ดันต้นขาไปทางหน้าอกคนไข้  พร้อมกับให้ผู้ช่วย  กดที่เหนือหัวเหน่า    (SUPRAPUBIC PRESSURE) แล้วจึงดึงคลอด  ขณะที่ดึงคลอดควรจะหมุนหัวและตัวเด็กไปด้วย   เพื่อจะเปลี่ยน  ไหล่หน้า   ให้เป็น  ไหล่หลัง   คล้ายกับ  การหมุนจุกก๊อก (CORK SCREW  MANEUVER) นี่คือ ภาพจินตนาการที่แวบเข้ามาในความคิด  เวลาทำจริง ๆ คงไม่ง่ายแน่

          สุดท้ายอาจจำเป็นต้องหักกระดูกไหปลาร้าของเด็กเพื่อลดขนาดไหล่ หรือดันศีรษะเด็ก

 กลับเข้าไปในช่องคลอด แล้วผ่าเอาเด็กออกทางหน้าท้องก็เป็นได้    ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้  จริง ๆ  โชคชะตาของทารกจะเป็นเช่นไร  ยังนึกภาพไม่ออก

          การรอดพ้นอันตรายและความตายของน้อง  วาเลนไทน์    จากการติดไหล่ครั้งนี้   ขอยกความดีให้กับคุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้ว 2 ท้อง  (ท้องแรกน้ำหนักเด็กตอนคลอด 3,850 กรัม, ท้องที่สอง เด็กหนักถึง 3,950 กรัม) และวิทยาการที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา  รวมทั้งประสบการณ์  10 กว่าปีของชีวิตแพทย์

          เด็กคลอดติดไหล่แล้วตาย พบได้บ้างแม้ไม่บ่อยนัก   ส่วนใหญ่พบในแม่ที่เป็นเบาหวานเพราะทารกจะได้น้ำตาลเป็นอาหารตลอดเวลา ทำให้เนื้อหนังมังสาใหญ่โต     เด็กเหล่านี้หัวไหล่  จะใหญ่และหัวจะค่อนข้างเล็ก    รูปร่างคล้าย "นักรักบี้-อเมริกันฟุตบอล" น้ำหนักมักจะเกิน4,000 กรัม   ปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นตอนคลอด  สังเกตง่าย ๆ การดำเนินการคลอดช่วงระยะแรก (FIRST STAGE) จะปรกติ แต่พอปากมดลูกเปิด 8-10 เซนติเมตร (PROLONGED DECELERATION PHASE) หรือระยะจะคลอด  ซึ่งปากมดลูกเปิดหมดแล้ว (PROLONGED SECOND STAGE) การดำเนินการคลอดจะหยุดชะงักหรือเนิ่นนานกว่าปรกติ คุณหมอมักช่วยเหลือการคลอดโดยการดึงด้วยคีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศ  และปัญหาที่ตามมา คือ   หัวเด็กคลอดได้ แต่ติดไหล่ (SHOULDER DYSTOCIA)     ถ้าไม่ใช่หมอสูติที่มากประสบการณ์ หรือถึงแม้เป็นหมอสูติ แต่เป็นครรภ์แรกที่แม่ไม่ร่วมมือ  ทั้งสองกรณีทารกมีสิทธิติดคาในช่องคลอดนาน จนนำไปสู่สภาวะพิการร่างกายหรือตายคลอด

          หลังคลอดน้อง  วาเลนไทน์    ข้าพเจ้ายังไม่ไว้วางใจ  เพราะเด็กตัวใหญ่หนักถึง 4545

 กรัม  ซึ่งปรกติทารกหนักขนาดนี้ มักจะมีปัญหา คือ   น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ    (HYPOGLYCEMIA)   อันจะนำไปสู่ภาวะปัญญาอ่อนได้หากดูแลไม่ดี

          น้อง  วาเลนไทน์    ได้รับ "อาหารเช้า" เป็นน้ำเกลือซึ่งมีน้ำตาลอยู่ด้วย  ตั้งแต่ 7.00  นาฬิกาเลย เพื่อป้องกันภาวะ  น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ   ดังกล่าว เมื่อเจาะดูน้ำตาลในกระแสเลือดได้ 48% ก็พอยอมรับได้     ปัญหาที่น้อง  วาเลนไทน์   ประสบในตอนนี้มีเรื่องเลือดข้นมากเกินไป (POLYCYTEMIA) เจาะได้ความเข้มข้นของเลือด 75% และเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งวันได้ 65% ซึ่ง ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไรนัก  คงต้องเป็นหน้าที่ของ  หมอเด็ก   ที่จะต้องแก้ไขต่อไป

          จะเห็นว่า ทารกที่แม่เป็นเบาหวาน  มีปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์,ขณะคลอด

 และหลังคลอด    จึงเป็นหน้าที่ของคุณแม่ที่จะต้องหมั่นมาหาหมอ และเป็นหน้าที่ของหมอหลายฝ่าย (สูติ,อายุรกรรม,กุมารเวช)  ที่จะต้องช่วยกันดูแล   เพื่อที่จะให้ได้ทารกแรกคลอดปรกติ อันจะทำให้ทุกคนเป็นสุขสมหวัง ดุจดังครอบครัวของน้อง  วาเลนไทน์  

 

 

                          @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *