ภาวะลำไส้ทะลักในทารก( Gastroschisis )
เดือนสิงหาคมของทุกปีมีวันแม่ แต่มันคงจะไม่มีความหมาย หากลูกน้อยของผู้เป็นแม่มีร่างกายหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งพิการ ดำรงชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ตาม บางครั้ง การที่พระเจ้าจงใจส่งลูกน้อยที่ไม่ประกอบให้มาเกิด ก็อาจเป็นบททดสอบความเป็น “ แม่ ” ได้อย่างหนึ่ง “ แม่ ” จึงเป็นผู้ที่มีความหมายต่อลูกน้อยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ในนิยามความหมายเท่านั้น
วันนี้ข้าพเจ้าตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้ามืด และนั่งลงทำงานทันที ทั้งๆที่ควรจะนอนต่อเพราะตอนบ่ายจะต้องเป็นสารถีขับรถพาภรรยาและลูกชายเดินทางไกลไปเยี่ยมบิดามารดาที่จังหวัดสุพรรญบุรี มูลเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้านอนไม่หลับ ก็เนื่องมาจากคิดถึงเรื่องราวของคนไข้สตรีรายหนึ่งที่มาฝากครรภ์เมื่อวันวาน
คนไข้รายนี้เป็นสตรีรูปร่างสูงโปร่ง ราว 175 เซนติเมตร ใบหน้าขาวมนรูปไข่ คล้ายอาหมวย อายุ 22 ปี ตอนแรก ข้าพเจ้าจำเธอไม่ได้เลย เพียงแต่รู้สึกคลับคล้ายว่า เคยเจอที่ไหนสักแห่งหนึ่ง
“ หมอ หมอจำหนูได้หรือเปล่า? ” คุณดรุณี คนไข้กล่าวทักทายเมื่อเข้ามาในห้องตรวจ
“ อ้อ จำได้ สบายดีหรือครับ ” ข้าพเจ้าเอ่ยตอบไปก่อนในขณะที่พยายามนึกทบทวน ความจริง ก่อนที่คนไข้จะเข้ามาในห้องตรวจ พยาบาลได้บอกคร่าวๆว่า เป็นคนไข้ที่ลูกมีปัญหาและได้ส่งต่อไปคลอดที่โรงพยาบาลอื่น
ข้าพเจ้าพยายามนึกทบทวนอยู่สักพัก ก็ยังนึกไม่ออก พอเปิดสมุดบันทึกประวัติเดิมของคนไข้ จึงได้นึกออก ข้าพเจ้าแสดงอาการสะดุ้งออกมาโดยไม่รู้ตัว พลางกล่าวว่า “ อ้อ!….. จำได้แล้ว ที่ลูกของคุณมีลำไส้ทะลักออกมา ( Gastroschisis )นอกลำตัว และผมเขียนจดหมายส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลรามาฯ เออ! เป็นยังไงบ้าง… ตอนนี้ ลูกสบายดีใช่ไหมครับ? ”
พูดไป… ใจข้าพเจ้ายังรู้สึกเสียวๆเลย กลัวเธอจะตอบว่า “ ลูกได้ตายไปเสียแล้ว ตอนที่คลอดออกมา ” แต่..ดูจากสีหน้าคนไข้ คิดว่า คำตอบคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสีหน้าของเธอดูสดใส ท่าทางสดชื่นมีชีวิตชีวา จากนั้น คุณดรุณีก็เริ่มเล่าเรื่องราวของลูกเธอให้ฟัง ตามคำถามที่ข้าพเจ้าอยากรู้
“ ตอนนี้ ลูกอายุเท่าไร แข็งแรงดี ไม่มีปัญหาใดๆเลยใช่ไหม ” ข้าพเจ้าถามนำขึ้นก่อน
“ ลูกแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย ซนน่าดูเลย ตอนนั้นที่หมอบอกว่า ลูกมีปัญหา ลำไส้ทะลักออกมา และให้ไปหาอาจารย์คนหนึ่งที่โรงพยาบาลรามาฯ อาจารย์คนนั้นก็ช่วยดูแลให้ แต่ท่านบอกว่า ลูกพิการร่างกายมาก นอกจากจะมีลำไส้ทะลักออกมา ยังมีแขนขาสั้นและพิการอีกหลายอย่าง หนูฟังแล้ว บอกตรงๆ ใจรับไม่ได้เลย แต่พอเด็กคลอดออกมา กลับปรากฏว่า เด็กมีความผิดปกติเฉพาะตรงที่ ลำไส้ทะลักออกมานอกตัวเท่านั้น ในขณะที่ร่างกายส่วนอื่นปกติดี ”
“ ลูก.. รักษาอยู่ที่นั่น( โรงพยาบาลรามาฯ) นานไหมครับ ” ข้าพเจ้าถามต่อ
“ เดือนกว่าเอง พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย หมอก็ผ่าตัดเอาลำไส้ยัดใส่กลับเข้าไปในช่องท้องให้ ตั่งแต่นั้นมา ลูกก็ไม่เคยเจ็บป่วยอะไรเลย หนูต้องขอบพระคุณคุณหมอมากที่ส่งตัวหนูไปรักษาต่อที่นั่น ไม่เช่นนั้น คง… ” คุณดรุณี พูดจาต่อด้วยน้ำเสียงที่สดใส แต่หยุดคำพูดไว้แค่นั้น
“ ยินดีด้วยจริงๆ ” ข้าพเจ้ากล่าวแสดงความยินดีด้วยความจริงใจกับเธอ
“ ตอนนี้ หนูท้องอีกแล้ว ท้องได้ประมาณ 5 เดือน แต่หนูอยู่ต่างจังหวัดและฝากท้องอยู่ที่นั่น หนูกลัวว่าจะเกิดแบบเดิมขึ้นมาอีก จึงเข้ามากรุงเทพฯหาหมอ เพราะหมอรู้ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนของหนูดี ” คุณดรุณีพูดถึงวัตถุประสงค์ของการมาฝากครรภ์ครั้งนี้ และถามว่า “ ภาวะลำไส้ทะลักในทารก จะเกิดซ้ำไหมคะ ”
“ ไม่น่าจะเกิดซ้ำนะ แต่ระหว่างที่คุณฝากครรภ์ เราจะต้องติดตามตรวจดูเด็กในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ไปเรื่อยๆ ” ข้าพเจ้าบอกกับคุณดรุณี และพูดต่อว่า “ ตอนนี้ เราควรไปตรวจดูเด็กด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์กันก่อนซักครั้ง ไม่ทราบว่า ตอนนี้ท้องได้กี่เดือนแล้ว ”
“ ประมาณ 5 เดือน คุณหมอช่วยดูให้อีกที ก็แล้วกัน ” คนไข้ตอบ
พอเปิดผ้าคลุมหน้าท้องของคนไข้เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจที่ไม่เห็นรอยแผลผ่าตัดคลอด บริเวณท้องน้อยเหนือหัวเหน่า จึงอุทานออกมาโดยไม่รู้ตัวว่า “ เอ๊ะ! นี่คุณไม่ได้คลอดโดยการผ่าตัดคลอดหรอกหรือ ผมนึกว่าอาจารย์ที่ผมฝากไป จะผ่าท้องทำคลอดบุตรให้เสียอีก ”
“ อาจารย์บอกว่าทารกพิการร่างกายหลายอย่าง จึงไม่ควรผ่าตัดคลอด ตกลง หนูจึงคลอดเองตามธรรมชาติ แต่ลูกของหนูที่คลอดออกมา นอกจากเรื่องของลำไส้แล้ว เขาก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ” คนไข้เล่าและถามว่า “ ภาวะลำไส้ทะลัก แบบลูกหนูเกิดจากอะไร? มีความผิดปกติทางโครโมโซมร่วมด้วยหรือเปล่าและพบบ่อยไหมคะ? ”
“ คือ ในทางทฤษฎี โรคลำไส้ทะลักออกมานอกลำตัว นี้มีด้วยกัน 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเด็กมีโครโมโซมผิดปกติร่วมด้วยและร่างกายมีความพิการหลายอวัยวะ ( Omphalocele ) ส่วนอีกชนิดหนึ่ง ( Gastroschisis )จะเหมือนกับที่ลูกคุณเป็น เด็กมีความผิดปกติเฉพาะส่วนที่ ลำไส้ออกมากองภายนอกตัวเด็ก เท่านั้น ไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับโครโมโซมและอวัยวะอื่น ” ข้าพเจ้าพยายามแก้ข้อข้องใจของคนไข้และสรุปต่อว่า “ ลูกของคุณเป็นคนโชคดี จัดอยู่ในชนิดที่มีความผิดปกติเฉพาะส่วนของลำไส้เท่านั้น ภายหลังจากผ่าตัดเอาลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้องแล้ว เขาก็เหมือนกับเด็กอื่นทั่วๆไป ”
“ หมอตรวจดูลูกของหนูในครรภ์ครั้งนี้ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง? ” คุณดรุณีถาม
“ เท่าที่ดู ก็ยังไม่พบความผิดปกติอะไร ส่วนหัวของเด็ก มีความกว้างเทียบเป็นอายุครรภ์ได้ประมาณ 19 สัปดาห์ หัวใจเต้นสม่ำเสมอปกติดี บริเวณท้องน้อย ก็ไม่เห็นมีลำไส้ออกมานอกลำตัวเด็ก แต่คงต้องติดตามดูด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ไปเรื่อยๆ ” ข้าพเจ้าตอบ
“ คราวที่แล้ว คุณหมอตรวจพบความผิดปกติของลูกหนูตอนอายุครรภ์ได้ 7 เดือนเศษ ตอนนี้หนูท้องได้ ประมาณ 5 เดือน ฝากท้องอยู่ที่จังหวัดระยอง หนูกลัวจะเป็นแบบครั้งที่แล้ว เลยรีบเข้ามาตรวจกับหมอ ” คนไข้พูดต่อ
“ คือโรคนี้ เด็กจะมีความผิดปกติที่ผนังหน้าท้องบริเวณสะดือ ขณะที่อายุครรภ์น้อยๆ ลำไส้ของทารกมีไม่มากนัก จึงยังคงอยู่ในช่องท้องได้ พอเด็กโตขึ้น ลำไส้ในท้องยืดยาวขยายตัวมากขึ้น ก็จะเกิดแรงดันทำให้ลำไส้ทะลักผ่านผนังหน้าท้องบริเวณสะดือ ออกมากองอยู่ข้างนอก ” ข้าพเจ้าอธิบายเสียยืดยาว และพูดว่า “ ความจริง เราสามารถตรวจพบภาวะนี้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปแล้วแต่ว่า ลำไส้ออกมานอกลำตัวมากน้อยแค่ไหน หมอมีความชำนาญเรื่องอัลตราซาวนด์และตรวจดูละเอียดทั่วถึงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจละเอียดอย่างไร ก็มีโอกาสผิดพลาด ตรวจไม่พบได้ถึง 2 ใน 3 ราย สำหรับกรณีของคุณ ช่วงนี้ ถ้าเกิดซ้ำ เราพอจะตรวจพบได้จากอัลตราซาวนด์ แต่เท่าที่ดู ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร ”
คนไข้รู้สึกพอใจกับคำตอบที่ได้รับ เธอกล่าวคำอำลาและขอบคุณที่ข้าพเจ้าให้ความกระจ่างแก่เธอหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะต่อกรณีที่ทำให้เธอได้ลูกกลับคืนมา คือ เธอคิดว่า ลูกของเธอได้ตายไปแล้วหลังจากทราบว่าเกิดภาวะนี้ แต่ในที่สุด ก็รอดชีวิตกลับมาและเป็นเด็กที่สมบูรณ์เหมือนเด็กคนอื่นๆ
ข้าพเจ้าพลอยดีใจไปกับคนไข้ด้วยและอวยพร “ ขออย่าให้คุณพบพานกับเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้อีก ”
ข้าพเจ้านั่งทบทวนถึงเหตุการณ์วันวานสักพักหนึ่ง ก็กลับไปนอนพักเพื่อเก็บแรงเอาไว้เดินทาง มาตื่นนอนอีกทีตอนเกือบ 11 โมงเช้า ข้าพเจ้าและครอบครัวไม่ได้รีบร้อนอะไร เพราะตั้งใจจะไปค้างคืนที่จังหวัดสุพรรณบุรีอยู่แล้ว
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเรียบร้อย จึงเริ่มออกเดินทาง เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ถึงตัวเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เราไม่ได้แวะเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ของข้าพเจ้าในทันที เราขับรถเลยออกไปนอกตัวเมืองยังที่พักที่จองไว้ล่วงหน้า คือ “ วังรี รีสอร์ท ” เพื่อให้ลูกได้พักผ่อนสักหน่อย หลังเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง
จากนั้น ข้าพเจ้าจึงขับรถพาครอบครัวเข้าไปในตัวเมือง เพื่อเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ตามที่ได้ตั้งใจไว้
คุณพ่อคุณแม่ของข้าพเจ้ายังคงยังแข็งแรงดี แม้จะดูแก่ไปบ้าง คุณพ่อคุณแม่และพี่ๆน้องๆของข้าพเจ้าได้ไปรวมตัวกันที่บ้านพี่เขย เพราะเป็นบ้านหลังใหญ่ ทุกคนอยู่สุขสบายดี บรรดาพี่น้องของข้าพเจ้า ต่างมีลูกกันครอบครัวละ 3 คน คงมีแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่มีลูกเพียงคนเดียว ถึงแม้พวกเราพี่น้องจะนัดพบกันบ้างเป็นบางครั้งบางคราว แต่วันนี้เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่เพราะเป็นวันแม่
สังคมบ้านเราอยู่กันอย่างง่ายๆ มีความอบอุ่นทางใจภายในครอบครัวค่อนข้างมาก ถึงแม้จะแยกครอบครัวกันไป แต่ก็ไม่ถึงกับห่างไกลเหมือนกับครอบครัวของฝรั่ง “ แม่ ” ยังเป็นบุคคลที่มีบทบาท ความหมายและยิ่งใหญ่เสมอ “ แม่ ” เป็นตัวแทนแห่งความเสียสละและความรักที่ปราศจากเงื่อนไข “ แม่ ” ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดๆจากลูก ท่านเพียงแต่ดีใจที่เห็นลูกๆได้ดี
วันนี้มีแต่เสียงหัวเราะ เพราะมีแต่เรื่องความสุข พวกเราพี่น้องทุกคนได้เห็นคุณแม่และคุณพ่อยิ้มอย่างสบายใจ แต่วันเวลาของท่านเหลือน้อยลงทุกที ไม่นาน..ท่านก็ต้องจากพวกเราไป วันนี้ยังพอมีเวลาและท่านยังยิ้มได้ มีเวลาว่างจากการทำงาน พวกเราลูกๆตั้งใจจะชักชวนกันพาหลานๆไปเยี่ยมท่านอีกเหมือนวันนี้
เมื่อเราทุกคนแก่เฒ่าลง ก็คงเหมือนกันกับท่าน ที่ไม่ได้วาดหวังสิ่งใดในชีวิตอีกแล้ว นอกเสียจากการได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของลูกๆหลานๆที่มาเยี่ยมเยียนในบางครั้งบางคราว.
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&