ทุกข์ของคนท้อง

            ทุกข์ของผู้คนในโลกนี้มีแตกต่างกัน บ้างก็ทุกข์กาย บ้างก็ทุกข์ใจ บางเรื่องของทุกข์พอแก้ไขได้ บางเรื่องแก้ไขไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ของคนเรามีแต่จะเพิ่มเติมมากขึ้นทุกวัน จนบางครั้ง หลายคนไม่สามารถทนได้ กลายเป็นคนวิกลจริต หรือ…..ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป สำหรับคนท้องเล่า ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ จิตใจมักไหวหวั่นไปต่างๆนานา ส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับลูกน้อย!!  ต่อเมื่อคลอดบุตรออกมา  แล้วปลอดภัย คุณแม่จึงสบายใจ..แต่นั่น ก็ใช่ว่า จะวางใจได้ คุณแม่จะวางใจได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อออกจากโรงพยาบาลพร้อมกับลูก ที่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์

            ปลายเดือนพฤศจิกายน ข้าพเจ้ามีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เหตุที่คิดไป เนื่องจากต้องการหลีกเร้นความวุ่นวายสับสนในสังคม ข้าพเจ้าอยากจะอยู่อย่างเงียบๆเพื่อค้นหาอะไรสักอย่างหนึ่ง… เมื่อข้าพเจ้าได้ปฏิบัติธรรมจริงๆ จึงรู้ว่า “เหตุการณ์ต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตของสัตว์โลก ล้วนเกิดมาจากกรรมที่เคยกระทำทั้งสิ้น”

2 -3 เดือนก่อน ข้าพเจ้ามีโอกาสดูแลคนไข้รายหนึ่ง ชื่อคุณชาริณี อายุ 27 ปี เรื่องราวของเธอดูแปลกและพิสดารอย่างบอกไม่ถูก ทำให้เป็นที่สนใจของสูติแพทย์อื่นๆและพยาบาลที่เกี่ยวข้อง คุณชาริณี ตั้งครรภ์แรกและฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในเบื้องต้น เธอเอง..ก็คงเหมือนกับคนท้องทั่วไปที่ไม่เคยคิดว่า  จะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับตัวเธอและลูก  แต่ความไม่แน่นอน คือ สิ่งที่แน่นอน สิ่งเลวร้ายมากมายได้เกิดขึ้นกับเธอและลูก จนทำให้เธอสับสนว่า จะทำอย่างไรดีกับชีวิตที่เหลืออยู่

             พอคุณชาริณีตั้งครรภ์ได้ประมาณ 20 – 22 สัปดาห์ คนไข้ก็มีอาการบวมทั่วตัว ความดันโลหิตสูงระดับปานกลาง และโปรตีนรั่วออกมาทางปัสสาวะอย่างมาก สูติแพทย์ผู้ดูแลได้ให้การวินิจฉัยว่า เป็น “ครรภ์พิษ” และแนะนำให้เอาเด็กออก โดยให้เหตุผลว่า เป็นอันตรายต่อตัวมารดา ส่วนทารกนั้นก็คงเก็บรักษาเอาไว้ไม่ได้ เผอิญ!!! วันที่คุณชาริณีถูกส่งตัวขึ้นไปนอนห้องพักเพื่อทำแท้ง  สูติแพทย์ของแผนกสูติโรงพยาบาลตำรวจท่านหนึ่งที่เข้าเวรที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น ไปพบเจอเข้า จึงสั่งการให้ยับยั้งการทำแท้งเพื่อการรักษาครั้งนี้ไว้ก่อน จากนั้น จึงอนุญาตให้คนไข้กลับบ้าน สูติแพทย์ท่านนี้บอกกับข้าพเจ้าว่า (หมอคนเดิม)น่าจะวินิจฉัยและให้การรักษาผิดพลาด ประจวบกับญาติคนหนึ่งของคนไข้รู้จักกับข้าพเจ้า จึงโทรศัพท์มาปรึกษา ข้าพเจ้าพิจารณาดูแล้ว จึงบอกให้แจ้งคุณชาริณีรีบเดินทางมาพบกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลตำรวจ

               คุณชาริณีได้มาพบข้าพเจ้าช่วงกลางเดือนตุลาคม ขณะมีอายุครรภ์ได้ 25 สัปดาห์ 5 วัน  สภาพภายนอกของคุณชาริณี เท่าที่สังเกตดู  เธอมีลักษณะอาการไม่รุนแรงอะไรมากนัก คนไข้ไม่บวมมาก  มีความดันโลหิตเท่ากับ 150/100 มิลลิเมตรปรอท สำหรับขนาดของมดลูกก็พอๆกับอายุครรภ์ นอกจากนั้น ปริมาณของโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะยังเท่ากับ 2+ (จากระดับ 0 ถึง 4+)  ซึ่งถือว่าไม่มาก ข้าพเจ้าได้ใช้อัลตราซาวนด์ตรวจคุณชาริณีดูทารกผ่านทางหน้าท้อง พบว่า ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะและกระดูกต้นขาทารกเทียบได้กับอายุครรภ์ 25 และ 24 สัปดาห์ตามลำดับ รกเกาะด้านบนของตัวมดลูก ปริมาณน้ำคร่ำปกติ ทารกเป็นเพศหญิง สรุปว่า สิ่งตรวจพบทุกอย่างรวมทั้งทารกใกล้เคียงกับของคนท้องปกติ ยกเว้นปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมาค่อนข้างมากในปัสสาวะ ร่วมกับความดันโลหิตสูงระดับปานกลาง หากเป็นคนท้องทั่วไป ข้าพเจ้าคงปล่อยให้คนไข้กลับบ้านไปแล้ว  แต่สำหรับคุณชาริณี ข้าพเจ้าฉุกใจคิดว่า ต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะอะไร? ทำไมสูติแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น จึงสั่งการให้ทำแท้งเพื่อการรักษากับคุณชาริณี ซึ่ง…ถ้าหากเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไปอีกสัก 4 -5 สัปดาห์ เชื่อว่า ลูกของคุณชาริณี ก็จะมีชีวิตรอดออกมาดูโลกภายนอก…. หรือว่า… คนไข้รายนี้มีความลับอะไรซ่อนอยู่….

ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ให้คุณชาริณีนอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 6 ของโรงพยาบาลตำรวจโดยให้คนไข้เก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจดูปริมาณน้ำปัสสาวะ ให้พยาบาลทดสอบปริมาณโปรตีนในปัสสาวะและวัดความดันโลหิตคนไข้ ทุก 4 ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังเจาะตรวจเลือดคนไข้เพื่อหาค่าความผิดปกติอื่นๆอีกมากมาย ผลเบื้องต้นที่ตกใจ คือ คุณชาริณีมีโปรตีนรั่วออกมาในปริมาณสูงสุดทุกครั้ง(4+)ที่ทดสอบในหอผู้ป่วย..ซึ่งต่างจากผลการตรวจที่หน่วยฝากครรภ์(2+)..ไม่รอช้า!!!  ข้าพเจ้ารีบทำเรื่องปรึกษาอายุรแพทย์ผู้ชำนาญโรคไต โดยให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็น Nephrotic syndrome ในหญิงตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ ต่อมา อายุรแพทย์ได้ขอให้เพิ่มเติมการตรวจพิเศษทั้งการทดสอบเลือดและปัสสาวะ ซึ่งในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ คุณหมอก็สามารถวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่า เป็นโรคเอส. แอล. อี. (active S.L.E.) ในคนท้อง

              ท่านเคยได้ยินชื่อ โรคเอส. แอล.อี. หรือไม่? โรคนี้เกิดขึ้นและคร่าชีวิตคนดังๆไปแล้วหลายคน อาทิ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลกทุ่ง  โรคเอส. แอล. อี. นี้ทำให้คนอายุสั้น ยิ่งถ้าอยู่ในมือของแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์  ความรุนแรงของโรคในคนไข้ ยิ่งเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว

               คุณชาริณีได้รับยาสเตียรอยด์ (Dexamethasone 5 mg) เข้าเส้นเลือดทุก 6 ชั่วโมง  แต่แทนที่อาการจะดีขึ้น คนไข้กลับยิ่งบวมทั้งตัว คุณหมอบอกว่า โรคยังรุนแรงอยู่  จึงจำเป็นต้องให้ยาอย่างเต็มที่ คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งอาการจึงจะดีขึ้น คุณชาริณีตกใจกับการได้รับยาอย่างมากโดยอาการไม่ดีขึ้น  วันหนึ่ง วันหนึ่งที่ผ่านไป คนไข้มีแต่ความไม่สบายใจและคำถาม คุณชาริณีไม่สบายใจตรงที่ว่า เธอเป็นโรคร้ายแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะการที่โรคนี้เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำไห้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดตามมาอีกหลายอย่าง  เช่น ภาวะครรภ์พิษ  ทารกเสียชีวิตในครรภ์  ทารกแคระแกรน   รวมทั้งการคลอดก่อนกำหนด  

             หลังจากที่ คุณชาริณีนอนพักรักษาตัวระยะหนึ่ง เธอรู้สึกว่า ทางคณะแพทย์ไม่ได้ทำอะไรให้มากนัก ข้าพเจ้าบอกเธอว่า “ให้รอไปก่อน อีกประมาณ 4 -5 สัปดาห์ จะผ่าตัดให้” อย่างอื่นก็ไม่ได้พูดถึง  สำหรับการเปลี่ยนแปลงของการรักษาคนไข้รู้สึกว่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า กล่าวคือ คุณชาริณีได้รับยาฉีดเป็นเวลา 5 วัน ก็เปลี่ยนมาเป็นยากิน (Prednisolone 5 mg) วันละ 12 เม็ดมาตลอด  ต่อมา ช่วงหลังๆ ถึงจะมีการส่งไปเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องทุกวัน ซึ่งคุณหมอที่ตรวจดู ก็ไม่ได้บอกอะไรมาก นอกจากย้ำเตือนว่า “ลูกมีขนาดรูปร่างตัวเล็ก และอยู่ในสภาพแคระแกรน (Intrauterine Growth Retardation) ทารกมีโอกาสเสียชีวิตได้ทุกวัน” ดังนั้น   วันหนึ่ง หลังจากนอนพักโรงพยาบาลตำรวจ 3 สัปดาห์ คุณชาริณีจึงขออนุญาตกลับบ้าน โดยบอกว่า จะไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชนเดิมเนื่องจากมีประกันสังคม  ข้าพเจ้าไม่ทันคิด ก็อนุญาต แต่ไม่นานหลังจากนั้นก่อนที่คนไข้จะกลับ  ญาติของเธอได้โทรศัพท์มาบอกกับข้าพเจ้าว่า “คุณชาริณีอยากกลับไปผ่าตัดคลอดเอาเด็กออก  โรคร้ายจะได้หาย  คุณชาริณีไม่อยากกินยาจำนวนมากๆอย่างนี้ ” ข้าพเจ้าบอกกับญาติคุณชาริณีว่า “ ถึงแม้จะผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกแล้ว คุณชาริณีก็ต้องรับประทานยามากมายเช่นนี้อีกนาน คุณหมออายุรแพทย์โรคไตจะเป็นผู้ปรับขนาดยาเองตามความเหมาะสม ยาขนาดที่รับประทานอยู่นี้ คุณชาริณียังจะต้องรับประทานต่ออีก 2 เดือน จึงจะปรับขนาดยาได้” จากนั้น ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์กลับไปที่หอผู้ป่วยและบอกกับพยาบาลให้ระงับการย้ายโรงพยาบาลชั่วคราว เพื่อให้ญาติไปชี้แจงตามที่ข้าพเจ้าอธิบายข้างต้น อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคไตว่า “คนไข้อยากกลับบ้าน เราจะให้ยาเม็ดกลับไปกินที่บ้านและมาตรวจทุกอาทิตย์  จะได้หรือไม่? ” คุณหมอตอบว่า “ ได้ โดยให้คนไข้มาวันจันทร์และตรวจกับข้าพเจ้าตอนเช้า ในช่วงบ่าย ก็ให้ไปเข้ารับการตรวจกับอายุรแพทย์โรคไต”

              คุณชาริณีกลับไปได้ 1 สัปดาห์ ก็มาเข้ารับการตรวจตามนัด ในส่วนของการตรวจครรภ์  ตอนนั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่า “ ใบหน้าของคนไข้บวมค่อนข้างมากและกลมเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ  ”  ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องเพื่อดูการเติบโตของลูกคุณชาริณี ปรากฏว่า  ทารกตัวเล็กมากจนน่าตกใจ  ข้าพเจ้าทำเป็นไม่สนใจ โดยขอนัดต่อในอีก 1 สัปดาห์ แต่ถัดมาเพียง 1 วัน สามีคนไข้โทรศัพท์มาบอกข้าพเจ้าว่า “ ลูกดิ้นน้อยมาก หมอจะให้ทำยังไง?” ข้าพเจ้าขอให้คุณชาริณีมารับการตรวจในวันต่อไป ซึ่งเธอก็มาตามนัด ข้าพเจ้าสั่งการให้เข้ารับการผ่าตัดคลอดทันที แต่.. เพื่อความไม่ประมาท  ข้าพเจ้าขอให้สูติแพทย์ผู้ชำนาญการดูอัลตราซาวนด์ช่วยตรวจให้อย่างละเอียดอีกครั้งก่อนดำเนินการอะไรลงไป  ผลปรากฏว่า ทารกตัวเล็กมากและมีน้ำหนักจากการคำนวณประมาณ 700 กรัม ดังนั้น  ข้าพเจ้าจึงสั่งให้งดการผ่าตัดไว้ก่อนและให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยกำหนดให้เข้ารับการตรวดูด้วยอัลตราซาวนด์อย่างละเอียดทุกวัน

              วันรุ่งขึ้น  คุณชาริณีได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์อีกโดยสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังปฏบัติงานประจำอยู่ ก็ถูกตามฉุกเฉินด้วยเหตุผลที่ว่า ทารกอยู่ในสภาพวิกฤติ เพราะเลือดไหลย้อนที่หลอดเลือดหัวใจเส้นหนึ่ง (Reverse flow of ductus venosus)  อันหมายความถึงว่า ทารกกำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายแบบวิกฤต มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน โดยที่คุณชาริณีมีอายุครรภ์ทั้งสิ้น 30 สัปดาห์ 2 วัน และได้รับการรักษาเฝ้าดูอาการนานถึง 4 สัปดาห์เศษ การผ่าตัดคลอดเป็นไปด้วยดี แต่ลูกคุณชาริณีตัวเล็กมากมีขนาดน้ำหนักเพียง 684 กรัม มีคะแนนศักยภาพแรกเกิด 6, 9 (จากคะแนนเต็ม 10)… ที่น่าประหลาดใจ คือ ทารกน้อยไม่ต้องถูกใส่ท่อช่วยหายใจ!!! ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นทารกแรกเกิดตัวเล็กประมาณนี้ที่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเลย   ลูกคุณชาริณีอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด 3 -4 วัน ก็ต้องถูกใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะหายใจไม่พอ ถึงแม้จะได้รับการทะนุถนอมอย่างดี แต่ ลูกคุณชาริณีก็ไม่สามารถรับนมผงทางสายยางได้ เพราะทำให้ท้องอืด โชคดี!! ที่พยาบาล ณ ที่นั่น คลอดบุตรในช่วงเดียวกัน ลูกคุณชาริณีจึงอาศัยน้ำนมของพยาบาลผู้นี้เลี้ยงชีวิต ช่วงแรก น้ำหนักทารกลดลงเรื่อยๆจนถึง 530 กรัม จากนั้นน้ำหนักจึงค่อยๆเพิ่มขึ้นที่ละน้อยๆ จนปัจจุบัน ทารกมีน้ำหนัก 670 กรัม หากนับรวมระยะเวลาที่ ลูกคุณชาริณีอยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ถึงขณะนี้ จะประมาณ 4 สัปดาห์ ทารกยังมีชีวิตที่สุขสบายดี แม้จะยังต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่  

                 สำหรับคุณชาริณี  ตอนที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดอยู่นั้น ปรากฏว่า ในช่องท้องของเธอมีน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของภาวะครรภ์พิษจำนวนมาก(ประมาณ 1500 มิลลิลิตร) นอกจากนั้น ยังมีน้ำเช่นนี้แทรกอยู่ตามไขมันใต้ผิวหนังด้วย คุณชาริณีรอดปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนนี้ได้ ก็ถือว่า มีบุญแล้ว เพราะบางคนมีการชักเกร็งและเส้นโลหิตในสมองแตก ข้าพเจ้าได้ใส่ท่อระบายไว้ในช่องท้องของเธอด้วย ซึ่งหลังจากนั้น 4 -5 วัน ก็เอาท่อระบายนี้ออกได้โดยไม่มีปัญหา  คุณชาริณียังคงเข้ารับการรักษาจากอายุรแพทย์ตามนัด ขนาดจำนวนยาได้ถูกปรับลดลงแล้ว คาดว่า คุณชาริณีจะยังมีชีวิตอีกนาน ตราบเท่าที่ยังไม่หนีการรักษาไปเสียก่อน ส่วนลูกคุณชาริณีก็คงต้องอยู่ที่ห้องไอ.ซี.ยู. นี้ไปอีกนานหลายเดือน ซึ่งเชื่อว่า คงจะมีชีวิตอยู่รอดได้จนโต

               ความทุกข์ของคนท้อง คือ เป็นห่วงลูก กลัวภัยอันตรายจะเกิดกับลูก แต่บางคนลืมไปว่า อันตรายที่ว่านั้นสะท้อนมาปรากฏที่คุณแม่ด้วย จริงๆแล้ว ตัวคนท้องเองก็อยู่ในภาวะอันตรายแม้จะยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น การดูแลและหมั่นสังเกตความเป็นไปในตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถปรึกษาสูติแพทย์ได้ในปัญหาต่างๆ ก็คงจะดี  แต่ใดใดในโลกนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับเวรกรรมที่เคยกระทำมา  ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนท้องทุกคนจะโชคดี สมกับที่โชคดีได้เกิดมามีอัตภาพเป็นมนุษย์……………………..

                                         ฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿

    

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *