การตั้งครรภ์ในสตรีสูงอายุ

การตั้งครรภ์ในสตรีสูงอายุ

มีใครบ้างที่ไม่อยากมีลูก เมื่อมีลูก ก็อยากได้ลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์ ในสตรีที่อายุมากกว่า 35 ปี จำเป็นต้องหาวิธีทดสอบหรือวิเคราะห์สักอย่างหนึ่งเพื่อให้ทราบว่า ทารกในครรภ์ ไม่พิการ หรือปัญญาอ่อน(Down’s syndrome) นับเป็นโชคดี ที่ปัจจุบัน มีการวิเคราะห์ทดสอบชนิดใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้น นั่นคือ การตรวจกรองทารกปัญญาอ่อนจากเลือดแม่ตั้งแต่ ไตรมาสแรก (PAPPA = pregnancy associated plasma protein A – used only in 1st trimester screening)

การตั้งครรภ์แล้วได้ลูกปัญญาอ่อน ((Down’s syndrome) ในสตรีสูงอายุ เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน และเคยสรุปว่า สมควรที่แม่จะได้รับการเจาะน้ำคร่ำตรวจหาโครโมโซมผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยถือปฏิบัติกันมานาน แม้จะมีอัตราเสี่ยงต่อการตายและการแท้งประมาณร้อยละ 0.5 1 ก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำนั้นอันตรายทั้งต่อแม่และลูก โดยอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆอีก เช่น การติดเชื้อ, ก้อนเลือดคั่ง (Hecatoma), ทารกได้รับบาดเจ็บ (ปลายเข็มแทงถูกอวัยวะ) และ ภาวะที่เลือดเข้ากันไม่ได้ระหว่างแม่กับลูก ( Rh isoimmunization)  เช่นนี้แล้ว สตรีตั้งครรภ์ที่มีความรู้ย่อมกลัวภาวะแทรกซ้อนของการเจาะน้ำคร่ำเป็นธรรมดา ดั่งในรายของคุณรัตนา

วันนี้ ข้าพเจ้ามีความสุขและรู้สึกโล่งอกอย่างมากที่ได้ผ่าตัดคลอดบุตรให้คุณรัตนาโดยไม่เกิดปัญหาใดๆ หลังจากที่กังวลมานานหลายวัน ทำไมหรือ? คำตอบก็คือ ลูกของคุณรัตนาที่คลอดปลอดภัยดี สุขภาพแข็งแรง สำคัญที่สุด คือ ลูกของเธอไม่มีลักษณะอันใดเลยที่บ่งบอกว่า ปัญญาอ่อน (Down’s Syndrome)

คุณรัตนาอายุ 42 ปี เป็นคนไข้สตรีที่ข้าพเจ้าทำคลอดให้ทุกครรภ์ เธอมีลูกมาแล้ว 3 คน อายุ 8 , 5 , และ 3 ขวบตามลำดับ ลูกๆทุกคนของเธอมีความน่ารักและมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นศิลปิน เล่นเปียโนเก่งตั้งแต่อายุเพียงแค่ 3 ขวบและเรียนหนังสือเก่งขั้นอัจฉริยะ  ยิ่งคนสุดท้อง ยิ่งมหัศจรรย์ขึ้นไปอีก คือ ตอนที่คลอดออกมา ก็ร้องเปล่งเสียงเป็นสำเนียงของคำว่า แม่ ถึง 3 ครั้งติดๆกัน ปัจจุบันพูดจาเก่ง ไหวพริบดี โต้ตอบไม่มีเสียเปรียบใคร และฉลาดกว่าพี่ๆทั้งสองคน    คุณรัตนาและสามีภาคภูมิใจในบุตรทั้งสามคนอย่างมาก  แต่ข้าพเจ้ากลับหนักใจในการดูแลครรภ์ของคุณรัตนาเพราะ คุณรัตนาอายุมากถึง 42 ปี  จึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะมีลูกปัญญาอ่อน

คุณรัตนาปรึกษากับกับข้าพเจ้าตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ถึงวิธีการดูแลตัวเองว่า จะทำยังไงดี  ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นว่า ในสตรีสูงอายุทุกราย เวลาตั้งครรภ์ ควรจะเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมของทารก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรร้อยละ 0.5 หรือ 1 ต่อ 200  คุณรัตนาพูดด้วยความมั่นใจว่า ไม่คิดว่า ลูกจะเป็นดาวน์ (เด็กปัญญาอ่อน) หรอก เพราะลูกๆของดิฉันทุกคนฉลาดและน่ารักมาก

ข้าพเจ้าพูดต่อไปว่า การเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซม ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปีนั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่คนไข้จะตัดสินใจยังไง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่คนไข้มักตัดสินใจตามประสบการณ์ที่ได้รับรู้มา คนไข้ที่เพื่อนบ้านมีลูกปัญญาอ่อน ก็จะขอให้เจาะน้ำคร่ำ แม้จะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือติดเชื้อ แต่คนไข้ที่เพื่อนบ้านแท้งบุตรเนื่องจากการเจาะตรวจน้ำคร่ำ ก็จะไม่ยอมให้ทำโดยเด็ดขาด

คุณรัตนาถามว่า มีวิธีอื่นอีกไหม? ที่จะให้ทราบว่า ลูกไม่เป็นดาวน์(ปัญญาอ่อน)

ข้าพเจ้าตอบว่า มี.. การตรวจดูทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูง (Advanced Ultrasonologist) และการเจาะตรวจเลือดหา triple marker ในตัวแม่ พอจะช่วยบอกอัตราเสี่ยงต่อภาวะปัญญาอ่อนของทารกในครรภ์ดีพอสมควร

ข้าพเจ้าได้พูดอธิบายเรื่องนี้อย่างมากมาย และให้คุณรัตนาช่วยตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีใดในการตรวจสภาพเด็กว่า มีภาวะปัญญาอ่อนหรือไม่  คุณรัตนาตัดสินใจทันทีเลยว่า จะใช้วิธีหลัง คือ ให้ผู้เชี่ยวชาญอัลตราซาวนด์ระดับสูง ( Advanced Ultrasonologist) ช่วยตรวจดูทารกในครรภ์  ส่วนการเจาะตรวจเลือดแม่เพื่อหา triple marker นั้น ข้าพเจ้าเป็นคนแนะนำเองว่า ไม่ต้องทำ เพราะ..จะทำให้เราเสียเวลาไปถึง 3 สัปดาห์เพื่อรอผลตรวจ ซึ่งสุดท้าย ผลก็จะออกมาคล้ายๆกันในมารดาที่อายุมาก ว่า ควรเจาะตรวจน้ำคร่ำเพิ่มเติม เนื่องจากมีอัตราเสี่ยงสูงที่ลูกจะมีภาวะปัญญาอ่อน [ประมาณ 1ใน100  (โปรดดูในตาราง  ) ….]  แล้วแบบนี้ เราเจาะน้ำคร่ำเสียเลยในครั้งแรก  จะไม่ดีกว่า หรือ

คุณรัตนาเป็นนักธุรกิจที่มีงานยุ่งมาก จึงไม่ได้ไปหาหมอตามที่แนะนำ    ข้าพเจ้าเองเมื่อได้แนะนำแล้ว  ก็ลืมสอบถามว่า เธอได้ไปให้คุณหมอที่ข้าพเจ้าแนะนำเพื่อตรวจอัลตราซาวนด์หรือไม่ และผลเป็นเช่นไร  เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนคุณรัตนามีอายุครรภ์ย่างเข้า 36 สัปดาห์ คือเมื่อสัปดาห์ก่อน  ข้าพเจ้าได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ให้กับเธออีกครั้ง ผลปรากฏว่า มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ( mild oligohydramnios ) ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจและกังวลใจอย่างมาก เพราะภาวะน้ำคร่ำน้อย พบได้ในเด็กที่เป็นดาวน์ ( ปัญญาอ่อน) ข้าพเจ้ารีบถามถึงคำแนะนำครั้งเก่า ซึ่งได้รับคำปฏิเสธจากคุณรัตนาว่า ยังไม่ได้ทำ  ข้าพเจ้าอุทานออกมาว่า ตายแล้ว… แต่ก็ไม่ได้พูดเรื่องราวที่ผ่านไป

คราวนี้ ข้าพเจ้าได้พูดเน้นอย่างหนักแน่น ให้คุณรัตนาไปรับการตรวจดูสภาพเด็กด้วยอัลตราซาวนด์โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงอย่างเร็วที่สุด  วันรุ่งขึ้น คุณรัตนาจึงได้ไปรับการตรวจกับสูติแพทย์ที่แนะนำ นอกจากนั้น การตรวจดูทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์แบบ 4 มิติ ( Four Dimensions) ที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเรา ก็ช่วยในการวินิจฉัยภาวะปัญญาอ่อนของทารกในครรภ์ (Down’s Syndrome) ซึ่งปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการทำอัลตราซาวนด์แบบนี้ยังค่อนข้างสูง แต่สำหรับคนมีเงิน  ก็น่าที่จะทำเอาไว้

วันพุธที่ผ่านมา ก่อนหน้าผ่าตัด 3 วัน คุณรัตนามาตรวจครรภ์ครั้งสุดท้ายด้วย อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ 5 วัน  คนไข้ได้รับการตรวจดูสภาพเด็กจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ( Non- stress test) ก่อนพบแพทย์ ซึ่งก็ปกติดี ข้าพเจ้าสอบถามถึงผลการตรวจอัลตราซาวนด์โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่แนะนำไป   คุณรัตนาลืมเอาฟิล์มรูปถ่ายทารกด้วยอัลตราซาวนด์มาด้วย แต่บอกว่า จากที่ตรวจดู คุณหมอคิดว่า ปกติดีทุกอย่าง หน้าตาและลักษณะรูปร่างทั้งภายในภายนอก ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน

ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก แม้ว่า ความจริงยังไม่ปรากฏก็ตาม เพราะคุณหมอที่ตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคุณรัตนา  ได้พยายามตรวจอย่างละเอียดที่สุด  สำหรับข้าพเจ้า อีก 3 วัน ก็คงทราบว่า ลูกคุณรัตนา จะคลอดออกมาปัญญาอ่อนหรือไม่  

วันนี้เป็นวันเสาร์ เป็นวันดีที่สุดทางโหราศาสตร์สำหรับการคลอด ดังนั้น เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที จึงเป็นเวลาที่คุณรัตนา เลือกให้ลูกของเธอกำเนิด ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าพอคลายความกังวลไปบ้าง แต่คงยังต้องรอดูจากลักษณะตัวเด็กจริงๆอีกที ในที่สุด เมื่อเห็นบุตรของคุณรัตนาที่คลอดออกมา แข็งแรงน่ารัก ข้าพเจ้าก็รู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกทันที

ในอดีต การจะรู้ว่า ทารกในครรภ์ปัญญาอ่อนหรือไม่  ต้องอาศัยการเจาะน้ำคร่ำของแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สอง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียทารกในครรภ์และมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เนื่องจากบุคลากรที่ทำ(แพทย์และเทคนิคการแพทย์)มีจำนวนจำกัด ประกอบกับเป็นการตรวจกับแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีเท่านั้น จึงทำให้การเจาะตรวจเพื่อเลี้ยงโครโมโซมจากน้ำคร่ำมีวงจำกัด 

ส่วนการเจาะตรวจเลือดแม่เพื่อหา Triple marker   ก็ทำในไตรมาสสองเช่นกัน ซึ่งมีข้อด้อยในกรณีที่เจาะเลือดตรวจในแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมาก เพราะ ผลย่อมปรากฏออกมาเป็นอัตราเสี่ยงต่อภาวะปัญญาอ่อนที่สูงกว่าอัตรามาตรฐานเกือบทุกครั้งที่ส่งตรวจ ซึ่งแน่นอน ต้องจบลงด้วยการแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis) ตรวจอีกครั้ง

ปัจจุบัน การเจาะตรวจหาสารชีวเคมีในเลือดแม่วิธีใหม่ล่าสุดสามารถทำได้แม้ในไตรมาสแรก (PAPPA = pregnancy associated plasma protein A – used only in 1st trimester screening) วิธีนี้สามารถตรวจหาทารกปัญญาอ่อน ((Down’s syndrome) ได้ถึงประมาณร้อยละ 70 ของเด็กปัญญาอ่อนชนิดดาวน์ ((Down’s syndrome) และ..เมื่อใช้วิธีตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสแรก โดยวัดความหนาของผิวหนังที่ต้นคอของทารก (หนาเกินกว่า 2.5 มิลลิเมตร) ร่วมกับการตรวจสารชีวเคมีในเลือดแม่ ก็จะสามารถตรวจหาทารกปัญญาอ่อนได้ถึงร้อยละ 80 90 ทีเดียว

 วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ความปลอดภัยต่อแม่และลูกก็มากขึ้นตาม โดยมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง  คุณรัตนาเป็นคนโชคดี มีบุญมาก จึงแคล้วคลาดจากการตั้งครรภ์ทารกปัญญาอ่อน ((Down’s syndrome) แต่จะมีสตรีสูงอายุอีกสักกี่คนที่โชคดีรอดพ้นจากความประมาทเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อมีทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย ในการดูแลคุณแม่ที่กลัวจะมีลูกในครรภ์ปัญญาอ่อนดังที่กล่าวมา ก็จงอย่ารอช้า รีบคว้าโอกาสเอาไว้…….เพราะ ไม่แน่ว่า…จะโชคดีเหมือนคุณรัตนา………  

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์   ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *