โชคร้ายไม่ได้มาเพียงครั้งเดียว

                   

          คนที่เป็นโรครุนแรง ก็เสมือนมีระเบิดเวลาฝังอยู่ภายในตัว ตราบใดที่ยังไม่กำจัดทิ้งย่อมมีอันตรายได้ทุกเมื่อ    การประวิงเวลาด้วยการรักษาแบบประคับประคอง อาจส่งผลร้ายในภายหลัง คนไข้เหล่านี้ไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ ตัดสินใจรักษาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียแต่เนิ่น ๆ  จะช่วยประหยัดชีวิตในวันข้างหน้า

          ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจ หลังจากผ่าตัดเอา เนื้องอกมดลูกพร้อมรังไข่  ของคนไข้รายหนึ่งออกไปเมื่อไม่นานมานี้  ความจริง คนไข้รายนี้ได้มาหาข้าพเจ้าประมาณ 1 ปีเศษ ด้วยเรื่องเลือดออกจากช่องคลอดผิดปรกติ   จากการตรวจพบว่า คนไข้มีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาและเนื้องอกภายในมดลูก   ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร  การรักษาที่คนไข้ได้รับ คือ ขูดมดลูก พร้อมกับคำแนะนำเรื่องการผ่าตัดเอามดลูกพร้อมรังไข่ออกไปหากมีภาวะเลือดออกผิดปรกติอยู่บ่อย ๆ  ผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาในครั้งนั้น  เป็นเพียงเยื่อบุโพรงมดลูกธรรมดาระยะครึ่งแรกของรอบเดือน (PROLIFERATIVE ENDOMETRIUM) เท่านั้น  ไม่ใช่เนื้อร้ายอะไร ส่งผลให้คนไข้ขาดการติดต่อ เพื่อติดตามรับการตรวจรักษาเป็นระยะ ๆ

          ล่วงมาอีก 1 ปี คนไข้มีอาการตกเลือดจากช่องคลอดออกมาอีก   และได้รับการขูดมดลูกซ้ำพร้อมกับคำแนะนำเช่นเดิม คือ น่าจะผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ทิ้งไป  การที่แนะนำอย่างนั้น เนื่องจากคนไข้อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อายุ 48 ปี มีภาวะเลือดออกผิดปรกติบ่อย ๆ  และการตกเลือดของคนไข้แต่ละครั้งรุนแรงมาก      จากการดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด  ข้าพเจ้าคิดว่า ก้อนเนื้องอกน่าจะอยู่ภายในโพรงมดลูก (SUBMUCOUS MYOMA) ซึ่งการรักษาโดยวิธีขูดมดลูกจะไม่เพียงพอ

          ถัดจากนั้นมาอีก 2 เดือน  คนไข้มีอาการตกเลือดอีกครั้ง คราวนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งสภาพของคนไข้ที่ปรากฏตัวที่แผนกคนไข้นอกนั้น เหมือนกับคนที่ถูกผีดิบสูบเลือด   เพราะดูซีดเซียวมาก  อย่างไรก็ตาม คนไข้ยังคงเดินไปมาได้    นี่ย่อมแสดงว่า คนไข้มีการตกเลือดบ่อย ๆ จนร่างกายชินต่อภาวะโลหิตจาง   ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในและดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดซ้ำ    ปัญหาของคนไข้      ยังคงคิดว่า น่าจะเกิดจากเนื้องอกในโพรงมดลูก (SUBMUCOUS MYOMA) เหมือนเดิม  คราวนี้คนไข้เป็นฝ่ายขอร้องให้ข้าพเจ้าผ่าตัดเอาเนื้องอกมดลูกออกไป เพราะทนต่อสภาพการตกเลือดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ไหว

          ข้าพเจ้าบอกกับคนไข้ว่า "ขณะนี้ สภาพของคุณยังไม่พร้อม  คงต้องนอนโรงพยาบาลให้เลือดและเตรียมร่างกายให้ดีเสียก่อน จึงจะทำการผ่าตัดได้" สภาพของคนไข้ขณะนั้น ความเข้มข้นของเลือดภายในตัว ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 13 (จากค่าปรกติร้อยละ 45) นั่นหมายถึง ปริมาณเม็ดเลือดแดง ลดลง 2 ใน 3 ส่วนของร่างกายทีเดียว   นอกจากนั้น ประมาณเกล็ดเลือด (PLATELETS) ในร่างกายยังมีเพียง 2000 ตัวต่อหน่วย (ค่าปรกติ 50,000-100,000 ตัวต่อหน่วย)  ซึ่งปริมาณเกล็ดเลือด ที่ต่ำมากอย่างนี้สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกเองได้โดยไม่ต้องมีบาดแผล (SPONTANEOUS BLEEDING)

          3 วันแรกของการรักษา   คนไข้ได้รับเลือดวันละ 2 ถุง  (ถุงละ 200 มิลลิลิตร)เกล็ดเลือดวันละ 10 ถุง (ถุงละ 10,000 ตัว ต่อหน่วย) ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มเป็นร้อยละ 22   แต่เกล็ดเลือด ยังคงอยู่ระดับที่ต่ำมากเช่นเดิม "ช่างเป็นเรื่องที่แปลก! คนไข้น่าจะมีปัญหาโรคเลือดร่วมด้วย นอกเหนือจากภาวะเลือดออกผิดปรกติ"    ข้าพเจ้าบอกกับเจ้าหน้าที่พยาบาล "ลองปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาว่า ควรจะดูแลคนไข้อย่างไร"

          หลังจากทราบปัญหาคร่าว ๆ จากการรายงานของพยาบาล   แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาได้มาตรวจดูคนไข้และให้ความเห็นว่า    "คนไข้น่าจะเป็นโรคเลือดชนิด APLASTIC ANEMIA (ไขกระดูกสันหลังไร้สมรรถภาพในการสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด)   หรือ  ITP (โรคภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือดชนิดหนึ่ง) คงต้องเจาะไขสันหลังพิสูจน์"

          ภายหลังจากเจาะไขสันหลังไปตรวจ  พบว่า ลักษณะไขสันหลังเข้าได้กับภาวะเลือดจางทุกระบบ (APLASTIC ANEMIA) มากกว่า   แต่การที่ร่างกายมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำมากแม้จะให้เกล็ดเลือดไปมากเท่าใด ก็เนื่องจากเกล็ดเลือดที่ใส่เข้าไปในร่างกายถูกทำลายทันทีจากภูมิต้านทาน (ANTIBODY) ซึ่งพิสูจน์จากการเจาะเลือดตรวจพิสูจน์พบภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือดในเวลาต่อมา

          ข้าพเจ้าบอกคนไข้ว่า "การผ่าตัดจะทำได้  ต้องแก้ไขเรื่อง[1]เกล็ดเลือด[1]ให้เรียบร้อยเสียก่อน      ซึ่งหมอผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาแนะนำว่า ให้ใช้ SINGLE DONOR PLATELET หมายถึง เกล็ดเลือด ที่มีคุณสมบัติเข้าได้กับร่างกายคนไข้เฉพาะราย และไม่ถูกทำลายจากภูมิต้านทานภายในตัวเรา  อันนี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมและทดสอบหาประมาณ  1 สัปดาห์ ค่าใช้จ่าย ประมาณ 9,000 บาท เพราะต้องซื้อจากสภากาชาด   คนไข้พอจะหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ไหม?"

          ข้าพเจ้าทราบว่า คนไข้ฐานะไม่ดี   แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลฯ คงช่วยเหลือไม่ได้  ก่อนหน้านี้ เธอเพิ่งสูญเสียบุตรชาย อายุ 20 ปี จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ขาดคนมาช่วยเหลือด้านการค้าขาย   4 เดือนที่แล้ว เธอได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งก็เสียค่าใช้จ่ายไปมากหนำซ้ำเศรษฐกิจช่วงนี้ยังไม่เอื้ออำนวยต่อครอบครัวของเธออีกด้วย   ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลฯ  หลายวันมานี้ คนไข้เสียค่าใช้จ่ายไปไม่ใช่น้อย จนออกปากบ่นถึงฐานะทางการเงิน

          ในระหว่างการเตรียมตัวเพื่อผ่าตัด  ได้ตรวบพบว่า คนไข้มีโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมาอีก 1 โรค  หลังจากควบคุมภาวะเบาหวานและปัญหาเรื่องเลือดได้แล้ว คนไข้จึงได้รับการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกไป  สรุปรวมระยะเวลาที่คนไข้นอนรอเพื่อรับการผ่าตัด 1 เดือนพอดี ซึ่งในระหว่างนี้ข้าพเจ้าและคนไข้ต่างก็ไม่สบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

          หลังผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ใช้มีดกรีดมดลูกเพื่อดูเนื้องอก ปรากฏว่า การวินิจฉัยเดิมที่ว่า คนไข้เป็นเนื้องอกภายในโพรงมดลูก (SUBMUCOUS MYOMA) นั้น ผิดพลาด  แท้จริงเป็นเนื้องอกของมดลูกโดยตรง (INTRAMURAL MYOMA) ซึ่งหากเป็นคนอื่น คงไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เนื่องจาก เนื้องอกจะฝ่อไปในช่วงหมดประจำเดือน   อย่างไรก็ตาม การที่คนไข้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกมากอย่างนี้ ถือเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งในการผ่าตัดอยู่ดี

          วันหนึ่ง กลุ่มแพทย์และพยาบาลแผนกสูติ-นรีเวช ได้นำเรื่องราวของคนไข้รายนี้ มาศึกษาในที่ประชุมใหญ่ ข้าพเจ้าได้สรุปในตอนท้ายให้ฟังว่า

          "ปกติ เราจะไม่ค่อยพบ คนไข้สตรีสูงวัย    ที่มีเนื้องอกมดลูก ชนิด INTRAMURAL MYOMA ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร มาโรงพยาบาลฯ ด้วยภาวะตกเลือดมากอย่างรายนี้ แต่คงเป็นที่คนไข้มีปัญหาโรคเลือดซ้ำเติมขึ้นมา     จึงส่งผลให้คนไข้ตกเลือดเรื้อรังจนซีดมาก   คนไข้รายนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการศึกษาเนื้องอกมดลูกชนิดไม่ร้ายแรง (MYOMA)"

          ข้าพเจ้าได้บอกกับทุกคนว่า "คนเราเป็นอย่างนี้แหละ โชคร้ายมักไม่ได้มาเพียงครั้งเดียว มันมาเป็นระลอกระลอก  เหมือนเกลียวคลืนทะเลคลั่ง ที่โถมซัดกระหน่ำเข้าหาฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า  สำหรับคนไข้รายนี้ มีโชคร้ายหลายอย่าง ที่ประดังเข้ามาในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน

          1. ตัวเองได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา

          2. 3 เดือนก่อน ต้องมาสูญเสียลูกชายซึ่งโตแล้วขณะอายุ 20 ปี

          3. ครั้งนี้เป็นโรคเลือดจนเกือบเอาตัวไม่รอด                

          4. เป็นเนื้องอกมดลูกซึ่งปรกติในคนอื่นอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะจะฝ่อไปหลัง

หมดประจำเดือน

          5. นี่มาตรวจพบว่า เป็นโรคเบาหวานซ้ำขึ้นมาอีก

          6. เงินทองที่สะสมมา ก็ใช้จ่ายเป็นค่ารักษาจนแทบจะหมดตัว

          ต่อไปหวังว่า โชคร้ายของคนไข้จะหมดไปพร้อมกับ โชคดีทะยอยเข้ามาชดเชย"

          หลังผ่าตัดได้ 4 วัน คนไข้ขอกลับบ้าน     เนื่องจากลุกขึ้นเดินไปมาและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสะดวกแล้ว  แต่ข้าพเจ้าเป็นคนเชื่อถือโชคลาง จึงขอร้องให้คนไข้อยู่ต่อจนกระทั่งตัดไหม (ครบ 7 วัน) เพราะไม่แน่ใจว่า โชคร้ายของคนไข้หมดไปหรือยัง     ดีไม่ดี ในช่วงนี้  เกิดมีภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาอีก  หากยังอยู่ภายในโรงพยาบาล พวกเราหลายคนช่วยกันคงพอรับมือได้  หากคนไข้อยู่นอกโรงพยาบาล การช่วยเหลืออาจไม่ทันการ…คนเรานั้น เชื่อถือโชคลางไว้บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย…

                          &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

                               พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์   ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *