การเดินทางไกล ควรเตรียมใจรวมทั้งเตรียมกายให้พร้อม หากเดินทางโดยรถยนต์ควรสำรวจดูด้วยว่า เครื่องยนต์และล้อสำรองสมบูรณ์พร้อมหรือไม่ หากเดินทางโดยเครื่องบินควรแน่ใจว่า ร่างกายไม่เจ็บป่วยและจิตใจพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่ดี มีเรื่องเล่าว่า
เครื่องบินโดยสารลำหนึ่ง เครื่องยนต์เกิดขัดข้องและอยู่ในสภาพอากาศที่เลวร้าย เจ้าหน้าที่บนเครื่อง ประกาศให้ผู้โดยสารเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจจะเกิดตามมา เป็นธรรมดา ที่ผู้โดยสารเกือบทั้งลำพากันตื่นเต้นตกใจ แต่ยังมีชายคนหนึ่งอายุประมาณ 50 ปีเศษ กลับมีท่าทางสบายใจไม่วิตกทุกข์ร้อน บาทหลวงที่อยู่ข้าง ๆ ชายผู้นั้น จึงถามขึ้นว่า
"เครื่องบินลำนี้ประสบปัญหา ยังไม่รู้ว่าจะเดินทางถึงที่หมายหรือไม่ ทำไมคุณจึงยังมีท่าทางเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น"
ชายผู้นั้นกล่าวว่า "จะต้องไปวิตกทุกข์ร้อนทำไม ยังไง ๆ ฉันก็ต้องได้พบลูกสาวตามที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน
หากเครื่องบินสามารถบินต่อไปจนถึงนิวยอร์กได้อย่างปลอดภัย ฉันก็จะไปเยี่ยมลูกสาวคนรองที่เรียนอยู่ที่นั่น
หากเครื่องบินตก ฉันก็จะไปเยี่ยมลูกสาวคนโตที่อยู่บนสวรรค์ ปีที่แล้ว ลูกสาวคนโตได้เสียชีวิตไปเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ฉันไม่มีโอกาสเจอเธอตั้งแต่นั้น ฉันนั่งเครื่องบินลำนี้ ถือว่า มีโอกาสดีที่จะไปเยี่ยมลูกสาวทั้งสอง รอดหรือตาย ฉันก็ไม่เสียใจ เพราะฉันจะได้พบลูกสาวของฉันอยู่ดี ไม่คนใดก็คนหนึ่ง"
นี่เป็นเรื่องเล่าเล่น ๆ เพื่อให้เราเตรียมใจให้พร้อมในทุกสถานการณ์ขณะเดินทางไกล แต่ถ้าเราเจ็บป่วยหรืออยู่ในภาวะอันตรายจากโรค ก็ไม่ควรเดินทางไกลด้วยเครื่องบินอย่างที่ว่า มิฉะนั้น โรคร้ายที่ป้องกันได้ อาจทำให้ต้องจบชีวิตลงบนเครื่องบินลำนั้น
วันพุธที่ผ่านมา มีคนไข้สตรีคนหนึ่งมาตรวจด้วยเรื่องปวดท้องน้อยด้านขวาส่วนล่าง
ข้าพเจ้าถามคนไข้ว่า "ปวดท้องน้อยมาตั้งแต่เมื่อไหร่"
คนไข้ตอบว่า "ปวดตั้งแต่เมื่อวาน ปวดมากจนทนไม่ไหวจึงมาโรงพยาบาลตอนดึกหมอเวรคนที่ตรวจบอกว่า สงสัยจะเป็นจากท้องนอกมดลูกหรือแท้งบุตร เพราะดิฉันตกเลือดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จากนั้น หมอได้ให้พักรอที่ห้องฉุกเฉินชั่วคราวและส่งตัวให้มาตรวจกับหมอผู้เชี่ยวชาญแผนกสูติในตอนเช้าอีกที"
ข้าพเจ้าถามว่า "ตอนนี้อาการปวดเป็นอย่างไร และประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อใด"
เธอตอบว่า "อาการปวดดีขึ้น สำหรับประจำเดือน ดิฉันขาดประจำเดือนได้ประมาณ 2 เดือน แต่ 4 วันมานี้ ดิฉันตกเลือดและมีก้อนชิ้นเนื้อคล้ายพุงปลาหลุดออกมาจากช่องคลอด สงสัยว่า อาจเป็นการแท้งบุตร ที่ผ่านมาดิฉันไม่มีอาการแพ้ท้องหรืออาการใด ๆ ที่บอกว่า ฉันท้องเลย นอกจากขาดประจำเดือนไป 2 เดือน"
ข้าพเจ้าพลิกดูรายงานการตรวจของแพทย์ห้องฉุกเฉินในช่วงดึกที่ผ่านมาพบว่า ได้ทำการตรวจปัสสาวะ ทดสอบการตั้งครรภ์ ผลออกมาเป็น "weekly positive" หมายถึง ให้ผลบวกอ่อน ๆ ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในและดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดพบว่า มดลูกขนาดปรกติ แม่มีถุงน้ำที่แสดงถึงการตั้งครรภ์อยู่ภายในโพรงมดลูก ด้านข้างของมดลูกไม่พบก้อนผิดปรกติ และไม่มีน้ำในอุ้งเชิงกราน ข้าพเจ้าสรุปให้คนไข้ฟังว่า "ยังบอกไม่ได้ว่า เป็นท้องนอกมดลูก หรือแท้งบุตรธรรมดา อย่างไรก็ตาม จะให้เจาะเลือดตรวจสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งให้ผลแน่นอนกว่า การทดสอบด้วยปัสสาวะ และหมอขอให้คุณมาตรวจซ้ำในวันศุกร์ จะมีปัญหาอะไรไหม?"
คนไข้ตอบว่า "หนูจะเดินทางกับสามี ไปเยอรมัน พรุ่งนี้"
ข้าพเจ้าเตือนว่า "คุณอาจจะเป็น[1]ท้องนอกมดลูก ถ้าเดินทางไกลแล้ว ท้องนอกมดลูก เกิดแตกขึ้นมา คุณอาจตายบนเครื่องบินได้ เพราะภาวะนี้ทำให้ตกเลือดในช่องท้องจนถึงช็อคได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง"
คนไข้ขออนุญาตไปปรึกษาสามีชาวเยอรมัน แล้วกลับมาบอกว่า จะเลื่อนเที่ยวบินออกไป และจะมาพบแพทย์ในวันศุกร์
วันศุกร์ตอนเช้า คนไข้รายนี้ปรากฏตัวขึ้นที่ห้องตรวจ ข้าพเจ้าเกือบลืมเธอไปเสียแล้ว แต่พอดูผลเลือดทดสอบการตั้งครรภ์ (Serum BHCG) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 940 หน่วย ข้าพเจ้าจึงนึกขึ้นได้และรู้สึกตกใจ อุทานออกมาเบา ๆ ว่า "ตายแล้ว!…สิ่งที่สงสัยวันก่อน (ท้องนอกมดลูก) น่าจะเป็นจริง วันนี้มีอาการปวดท้องมากขึ้นหรือไม่"
คนไข้ตอบว่า "อาการปวดท้องยังคงอยู่ทางด้านขวาเหมือนเดิม แต่พอทนได้"
ข้าพเจ้าบอกกับคนไข้ว่า "เดี๋ยวเจาะเลือดตรวจอีกที แล้วตอนบ่ายมาตรวจร่างกายพร้อมกับฟังผลเลือด"
คนไข้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมกับบอกว่า "หนูเปลี่ยนเที่ยวบินเป็นวันพรุ่งนี้หมอคิดว่า จะมีปัญหาไหมเกี่ยวกับการเดินทางไกล?" ข้าพเจ้าไม่ตอบ เพียงแต่เน้นให้คนไข้มาฟังผลเลือดในตอนบ่าย
ตอนบ่ายของวันศุกร์นั้น คนไข้รายนี้ถูกส่งตัวมาจากห้องฉุกเฉินด้วยเรื่อง "เป็นลม ขณะกำลังจะรับประทานอาหาร" พยาบาลห้องตรวจนรีเวชได้ตามข้าพเจ้าไปดูคนไข้เป็นการด่วน เธอเล่าว่า "คนไข้รายนี้ คือ คนไข้ที่สงสัยท้องนอกมดลูก ซึ่งมาตรวจในตอนเช้า ตอนเที่ยงคนไข้ไปรับประทานอาหารกับสามีที่อาคารเวิลด์เทรด ยังไม่ทันรับประทาน คนไข้มีอาการหน้ามืดเป็นลมเสียก่อน สามีจึงรีบนำตัวส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลตำรวจทันที พยาบาลห้องฉุกเฉินได้ติดต่อมาที่แผนก เนื่องจากคนไข้มีนัดจะตรวจและฟังผลเลือด"
ข้าพเจ้าบอกกับเจ้าหน้าที่พยาบาลว่า "ช่วยตามผลเลือดให้ที และส่งคนไข้เข้าห้องตรวจเพื่อตรวจภายใน และดูอัลตราซาวน์ผ่านทางช่องคลอด"
จากการตรวจภายในดู พบว่า มดลูกขนาดปรกติ ไม่มีอาการเจ็บปวดที่ตัวมดลูก แต่เวลาโยกปากมดลูก คนไข้มีอาการปวดท้องน้อยด้านขวามาก เมื่อตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์พบว่า "ภายในโพรงมดลูกไม่พบถุงน้ำอันแสดงถึงการตั้งครรภ์ ด้านนอกของมดลูกมองไม่เห็นก้อนเนื้องอก หรือการตั้งครรภ์ใด ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ตรวจพบเพิ่มขึ้นจากการตรวจเมื่อวันพุธคือ ของเหลวในอุ้งเชิงกราน ปริมาณมากพอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นเลือดมากที่สุด"
ข้าพเจ้าบอกกับคนไข้และสามีว่า "สงสัยท้องนอกมดลูก แต่ไม่ถึงกับแน่ใจ 100% คงต้องรอผลเลือดอีกที"
เมื่อผลเลือดทดสอบการตั้งครรภ์มาถึง พบว่า มีค่าเท่ากับ 1065 หน่วย ข้าพเจ้าจึงบอกกับคนไข้ว่า "น่าจะเข้าได้กับภาวะท้องนอกมดลูก คุณต้องได้รับการผ่าตัดเป็นการด่วน และสามีน่าจะไปเลื่อนเที่ยวบินออกไปอีก"
คนไข้ถูกส่งตัวเข้าห้องผ่าตัดเป็นการด่วน เมื่อผ่าตัดเปิดเข้าช่องท้อง ก็ปรากฏเลือดอยู่ภายในประมาณ 500 มิลลิลิตร และพบก้อนเนื้อ (ท้องนอกมดลูก) บริเวณที่เป็นท่อนำไข่ด้านขวาขนาด 2X3X4 ลูกบาศก์เซนติเมตร พร้อมกับเลือดหยดออกมาจากปลายท่อนำไข่
ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลห้องผ่าตัดว่า "นี่ขนาด (ท้องนอกมดลูก) ท่อนำไข่ยังไม่แตกนะ ยังมีเลือดออกจากปลายท่อนำไข่มากอย่างนี้ ถ้าท่อนำไข่แตกละก็ เลือดเต็มท้องแน่นอน และ ถ้าคนไข้ขืนดื้อดึงเดินทางโดยสารเครื่องบิน มีหวังไปไม่ถึงเยอรมัน ดีไม่ดี อาจตายบนเครื่องบิน"
ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ด้านขวาที่มีท้องนอกมดลูกออกไป หลังผ่าตัดคนไข้สบายดี สามีของคนไข้รายนี้ได้เลื่อนเที่ยวบินออกไปอีก 1 เดือน และถามว่า "อีก 1 เดือน ภรรยาผมจะสามารถขึ้นเครื่องบินเดือนทางไกลได้ไหม?"
ข้าพเจ้าตอบว่า "ได้อย่างแน่นอน"
ข้าพเจ้ายังได้บอกสามีคนไข้เกี่ยวกับสาเหตุว่า เกิดจากคนไข้เคยมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมาก่อน ทำให้ผิวภายในท่อนำไข่ขรุขระไม่เรียบ ตัวอ่อน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในท่อนำไข่ผ่านไปไม่สะดวก จึงฝังตัวภายในท่อนำไข่นั้นและเกิดท้องนอกมดลูกตามมา
การตั้งครรภ์ภายในท่อนำไข่ (ท้องนอกมดลูก) จะดำรงอยู่ได้เพียง 6-8 สัปดาห์ หลังจากนั้นท่อนำไข่ก็ไม่สามารถรองรับการตั้งครรภ์ได้แล้ว ท่อนำไข่จะแตกที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และมีเลือดออกมาภายในช่องท้อง ส่วนใหญ่เลือดจะไหลค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเส้นเลือดแดงบริเวณนั้นมักจะฉีกขาด ทำให้คนไข้เสียเลือดจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที คนไข้ต้องเสียชีวิตจากภาวะช็อคอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม พยาธิสภาพของท่อนำไข่ทางด้านซ้าย มีความรุนแรงมากกว่าทางด้านขวา จนทำให้ปลายท่อนำไข่เสียหายและมีพังผืดมาห่อหุ้มจนปิดมิดชิด ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก ข้าพเจ้าได้บอกกับคนไข้และสามีเธอว่า "ต่อไปคงมีบุตรเองตามธรรมชาติไม่ได้ แต่หากอยากเดินทางไกลไปที่ไหน คงไม่มีปัญหาแบบนี้ให้เป็นห่วงอีกแล้ว…"
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน