หลังคลอด ใช่ว่า…..จะปลอดภัย
คนส่วนใหญ่มักคิดว่า “การคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติ จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ยิ่งในช่วงหลังคลอด ยิ่งน่าจะปลอดภัย เพราะการตั้งครรภ์สิ้นสุดลงแล้ว” นั่นคือ ความเข้าใจที่ไขว้เขวและผิดพลาดอย่างมาก ความจริง..การตั้งครรภ์ คือภาวะเสี่ยงอย่างหนึ่ง ทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ย่อมมีอันตรายแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ช่วงหลังคลอด เพราะการตกเลือดหลังคลอด ถือเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของมารดาลำดับต้นๆ ดังนั้น คนท้องจึงจำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาลที่มีการดูแลเอาใจใส่อย่างดี โดยมีคณะแพทย์และพยาบาลที่มีความรู้ความชำนาญคอยช่วยเหลือ
ทุกครั้งที่อยู่เวรโรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้ามักเจอปัญหาอย่างมากมายของคนท้องในห้องคลอด วันอังคารที่ผ่านมาก็เช่นกัน เพียงแต่วันนั้น ปัญหาของคนท้องรุนแรงมากเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าบุคลากรที่ดูแลคนไข้ไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอ คนไข้ต้องแย่แน่ ช่วง2 -3 ชั่วโมงแรกที่รับเวรในตอนเช้า สภาพของห้องคลอดดูสงบเงียบ ไม่มีลางบอกเหตุใดๆ คงเหมือนกับ คืนวันที่มีพายุร้ายที่เข้าทำลายผู้คนและบ้านเรือนเสียหายอย่างย่อยยับ ก็จะมีสภาพคลื่นลมที่สงบเงียบผิดปกตินำมาก่อน
คุณโสภาเป็นคนไข้ที่น่าสนใจมาก เพราะมีประวัติการฝากครรภ์ที่เรียบง่าย เธอมีอายุ 40 ปี ตั้งครรภ์ที่ 4 ครรภ์แรกเธอทำแท้งเมื่อ พ.ศ. 2530โดยการขูดมดลูกที่คลินิกแห่งหนึ่ง ส่วนครรภ์ที่ 2 และ 3 คุณโสภาคลอดธรรมชาติที่โรงพยาบาลตำรวจ ลูกหนัก 2800 และ 2600 กรัมตามลำดับ เมื่อ พ.ศ. 2531 ละ 2536 สำหรับครรภ์นี้ เธอเริ่มฝากครรภ์ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ตอนอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ และปฏิเสธการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ การตั้งครรภ์ดำเนินไปตามปกติ โดยไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั้งอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ คุณโสภามาตรวจที่แผนกฝากครรภ์ แพทย์ฝึกหัดซักประวัติได้ว่า เจ็บครรภ์ จึงทำการตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร ความบาง 25% คุณโสภาจึงถูกส่งขึ้นมายังห้องคลอด
คุณโสภามาถึงห้องรอคลอดเมื่อเวลา 10 นาฬิกา 45 นาที พยาบาลอาวุโสท่านหนึ่งของห้องคลอดได้ตรวจภายในให้ ทันใดนั้น คุณพยาบาลก็มีสีหน้าตกใจ เธอรีบเดินมาที่ห้องผ่าตัดซึ่งอยู่ติดกันเพื่อบอกเรื่องด่วนกับข้าพเจ้า “หมอ! หมอ! พี่ได้ตรวจภายในคนไข้ดูแล้ว รู้สึกว่า สัมผัสอะไรหยุ่นๆ ลักษณะเหมือนรก..พี่ก็หยุดทันที ไม่กล้าตรวจภายในต่อ พี่ขอให้หมอช่วยไปดูคนไข้หน่อย ซึ่ง..พี่ซักประวัติเพิ่มเติมได้ว่า คนไข้มีเลือดออกมาจากช่องคลอดร่วมด้วย ” ข้าพเจ้ารีบเดินไปที่ห้องคลอดทันที พลางบอกให้ช่วยเตรียมเครื่องอัลตราซาวนด์ “เดี๋ยวผมจะตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องของคนไข้ เพื่อดูว่า เป็นภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะผ่าตัดเลย” ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็หันหน้ามาถามคุณโสภาว่า “ตอนเช้า คุณมีเลือดออกมาจากช่องคลอดหรือเปล่า?”
คุณโสภาตอบทันที “ก่อนหน้านี้ ดิฉันมีเลือดสดๆออกมาจากช่องคลอด ประมาณ 1 ถ้วยแก้ว ตอน 7 โมงเช้า” มาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลในส่วนสำคัญที่สุดของคุณโสภาแล้ว คือ การมีเลือดสดๆออกจากช่องคลอดโดยที่คนไข้ไม่มีอาการเจ็บครรภ์ (Painless bleeding) พอเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์มาถึง ข้าพเจ้าก็ลงมือตรวจโดยเริ่มที่บริเวณหัวเหน่าก่อน ข้าพเจ้าได้อธิบายให้กับแพทย์ฝึกหัดที่ติดตามมาดูคนไข้ด้วยว่า “ กรณีรกเกาะต่ำ(Placenta previa)ในคนท้องทุกราย ส่วนหัวของเด็กมักจะลอยและคลำได้อยู่เหนือหัวเหน่า ซึ่งการที่หัวเด็กไม่สามารถเข้าสู่อุ้งเชิงกรานได้ ก็เนื่องมาจากมีส่วนของรกขวางอยู่ คนไข้รายนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน เพราะจะเสี่ยงต่อการตกเลือดอย่างรุนแรง” สำหรับความผิดพลาดของแพทย์ฝึกหัด ณ ห้องตรวจครรภ์ที่ซักประวัติไม่ดีพอ ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ครั้งนี้ เผอิญโชคดีที่ไม่มีเลือดไหลตามมือออกมาขณะตรวจ หากมีเลือดไหลทะลักออกมาจำนวนมาก เราอาจช่วยชีวิตทารกไว้ไม่ได้ หลังจากตรวจอัลตราซาวนด์แล้ว ข้าพเจ้ายังคงให้การวินิจฉัยตามที่คาดไว้และให้รีบส่งคุณโสภาไปที่ห้องผ่าตัดทันที
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้ากรีดลงมีดผ่านชั้นต่างๆของผนังหน้าท้องของคุณโสภา จนเข้าสู่ภายในช่องท้อง พอถึงบริเวณมดลูก ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แพทย์ฝึกหัดฟังว่า “ลองสังเกตดูให้ดี ที่ผิวของมดลูกรายนี้ มีเส้นเลือดขึ้นเต็มไปหมด นั่นแสดงว่า มีรกเกาะอยู่ข้างใต้บริเวณมดลูกส่วนนี้ ซึ่งทำให้มีเส้นเลือดมาเลี้ยงบนตัวมดลูกจำนวนมาก ก่อนอื่น เราจะต้องจี้ไฟฟ้าให้เส้นเลือดแข็งตัวให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เสียเลือดมากเวลากรีดมีดผ่านบริเวณผิวบนตัวมดลูก” อย่างไรก็ตาม ตอนที่ข้าพเจ้ากรีดมีดผ่านชั้นต่างๆของมดลูกส่วนล่าง คนไข้ก็ยังเสียเลือดไปจำนวนมากอยู่ดี พอเข้าถึงบริเวณถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าก็ต้องพบกับอุปสรรคอีกอย่าง คือ มีรกมาเกาะอยู่บริเวณนั้นด้วย ข้าพเจ้าแหวกกล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่างออกจนเห็นหัวเด็ก ซึ่งทำให้รกมีการลอกตัวบางส่วน จากนั้น ก็ได้ทำคลอดเด็กโดยใช้คีมคีบจับหัวเด็กแล้วดึงออกมา ตอนนั้น เด็กถ่ายขี้เทาออกมาด้วย แสดงว่า เด็กมีการขาดก๊าซออกซิเจน แต่ลักษณะทั่วไปของเด็กยังถือว่าใช้ได้ เนื่องจากเด็กร้องเสียงดัง และต่อมาภายหลัง ก็ได้รับการตรวจร่างกายซ้ำ ปรากฏว่า ไม่พบขี้เทาในปอด
เมื่อทำคลอดลูกคุณโสภาเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า มีปัญหารกเกาะติดแน่นกับมดลูก ข้าพเจ้าค่อยๆใช้มือเซาะเลาะเอารกให้แยกออกจากตัวมดลูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนไข้รายนี้ เพราะเนื้อรกเกาะลึกเข้าไปในเนื้อมดลูก(Placenta accreta) สำหรับรกที่เกาะมดลูกส่วนบน (Upper uterine segment) ข้าพเจ้าสามารถเลาะเอารกออกมาได้จำนวนมาก มีเหลือบางส่วนเกาะติดแน่นอยู่บ้าง แต่รกที่เกาะมดลูกส่วนล่าง (lower uterine segment) รกเกาะติดแน่นหลายส่วน ในเบื้องต้นข้าพเจ้าได้เลาะรกเอาออกมาได้เพียงเล็กน้อย ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังได้พูดอธิบายให้แพทย์ฝึกหัดฟังในระหว่างดำเนินการด้วย
“ถ้าเราไม่สามารถเลาะเอารกออกจากตัวมดลูกได้ หรือเลาะออกได้แล้วเลือดไหลซึมจากตัวมดลูกไม่หยุด เราต้องตัดมดลูก อย่าได้ลังเล เพราะจะเป็นอันตรายต่อชีวิตคนไข้” ข้าพเจ้าเริ่มสาธยาย ส่วนมือก็เซาะเอารกที่เกาะมดลูกส่วนบนออกก่อน ในบางครั้งก็ใช้ คีมโค้งคีบนำและหยิบเอาเนื้อรกออก จากนั้น ก็เย็บด้วยเอ็นไส้แกะ (catgut) เบอร์ 1 โดยวิธีหมายเลข 8 (Figure of eight) เข้าไปในโพรงมดลูกบริเวณนั้น ข้าพเจ้าทำเช่นนี้เรื่อยไปจนเลาะเอารกที่เกาะมดลูกส่วนบนออกได้หมด แต่รกที่เกาะมดลูกส่วนล่างเกาะลึกและแน่นกว่าส่วนบน ซึ่งทำให้มีการสูญเสียเลือดจำนวนมากตามมา เมื่อเลาะเอารกออกได้ส่วนหนึ่ง ก็ต้องเย็บครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเลือดยังไหลเอ่อล้นขึ้นมาจากผิวในของมดลูกตรงที่เลาะตลอดเวลา แต่ในที่สุดก็ทำสำเร็จ เลือดซึมออกน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ใช้เอ็นไส้แกะ (catgut) เบอร์ 1 เย็บเพื่อหยุดเลือดไปกว่า 10 เส้น (ปกติ ใช้เพียง 2 เส้นเพื่อเย็บปิดแผลมดลูกทั้งหมด) นอกจากนั้น ยังต้องตัดแต่งปากแผลของมดลูกก่อนเย็บกลับสู่สภาพเดิม หลังผ่าตัด ข้าพเจ้าประเมินว่า คุณโสภาเสียเลือดประมาณ 1500 มิลลิลิตร(ซี.ซี.) ซึ่งผิดถนัด เพราะเมื่อใช้มือกดยอดมดลูกทางหน้าท้องและตรวจภายในเพื่อไล่เลือดที่ค้างในช่องคลอด ปรากฏว่า มีก้อนเลือดออกมาอีกประมาณ 500 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) รวมแล้ว คุณโสภาเสียเลือดถึง 2 ลิตร คุณโสภาได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่ห้องพักฟื้น จากนั้นจึงถูกส่งไปพักต่อที่หอผู้ป่วยชั้น 5
เมื่อถูกส่งตัวมาที่หอผู้ป่วย คุณโสภาอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก เพราะความเข้มข้นของเลือดลดลงเหลือเพียง 20% (ปกติ 40%) ข้าพเจ้าขอให้พยาบาลเจาะเลือดคุณโสภาด้วยเพื่อดูปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ผลปรากฏว่า ปกติ ซึ่งช่วยให้ ข้าพเจ้าสบายใจได้บ้างเล็กน้อย ข้าพเจ้าขอให้จองเลือด 5 ถุง เพื่อนำมาให้ทดแทนเลือดที่เสียไป แต่ก็มีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น คือ ทางโรงพยาบาลขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ป โดยเฉพาะเลือดกรุ๊ป A ของคุณโสภา หาให้ไม่ได้เลย หากคุณโสภาตกเลือดออกมาอีกในคืนนั้น เธอไม่รอดแน่ ถึงแม้จะตัดมดลูก เพราะการตัดมดลูกในคนท้อง ต้องเสียเลือดมากกว่าของคนทั่วไปหลายเท่า ข้าพเจ้า แพทย์ฝึกหัด พยาบาลเวรและเจ้าหน้าที่จึงต้องทุ่มเทดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
ตอนประมาณ 2 ทุ่มเศษ ปรากฏว่า มีคนไข้อีกรายตกเลือดรุนแรงกว่าคุณโสภาอีก เพราะขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด คนไข้รายนี้คลอดเองตามธรรมชาติ ทำให้ไม่มีใครสนใจ เพราะคิดว่า ไม่เป็นอะไร ข้าพเจ้าได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นกัน แต่รายนั้นมีเลือดให้ได้ทันที 1 ถุง รวมทั้งปัจจัยการแข็งตัวของเลือดอีก 2 ถุง ทำให้ไม่เกิดปัญหามาก
สำหรับกรณีคุณโสภาแม้จะเสียเลือดไปมาก หากแต่ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดยังดีอยู่ ข้าพเจ้าจึงเฝ้าแต่ภาวนาให้ไม่เธอตกเลือดซ้ำ มิฉะนั้น คุณโสภาต้องเสียชีวิตแน่ ทางโรงพยาบาลพยายามป่าวประกาศให้บุคคลทั่วไป รวมทั้งญาติคนไข้ช่วยมาบริจาคเลือด และเร่งขอเลือดไปยังสภากาชาด แต่คืนนั้น ยังไงยังไง เราก็ไม่ได้เลือดกรุ๊ปA มาแน่ ข้าพเจ้าได้ให้สารทดแทนเลือดไปพลางๆก่อน (Haemacel) 2 ถุง โดยได้บอกกับคุณโสภาว่า “หากพ้นคืนนี้ไปได้ รับรอง ไม่มีปัญหา” ข้าพเจ้าสังเกตว่า คุณโสภาและคนไข้อีกรายมีสีหน้าที่ตกใจกลัวอย่างมาก ซึ่งหากข้าพเจ้าไม่สั่งการอยู่บริเวณนั้นนานจนแน่ใจในความปลอดภัยของคนไข้ เธอทั้งสองต้องเสียสุขภาพจิตแน่ เพราะพยาบาลและแพทย์ฝึกหัด รวมทั้งเจ้าหน้าที่หลายคนพากันเดินวนเวียน อยู่รอบเตียงของคนไข้ทั้งสองตลอดทั้งคืน
ตอนเช้า ทางห้องเลือดสามารถจัดหาเลือดให้คุณโสภาได้ 2 ถุง และคนไข้อีกราย 1 ถุง คนไข้ทั้งสองจ้องมองข้าพเจ้าด้วยสายตาที่ซาบซึ้งใจอย่างมาก แต่ข้าพเจ้าได้บอกเธอทั้งสองว่า “ทั้งหมดนี้เกิดจากการช่วยเหลือของบรรดาพยาบาลและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคลากรจำนวนมากมายของโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ใช่ข้าพเจ้าคนเดียว” คุณโสภากลับบ้านได้หลังจากนอนโรงพยาบาล 6 วัน ส่วนคนไข้อีกรายกลับบ้านไปก่อนหน้า 2 วัน โปรดจดจำคนไข้รายนี้ไว้ และเข้าใจด้วยว่า 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากต่อความอยู่รอดปลอดภัยของคุณแม่คนใหม่ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น แม้เพียงเล็กน้อย ก็อย่าได้เกรงใจ ต้องเรียกหาพยาบาลหรือแพทย์มาช่วยเหลือ
เรื่องราวที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดทบทวนเรื่องการดูแลคนไข้หลังคลอดว่าน่าจะนำมาเล่าเพื่อให้หลายๆคนเข้าใจถูกต้อง ข้าพเจ้ายังคิดและจินตนาการต่อไปว่า หากพยาบาลอาวุโสในห้องคลอด ไม่สามารถตรวจพบภาวะรกเกาะต่ำจากการตรวจภายในได้ในช่วงเวลาเช้า เมื่อเวลาผ่านไป คุณโสภาจะต้องตกเลือดอย่างรุนแรงและผ่าตัดฉุกเฉินอย่างแน่นอน การตัดสินใจรักษาของข้าพเจ้าอาจเปลี่ยนเป็นการตัดมดลูก เนื่องจากช่วงเวลาบ่าย โรงพยาบาลตำรวจขาดเลือดและคนไข้เสียเลือดไปมาก….เกินกว่าที่จะเสี่ยงกับการรักษามดลูกไว้ ซึ่งแน่นอน คุณภาพชีวิตของคุณโสภาย่อมจะไม่เหมือนเดิม
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถือเป็นโชคดีของคุณโสภา แม้ว่า ในค่ำคืนนั้น ข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่หลายคนของโรงพยาบาลตำรวจจะเหนื่อยแสนเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่าเพราะว่า สามารถรักษาชีวิตของคนไข้ไว้ได้
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&