รกเกาะทะลุมดลูก ( placenta percreta )

รกเกาะทะลุมดลูก ( placenta percreta )

 

ไม่น่าเชื่อว่า ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยคนไข้รายนี้ผิด เพราะลักษณะทุกอย่างบ่งบอกว่า เป็นท้องนอกมดลูกและตกเลือดภายในช่องท้องจนช๊อก  ( Ectopic pregnancy with shock )  แต่จริงๆก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่อาการแสดงต่างๆชักพาให้ผิดพลาดได้  ในเมื่อกรณีนี้ ตั้งแต่ข้าพเจ้าศึกษาจบเป็นสูติแพทย์มา ยังไม่เคยเจอเลย ในตำราแพทย์ทั้งของไทยและต่างประเทศก็ไม่มีเขียนหรือมีตัวอย่างแสดงไว้อย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม การรักษา มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ทำให้เราผิดหวัง

ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่ห้องพักในโรงพยาบาลตำรวจ  ก็มีการเรียกตัวให้ไปดูคนไข้ที่ห้องฉุกเฉินด่วน เพราะคนไข้มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง พร้อมกับมีเลือดออกจากช่องคลอด โดยในรายงานมีการเข้าใจผิดว่า เป็นการปวดประจำเดือน   เมื่อข้าพเจ้าไปถึง ปรากฏว่า คนไข้กำลังทำกิจธุระส่วนตัวอยู่ในม่านบนเปลนอน   แต่คำแรกที่พยาบาลรายงาน คือคนไข้มีความดันโลหิตต่ำมาก เพียง 53/ 30 มิลลิเมตรปรอท เท่านั้น  ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ  จึงถามถึงชีพจรว่า เต้นเป็นอย่างไร  พยาบาลบอกเพียงว่า เต้นเร็ว  ยังนับจำนวนได้ไม่แน่ชัดเพราะค่อนข้างเบา

ข้าพเจ้า เปิดดูแฟ้มประวัติเก่าของคนไข้รายนี้ ก็ทราบว่า เธออายุ 42 ปี มีบุตร 2 คน และเคยวัดความดันโลหิตได้ 100 / 60 มิลลิเมตรปรอท จึงถามคนไข้ว่าวันแรกของระดูครั้งสุดท้าย คือ เมื่อไหร่ ? ”

เมื่อคนไข้บอกเรื่องระดู ข้าพเจ้าได้คำนวณคร่าวๆ ก็รู้ว่า ขาดประจำเดือนประมาณเดือนครึ่ง จึงพูดกับพยาบาลว่าสงสัยคนไข้จะอยู่ในช่วงกำลังช๊อกจากภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง  ให้น้ำเกลือเปิดเส้นเลือดไว้ก่อนและเร่งน้ำเกลือไปเลย  แล้วรีบส่งไปดูอัลตราซาวนด์ที่แผนกสูติด่วนนะ  ตอนนั้น ยังคิดฉงนอยู่ในใจว่า  คนไข้ยังจะมีพละกำลังทำกิจธุระส่วนตัวบนเปลนอนได้อีกหรือในเมื่ออยู่ในภาวะช๊อก ….หรือว่า  คนไข้มีความดันโลหิตต่ำเป็นประจำ

หลังจากนั้น ประมาณ 5 นาที คนไข้ก็ถูกส่งมาถึงแผนกสูตินรีเวช  ข้าพเจ้ามีโอกาสมองหน้าคนไข้อย่างชัดเจน  คราวนี้แหละ ไม่ต้องคิดแล้ว เพราะคนไข้มีใบหน้าที่ซีดมาก และหน้าท้องโป่งพองขึ้นมาอย่างผิดปกติ  ข้าพเจ้าถามพยาบาลที่แผนกสูตินรีเวชว่าความดันโลหิตและความเข้มข้นของเลือดของคนไข้เท่าไหร่พยาบาลตอบว่าไม่รู้!…. ตอนนี้วัดความดันโลหิตและชีพจรไม่ค่อยได้ชัด ส่วนผลเลือด ทางพยาบาลห้องฉุกเฉินเจาะดูดออกมาไม่ได้ในช่วงที่ให้น้ำเกลือ เพราะเส้นเลือดแฟบไปหมด จึงไม่สามารถส่งตรวจหาความเข้มข้น รวมทั้งผลการวิเคราะห์เลือดอื่นๆได้

ข้าพเจ้าลงมือตรวจร่างกายคนไข้รายนี้ นอกเหนือจากทั่วๆไปแล้ว ที่สำคัญ คือ กดและปล่อยบริเวณส่วนท้องน้อยแล้ว คนไข้แสดงอาการเจ็บปวดอย่างมาก ( Tender & rebound tenderness ) ซึ่งบ่งบอกถึงว่า มีการตกเลือดภายในช่องท้อง ( Intraabdominal  Hemorrage )  

ข้าพเจ้าได้ใช้อัลตราซาวนด์วางบนหน้าท้องของคนไข้  ก็มองเห็นมีของเหลวในช่องท้อง และมีถุงน้ำขนาด 3 เซนติเมตรอยู่ทางด้านล่าง  ซึ่งมองไม่ออกว่า เป็นส่วนไหนของอวัยวะสืบพันธุ์  ดังนั้น จึงต้องขอตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดอีกที  ปรากฏว่า ถุงน้ำที่ว่า คือ ถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก  นอกจากนั้น ยังมีของเหลว ซึ่งคาดว่า จะเป็นเลือดจำนวนมากมาย อยู่ภายในช่องท้อง

ขณะที่กำลังตรวจอัลตราซาวนด์อยู่นั้น คนไข้บอกว่า หายใจไม่ค่อยออก และแสดงอาการดวงตาเหม่อลอย  คล้ายคนกำลังหมดสติ  ข้าพเจ้าบอกให้พยาบาลช่วยเตรียมเครื่องช่วยหายใจและเตรียมผ่าตัดเป็นการด่วน พยาบาลคนหนึ่งรีบให้ทางเจ้าหน้าที่กระจายเสียงตามสายไปทั่วโรงพยาบาลว่าCode Blue ที่แผนกสูติ ซ้ำๆกันหลายครั้ง ซึ่งหมายถึง คนไข้กำลังต้องการความช่วยเหลือขั้นวิกฤต เช่น การปั้มหัวใจหรือใส่ท่อเพื่อช่วยหายใจ ด่วน  พอดีอายุรแพทย์ท่านหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงวิ่งมาช่วยดู และแก้ไขเหตุการณ์นี้ไปได้ ด้วยการปั้มอากาศและออกซิเจนผ่านทางหน้ากากที่ครอบจมูกปากคนไข้อย่างเป็นจังหวะช้าๆ  พร้อมกับส่งคนไข้ไปยังห้องผ่าตัด

 ที่ห้องผ่าตัด พยาบาลรีบฟอกทำความสะอาดหน้าท้องของคนไข้ และวิสัญญีแพทย์รีบใส่ท่อช่วยหายใจ ภายใต้ยาดมสลบอย่างรวดเร็ว  ส่วนข้าพเจ้ารีบลงมีดตามรอยแผลผ่าตัดคลอดเดิมผ่านผนังหน้าท้องทีละชั้น จนเข้าสู่ช่องท้อง

น้ำเลือดทะลักออกมาทันทีเมื่อกรีดมีดผ่านเยื่อบุช่องท้องเป็นรู จากนั้น ข้าพเจ้าได้เปิดหน้าท้องให้กว้างและใช้เครื่องมือถ่างขยายผนังหน้าท้องด้านข้างเอาไว้  หลังจากควักเอาก้อนเลือดและดูดซับเลือดออกมาบางส่วน ก็ใช้มือล้วงไปจับมดลูกยกขึ้น เพื่อสำรวจดูบริเวณปีกมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง

ไม่มีท้องนอกมดลูกที่บริเวณท่อนำไข่ทั้งสองข้าง!…ทั้งๆที่มีเลือดอยู่เต็มท้องข้าพเจ้าอุทาน  จากนั้น จึงสำรวจดูมดลูกส่วนล่าง ก็มองเห็นก้อนเนื้อสีคล้ำดำขนาด 3 เซนติเมตรและกำลังมีเลือดพุ่งออกมา ณ ตำแหน่งรอยแผลผ่าตัดเก่าเมื่อครั้งที่ผ่าคลอดบุตร 2 คนก่อน

เจอแล้ว!… ” ข้าพเจ้าพูดกับตัวเอง จากนั้น จึงใช้กรรไกรเลาะเปิดเยื่อบุช่องท้องส่วนที่คลุมก้อนเนื้อนั้น และพูดต่อกับพยาบาลว่า แปลกมาก  ผมไม่เคยเจอการตั้งครรภ์ที่รกเกาะทะลุมดลูกแบบนี้มาก่อนเลย 

ข้าพเจ้าเปิดเยื่อบุช่องท้องบริเวณนั้นจนกว้างตลอดส่วนล่างของมดลูก แล้วใช้มือล้วงเอาส่วนของรกและถุงน้ำออกหมด รวมทั้งที่อยู่ในโพรงมดลูกด้วย จากนั้น ได้ใช้ผ้าเช็ดภายในโพรงมดลูกจนไม่มีรกค้างอยู่  แล้วใช้เหล็กถ่างขยายปากมดลูก ( Heggar Dilator )  แยงจากด้านบนลงไปในมดลูกส่วนล่าง ซึ่งสามารถขยายปากมดลูกได้กว้างพอสมควร เพื่อระบายเลือดที่อาจคั่งค้างภายในโพรงมดลูก

เมื่อดำเนินการทุกอย่างข้างต้นเรียบร้อยแล้ว จึงเย็บปิดมดลูกส่วนล่างตามรอยแผลผ่าตัดเดิม ( Previous cesarean section ) แต่ข้าพเจ้าได้เย็บด้วยความระมัดระวังและอย่างแน่นหนา 

ทุกอย่างของการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว แต่คนไข้ยังไม่ฟื้นและมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด  ข้าพเจ้าได้ใส่เส้นยางซับระบายเลือด( Penrose Drain) ใต้แผ่นพังผืด (Abdominal Rectus Sheeth) ของผนังหน้าท้อง เพราะกลัวจะมีเลือดคั่งบริเวณนั้น เนื่องจาก มีเลือดซึมค่อนข้างมากที่กล้ามเนื้อใต้แผ่นพังผืดของหน้าท้อง แม้จะจี้ไฟฟ้าและเย็บผูกเพื่อหยุดเลือดอยู่หลายครั้ง

หลังผ่าตัด  สามีของคนไข้ขอพบเพื่อสอบถามถึงผลการผ่าตัด ซึ่งข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องราวของโรคทั้งหมดตั้งแต่ต้น จนถึงวิธีการผ่าตัด พร้อมกับบอกให้ทราบว่าคนไข้จำเป็นต้องถูกส่งต่อไปยังห้อง ไอ.ซี.ยู. เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด   ซึ่งคนไข้จะได้รับเลือดและปัจจัยช่วยการแข็งตัวของเลือด ( Fresh frozen plasma ) อย่างละ 2 ถุง รวมทั้งยาอีกหลายตัว 

สามีของคนไข้ถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ”

ข้าพเจ้าอธิบายโดยวาดรูปประกอบให้กับสามีของคนไข้ด้วย  ดังนี้คือว่า มดลูกส่วนล่าง ตรงบริเวณที่เคยผ่าตัดคลอดจะบางกว่าส่วนอื่น เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยรกมาเกาะที่บริเวณนี้  รกเหมือนรากไม้ มันต้องชอนไชบริเวณที่ยึดเกาะและแผ่ขยายตัวมันออกไปเรื่อยๆ บางทีมันอาจเซาะจนทะลุมดลูกส่วนบางๆได้( Placenta percreta ) ซึ่งลักษณะแบบนี้  ผมยังไม่เคยเห็นรกเกาะทะลุมดลูกในอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์เช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คนไข้ปลอดภัยแล้ว แต่ต้องอยู่ห้องไอ.ซี.ยู. เพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดสักพักหนึ่ง 

คนไข้นอนพักรักษาตัวที่ห้องไอ.ซี. ยู. 1 คืน  รุ่งเช้าก็ถูกส่งตัวกลับหอผู้ป่วย โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ  

ก่อนออกจากห้อง ไอ.ซี. ยู   ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมดูอาการของคนไข้  เธอบอกกับข้าพเจ้าว่า  เมื่อวาน รู้สึกเหมือน หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ  แต่วันนี้ ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว  ดิฉันอยากกลับไปอยู่ที่ห้องพักปกติ  จะได้พูดคุยกับลูกและสามี

 ข้าพเจ้าพยักหน้าและพูดกับคนไข้ว่าเดี๋ยวให้ย้ายกลับไปห้องพักได้  ตอนเย็นๆหรือกลางคืน  ลองจิบน้ำดู  ถ้ารู้สึกว่าท้องอืดๆ  ก็หยุดไว้ก่อน  พรุ่งนี้  ค่อยเริ่มอาหารเหลวและอ่อนตามลำดับ   ตอนนี้ปลอดภัยทุกอย่าง  ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงอีกต่อไป 

ในชีวิต ของคนเรา  อะไรจะน่ากลัว เท่ากับ  ภัยที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้เท่าทัน  คนไข้ไม่รู้ตัวว่า ตั้งครรภ์ จึงให้ประวัติคลาดเคลื่อน   พยาบาลเข้าใจผิด คิดว่าคนไข้ปวดประจำเดือน  หากแพทย์ไม่มีความรู้ ด้านการรักษาอย่างพอเพียง  ก็อาจทำให้สูญเสียคนไข้ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุดของโลกเรา  ดังนั้น จงมาช่วยกัน ขจัดความไม่รู้ออกจากตัวเราและลูกหลาน ด้วยการขยันหมั่นศึกษาอยู่ตลอดเวลา   สนับสนุนการศึกษาแด่ผู้ด้อยโอกาส   และสอนบุคคลผู้หลงเดินทางผิด   ให้กลับใจมาสู่เส้นทางใหม่ ที่ให้ชีวิตแห่งคุณค่า   

อย่าทอดทิ้ง ปัญญา  ซึ่งช่วยนำพาความสุข  มาสู่ชีวิตเรา.

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *