มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ความจริง บอกว่า "ขณะนี้ ได้มีการนำเอา ยากระตุ้นไข่ ตัวใหม่มาใช้รักษาภาวะมีบุตรยากแล้ว ยาตัวนี้เป็นที่กล่าวขานกันว่า มีประสิทธิภาพสูงมาก ต่อไปจะต้องมาแทนที่ ยากระตุ้นไข่ตัวเก่า อย่างแน่นอน"
ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เพราะอาจจะเป็นคลื่นกระแสความรู้สึกใหม่เกี่ยวกับยากระตุ้นไข่ ที่จะให้ความหวังอย่างมากมายแก่บรรดาผู้มีบุตรยากทั้งหลาย แท้ที่จริง ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ที่ได้รับการพัฒนานำมาใช้ ก็คือ "GONADOTROPIN" (ประกอบด้วย "FSH" และ "LH") สารสังเคราะห์ที่นำมากระตุ้นไข่ชนิดเดิมในรูปแบบของการผลิตใหม่ นั่นเอง
กระบวนการเตรียมสารสังเคราะห์ "GONADOTROPIN" เพื่อใช้ในการกระตุ้น "ไข่"นั้น ได้มีการพัฒนามานานกว่า 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ "ไข่" (OVARIAN FOLLICLES) เจริญขึ้นมาในแต่ละรอบเดือนคราวละมาก ๆ เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีกลไกที่จะคัดเลือก "ไข่" ในแต่ละรอบเดือนให้เหลือ "ตก" ออกมาเพียงใบเดียว ซึ่งทำให้โอกาสในการมีลูกน้อยเกินไปสำหรับ "คนมีลูกยาก" นอกจากนั้น สตรีบางคนยังไม่มีไข่ตก (ANOVULATION) อีกในบางรอบเดือน
ในเบื้องต้น ประมาณ ค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) การเตรียม "GONADOTROPIN" จะใช้วิธีสกัดโดยตรงจากต่อมใต้สมอง (PITULTARY EXTRACTS) ซึ่งมีส่วนผสมในอัตราส่วนพอ ๆ กันของ Follicle Stimulating hormone ("FSH") และ Luteinaing hormone ("LH") แต่สารสังเคราะห์ "GONADOTROPIN" ที่ผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีนี้ ได้ถูกยกเลิกไปในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง (JAKOB CREUTZFELDT DISEASE)
ต่อมาราว ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) ได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตขึ้นมาใหม่โดยอาศัยการสกัด "GONADOTROPINS" จากปัสสาวะของสตรีวัยหมดประจำเดือน (HUMAN MENOPAUSAL GONADOTROPINS ชื่อย่อ HMG) บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำกำไรอย่างมหาศาลจากยากระตุ้นไข่ (HMG) ที่ผลิตโดยกรรมวิธีนี้ เพราะเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ภายใต้ชื่อว่า "HUMIGON" โดยบริษัท ออร์กานอน (OGRANON) จำกัด และ "PERGONAL" โดยบริษัท ซีโรโน่ (SERONO) จำกัด ยากระตุ้นไข่ ทั้งสองตัวนี้ (HUMIGON และ PERGONAL) มีส่วนผสมของ "FSH" และ "LH"อย่างละ 75 หน่วย (IU) เท่า ๆ กัน นอกจาก ยากระตุ้นไข่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการพัฒนา ยากระตุ้นไข่ ในสูตรอื่น ๆ อีก แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าใดนัก
เมื่อไม่นานมานี้ ปัสสาวะที่ซื้อและเก็บรวบรวมมาจากสตรีวัยหมดประจำเดือนทั้งหลาย(แหล่งวัตถุดิบในการผลิต) เริ่มขาดแคลน และมีความบริสุทธิ์น้อยลงอย่างมาก เนื่องจากสตรีวัยหมดประจำเดือนส่วนใหญ่หันมารับประทานฮอร์โมนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะกระดูกเปราะบาง ทำให้ปัสสาวะมีส่วนประกอบของ HMG (HUMAN MENOPAUSAL GONADOTROPINS) น้อย (เหลือความบริสุทธิ์เพียง 1-2% ) นอกจากนั้น ยังมีสารปนเปื้อนจำพวกโปรตีนโมเลกุลขนาดใหญ่ (HEAVY PROTEINS) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นผลให้เกิดอาการปวดบริเวณที่ฉีดยาอย่างยิ่ง
ความต้องการในการใช้ ยากระตุ้นไข่ มีทีท่าว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เนื่องจากวงการแพทย์มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยากมากขึ้น เพราะ มีความรู้ใหม่ ๆ เช่น "อิ๊กซี่" ได้แพร่หลายกระจายเข้ามาอย่างรวดเร็ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการยา จำเป็นต้องหากรรมวิธีในการผลิตขึ้นมาใหม่ เพื่อผลิต ยากระตุ้นไข่ ("GONADOTROPIN") ให้มากขึ้นอย่างมีคุณภาพและปริมาณไม่จำกัด ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของ ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ Human recombinant FSH (recFSH หรือ rFSH) เป็นยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ตัวแรกที่ผลิตขึ้นมา
ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ (Recombinant FSH ย่อเป็น rFSH) ตัวแรกนี้ ผลิตมาจากเซลล์รังไข่ของตัวแฮมสเตอร์ (Chinese hamster ovary cells) ที่เมืองเจนิวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ข้อได้เปรียบของ ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่นี้ คือ
1. ไม่ต้องเปลืองสถานที่ และจัดเก็บปัสสาวะของสตรีวัยหมดประจำเดือนอีกต่อไป
2. มีความบริสุทธิ์ของ "ตัวยา" (rFSH) สูง เวลาฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะไม่มีอาการปวด
3. สามารถผลิตออกมาในรูป ออกฤทธิ์ยาวหรือสั้นก็ได้ จึงช่วยให้ประสิทธิภาพในการกระตุ้นไข่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
4. ไม่มีส่วนผสมของ "LH" อยู่เลย
การประยุกต์ใช้ ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ "rFSH"
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ มีการศึกษาวิจัยมากมายถึงคุณสมบัติของ "rFSH" ว่า จะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่จะนำมาเปรียบเทียบกับ ยากระตุ้นไข่ตัวเก่า (Urinary FSH ย่อเป็น "uFSH") ที่ผลิตจากปัสสาวะของสตรีหมดประจำ-เดือน ดังตัวอย่างในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 การศึกษาเปรียบเทียบการรักษาสตรีมีบุตรยากด้วยวิธี "เด็กหลอดแก้ว" มาตรฐาน
(IVF-ET) จำนวน 981 ราย โดย rFSH (PURIGON) และ uFSH (METRODIN)
••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
rFSH (PURIGON) uFSH (MESTRODIN)
••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
– จำนวนผู้ป่วย (n) 585 396
– อายุ (เฉลี่ย) 32.2 32.3
– สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก (จำนวนราย)
1. โรคเกี่ยวกับท่อนำไข่ 377 (64.4%) 254 (64.1%)
(TUBAL DISEASES)
2. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 45 (7.7%) 30 (7.6%)
(ENDOMETRIOSIS)
3. เป็นทั้ง 2 โรค (1+2) 23 (3.9%) 15 (3.8%)
4. ไม่ทราบสาเหตุ (Unknown) 117 (20.0%) 79 (19.9%)
5. อื่น ๆ 23 (3.9%) 18 (4.5%)
– จำนวนวันที่ทำการรักษา 10.7 11.3
– จำนวน "ไข่" ที่โตกว่า 15 มิลลิเมตร 7.49 6.67
– อัตราการตั้งครรภ์ 25.97% 22.02%
(Ongoing pregnancy per transfer)
••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
จะเห็นว่า คุณภาพของ ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ ไม่แตกต่างจาก ยากระตุ้นไข่ตัวเก่า รวมทั้ง ผลข้างเคียงจากการใช้ยา (เช่น ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป) ด้วย สรุปว่า ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ (rFSH) เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ที่บริษัทผลิตยากำลังหาทางนำมาใช้แทนเพราะยากระตุ้นไข่ตัวเก่า มีปัญหาด้านการผลิตมาก (แหล่งวัตถุดิบขาดแคลนและความบริสุทธิ์ของ "ตัวยา" ลดน้อยลง)
แท้จริงแล้ว ยากระตุ้นไข่ ไม่มีตัวใหม่ หรือตัวเก่า เพราะเป็นสารสังเคราะห์จำพวก "GONADOTROPINS" ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของคนเรา (NEUROHORMONE) เหมือนกัน โดยประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่
1. Follicular Stimulating hormone ชื่อย่อ "FSH"
2. Luteining hormone ชื่อย่อ "LH"
ฮอร์โมนทั้งสองเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้น "ไข่" ให้เจริญเติบโตและพัฒนาจนเป็นเซลล์สืบพันธุ์ที่สมบูรณ์พอจะปฏิสนธิได้ในขณะที่ "ตกไข่" ออกมา เพียงแต่ว่า "FSH" จะมีส่วนสำคัญมากกว่า "LH" ในการกระตุ้น "ไข่" ให้เจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม "LH" มีความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการสร้างฮอร์โมนของรังไข่อยู่ไม่น้อย และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้ "ไข่ตก"
ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ ยังคงได้รับการศึกษาวิจัยต่อไป ขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ได้โหมโฆษณาเพื่อให้บรรดาแพทย์หันมาใช้ยาตัวนี้มากขึ้น ไม่แน่..ในอนาคตอันใกล้อาจมีใครค้นคิด กระบวนการผลิต "GONADOTROPINS" ในรูปแบบอื่นขึ้นมาอีก ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ ๆ คงจะทะยอยปรากฏโฉมหน้าออกมา แต่อย่าเข้าใจผิดคิดว่า ของใหม่ต้องดีกว่าของเก่าเสมอไป แท้ที่จริง…เป็นการเปลี่ยนเสื้อผ้าบนใบหน้าของ "ตัวละคร" เดิม เท่านั้น
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@