คาราโอเกะข้างถนน
ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนเล่าเหตุการณ์อยู่นี้ เป็นเวลา 3 นาฬิกา ของเช้าวันใหม่ท้องฟ้ามืดมิดก็จริง แต่ไร้เมฆหมอก ทำให้มองเห็นแสงดาวส่องระยิบระยับอยู่ทั่ว ใครจะไปนึกว่า ร้านขายข้าวต้มกุ๊ยข้างถนน ย่านพัฒนาการ จะมี ตู้เพลงคาราโอเกะ ที่จัดว่าดีอย่างนี้
ภายในร้านตกแต่งอย่างเรียบง่าย มีโต๊ะตั้งบริการอยู่ 5 – 6 ตัว ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้ามา มีผู้มาใช้บริการอยู่ก่อนแล้ว 3 โต๊ะ แต่ละโต๊ะมีแขกนั่งล้อมวงอยู่โต๊ะละ 3 – 4 คน ทุกคนกำลังสนุกสนานกับการดื่มเหล้าและร้องเพลง ข้าพเจ้าผู้ซึ่งเข้ามาใหม่น่าที่จะสั่งเหล้ามาดื่ม เพื่อดับความกลัดกลุ้ม แต่กลับสั่งเพียง ข้าวต้มกุ๊ย 1 ถ้วย และ กับข้าวอีก 2 – 3 อย่าง พลางนั่ง ทอดอารมณ์อย่างเงียบ ๆ อยู่คนเดียว นึกทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาหยก ๆ
ใช่แล้ว ข้าพเจ้าเพิ่งเสร็จสิ้นจากการทำคลอดที่น่าตื่นเต้นระทึกใจ จึงใคร่อยากหาสถานที่สำราญสักแห่งหนึ่ง เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ที่เครียดและปลอบขวัญจิตใจในเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวเมื่อสักครู่
ตอนหัวค่ำ…..มีคนไข้สตรีรายหนึ่งตั้งครรภ์ครบกำหนด เจ็บครรภ์มาโรงพยาบาล ข้าพเจ้าตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิดถึง 4 เซนติเมตรแล้ว เมื่อเทียบกับขนาดของทารก คนไข้น่าจะคลอดได้ภายในคืนนี้โดยไม่มีปัญหา เนื่องจากคุณแม่มีรูปร่างใหญ่ สูงประมาณ 170 เซนติเมตร ส่วนลูกมีขนาดไม่ใหญ่นัก คาดว่า น้ำหนักน่าจะอยู่ในราว 3 กิโลกรัม
2 ทุ่มเศษ ๆ ข้าพเจ้าได้ทำการเจาะถุงน้ำคร่ำ และให้ยาช่วยเร่งคลอดนิดหน่อยกระบวนการคลอดดำเนินไปเป็นอย่างดี ไม่มีเหตุการณ์อะไรมาสะดุด ประมาณ 1 นาฬิกา ของเช้าวันใหม่ ปากมดลูกเปิดหมด ข้าพเจ้าตรวจภายในซ้ำ รู้สึกว่า ตำแหน่งศีรษะเด็กซึ่งเป็นส่วนนำอยู่สูงไปหน่อย เมื่อลองปล่อยให้คนไข้เบ่งคลอดเองสักพักหนึ่ง ปรากฏว่า ส่วนนำไม่เคลื่อนต่ำลงมาเลย การช่วยคลอดขณะนี้มีอยู่ทางเดียว คือ ใช้เครื่องดูด (VACUUM EXTRACTION) ช่วยดึงศีรษะเด็ก
ข้าพเจ้าตรวจภายในก่อนใช้เครื่องดูด พบว่า เด็กอยู่ในท่านอนหงาย การดึงคลอด จึงไม่น่าจะง่ายเหมือนท่าปรกติ เมื่อใส่หัวดูดเกาะบนผนังศีรษะเด็กได้พอเหมาะแล้ว ได้ลดความดัน อากาศลงเพื่อให้เกิดสูญญากาศและดูดหนังศีรษะทารกเข้าไปอยู่ในหัวดูด ใช้เวลาลดความดันอากาศประมาณ 8 นาที แล้วลองขยับดึง ปรากฏว่า ศีรษะเด็กเขยื่อนลงตามมา
ข้าพเจ้าไม่รอช้า ออกแรงดึงศีรษะเด็กในขณะที่แม่ออกแรงเบ่งคลอดตามจังหวะการแข็งตัวของมดลูก ศีรษะเด็กเคลื่อนต่ำลงมาอย่างช้า ๆ "ถ้าเป็นเด็กคนอื่น น่าจะคลอดไปแล้ว" ข้าพเจ้าคิด นี่เอง อาจเป็นลางบอกเหตุว่า กำลังจะมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น
แม้ว่า จะดึงคลอดศีรษะเด็กยาก แต่ด้วยประสบการณ์ ทำให้สามารถประคับประคองคลอดศีรษะเด็กออกมาได้โดยที่หัวดูดไม่หลุดออกไปเสียก่อน
ก่อนหน้านี้ คนไข้ได้รับยาชาโดยการฉีดผ่านทางสายท่อพลาสติกเล็ก ๆ ที่สอดใส่เข้าทางรูรอยต่อของกระดูกสันหลัง ซึ่งไปสิ้นสุดยังช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มเส้นประสาทไขสันหลัง(EPIDURAL SPACE) ยาชาเหล่านี้ทำให้คนไข้ไม่ปวดบริเวณช่วงล่างตั้งแต่ระดับสะดือลงไป แต่ยังสามารถเบ่งคลอดได้
ความจริง คนไข้รายนี้ ควรได้รับการเติมยาชาอีกครั้งทางสายท่อพลาสติกขณะที่ปากมดลูกเปิดหมด แต่พยาบาลผู้ช่วยหวังดี เตือนสติข้าพเจ้าว่า "อย่าไปเติมยาชาเลย จะทำให้แรงเบ่งคลอดของแม่ไม่ดี" ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงปล่อยให้คนไข้ไม่ได้รับยาชาในช่วงเบ่งคลอดนี้
ความคิดดังกล่าวข้างต้นผิดถนัด เพราะเมื่อขณะคลอดบุตรอยู่นั้น คนไข้มีอาการเกร็งช่องคลอดค่อนข้างมาก ประกอบกับศีรษะทารกค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับหัวไหล่เด็ก ดังนั้น ศีรษะเด็กสามารถคลอดออกมาได้ แต่ไหล่เด็กคลอดไม่ได้ หรือที่เรียกกันทางการแพทย์ว่า "ติดไหล่" (SHOULDER DYSTOCIA) นั่นเอง
ปรกติการติดไหล่จะเกิดขึ้นในคุณแม่ที่ตัวเล็ก ช่องเชิงกรานแคบและเด็กตัวใหญ่ แต่รายนี้ คุณแม่ตัวใหญ่ เด็กตัวเล็กเมื่อเทียบกับแม่
ขณะนี้ ศีรษะทารกคลอดออกมาแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตว่า หน้าเด็กอยู่ชิดจนดูเหมือนจะจมมิดกลับเข้าไปในช่องคลอด เมื่อลองดึงศีรษะเด็กเพื่อทำคลอดไหล่หน้า ปรากฏว่า ดึงยังไงยังไง ก็ไม่ลง
ดึงครั้งที่หนึ่ง..ไม่ลง…ข้าพเจ้าอุทานทันที "ติดไหล่" พยาบาลรีบกุลีกุจอช่วยเหลือพยาบาลคนหนึ่งไหวพริบดีตะโกนว่า "ให้หนูช่วยกดบริเวณหัวเหน่าไหม" ข้าพเจ้าตอบว่า "เอาซิ" พูดไป…ข้าพเจ้าพลางดึงศีรษะเด็กเป็นครั้งที่สอง…"ไม่ลง"… ข้าพเจ้าตะโกน "ช่วยด้วยเร็ว เร็ว ช่วยกดหัวเหน่าหน่อย" ข้าพเจ้าลองดันพร้อมกับหมุนหัวเด็กเพื่อจะให้กลับเข้าไปในช่องคลอด แล้วค่อยไปผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกทางหน้าท้องอีกที ตามทฤษฎีที่เรียนมา..ไม่ได้ผล..ไม่มีการขยับเคลื่อนของศีรษะเด็กตามแรงดันแม้แต่น้อย
"ช่วยด้วย เร็ว กดหัวเหน่า" ข้าพเจ้าตะโกนซ้ำ พยาบาลเข้าประจำที่ แล้วพูดตะโกนสวนกลับมาว่า "เอานะ หนูกดละนะ อึบ อึบ"
ข้าพเจ้าออกแรงดึงศีรษะเด็กอย่างเต็มแรงอีกครั้ง…ไม่ออก…
"กดอีกที" ข้าพเจ้าตะโกน พร้อมกับดึงศีรษะเด็กเป็นครั้งที่สี่ ด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มี โดยโน้มตัวถ่วงน้ำหนักลงอย่างเต็มที่ คราวนี้…มีการขยับเขยื่อนของหัวไหล่หน้า
ข้าพเจ้าออกแรงดึงต่อลงมาอีก ท้องฟ้ายังปราณีทารกน้อย ไหล่หน้าของทารกคลอดออกมาได้ ตามมาด้วยการคลอดไหล่หลังและลำตัว พยาบาลผู้ช่วยรีบตัดสายสะดืออย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าอุ้มเด็กไปยังเตียงที่ทำขึ้นเฉพาะในการช่วยเหลือทารกแรกคลอด ทำการดูดเสมหะและ ของเหลวออกจากปาก & จมูกเด็ก ช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพเด็กเบื้องต้น โดยให้ออกซิเจนและกระตุ้นการหายใจ เด็กเริ่มร้อง ร้องเสียงดังขึ้นและบ่อยขึ้น แขนขาที่อ่อนแรงและมีสีเขียว เริ่มขยับและมีสีแดงขึ้น พยาบาลห้องคลอดรีบตามหมอเด็กมาดูอย่างรีบด่วน หมอเด็กรีบรุดมาดูทันที เมื่อตรวจดูสภาพเด็กสักครู่หนึ่ง ก็บอกกับข้าพเจ้าขณะที่กำลัง เย็บแผลช่องคลอดว่า "เด็กดีนะครับ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร รีบส่งไปสังเกตอาการต่อที่ห้องเนอร์สเซอรี่ ก็แล้วกัน" คนไข้,สามี และข้าพเจ้าต่างโล่งอก ถอนหายใจพร้อม ๆ กัน
ก่อนออกจากห้องคลอดเพื่อเดินทางกลับบ้าน ข้าพเจ้ายังโทรศัพท์ขึ้นไปสอบถามอาการของเด็กอีก พร้อมทั้งย้ำกับพยาบาลห้องทารกแรกเกิดว่า "ช่วยดูแลดี ๆ ด้วยนะครับ เด็กคนนี้ คลอดยากและติดไหล่ ตอนคลอด พรุ่งนี้ อย่าลืมบอกหมอเด็กด้วย"
ข้าพเจ้ายังไม่หายกังวลกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้น จึงขับรถมองหาร้านข้าวต้มกุ๊ยข้างถนน เพื่อชดเชยพลังงานที่สูญเสียไป โดยเฉพาะพลังใจที่วูบหายไปอย่างมาก
ข้าพเจ้านั่งรับประทานข้าวต้มกุ๊ยสักพักใหญ่ ๆ จิตใจค่อยสงบเยือกเย็น จึงลุกขึ้นมาจับไมโครโฟน ร้องเพลงกับเขาบ้าง เวลาผ่านไปจนใกล้จะสว่าง แม่ค้าทยอยเก็บโต๊ะเก้าอี้และทำความสะอาดสถานที่ คนที่มาหาความสำราญยามค่ำคืนนี้ยังคงร้องเพลงอยู่ คงจะรอให้เจ้าของร้านมาบอกจึงจะหยุดร้อง…
ชีวิตคนเรา จะมีอะไรมากนักหนา ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ น่าจะหาความสุขใส่ตัวซะบ้าง อย่ามัวแต่ทำงาน ทำงาน ทำงาน… จนลืมไปว่า "เวลาของชีวิตนั้น สั้นนัก"
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@