การตั้งครรภ์ของสตรีตัวเตี้ย
หญิงไทย แม้จะมีใบหน้าท่าทางที่น่ารัก น่าคบหา แต่ทว่า มีหญิงจำนวนไม่น้อยเลย ที่รูปร่างเล็กหรือต่ำเตี้ย นี่เอง ทำให้เป็นข้อเสียเปรียบในการคลอด เพราะหญิงตัวเตี้ย มักมีอุ้งเชิงกรานที่เล็กและแคบ ดังนั้น ‘การคลอดของสตรีตัวเตี้ย’ จึงทำให้สูติแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสบายใจว่า ควรจะทำอย่างไร? เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
นิยามคำว่า‘ตัวเตี้ย’ของผู้หญิงหมายความว่าอย่างไร???? ในหลักสากลที่ถือกัน ได้ให้คำจำกัดความของสตรีตัวเตี้ยในคนท้องว่า ‘ความสูงของหญิงต่ำกว่า 155 เซนติเมตร’ Sheiner Eและคณะได้ทำการวิจัยในหัวข้อ Short stature–an independent risk factor for Cesarean delivery. (2005) [ แปลว่า “ตัวเตี้ย: ปัจจัยเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด”] พบว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสตรีตัวเตี้ยนั้นมากกว่าสตรีที่มีความสูงกว่า 155 เซนติเมตรอย่างชัดเจน (21.3% และ 11.9%) รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆด้วยเช่น ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ทารกมีภาวะแคระแกรนในครรภ์
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว สิ่งที่ชาวต่างประเทศศึกษาวิจัย เราไม่จำเป็นต้องเชื่อถือไปทั้งหมด เราต้องดูตามความเหมาะสม เพราะหญิงไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสูง และลูกของคนไทยก็มีขนาดตัวไม่ใหญ่ ซึ่ง..คำจำกัดความของ ‘ตัวเตี้ย’ในคนท้องหญิงไทยนั้น ก็ไม่เคยมีการกำหนดว่า คือ มีส่วนสูงแค่ไหน อีกทั้งไม่เคยมีใครศึกษาวิจัยเรื่อง ‘หญิงไทยตัวเตี้ย กับการคลอด’ อย่างจริงจัง จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า พบว่า หญิงไทยที่มีความสูงต่ำกว่า 145 เซนติเมตร มักมีปัญหาเรื่องการคลอดบุตร ข้าพเจ้าเองอยากให้มีการศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด เพราะ หญิงไทยที่ตัวเตี้ยมักถูกปล่อยปละละเลยให้คลอดเองทางช่องคลอดมานานแล้ว ซึ่งหญิงไทยเหล่านี้จะได้รับการผ่าตัดคลอดให้ ก็ต่อเมื่อคลอดตามธรรมชาติไม่ได้จริงๆหลังจากลองปล่อยให้คลอดเองสักระยะหนึ่ง แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ถึงจะผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกมาทางหน้าท้อง เด็กก็อาจมีร่างกายบอบช้ำหรือสมองได้รับการกระทบกระเทือน ก่อให้เกิดผลเสียหายในอนาคตได้ เช่น เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือโง่ไปเลย สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามักจะไม่รอให้คุณแม่ตัวเตี้ยที่ครรภ์ครบกำหนดเจ็บครรภ์ และคลอดโดยวิธีธรรมชาติเลย ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็น นอกนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะผ่าตัดคลอดให้ทันทีที่เข้ารับหน้าที่รับผิดชอบคนท้องตัวเตี้ยในห้องคลอด ข้าพเจ้ามีตัวอย่างของคนท้องตัวเตี้ย 3 – 4 รายที่อยากจะนำมาเล่า ซึ่งคงพอจะทำให้ท่านเข้าใจได้พอสังเขป
คนไข้รายแรกที่อยากจะเล่า ชื่อ คุณธนพร อายุ 27 ปี มีส่วนสูง 143.5 เซนติเมตร ตั้งครรภ์นี้เป็นครั้งที่ 3 ครรภ์แรกคลอดเองเมื่อ 7 ปีก่อน ทารกมีน้ำหนักแรกเกิด 2800 กรัม ปัจจุบันแข็งแรงดี ต่อมาได้แต่งงานใหม่และตั้งครรภ์ที่ 2 แต่เธอได้ไปทำแท้งตอนอายุครรภ์ 2 เดือนเมื่อ 3 ปีก่อน สำหรับครรภ์นี้ เธอมาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ และฝากครรภ์มาทั้งหมด 15 ครั้ง จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ ก็เจ็บครรภ์มานอนโรงพยาบาลตำรวจ คุณธนพรได้เข้าสู่ห้องคลอดตอน 2 ทุ่ม ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง100% มดลูกมีการแข็งตัวทุก 5 นาที ต่อมา เวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ปากมดลูกเปิด 9 เซนติเมตรความบาง 100% แต่ส่วนนำยังอยู่ค่อนข้างสูงขึ้นไปในอุ้งเชิงกราน (station 0) แม้ปากมดลูกจะเปิดเร็วและการแข็งตัวของมดลูกจะดี แต่ส่วนหัวของเด็กกลับไม่ค่อยลงต่ำมาที่ปากช่องคลอด ข้าพเจ้าประเมินน้ำหนักเด็กว่า น่าจะประมาณ 3300 – 3500 กรัม ซึ่งถือว่า ตัวใหญ่เมื่อเทียบกับตัวแม่ ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้แบบฉุกเฉินในข้อบ่งชี้ คือ อุ้งเชิงกรานแคบ (Cephalo-pelvic disproportion) การผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยากอะไร ทารกคลอดเมื่อเวลาเที่ยงคืนครึ่ง เป็นทารกเพศหญิง มีน้ำหนักแรกคลอด 3290 กรัม แข็งแรงดี
คนไข้รายที่ 2 ชื่อคุณน้ำผึ้ง อายุ 21 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์ทั้งหมด 6 ครั้ง จนกระทั่งมีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ก็เจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลตำรวจตอน 6 โมงเย็น คุณน้ำผึ้งมีส่วนสูง 145 เซนติเมตร ตอนที่มาถึงห้องคลอด ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 80% มดลูกแข็งตัวทุกๆ 3 นาที เวลาตีหนึ่งครึ่ง ปากมดลูกยังคงเปิดเท่าเดิม แต่ความบางเพิ่มเป็น 100%
เวลา 3 นาฬิกาของเช้าวันนั้น ปากมดลูกเปิด 5 เซนติเมตร ความบาง 100% พอดีข้าพเจ้ามีจำเป็นต้องผ่าตัดผู้ป่วยท้องนอกมดลูกรายหนึ่งเป็นการฉุกเฉินในช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าจึงได้สอบถามไปยังห้องคลอดว่า มีคนไข้รายไหนบ้างที่มีปัญหาและอาจต้องผ่าตัด พยาบาลห้องคลอดบอกว่า ‘กรณีของคุณน้ำผึ้งน่าจะมีปัญหา เพราะคนไข้ตัวเตี้ย’ ตอนนั้นส่วนนำยังไม่ลงมาในช่องคลอด (Station 0) ข้าพเจ้าไม่รอช้า จึงสั่งการผ่าตัดคลอดให้กับคุณน้ำผึ้งต่อจากกรณีท้องนอกมดลูก เพราะลักษณะตัวเตี้ยเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะถูกผ่าตัดคลอดค่อนข้างมาก ทารกที่ได้เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 2720 กรัม แข็งแรงดี
คนไข้รายที่ 3 ชื่อ คุณสมคิด อายุ 22 ปี มีส่วนสูง 145.6 เมตร ตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์แรก ฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 2 เดือนและฝากครรภ์ตามนัดมาตลอดจำนวน 10 ครั้ง จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ ก็เจ็บครรภ์มาโรงพยาบาล คนไข้มาถึงห้องคลอดตอน 7 โมงเช้า มดลูกแข็งตัวทุก 3 นาที เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ปากมดลูกเปิด 7 เซนติเมตร ความบาง 100% เมื่อเจาะถุงน้ำคร่ำ ปรากฏว่า น้ำคร่ำมีเขียว (meconium) ข้าพเจ้าไม่อยากรอเพราะถ้าคลอดยาก คงต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะคลอด เด็กอาจมีปัญหาทางสมอง จึงได้ตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ ทารกเป็นเพศ ชาย น้ำหนักแรกคลอด 3140 กรัม แข็งแรงดี
ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีลักษณะตัวเตี้ย คือ มีความสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตร ซึ่งมีข้อเสีย คือ อุ้งเชิงกรานแคบ ทำให้มักเกิดปัญหาเวลาคลอดเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีโอกาสได้รับการผ่าตัดคลอดกว่า 50% ด้วยข้อบ่งชี้ที่ว่า ‘ศีรษะกับอุ้งเชิงกรานไม่เป็นสัดส่วนกัน’ ส่วนที่คลอดเองตามธรรมชาติได้ ก็มักคลอดลำบาก และมีปัญหาระหว่างคลอด เช่น ส่วนหัวของทารกค้างอยู่ในช่องคลอดนานมากในช่วงที่ปากมดลูกเปิดหมด (Prolonged second stage) ซึ่งบางรายจำเป็นต้องใช้เครื่องดูด (vacuum extraction) หรือคีม (Forceps) ช่วยดึงคลอด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากกรณีข้างต้นทั้ง 3 กรณี ข้าพเจ้าขอวิเคราะห์ดังนี้ คือ
กรณีรายคุณธนพร คนไข้มีส่วนสูง 143.5 เซนติเมตร เคยคลอดบุตรเองมาก่อนโดยทารกมีน้ำหนักแรกเกิด 2800 กรัม การลองปล่อยให้คลอดเอง ก็ย่อมสามรถทำได้ แต่ต้องประเมินว่า ทารกน่าจะมีขนาดพอๆกับท้องที่แล้ว แต่รายนี้เด็กใหญ่กว่าขนาดในท้องที่แล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะคลอดเองไม่ได้
กรณีรายคุณน้ำผึ้ง คนไข้มีส่วนสูง 145 เซนติเมตร การดำเนินการคลอดยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ ข้าพเจ้าใช้วิจารณญาณส่วนตัวตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ เพราะคิดว่า เธออาจคลอดลำบากและมีปัญหาการคลอด อย่างไรก็ตาม ลูกคุณน้ำผึ้ง มีน้ำหนักเพียง 2720 กรัม เธออาจจะสามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ให้โอกาสเธอ เพราะถือเอารูปร่างและส่วนสูงของแม่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ
กรณีรายคุณสมคิด ทารกอยู่สภาพเริ่มขาดก๊าซออกซิเจนเพราะถ่ายขี้เทาออกมาปะปนในน้ำคร่ำ แม้ปากมดลูกจะเปิดถึง 9 เซนติเมตรแล้ว แต่ระยะเวลาที่จะคลอดบุตรออกมาภายนอกยังไม่แน่นอน บางทีอาจจะเป็น1- 2 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 5 ชั่วโมงหากพยาบาลไม่กล้าตามข้าพเจ้าโดยรอให้ครบหลักเกณฑ์ คือ ปากมดลูกเปิดหมด แล้วทารกไม่คลอดประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ทารกอาจจะอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก สมองขาดก๊าซออกซิเจนนาน เมื่อเติบโตอาจเป็นคนที่ไม่สมประกอบ
เมื่อวาน มีการผ่าตัดคลอดบุตรให้สตรีตัวเตี้ยรายหนึ่ง ชื่อคุณรัชนี อายุ 32 ปี มีส่วนสูง 145 เซนติเมตร ตั้งครรภ์ที่ 4 สำหรับครรภ์แรก เธอคลอดเองเมื่อ 14 ปีก่อน ได้บุตรสาว ซึ่งมีน้ำหนักแรกคลอด 3000 กรัม ครรภ์ที่ 2 เมื่อ 12 ปีก่อน เธอคลอดเองเช่นกัน ได้บุตรชาย น้ำหนักแรกคลอด 3500 กรัม ครรภ์ที่ 3 คุณรัชนีแท้งบุตร เมื่อปีที่แล้ว โดยไม่ได้รับการขูดมดลูก สำหรับครรภ์นี้ คุณรัชนีตั้งครรภ์กับสามีใหม่ เธอฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 10 สัปดาห์ ฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้ง 14 ครั้ง จนอายุครรภ์ได้ 41 สัปดาห์ ก็มีปัญหาทารกหัวใจเต้นผิดปกติระหว่างเข้ารับการทดสอบความแข็งแรงของทารกในครรภ์(non-stress test) รายนี้น่าสนใจตรงที่ คุณรัชนีคลอดบุตรเองได้ในครรภ์แรกและครรภ์ที่สอง ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดถึง 3000 และ 3500 กรัมตามลำดับ ซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ครรภ์นี้ก็สมควรได้รับการผ่าตัดคลอด เนื่องจากอายุครรภ์เกินกำหนด และหัวใจทารกเต้นผิดปกติ
สรุปแล้ว คนท้องสตรีตัวเตี้ย (มีความสูงต่ำกว่า 145 เซนติเมตร) ที่ตั้งครรภ์ครบกำหนดนั้น มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการผ่าตัดคลอดสูงมาก แต่หากต้องการพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็ขอให้ดูปัจจัยดังต่อไปนี้ เป็นข้อตัดสินใจผ่าตัดคลอด 1.ส่วนหัวเด็กไม่เข้าสู่อุ้งเชิงกราน โดยการใช้มือคลำหน้าท้องที่บริเวณหัวเหน่า จะพบว่า หัวเด็กลอยอยู่เหนืออุ้งเชิงกราน 2. อายุครรภ์เกินกำหนด 3. การดำเนินการคลอดไม่เป็นไปตามปกติหรือเนิ่นนานมาก 4. ทารกในครรภ์ขาดก๊าซออกซิเจนโดยดูจากการเต้นของหัวใจ หรือน้ำคร่ำเป็นสีเขียว 5. เป็นครรภ์แรกหรือเป็นเสมือนครรภ์แรก คือ ครรภ์ก่อนที่คลอดเองตามธรรมชาติห่างจากครรภ์ปัจจุบันเกินกว่า 10 ปี 6. น้ำหนักทารกในครรภ์โดยประมาณ เกินกว่า 3000 กรัม
สตรีตัวเตี้ยตั้งครรภ์ ไม่ใช่ความผิด เธอมีสิทธิทุกอย่างเหมือนกับคนท้องทั่วไป เพียงแต่เราไม่ควรยึดถือกฎเกณฑ์มากนักในการตัดสินใจผ่าตัดคลอดบุตรให้ เพราะความผิดพลาดจากการคลอดเองโดยธรรมชาติ ก็คือ ความบอบช้ำทางร่างกายและสมองของทารกน้อย คงไม่มีใครอยากมีลูกที่พิการทางร่างกายหรือสมอง แน่นอน!!! พ่อแม่ทุกคน ยอมอยากจะเล่นหัวกับลูกที่มีสมองที่แจ่มใส จิตใจที่เบิกบาน ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนท้องที่ตัวเตี้ย ก็จงอย่าเสี่ยงกับการคลอดบุตรเองตามธรรมชาติ โดยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ ……..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&