‘บาป- บุญ’ คนรุ่นใหม่

ในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้พาลูกชายไปที่วัดป่าถาวรนิมิต จังหวัดนครนายก เพื่อปฏิบัติธรรม ค่ำคืนนั้น ลูกชายไม่สามารถทนต่อแมลงจำนวนมากในกุฏิได้ จึงนอนไม่หลับ ข้าพเจ้าต้องลุกขึ้นมาเป็นเพื่อนลูกหลายครั้ง จนกระทั่งราว 3 – 4 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ จึงนอนหลับได้ถึงเช้า
ด้วยการรบเร้าขอกลับบ้านของลูกในเช้าวันนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องยินยอมตาม แต่….ขณะที่ทำวัดเช้าอยู่นั้น กัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้ขอให้ ข้าพเจ้าเข้าร่วมอนุโมทนากับงานบุญของชาวบ้านย่านนั้น ที่จะถวายพระพุทธรูปและวิหารให้กับทางวัด ข้าพเจ้าขัดไม่ได้ ก็เลยไปร่วมงาน ปรากฏว่า ข้าพเจ้านั่งหลับไปถึงกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้น พอขับรถกลับ ข้าพเจ้าจึงไม่รู้สึกง่วงนอนเลยสักนิด แต่…รถข้าพเจ้าเกิดอาการประหลาดขึ้นอย่างหนึ่ง คือ พอเครื่องร้อน เครื่องยนต์ก็จะดับ ระหว่างทาง รถมีอาการเครื่องยนต์ติดๆดับๆมากกว่า 10 ครั้ง ในที่สุด ข้าพเจ้าก็สามารถนำพารถเข้าสู่กรุงเทพฯได้ อย่างไรก็ตาม ขณะเมื่อรถอยู่บนทางด่วน รถก็มีอาการเครื่องยนต์ดับอีก 3 ครั้ง ครั้งสุดท้าย รถอยู่ห่างจากบ้านเพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตร เครื่องยนต์มาดับสนิทตอนที่รถลงจากทางด่วนพอดีที่ถนนพระราม 9… ว่าไปแล้ว!! ข้าพเจ้านับว่า มีบุญมากที่เผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้แล้วไม่เกิดเหตุการณ์ร้าย เพราะเมื่อรถถูกลากไปที่อู่ซ่อม จึงได้ทราบว่า สมองกลของรถและสายไฟที่เกี่ยวข้องเสียหายทั้งหมด จริงๆแล้ว!!! ข้าพเจ้าน่าจะรถเสียขณะที่อยู่กลางทาง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯหลายร้อยกิโลเมตร หากไม่ใช่ ‘บุญ’ แล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า จะเรียกว่าอะไร….
อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่มักไม่คิดเช่นเดียวกับข้าพเจ้า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ แม้จะเป็นการทำลายล้างชีวิต ก็ไม่น่าจะ ‘บาป’ อาทิ การทำแท้งเพื่อช่วยชีวิตมารดา เป็นต้น เมื่อเร็วๆนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสทำแท้ง เพื่อการรักษาให้กับคนท้องรายหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจ จึงอยากจะนำมาเล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนทั่วไป
คุณเวียงไซ ชาวลาว สามีเป็นคนไทย ตั้งครรภ์ที่ 2 มีประวัติอดีตที่น่าสนใจ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2549 เธอได้รับการผ่าตัดเอาเด็กออกขณะตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เป็นบุตรชาย น้ำหนักแรกคลอด 1,200 กรัม บุตรเสียชีวิตภายหลังคลอด 1 ชั่วโมง ตอนที่ซักประวัติ ฝ่ายการพยาบาลไม่ได้ถามถึงสาเหตุ แต่ข้าพเจ้าพออนุมานได้ว่า ‘ทารกน่าจะเป็น ทาลาสซีเมีย ชนิด BART’ ซึ่งแน่นอน!! ทารกย่อมไม่มีโอกาสรอดชีวิตยามคลอดออกมา ไม่ว่าจะคลอดโดยวิธีใด ในทางกลับกัน หากทารกยังอยู่ในครรภ์ต่อไป ย่อมจะส่งผลทำให้คุณแม่เกิดภาวะ ‘ครรภ์พิษ [หรือโรคความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์]’ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอด หรือเสียชีวิตจากเส้นเลือดแตกในสมอง
คุณเวียงไซ อายุ 34 ปี มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 10 สัปดาห์ เธอเข้าสู่โครงการคัดกรองภาวะทาลาสซีเมีย ผลปรากฏว่า ทั้งเธอและสามีมีปริมาตรของเม็ดเลือดแดงต่ำมาก (MCV) คือ เท่ากับ 65.4 และ 66.8 (ค่าปกติ จะมากกว่า 80.0) ตามลำดับ นอกจากนั้น ทั้งสองยังเป็น ทาลาสซีเมีย ชนิดแอลฟ่า 1 (α- thal 1 carrier) อีกด้วย ซึ่ง..ในทางโลหิตวิทยา เมื่อ α – thal 1 ของคุณเวียงไซ จับคู่กับ α – thal 1 ของสามี ก็จะเกิดภาวะของเม็ดเลือดที่เรียกว่า Hemoglobin Bart’s กับเลือดลูก
คุณเวียงไซได้รับการนัดให้มาตรวจครรภ์บ่อยครั้ง ทุกๆ 2 สัปดาห์ จนอายุครรภ์ได้ 23 สัปดาห์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัลตราซาวนด์ (Perinatologist) ได้ตรวจพบว่า ลูกคุณเวียงไซ มีหัวใจโต คุณหมอจึงเจาะเลือดของทารกบริเวณสายสะดือ โดยใช้เข็มยาวๆเจาะผ่านมดลูกและถุงน้ำคร่ำไปที่สายสะดือทารก (Cordocentesis) ผลปรากฏในอีกสัปดาห์ต่อมาว่า ‘ทารกน้อยมี Hb Bart’s 79%’ ซึ่งในคนธรรมดาทุกคนจะไม่มีสาร (Hemoglobin Bart’s) ชนิดนี้ในเม็ดเลือดแดง ดังนั้น คุณหมอท่านนี้จึงตัดสินใจให้คุณเวียงไซทำแท้ง เพื่อการรักษา (Therapeutic abortion) คุณเวียงไซมาที่หน่วยฝากครรภ์ในวันจันทร์ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบ พยาบาลห้องตรวจครรภ์ได้นำเอกสารฝากครรภ์ของคุณเวียงไซมาให้ข้าพเจ้า พร้อมกับบอกว่า ‘คนไข้เป็นทาลาสซีเมีย Hb Bart’s หมอช่วยสั่งการทำแท้งให้ด้วย’ แน่นอน!! ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือก ข้าพเจ้าจึงเขียนคำสั่งให้เหน็บยา (Cytotek 1 tablet ทุก 6 ชั่วโมง) ทางช่องคลอดคนไข้ เพื่อให้เกิดการแท้งบุตรออกมา ซึ่งตอนนั้น คุณเวียงไซตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ 5 วัน และเธอมีความเข้มข้นของเลือดเพียง 31% เท่านั้น ทำให้เราจำเป็นต้องเตรียมเลือดและระมัดระวังการตกเลือดของคนไข้หลังแท้งบุตร
คุณเวียงไซได้รับการเหน็บยาทางช่องคลอดเพื่อให้แท้งทุก 6 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา คนไข้เจ็บครรภ์มากขึ้นเรื่อยๆ และแท้งบุตรเมื่อเวลา 9 นาฬิกาของเช้าในใหม่ การแท้งของเธอเป็นการแท้งครบ (Complete abortion) เธอจึงไม่ต้องเข้ารับการขูดมดลูกอีก ทารกเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 520 กรัม ดูจากลักษณะภายนอกแล้ว ทารกคนนี้ก็เหมือนกับทารกทั่วไป เนื่องจากยังไม่เกิดภาวะเม็ดเลือดแตกและตัวบวม (Hydrop fetalis) ซึ่ง…ภาวะตัวบวมของเด็กนั้นมักจะเกิดขึ้นช่วงอายุครรภ์ ประมาณ 30 สัปดาห์
ลักษณะทางคลินิกของทารกเช่นนี้ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น หัวใจทารกจะพองโต ตัวจะบวม ในทางการแพทย์เรียกว่า ‘ภาวะทารกบวมน้ำ (Hydrop fetalis)’ ซึ่ง..เกิดจากความผิดปรกติของ chain ของ gene ในเม็ดเลือดแดงทั้ง 4 gene เป็นเหตุให้เม็ดเลือดแดงของทารก มีแต่ hemoglobin Bart (a tetramer of chain หรือ 4) ผลก็คือ ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งอุบัติการณ์นี้จะพบส่วนใหญ่ในประชากรของ Asia และ African

ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ที่แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลตำรวจ มีการตรวจพบคนท้องที่ทารกเป็น hemoglobin Bart ถึง 4 ราย ซึ่งแน่นอน!! คนท้องทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการทำแท้ง
คุณแววดาว อายุ 30 ปี เป็นคนไข้ที่น่าสนใจมากอีกคนหนึ่ง เพราะ เธอเคยมีบุตรมาแล้ว 1 คน เพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,800 กรัม ขณะนี้อายุ 7 ขวบ เกิดจากสามีคนแรก ส่วนครรภ์นี้ เกิดจากสามีคนปัจจุบัน ซึ่งอยู่กินกันมาได้เพียง 1 ปีเศษ เธอฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ และมาเข้ารับการตรวจทุก 4 สัปดาห์ จนกระทั่งเมื่ออายุครรภ์ได้ 23 สัปดาห์ พยาบาลห้องตรวจครรภ์ ตรวจพบว่า มดลูกใหญ่กว่าอายุครรภ์ จึงปรึกษาสูติแพทย์ เพื่อทำการตรวจอัลตราซาวนด์ แต่ด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ มีการเลื่อนนัดให้ตรวจอัลตราซาวนด์เป็นครั้งถัดไป แต่…คุณแววดาวไม่ได้มาตามนัด อย่างไรก็ตาม เธอได้กลับมาฝากครรภ์อีกครั้งตอนอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม….เนื่องจากเธอและสามีไม่ได้เข้าร่วมในโครงการคัดกรองภาวะทาลาสซีเมีย สามีจึงไม่ได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหา ทาลาสซีเมีย
ในช่วงนั้นเอง สูติแพทย์ประจำหน่วยฝากครรภ์ ได้ตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคุณแววดาว และพบปัญหา 4 ประการ ได้แก่ ‘ทารกน้อย มีหัวใจโต (Cardiomegaly) , มีกระดูกแขนขาผิดปกติ , ตัวเด็กเล็กกว่าที่ควรจะเป็น (Small for gestational age ย่อเป็น SGA) และการตั้งครรภ์มีภาวะน้ำเกิน (Polyhydramnios)’ สรุปรวมความว่า สงสัยอยู่ 3โรคที่เป็นไปได้สำหรับคนไข้รายนี้ คือ 1. ภาวะโรคกระดูกผิดปกติในเด็ก (Skeletal dysplasia) 2. โรคทาลาสซีเมีย Hb Bart’s และ 3. การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ จำพวก TORCH
คุณแววดาวได้รับการเจาะเลือดเพื่อหาสาร antibody สำหรับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ จำพวก TORCH และส่งตรวจหา Hemoglobin typing สำหรับภาวะ α- thalassemia carrier ขณะเดียวกัน เธอได้ถูกส่งไปทำการเจาะเลือดที่สายสะดือของลูก (Cordocentesis) ด้วย ซึ่งผลปรากฏว่า ทารกมี Hb Bart’s 99.3% ในเม็ดเลือด
คุณแววดาวได้รับการทำแท้งเพื่อการรักษาโดยการเหน็บยาเข้าทางช่องคลอดเช่นกัน และแท้งบุตรถัดจากคุณเวียงไซเพียง 1 วัน ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 1,378 กรัม มีลักษณะผิดปกติ คือ ท้องบวมโต โดยมีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 4 และ 6 (คะแนนเต็ม 10) เนื่องจากทารกยังไม่เสียชีวิตทันที ทารกจึงถูกส่งไปห้อง ไอ.ซี.ยู. และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เรื่องราวของทารกบวมน้ำนี้ เป็นเรื่องที่พบบ่อยมากพอสมควรในคนไทย แม้แต่คนในภูมิภาคใกล้เคียง เช่น ลาว เขมร ดังนั้น การฝากครรภ์จึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็น ในประเทศไทย สาเหตุของทารกบวมน้ำ หรือ Hydrop fetalis ส่วนใหญ่เกิดจาก Hb Bart’s ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (α- thal 1 SEA type) จากการสำรวจของโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ ปรากฏว่า พบในอัตรา 1:450 ของการคลอดทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงมาก โรคนี้ถ้าไม่ยุติการตั้งครรภ์เสียก่อน ก็จะเกิดผลร้ายตามมาสำหรับคุณแม่ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูงจาการตั้งครรภ์ หรือ ครรภ์พิษ (Toxemia) , คลอดยาก , ตกเลือดหลังคลอดเนื่องจากรกมีขนาดใหญ่ รวมทั้งมีโอกาสเกิดซ้ำในครรภ์ต่อไปได้ถึง 25%
ปัจจุบัน มีการวินิจฉัยภาวะนี้ก่อนคลอด ด้วยการวิเคราะห์ ดีเอ็นเอของรก/เซลล์น้ำคร่ำ หรือตรวจเลือดจากสายสะดือ (Cordocentesis) การตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องมีส่วนช่วยการวินิจฉัยได้ก่อนกรณีมีภาวะบวมน้ำชัดเจน (Frank Hydrop fetalis) ซึ่งมักปรากฏอาการให้เห็นเด่นชัดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 25 – 26 สัปดาห์ ดังนั้น หากสงสัยภาวะนี้ และในสถานที่นั้น ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือดจากสายสะดือเด็ก การตรวจอัลตราซาวนด์ในคนท้องช่วงอายุครรภ์ ประมาณ 20 สัปดาห์ จะช่วยวินิจฉัยได้อย่างมาก เพราะมีลักษณะเฉพาะค่อนข้างชัดเจน
ชีวิตคนเรานั้น แน่นอน!! ทุกคนกำลังโลดแล่นอยู่ในละครโรงใหญ่ แต่ละคนจำเป็นต้องเล่นบทของตนไปจนกว่าจะจบฉาก แม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม…หากเลือกเกิดได้ คงไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นทารกน้อยของโรคที่เล่ามานี้ เพราะสุดท้าย ก็ต้องจบชีวิตลงในขณะที่อายุครรภ์น้อยๆ มิฉะนั้น ทารกคนนั้นก็จะทำลายมารดาของตัวเอง นี่..อาจเป็นบททดสอบอย่างหนึ่งให้คนเราตระหนักรู้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งยากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทุกคนจึงควรจะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า…..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *