ชีวิตนี้ มีความหมาย

ใครที่ไม่เคยติดคุก อาจจะมองความสุขจากชีวิตธรรมดาไม่ชัดเจน ชีวิตคนเราที่อยู่
เป็นปรกติทุกวันนี้ดีกว่าชีวิตนักโทษหลายเท่านัก ทำไมหลายคนยังคงบ่นว่า \”ชีวิตนี้น่าเบื่อ\” กันอีก
น่าสงสาร คนที่ยังมองไม่เห็นสัจจธรรมข้อนี้เสียเหลือเกิน
ข้าพเจ้าโชคดี มีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศภายในคุก 2-3 แห่ง โดยที่ไม่ต้อง
กระทำความผิด เรื่องมีอยู่ว่า
กงสุลไต้หวัน ได้รับการร้องเรียนผ่านมาทางญาติของนักโทษในคุกว่า \”น่าจะได้รับ
การเอาใจใส่จากรัฐบาลไต้หวันให้มากกว่านี้ ดูจากนักโทษญี่ปุ่น,อเมริกา,อังกฤษ และอีกหลาย ๆ
ประเทศซิ พวกนี้ได้รับการเอาใจใส่จากสถานฑูตเป็นอย่างดี โดยมีการจัดส่งหมอ,นักจิตวิทยา มา
ดูแลตรวจรักษาทุกเดือน ทำไม ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกประเทศ
หนึ่ง ถึงไม่สนใจคนของประเทศตัวเอง\”
จดหมายดังกล่าวถูกส่งไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนของประเทศ หลังจากนั้นจึงได้มีคำสั่ง
จากรัฐบาลให้กงสุลไต้หวัน ในประเทศไทยดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ดังกล่าวด้วย
ข้าพเจ้าเป็นแพทย์ที่พูดภาษาจีนกลางได้ แม้จะไม่ลึกซึ้งเหมือนกับคนไต้หวัน แต่
เรื่องราวทั่ว ๆ ไป จะสามารถพูดได้รู้เรื่อง เนื่องจากเคยเรียนภาษาจีนมาบ้าง และภรรยายัง
คงไปมาหาสู่กับชาวไต้หวันในประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสใช้ภาษาจีนกลาง
บ่อย ๆ
ข้าพเจ้าได้รับการติดต่อจากกงสุลไต้หวันผ่านทางภรรยาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตอบตกลง
ในทันทีที่ทราบเรื่อง และนัดพบกับเจ้าหน้าที่กงสุลฯ ในวันหนึ่ง
บนโต๊ะสนทนา ซึ่งประกอบด้วยข้าพเจ้า,ภรรยาและเจ้าหน้าที่ของกงสุล ไต้หวัน 2
ท่าน ท่านหนึ่งเป็นถึงรองเอกอัครราชฑูตไต้หวันประจำประเทศไทย ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็น
เจ้าหน้าที่คนไทย ซึ่งเรียนจบจากไต้หวัน และทำหน้าที่ติดต่อกับนักโทษไต้หวันในคุกไทยเป็นประจำ
เจ้าหน้าที่คนไทยท่านนี้ มีชื่อสั้น ๆ ว่า \”ชาญ\” เขามีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและจีนกลาง
เป็นอย่างดี เวลาชาวไต้หวันในประเทศไทย มีปัญหาไม่ว่าเรื่องอะไร \”ชาญ\” จะเข้าไปมี
ส่วนเกี่ยวข้องเสมอ
\”ดิฉันเพิ่งกลับมาจากฮ่องกง มีผู้หญิงคนหนึ่งขอให้ฉันถือตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ ผ่านด่าน
ตรวจออกมา แต่ฉันเพิ่งดูโทรทัศน์เรื่องทำนองคล้าย ๆ กันนี้ จึงปฏิเสธไป ฉันอาจโชคร้ายได้ ถ้า
ใจอ่อน\” ภรรยาข้าพเจ้าเป็นคนเปิดเรื่องสนทนาก่อน
\”คุณทำถูกแล้ว สมัยก่อนมีอาซิ๊มแก่ ๆ คนหนึ่งถูกหลอกให้ถือตุ๊กตาพระพุทธรูป
เคลือบดินเผาผ่านด่านตรวจของสนามบิน อาซิ๊มไม่รู้ว่าภายในตุ๊กตาเป็นอะไร จึงเดินผ่านไปอย่าง
ไม่มีพิรุธ พอผ่านด่านตรวจได้แล้ว เผอิญอาซิ๊มยืนอยู่ใกล้ ๆ ตำรวจ จึงไม่มีใครกล้ามาเอาของ
ที่อาซิ๊ม อาซิ๊ม ยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่นานพอสมควร จึงนำตุ๊กตาพระพุทธรูป ไปให้ตำรวจช่วย
ประกาศหาเจ้าของที่แท้จริง ตำรวจตรวจเช็คอย่างละเอียด ที่แท้ภายในสอดไส้ด้วย เฮโรอีน
มากมาย นี่แหละกลโกงของพวกมิจฉาชีพ\” ชาญ แสดงความคิดเห็นและยกตัวอย่างจริง เป็นเชิง
อธิบายขยายความต่อจากที่ภรรยาข้าพเจ้าเล่า
\”เรื่องราวที่คุณเห็นในโทรทัศน์เป็นอย่างนี้หรือเปล่า\” เจ้าหน้าที่กงสุลฯ ระดับสูง
ถาม
\” ก็คล้าย ๆ กัน เพียงแต่ภายในตุ๊กตานั้น ไม่ใช่เฮโรอีน
ผู้หญิงคนหนึ่ง ชอบเดินทางโดยสารเครื่องบินบ่อย ๆ แต่ไม่ค่อยมีสัมภาระ วันหนึ่ง
มีเพื่อนผู้ชายนำตุ๊กตามาฝากให้ถือ โดยบอกกับเธอว่า เขาเป็นผู้ชาย ถือตุ๊กตาจะแลดูน่าเกลียด
เธอเชื่อและถือตุ๊กตาตัวนั้นผ่านด่านตรวจออกมาได้ หลังจากนั้น จึงเกิดกรณีเช่นนี้บ่อย ๆ วันหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ศุลกากรเกิดสงสัย จึงขอตรวจค้นดู ปรากฏว่า ภายในตุ๊กตานั้นบรรจุเพ็ชรแท้ ๆ จำนวน
มากมายมูลค่ามหาศาล ใช่แล้ว…เป็นเพ็ชรเถื่อน เธอกลายเป็นผู้ทำผิดกฏหมายและสูญเสียเงิน
มากมายเพื่อแลกกับอิสระภาพ ผู้ชายคนนี้ ร้ายจริง ๆ ทำเป็นอายไม่กล้าอุ้มตุ๊กตา แต่ไม่อายที่
จะชักพาเพื่อนไปติดตาราง\” ภรรยาข้าพเจ้าเล่าจบลงพร้อมกับส่งเสียงหัวเราะชอบใจ
ถัดจากนั้น ข้าพเจ้าจึงถามขึ้นบ้าง \”นักโทษไต้หวันในเมืองไทย มีสักเท่าไร และ
ส่วนใหญ่เป็นนักโทษประเภทไหน\” ข้าพเจ้าถาม
\”มีประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่ต้องคดี ค้ายาเสพติด นอกนั้น เป็นพวกฆ่าคนตายหรือ
ไม่ก็ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย\” ชาญ เป็นผู้ให้ความกระจ่าง
\”มีนักโทษชายกี่คน และหญิงกี่คน\” ข้าพเจ้าถามต่อ
\”นักโทษหญิงมีน้อยประมาณ 3-4 คน ส่วนใหญ่เป็นนักโทษชาย นักโทษหญิงจะถูกจำ
ขังอยู่ที่ทัณฑ์สถานหญิง ส่วนนักโทษชายจะถูกจองจำอยู่หลายแห่ง ที่มากที่สุดคือ คุกบางขวาง\”
ชาญ ตอบ
\”นักโทษเหล่านี้ ท่าทางน่ากลัวไหม และเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจับพวกเราเป็นตัว
ประกันเวลาไปเยี่ยม\” ข้าพเจ้าถาม
\”นักโทษเหล่านี้คงไม่กล้าเสี่ยงหรอก เพราะหนีอย่างไรคงหนีไม่รอด ภายในคุกนั้น
แน่นหนามาก อีกอย่างหนึ่ง พวกเราเข้าไปในวันราชการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เวรยามทำงานจำนวน
มาก จึงคิดว่าน่าจะปลอดภัย\” ชาญพูดต่อ
จากนั้น จึงได้ทำการนัดแนะกันว่า จะไปตรวจนักโทษไต้หวันในอีก 2 อาทิตย์ถัดมา
โดยเลือกเอาเวลาราชการเป็นหลักและใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน
เมื่อถึงกำหนดนัดหมาย ข้าพเจ้าได้ชวนพยาบาลท่านหนึ่ง ชื่อ คุณณัฐชนก รุ่งกิจจิตร-
ไพศาล ไปด้วย เพื่อช่วยเหลือในการตรวจรักษา เธอผู้นี้สามารถพูดภาษาจีนกลางได้ดีเช่นกัน
ในวันแรกตามหมายกำหนดการ พวกเราจะไปเยี่ยมนักโทษที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง
ในช่วงตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายจะไปเยี่ยมนักโทษชายที่ คุกเรือนจำคลองเปรม (ลาดยาว)
ก่อนออกเดินทาง คุณณัฐชนก บอกกับข้าพเจ้าว่า \”ปรัชญาของคุก คือ อย่าหวังอะไร
ให้มากนัก\” โดยเล่าเรื่องราวประกอบดังนี้
ที่คุกต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง นักโทษชายรายใหม่ ถูกคำสั่งจำขัง 1 เดือน ด้วยข้อหาก่อ
เรื่องวุ่นวาย มีความประสงค์อยากจะกินอาหารข้างนอกเรือนจำเหมือนดั่งที่เคยกินมาบ้าง จึง
ฝากสั่งรายการอาหารไปกับผู้คุม 2 อย่าง พร้อมกับสตางค์ครบตามจำนวน อาหารดังกล่าว ได้แก่
\”โอเลี้ยง กับ ผัดไทย\” ผู้คุมเรือนจำบอกว่า \”ใจเย็น ๆ หน่อยนะ ไอ้หนุ่ม\”
ตกตอนเย็น นักโทษคนนั้นรู้สึกหิว นัยน์ตามองหาผู้คุมคนที่ฝากสั่งอาหาร มองเท่าไร
ก็ไม่เห็นแม้แต่เงา เขาร้อนใจจึงถามนักโทษที่มาอยู่ก่อนหน้าว่า \”ทำไมไม่เห็น ใครเอาอาหาร
ตามสั่งมาส่งเลย สงสัยจะลืม\”
นักโทษอื่นที่ได้ยินต่างหัวเราะขึ้นพร้อมกันว่า \”ที่นี่เราอยู่ในคุกนะ ไม่ใช่ภัตตาคาร ที่
สั่งอาหารปุ๊บ จะได้ปั๊บ ผู้คุมเขาไม่ลืมหรอก แต่ต้องรออีก 2-3 วันถึงจะได้\”
นักโทษคนนั้น ตกใจอุทานว่า \”ตายจริง! สั่งอาหารธรรมดาง่าย ๆ 2 อย่างแค่นี้
ต้องใช้เวลา 2-3 วันเชียวหรือ\” คำตอบก็คือ \”2-3 วัน ถ้าได้ตามสั่งก็ดีแล้ว\”
เวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ ผู้คุมนำอาหารตามสั่งมาส่ง ปรากฏว่า เป็น \”ลาดหน้า
เส้นใหญ่ กับ ชาเย็น\” นักโทษคนดังกล่าว ไม่ต่อว่าใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะชินกับการตั้งตารอ
เสียแล้ว แต่รำพึงรำพันกับตัวเองออกมาดัง ๆ ว่า \”สั่ง โอเลี้ยง กับ ผัดไทย กลับได้ ลาดหน้า
เส้นใหญ่ กับ ชาเย็น ไม่เป็นไร…กำลังอยากจะกิน ลาดหน้าเส้นใหญ่อยู่พอดี\” นี่คือ ความเป็น
ไปของคุกไทย อยากได้อะไร จะต้องไม่ได้ตามต้องการเสมอ\”
การที่ใครจะเข้าไปในเขตทัณฑสถาน ไม่ใช่คิดว่าจะเข้าไป ก็เข้าไปได้ทันที ทุกคน
จะต้องทำหนังสือราชการแจ้งล่วงหน้าไปก่อน ยิ่งเป็นการเข้าไปเพื่อตรวจรักษา ยิ่งต้องทำหนังสือ
แจ้งล่วงหน้าเข้าไปแต่เนิ่น ๆ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน เพราะจะต้องใช้เวลาใน
การจัดเตรียมนักโทษจากแดนต่าง ๆ พร้อมทั้งประวัติการรักษาเดิมที่เคยมีมา ภายในทัณฑสถาน
นั้นให้กับเรา พวกเราก็เช่นเดียวกันได้ดำเนินการล่วงหน้า 2 สัปดาห์มาแล้ว อย่างไรก็ตาม
เมื่อมาติดต่อบริเวณด้านหน้าของทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ยังต้องตรวจสอบหนังสือราชการ บัตร
ประชาชน หรือหนังสือเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันความผิดพลาด นอกจากนั้น
ยังห้ามนำเอาอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเข้าไป
ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง พอย่างเท้าก้าวเข้าไป ข้าพเจ้าก็ต้องแปลกใจ เพราะภายในดู
สะอาดตามาก ประกอบไปด้วย บ้านพักเป็นหลัง ๆ อยู่ทางด้านหน้า มีสนามหญ้าเป็นหย่อม ๆ ใน
หลายบริเวณ มีโรงงานเย็บผ้าขนาดใหญ่อยู่ถัดเข้าไปไม่มากนัก เข้าใจว่า สถานที่คุมขังนักโทษ
จริง ๆ คงอยู่ทางด้านหลัง
เท่าที่สังเกต ก็เห็นนักโทษหญิงเดินไปมาค่อนข้างอิสระ \”ทุกคนมีหน้าที่ทั้งนั้นแหละ
อย่างน้อย ก็ต้องทำความสะอาดเก็บกวาดบริเวณ\” เจ้าหน้าที่ที่พาเราเข้ามาบอกกับข้าพเจ้า
อย่างนั้น
เมื่อมาถึงบ้าน 2 ชั้นหลังหนึ่ง ซึ่งทำเป็นสถานรักษาพยาบาลที่ชั้นบน พวกเราอัน
ประกอบด้วย ข้าพเจ้า,พยาบาล และเจ้าหน้าที่จากกงสุลใต้หวันอีก 2 คน ต่างแยกย้ายกัน
ทำหน้าที่ของตนเอง ข้าพเจ้าและพยาบาล เข้าไปอยู่ในห้องตรวจโรค เจ้าหน้าที่กงสุลฯ ทั้งสอง
คนอยู่นอกห้องที่ชานระเบียง คอยซักถามสารทุกข์สุขดิบของนักโทษหญิง
นักโทษหญิงที่มาตรวจในวันนั้น มีด้วยกัน 3 คน ทุกคนมีคดีติดตัวเหมือนกัน คือ คดี
ยาเสพติด แต่มีอยู่คนหนึ่งที่น่าสนใจ เธอถูกจับขณะตั้งครรภ์ใกล้คลอดแล้ว โดยตำรวจเข้าไปค้น
หาของกลางในบ้าน ค้นอย่างไรก็หาไม่พบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องค้นตัวเธอและสามี สามีเธอคิดว่า
ภรรยาตั้งครรภ์ ตำรวจคงจะไม่ค้นตัว ที่ไหนได้ การกระทำเช่นนี้ ทำให้ภรรยาต้องติดคุกไปด้วย
นักโทษหญิงคนนี้ ต้องมาชดใช้กรรมที่สามีก่อขึ้น ณ สถานที่นี้เป็นเวลาได้ 3 ปีแล้ว
เธอคลอดบุตรหลังจากถูกจับได้ไม่นานนัก ที่โรงพยาบาลตำรวจ และนำบุตรมาเลี้ยงต่อที่นี่อยู่หลาย
วัน จากนั้นได้ติดต่อญาติทางใต้หวัน ให้มารับลูกของเธอไปอุปการะเลี้ยงดู แม่อยู่ในคุก ลูกอยู่
ห่างหัวอกแม่ ไม่มีคนคอยอบรมดูแล ต่อไปจะเป็นคนเลวของสังคมหรือไม่ ใครจะรู้ได้
ในระหว่างที่ตรวจนักโทษ มีสตรีหน้าตาดีอีกท่านหนึ่งในชุดนักโทษ คอยเข้ามาอำนวย
ความสะดวกและแปลภาษาจีนให้ด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจจึงถามเธอว่า \”ทำไมถึงมาคอย
ช่วยเหลือ\” เธอตอบว่า \”หนูเป็นพยาบาลโรงบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกจับเรื่องยาเสพติด พอดีหนู
พูดภาษาจีนได้ เขาจึงให้มาช่วยแปลเวลามีหมอมาตรวจ\” ข้าพเจ้าบอกเธอว่า \”ผมและพยาบาล
ที่มาด้วยกันต่างพูดภาษาจีนได้ดี คงไม่ต้องช่วยเหลือในเรื่องนี้หรอก แต่ผมอยากจะรู้ว่า ทำไมถึง
ต้องคดี เรื่องนี้ผมอยากรู้มากกว่า\”
นักโทษพยาบาลผู้นี้เล่าไปขณะที่ข้าพเจ้าตรวจสุขภาพ นักโทษหญิงใต้หวันทั้ง 3 คน
เธอเล่าว่า \”หนูเรียนจบปริญญาตรีพยาบาลและทำงานที่โรงพยาบาล (ขอสงวน
นาม)….เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันหนึ่งมีเพื่อนโทรมาชวนกลับบ้านเพราะบ้านหนูอยู่ในเส้นทางที่รถ
ของเขาผ่านพอดี ซึ่งปรกติหนูก็อาศัยรถของเพื่อนผู้ชายคนนี้อยู่บ่อย ๆ วันนั้น เขามีเพื่อนมาอีก
2 คน เป็นผู้ชายนั่งอยู่เบาะทางด้านหลัง หนูนั่งเบาะด้านหน้าคู่กับเขา พอผ่านด่านตรวจตำรวจ
แห่งหนึ่งแถวดอนเมือง ตำรวจก็เรียกให้หยุดและขอตรวจค้นเหมือนรถคันอื่น ๆ บริเวณนั้น คาด
ไม่ถึง พอตรวจที่กระโปรงรถเท่านั้นแหละ หนูแทบช็อคที่ได้ยินตำรวจบอกว่า พบยาเสพติด หนู
พยายามอธิบายอย่างไร ตำรวจก็ไม่ยอม แม้แต่ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาที่สถานีตำรวจ
และยืนยันการปฏิบัติงานของหนูว่าเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์มาโดยตลอด แต่ทางตำรวจบอกว่า
ช่วยไม่ได้ เพราะจำนนด้วยหลักฐาน หนูได้ขอยื่นอุทรณ์ทุกปี ทางศาลก็ไม่ยอมพิจารณา เคยถาม
เจ้าหน้าที่เรือนจำเหมือนกันว่า กรณีของหนูจะได้เป็นอิสระเมื่อไหร่ เขาบอกว่าหนูช่วยเหลืองาน
ภายในเป็นอย่างดี ถือเป็นนักโทษชั้นดี จะพ้นโทษในอีก 3 ปีข้างหน้า หนูเฝ้านับวันเวลาทุกนาที
และทำความดีทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เวลาผ่านไปเร็ว ๆ บางทีสวรรค์อาจมีตา ช่วยให้
หนูพ้นจากที่นี่เร็วขึ้น\”
พวกเรา ออกจาก ฑัณทสถานหญิง ตอนเที่ยง และแวะรับประทานอาหารที่ภัตาคาร
ด้านข้างของเรือนจำ จากนั้น จึงเดินทางต่อไปยัง เรือนจำกลางคลองเปรม (คุกลาดยาว)
ที่ เรือนจำกลางคลองเปรม (คุกลาดยาว)สถานที่ที่จัดให้พวกเราไปตรวจนักโทษคือ
\”โรงพยาบาลเรือนจำคลองเปรม\” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของเรือนจำทั่วประเทศ ศักยภาพ
ของโรงพยาบาลแห่งนี้คือ สามารถให้บริการผ่าตัดใหญ่ได้มากมาย โดยมีแพทย์ประจำโรงพยาบาล
ผู้ให้บริการประมาณ 10 คน แพทย์เหล่านี้จะทำหน้าที่ตรวจผู้ป่วยนอกในภาคเช้า แต่ก็มีแพทย์
บางคนแยกไปผ่าตัดตามที่กำหนดนัดหมายไว้ในช่วงเวลาเช้าหรือบ่าย นับว่า เป็นโรงพยาบาลที่
ทันสมัยพอสมควร อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไข้นักโทษมากมายที่โรงพยาบาลรองรับไม่ได้ ต้องส่ง
มารักษาตัวยังโรงพยาบาลรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลตำรวจ
ข้าพเจ้าและพยาบาล ได้เข้าประจำที่ในห้องตรวจโรคของโรงพยาบาลเรือนจำแห่ง
นี้ นักโทษไต้หวันที่มาวันนั้น ประมาณ 20 คน นักโทษทุกคนจะต้องพูดคุยเล่าเรื่องราวร้องทุกข์
กับเจ้าหน้าที่ของกงสุลฯก่อน จากนั้น จึงจะเข้ามารับการตรวจรักษาจากข้าพเจ้า
สังเกตว่า นักโทษทุกคนค่อนข้างแข็งแรง โรคที่พบบ่อย ๆ ก็ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็น
โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและนอนไม่หลับ หลายคนมีความในใจอยากจะเล่าถึงความอยุติธรรมที่ตน
ได้รับ เท่าที่คุยกับนักโทษไม่มีใครเลยยอมรับในความผิดที่ตนเองกระทำ ข้าพเจ้าเองเคยสงสัย
เหมือนกันว่า \”มีความผิดพลาดในการจับกุมนักโทษหรือไม่\” แต่อีกใจหนึ่งก็เชื่อว่า \”นักโทษทุกคน
น่าจะกระทำความผิดจริง\” อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ข้องแวะกับสิ่งเสพติดหรือเพื่อนเลว ๆ เรา
คงไม่โชคร้ายต้องมาอยู่ในสถานที่แบบนี้
ศัลยแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เล่าให้ฟังว่า แพทย์ที่อยู่ทำงานในคุก
เป็นแพทย์ผู้เสียสละแต่จะทำงานเพียงเพื่อให้เวลาหมดไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น \”คุก\” เหมือนกับ
ดินแดนอาถรรพ์ ทำงานทุ่มเทอย่างไรก็เท่านั้น ยิ่งนับวัน วิชาการก็ยิ่งจะลดน้อยถอยลง กับทั้ง
ขาดการส่งเสริมให้มีชื่อเสียงเหมือนแพทย์ทั่ว ๆ ไปที่อยู่ข้างนอก แรงจูงใจให้อยู่ที่นี่มีเพียง \”ได้
ทำงานที่ตนชอบ\” เพียงแค่นั้น
ข้าพเจ้าเก็บเอาความรู้สึกของศัลยแพทย์คนดังกล่าวเอาไว้ เพื่อเตือนใจ \”ให้
ทำงานในสิ่งที่ตนรักให้ดี จะได้มีความสุขในทุก ๆ สถานที่ที่เราอยู่\” คนเราเกิดมาเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะไม่ทำความชั่วได้ โดยเฉพาะความชั่วที่จะทำให้ต้องมาอยู่ในสถานที่ที่ไร้อิสระเช่นนี้
ในวันที่สองของการตรวจรักษานักโทษใต้หวัน คณะพวกเราชุดเดิมได้เดินทางไป
เรือนจำกลางบางขวาง นนทบุรี คุกบางขวาง แห่งนี้ถือว่าเป็นดินแดนที่นักโทษไม่ชอบมากที่สุด
เพราะที่นี่รับเฉพาะนักโทษอุกฉกรรจ์ ที่ต้องรับโทษ 30-40 ปีขึ้นไปทั้งนั้น
ภายในคุกบางขวางของนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ แทนที่จะสกปรกหรือเลวร้าย กลับ
กลายเป็นสถานที่ค่อนข้างสะดวกสบาย และสะอาดอย่างมาก ข้าพเจ้าบอกเตือนคุณณัฐชนก
พยาบาลที่มาด้วยกันว่า \”อย่าประมาท หากพลาดพลั้ง อาจได้ลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ในฐานะตัว
ประกันของนักโทษ\” คุณณัฐชนก หัวเราะชอบใจ แต่ก็ไม่ว่าอะไร พวกเรายังคงก้าวเข้าไป
ภายในคุก อย่างไม่สะทกสะท้านแต่ในใจซ่อนความกลัวไว้นิด ๆ
คณะของพวกเราได้รับการต้อนรับอย่างดี จากเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ เจ้าหน้าที่เดิน
นำพวกเราเข้าไปยังห้องตรวจโรคชั่วคราวของเรือนจำ ระหว่างทางเดิน ข้าพเจ้าสังเกตเห็น
แปลงสวนผัก ผลไม้และกรงสัตว์เลี้ยง รวมทั้งสนามกีฬาบาสเกตบอลด้วย
\”ที่นี่ เราส่งเสริมให้นักโทษใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยการปลูกผักเลี้ยงสัตว์
และออกกำลังกาย\” เจ้าหน้าที่อธิบายเมื่อเห็นเราสงสัย
ที่ห้องตรวจโรคชั่วคราวของเรือนจำบางขวาง พวกเราแยกย้ายกันทำหน้าที่ของ
ตัวเองอย่างรวดเร็ว นักโทษใต้หวันทุกคนที่มาตรวจได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็น
อย่างดี ทุกคนไม่มีโซ่ตรวนผูกที่ข้อมือและข้อเท้า ที่น่าแปลกใจสำหรับข้าพเจ้า คือ นักโทษเกือบ
ทุกคนพูดภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าถามนักโทษคนหนึ่งว่า \”ทำไมถึงพูดภาษาไทยได้ดี\”
เขาตอบว่า \”อยู่ที่นี่หลาย ๆ ปี ต้องใช้ภาษาไทยพูดคุยกับนักโทษคนไทยทุกวัน ทำให้พูดได้เองโดย
อัตโนมัติ\” นี่คือ คำเฉลยอย่างหนึ่งที่ว่า \”ทักษะเรื่องภาษาฝึกหัดพัฒนาด้วยการปฏิบัติจริงดีที่สุด\”
ข้าพเจ้าเรียนภาษาอังกฤษมาสิบกว่าปี ทุกวันนี้ยังพูดไม่ได้ดีเลย เพราะขาดการฝึกฝนพูดคุย
ตรงกันข้ามกับภาษาจีน ซึ่งข้าพเจ้ารู้ตัวอักษรน้อยมาก แต่อาศัยพูดคุยกับชาวใต้หวันบ่อย ๆ ทำให้เรา
พูดได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหา
การตรวจสุขภาพของนักโทษใต้หวัน ผ่านไปโดยราบรื่น นักโทษทุกคนมีสุขภาพ
ค่อนข้างแข็งแรง ที่จะเป็นปัญหา คงเป็นเรื่อง \”ฟัน\” มากกว่า นักโทษทุกคนหากมีปัญหาเกี่ยวกับ
ฟัน จะไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใด ไม่มีการอุดฟัน,รักษารากฟันหรือขูดหินปูนใด ๆ มีวิธีการ
เดียวที่ให้กับนักโทษ คือ ถอนฟัน เพราะทำง่าย ไม่เสียเวลาและขจัดปัญหาที่จะมีต่อเนื่องไปอีก
ข้าพเจ้ารักษาในส่วนของร่างกายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ \”ฟัน\” ของนักโทษ โดยเขียนใบสั่ง
ยาและมอบให้เจ้าหน้าที่กงสุลฯ เป็นผู้จัดหายามาให้ในภายหลัง ซึ่งนักโทษทุกคนที่มา ก็ดูพอใจกับ
การดูแลรักษาของพวกเรา ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นเพราะนักโทษทุกคนได้พูดคุยระบายความในใจที่
อัดอั้นมานานมากกว่า ข้าพเจ้าเปิดโอกาสให้นักโทษใต้หวันพูดอะไรก็ได้โดยใช้เวลาไม่เกินคนละ
10 นาที นักโทษที่มาตรวจมีประมาณ 20 คน ใช้เวลาไปทั้งหมดเกือบ 3 ชั่วโมง บางที กงสุล
ไต้หวันอาจจะเชิญหมอผิดคนมาก็ได้ เพราะนักโทษใต้หวันส่วนใหญ่ต้องการหมอรักษาทาง \”ใจ\”
มากกว่าทาง \”กาย\”
ใจของมนุษย์นั้น สำคัญที่สุด เพราะ \”ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว\” หากใจของเรา
เสียหาย ร่างกายของเราจะทรงอยู่ได้อย่างไร ข้าพเจ้ารู้ได้เลยว่านักโทษทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในคุก
ทุกวันนี้ โดยไม่ยอมฆ่าตัวตายหรือหมดอาลัย เนื่องจากทุกคนยังมีความหวังอยู่ หวังว่า สักวันหนึ่ง
เขาจะมีชีวิตที่เป็นอิสระ คนเราที่อยู่นอกฑัณทสถานซึ่งเป็นอิสระอยู่แล้ว ทำไมหลายต่อหลายคนถึง
ไม่ใช้ \”ความเป็นอิสระเสรี\” ให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า
บางที คนเหล่านั้น อาจยังไม่เคยเห็น ชีวิตของนักโทษดังที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสมา หาก
ได้มีโอกาสพบเห็นความเป็นอยู่ของนักโทษเหล่านี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่า ทุกคนจะมองชีวิตของ
ตนเองมีค่า มีค่าพอที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองและครอบครัว ทุกคนจะตระหนักรู้เลยว่า \”ชีวิตนี้
มีความหมาย\” เหลือเกิน และวันข้างหน้ายังเหลืออยู่น้อย น่าจะรีบคว้า \”เวลา\” เอาไว้สร้าง
\”ความสุขและความสำเร็จ\”

@@@@@@@@@@@@@@@@@
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *