เพื่อน

“หมู่บ้านเทอดไทย” เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลขึ้นไปบนดอย แต่จัดว่า เป็นหมู่บ้านที่เจริญกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ในเขตอำเภอเดียวกัน เพราะมีน้ำไฟและเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน
บ้านส่วนใหญ่ทำเป็นลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ชั้นเดียว แต่มีบ้านไม่มากนักที่ทำเป็นบ้าน 2-3 ชั้น ซึ่งในจำนวนนั้นมีบ้านของเพื่อนภรรยาข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย
ร้านค้ามีอยู่มากมาย เปิดขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ มีร้านค้าที่จัดว่าใหญ่เพียงร้านเดียว โดยดัดแปลงจากห้องแถว 3 ห้อง ที่ติดกันมาทำเป็นลักษณะคล้าย ๆ “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” สินค้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าต่าง ๆ ล้วนหลากหลายมีมากมายเต็มไปหมด สินค้าตามพื้นราบมีอะไร สินค้าใน “หมู่บ้านเทอดไทย\” ก็มีอย่างนั้น จึงนับว่าประชาชนที่นี่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีพอสมควร
ถนนหนทางภายในและถนนหลักที่เข้า-ออกหมู่บ้าน ส่วนมากลาดยางหรือไม่ก็เป็นพื้นปูนซีเมนต์ เพียงแต่ขนาดของถนนกว้างพอแค่รถยนต์ 2 คัน หลีกกันเท่านั้น ปั๊มน้ำมัน ยังมีลักษณะเป็นแบบปั๊มชั่วคราวด้วยการประยุกต์เอาถังน้ำมัน 4-5 ถังมาวางเรียงกัน แล้วติดเครื่องสูบมือหมุนอย่างง่าย ๆ บนถัง
โรงเรียนมี 2 แห่ง แต่ละแห่งขนาดไม่ใหญ่ รับนักเรียนได้แห่งละประมาณ 100 คน อุปกรณ์การเรียนดัดแปลงใช้แบบง่าย ๆ มีโต๊ะเรียนไม้เล็ก ๆ ห้องละประมาณ 20 ตัว พร้อมกับมีกระดานดำใหญ่กระดานหนึ่งด้านหน้าชั้นเรียน
โรงพยาบาลสาธารณสุขมีอยู่ 1 แห่ง ค่อนข้างทันสมัย ขนาด 10 เตียง มีแพทย์แผนปัจจุบัน 1 ท่าน สามารถรองรับประชากรที่นี่ และหมู่บ้านใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
สถานที่ที่แปลกกว่าที่อื่น ๆ เห็นจะเป็น “กองบัญชาการทหารของขุนส่า” ซึ่งแต่เดิมว่า ขุนส่า ราชาเฮโรอีนระดับโลกใช้ฝึกทหารกองบัญชาการแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินกว้าง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และอยู่สูงกว่าระดับหมู่บ้านมากพอที่จะมองเห็นทั่วทั้งบริเวณของหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะจะเป็นกองบัญชาการ ที่นี่มีบ้านพักและห้องเรียนรวมกันประมาณ 10 ห้อง สถานที่ก่อเป็นพื้นปูนทุกด้านและหลังคามุงกระเบื้อง แต่ก่อนขุนส่าใช้ที่นี่ซ่องสุมกำลังพลเป็นกองทหารเล็ก ๆ เพื่อต่อสู้กับศัตรูที่มีอยู่รอบด้าน ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าขาดคนดูแล แต่ถือเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งทีเดียว
ทำไม ข้าพเจ้าและครอบครัว จึงเดินทางทาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ?
เพราะที่นี่ เรามีเพื่อนอยู่คนหนึ่งเป็นสุภาพสตรี ใคร ๆ เรียกเธอว่า “กาญจน์” คุณกาญจน์ป่วยเป็นโรคไต มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537-2538 ปัจจุบันได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ไตข้างหนึ่งของพี่สาวคนโตมาเปลี่ยนให้ ขณะนี้เวลาผ่านมาได้ 10 เดือน เธอกำลังรอที่จะเดินทางไปประเทศไต้หวันในไม่อีกกี่วันข้างหน้า เมื่อไปแล้ว คงจะไม่กลับมาประเทศไทยอีก
คุณกาญจน์ เป็นสาวโสด อายุ 36 ปี สูงประมาณ 160 เซนติเมตรรูปร่างท้วมใหญ่ น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ผิวดำคล้ำ ในหน้ากลมและมีสิวเม็ดดำ ๆ อยู่หลายแห่ง ที่เป็นเช่นนี้ คงเนื่องจากภาวะไตวาย และผลของยาที่รักษา เพื่อให้เธอยังคงมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข
ข้าพเจ้าได้รู้จัก คุณกาญจน์จากภรรยาข้าพเจ้าเมื่อ 6-7 ปีก่อน ตอนนั้น เธอยังเป็นคนที่สวยมาก เอวบาง ร่างน้อย พูดจาฉะฉาน และทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทฯ แห่งหนึ่ง
คาดไม่ถึง เมื่อประมาณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 เธอได้มาหาข้าพเจ้า และบอกว่า เธอมีอาการบวมทั้งตัว ปัสสาวะออกน้อย และความดันโลหิตสูง สงสัยจะเป็นโรคไต ขอให้ช่วยหาอายุรแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคไตให้หน่อย
เมื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์บอกว่า เธอป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต ความดันโลหิตขณะนั้นสูงมาก จนถึงขั้นอันตราย ซึ่งวัดได้ 200/130 มิลลิเมตรปรอท
คุณกาญจน์เข้าออกโรงพยาบาลแห่งนี้ 3 ครั้งในเวลา 2 เดือน ครั้งหนึ่ง ๆ จะนอนพักอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์ หมอให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูงและภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งสมมติฐานของโรค คือ ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ทำให้เกิดไตวาย หรือเป็นโรคไตมาก่อนแล้วมีผลให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา ทั้งสองสมมติฐานเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ที่น่าจะเป็นคือ คุณกาญจน์มีโรคไตอยู่ก่อนแล้ว และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เวลาที่ผ่านมา 2-3 ปี ทำให้ไตเสียหายไปอย่างมาก จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งปรากฏอาการรุนแรงออกมา ดังที่เห็น
เมื่อแรกให้การรักษาใหม่ ๆ อาการของเธอดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ต่อมาอาการทางไตกลับแย่ลงอย่างมาก ผลตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ซึ่งตรวจจาก CREATININE เลวลงจาก 3.6 เป็น 9.4, ค่า BUN เปลี่ยนแปลงจาก 54 เพิ่มเป็น 67 และมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะจำนวนมาก โชคดีที่ภาวะไตวายของเธฮเป็นชนิดที่มีปัสสาวะไหลออกมาตามปกติ จึงไม่ทำให้เธอเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
ข้าพเจ้าบอกกับภรรยาว่า “คุณกาญจน์ คงจะมีอายุต่อไปได้ไม่เกิน 2 ปี หากไม่ผ่าตัดเปลี่ยนไต ช่วงนี้ น่าจะพูดคุยให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แต่เนิ่น ๆ และรีบกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่พี่น้องทางภาคเหนือ ส่วนการรักษาต่อเนื่องให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลมหานครเชียงใหม่ เวลาของคุณกาญจน์ขณะนี้เหลือน้อยเต็มที น่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่”
หลังจากนั้น คุณกาญจน์ ได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับญาติพี่น้องทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่เดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างพี่สาวคนโตที่ “หมู่บ้านเทอดไท\” และพี่สาวคนที่สาม ซึ่งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ข้าพเจ้าไม่ได้พบปะเธอมา 2 ปีแล้ว เพียงแต่ทราบข่าวคราวว่าเธอได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต และกลับไปรักษาตัวที่ “หมู่บ้านเทอดไทย\” มานานหลายเดือน การที่จะเดินทางไปประเทศไต้หวันก็เพื่อรักษาตัวต่อที่นั้น โดยไม่ต้องใช้เงินส่วนตัว แต่อาศัยการประกันสังคมช่วยเหลือ
เครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินไทย ร่อนลงที่สนามบินจังหวัดเชียงราย ตอนค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังลากกระเป๋าสัมภาระ เพื่อจะออกจากด่านตรวจของเจ้าหน้าที่สนามบิน ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเรียก “ปาป้า” แล้วก็มีร่างของหนูน้อยน่ารัก ลูกชายข้าพเจ้าวิ่งเข้ามาหา ลูกข้าพเจ้าบอกว่า “มารออยู่สนามบินกับคุณแม่และคุณน้ากาญจน์ตั้งนานแล้ว” ข้าพเจ้าได้แต่หัวเราะ โอบกอดลูกไว้ในอ้อมอกและค่อย ๆ เดินออกมา ลูกและภรรยาข้าพเจ้าล่วงหน้ามาก่อน 2 วัน ในระหว่างอยู่บนดอยนั้น ลูกเกิดไม่สบายเป็นหวัดและร้องไห้อยากจะกลับบ้านทั้ง 2 วัน เพิ่งจะมีอาการดีขึ้นวันนี้เอง
“คุณกาญจน์ สบายดีหรือ?” ข้าพเจ้าเอ่ยทัก “เราไม่ได้เจอกันมานาน 2 ปีแล้วนะ คุณกาญจน์ท่าทางยังแข็งแรงดีอยู่เลย”
“ตอนนี้ค่ำแล้ว พวกเรารีบกลับขึ้นไปบนดอยดีกว่า ฉันมีอะไรจะเล่าให้ฟังมากมาย” คุณกาญจน์ไม่พูดอะไรอีกแล้ว เธอคว้ามือลูกชายข้าพเจ้าออกเดินนำ รีบพาข้าพเจ้าและภรรยาขึ้นรถตู้เช่า พร้อมกับเร่งคนขับรถให้รีบขับรถกลับสู่ “หมู่บ้านเทอดไท\”
ถนนหนทางบนพื้นราบนั้นเรียบร้อยดี จะมีที่ลำบาก ก็เห็นจะเป็นระหว่างทางที่ไต่ขึ้นดอย แม้จะเป็นถนนลาดยาง แต่เส้นทางส่วนใหญ่ค่อนข้างคดเคี้ยวอย่างน่ากลัวทีเดียว พวกเราที่นั่งอยู่ในรถต้องพยายามทรงตัวให้มั่นและจับยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งในรถ เพื่อไม่ให้ถลาไปตามแรงเหวี่ยงขณะเลี้ยว
ข้าพเจ้ามัวแต่สอบถามเรื่องราวการเจ็บป่วยของลูกในระหว่าง 2 วันนี้ที่ภรรยาโทรทางไกรไปบอก จึงไม่ได้คุยกับคุณกาญจน์มากนัก ชั่วระยะเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง พวกเราทุกคนก็เดินทางมาถึง “หมู่บ้านเทอดไทย\” โดยปลอดภัย
ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จากพี่สาวคนโตของคุณกาญจน์และสามี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน และการพักผ่อนในยามค่ำคืน บ้านที่พวกเราพักอาศัยเป็นบ้านหลังใหญ่ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 ชั้น มีห้องนอนรวมกันเกือบ 10 ห้อง
“ที่นี่เคยเป็น คลินิกรักษาคนไข้ของพี่เขย ตอนที่ยังไม่มีโรงพยาบาลสาธารณสุข” คุณกาญจน์เล่าให้ฟัง “พี่เขยเป็นหมอพื้นบ้านและเป็นหมอประจำตัวของขุนส่า มีความรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ และการให้น้ำเกลือพอสมควร แต่ก่อนมีชาวบ้านมารักษาและให้น้ำเกลือที่นี่มากมายทำให้พี่เขยมีรายได้ร่ำรวยพอสมควร เดี๋ยวนี้ ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ชาวบ้านยามป่วยไข้จะไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันในโรงพยาบาลสาธารณสุข ที่นี่จึงไม่คึกคักเหมือนเก่า ห้องพักต่าง ๆ ในบ้านล้วนว่างเปล่า และมีที่นอนหมอนมุ้งอยู่มากมาย คุณอยากจะนอนห้องไหน ก็เลือกได้ตามชอบใจ”
ที่คุณกาญจน์พูดเช่นนี้ เพราะต้องการจะเล่าความเป็นมาของบ้านหลังนี้ที่ดูดีกว่า บ้านหลังอื่นในหมู่บ้านให้ฟัง อีกประการหนึ่ง คือ เธอจำเป็นต้องนอนห้องเดียวกับภรรยาและลูกข้าพเจ้า เพราะห้องนั้นมีห้องน้ำในตัว ซึ่งเธอจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำตอนกลางคืน คืนละหลายครั้ง ส่วนห้องอื่นข้างบนชั้น 2 และ 3 นั้น จะมีห้องน้ำรวมอยู่ทางด้านนอก ทำให้ไม่สะดวกสำหรับคุณกาญจน์เวลาเข้าห้องน้ำในยามค่ำคืน

อ่านต่อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *