“เฉียด”

ใครเลยจะรู้ซึ้งถึงจิตใจของผู้เป็นแม่ที่กำลังจะสูญเสียลูกในท้องไป ว่าทุกข์ทรมานใจ
เพียงใด ภาพของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่กอดกันร้องไห้ ด้านนอกห้องประชุมชั้น 4 ของโรงแรม
โซลทวิน ยังติดตาข้าพเจ้าอยู่แลย
สามีภรรยาคู่นี้ เดินทางไกลมาจากจังหวัดสระบุรีอย่างกะทันหัน เพราะข้าพเจ้า
แนะนำว่า ตอนนี้มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูอัลตราซาวนด์ระดับโลก จากประเทศนอรเวย์
มาอบรมความรู้เรื่อง \”การใช้อัลตราซาวนด์ระดับสูง\” แก่สูติ-นรีแพทย์ในเมืองไทย ดังนั้น เรา
ควรฉวยโอกาสให้คณะแพทย์เหล่านี้ตรวจดูลูกในครรภ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ขณะที่ตรวจดูอัลตราซาวนด์ คณะแพทย์ชาวนอรเวย์เหล่านั้นต่างมีสีหน้าวิตกกังวลมาก
และช่วยกันตรวจซ้ำหลายครั้ง เพื่อย้ำความมั่นใจในสิ่งที่พบ พลางกระซิบบอกกับข้าพเจ้าว่า \”เด็ก
คนนี้ไม่มี ไต คงไม่รอดแน่ คุณหมอต้องค่อย ๆ พูดปลอบโยนคนไข้ให้รู้ และทำใจว่า ความสูญเสีย
ที่ยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น\”
ภาพของทารกในครรภ์ ปรากฏขึ้นบนจอผ้าขนาดใหญ่หน้าห้องประชุม โดยอาศัยเทคนิค
พิเศษทางมัลติมีเดียช่วย ข้าพเจ้าแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงประวัติคร่าว ๆ ของคนไข้ว่า
\”ผู้ป่วยสตรีรายนี้ สามีไม่มีอสุจิในน้ำเชื้อ มารักษาภาวะมีลูกยากเมื่อปีที่แล้ว ข้าพเจ้า
ได้ทำกรรมวิธี เทเซ่/อิ๊กซี่ ให้ไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 ขณะนี้ตั้งครรภ์ได้ 33 สัปดาห์แล้ว
ตอนที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ได้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงขึ้น คือ มีน้ำเพิ่มขึ้น
ในช่องท้องอย่างมากมาย หากไม่เจาะดูดทิ้ง ผู้ป่วยอาจตายด้วยภาวะหายใจล้มเหลว ดังนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ทำการเจาะดูดน้ำออกจากช่องท้อง 4 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 10 วัน ครั้งหนึ่ง ๆ
เจาะดูดประมาณ 2000 ซีซี และให้ยาฆ่าเชื้อโรคด้วยทุกครั้ง
โชคไม่ดี ภายหลังจากเจาะดูดน้ำครั้งสุดท้าย ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง คนไข้เกิดมี
อาการไข้สูง หนาวสั่น และช็อก ข้าพเจ้าจึงได้นำส่งห้อง ไอ.ซี.ยู.อุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล
ตำรวจ และปรึกษาแพทย์ทางอายุรกรรมมาช่วยดูแลแก้ไข แพทย์ทางอายุรกรรมได้ให้การวินิจฉัย
เบื้องต้นว่า น่าจะเกิดจากการติดเชื้อทั่วร่างกาย
ช่วงนั้น มีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งว่า น่าจะทำแท้งไปเลย เพราะจะ
ทำให้อาการต่าง ๆ อันเนื่องมาจาก ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป สิ้นสุดลงในเวลาอันรวดเร็ว
ใจหนึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่อีกใจหนึ่งอยากจะทำการรักษาให้เต็มที่ดูก่อน ประกอบกับสามีและตัว
คนไข้เอง สมัครใจที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อแลกกับลูกแฝดสามในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถ
ควบคุมสภาพการณ์ได้ เราจำเป็นต้องรักษาชีวิตมารดาไว้ก่อน โดยไม่คำนึงถึงทารก
ในการฟื้นฟูสภาพของคนไข้จากสภาวะช็อก เราใช้เวลาในช่วงแรกถึง 4 ชั่วโมง
คนไข้จึงทุเลาและหลับได้ ชีพจรเต้นลดลงจาก 150 ครั้งต่อนาที เป็น 120 ครั้งต่อนาที หลังจาก
นั้น อาการของคนไข้ดีขึ้นตามลำดับ ในที่สุดความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของมารดาและการดูแล
อย่างใกล้ชิดของทีมผู้รักษา ได้ช่วยให้คนไข้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์อย่างปลอดภัย และกลับบ้านได้ใน
เวลาต่อมา รวมระยะเวลาที่รักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ 2 สัปดาห์พอดี
ล่วงมาได้ 2 สัปดาห์ จากนั้น ข้าพเจ้าตรวจดูอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดของคนไข้
พบว่า ทารกเหลือรอดชีวิต 2 คน ถัดมาอีก 3 สัปดาห์ ตรวจซ้ำอีกครั้ง คราวนี้ ทารกเหลืออยู่
เพียงคนเดียว ช่างน่าหวาดเสียวเสียเหลือเกิน เพราะไม่รู้ว่า ต่อไปทารกคนสุดท้ายจะตายอีก
หรือไม่
เมื่ออายุครรภ์ได้ 14 สัปดาห์ ข้าพเจ้าคิดว่า ทารกที่มีเพียงหนึ่งเดียวคนนี้ น่าจะอยู่
รอดปลอดภัยแล้ว ส่วนจะได้รับผลกระทบจากการช็อกของมารดาหรือไม่นั้น บอกไม่ได้
ข้าพเจ้าได้เฝ้าติดตามดูอัลตราซาวนด์ให้กับคนไข้ทุก 2-3 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุ
ครรภ์ได้ 23 สัปดาห์ จึงสังเกตพบว่า น้ำคร่ำภายในมดลูกขณะนั้นเหลือน้อยเต็มที
(OLIGOHYDRAMNIOS) \”ทารกน่าจะมีปัญหาเรื่อง ไต เนื่องจากน้ำคร่ำส่วนใหญ่มาจากปัสสาวะ
ของทารก\” ข้าพเจ้าได้อธิบายให้คนไข้และสามีฟัง \”ทารกอยู่ในภาวะอันตราย อาจจะตายได้ทุก
เมื่อ หากมีโอกาสจะส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูอัลตราซาวนด์เพื่อวิเคราะห์ให้แน่ถึงอัวยวะ
ภายในของทารก โดยเฉพาะ ไต\” อย่างไรก็ตาม ทารกดิ้นดีมาตลอด แต่ ภาวะน้ำคร่ำน้อย ไม่ดีขึ้น
เลย จวบจนกระทั่งวันนี้ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญการดูอัลตราซาวนด์ระดับโลกมาเยือนประเทศไทย
ข้าพเจ้าจึงขอให้คนไข้รีบมาตรวจโดยด่วนที่สุด\”
เมื่อเล่าประวัติของคนไข้โดยย่อจบ ข้าพเจ้าได้พาคนไข้และสามีออกนอกห้องประชุม
จากนั้น จึงบอกกับสามีภรรยาคู่นี้ว่า \”ผมเสียใจด้วยจริง ๆ ลูกของคุณ ไม่มี ไต และมีความผิด
ปกติภายในหลายอย่าง น่าจะเสียชีวิตทันทีที่คลอดออกมา\”
คนไข้ปล่อยโฮร้องไห้ออกมาและสวมกอดสามีอยู่ที่ตรงนั้น สามีน้ำตาไหล พลางพูดจา
ปลอบใจภรรยาว่า \”ไม่เป็นไร เรารู้ก่อนตอนนี้ ดีกว่ามาเสียใจภายหลังที่เด็กคลอดออกมาแล้ว\”
ข้าพเจ้าปล่อยให้สามีภรรยาคู่นี้ร้องไห้สักพักหนึ่ง จึงเข้าไปพูดคุยด้วย พลางเสนอแนะ
ว่า \”น่าจะให้คลอดออกมาเลย\”
\”ตกลง พรุ่งนี้หมอผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง ตามกำหนดฤกษ์ดีที่ทางแม่ของผมหา
มาให้\” สามีของคนไข้ตอบ
\”หมอคิดว่า คลอดตามธรรมชาติน่าจะดีกว่า เพราะว่า ไหน ๆ ก็ไม่ได้ลูก น่าจะ
เลือกวิธีที่เจ็บตัวน้อยที่สุด\” ข้าพเจ้าแนะนำ
\”วิธีคลอดตามธรรมชาติ ภรรยาของผมจะปลอดภัยหรือเปล่า ผมบอกตามตรง ตอนนี้
กลัวไปหมดทุกอย่าง\” สามีคนไข้ถาม
\”ปลอดภัยแน่นอน\” ข้าพเจ้ายืนยัน จากนั้น จึงดำเนินการชักนำให้คนไข้เข้าสู่กระบวน
การคลอดในเย็นวันนั้น โดยการเหน็บยาและฉีดยา พรอสตาแกลนดิน คนไข้คลอดอย่างปลอดภัย
ตอน 5.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ได้ทารกเป็นเพศชาย ตายตั้งแต่คลอดออกมา น้ำหนัก 1,300
กรัม ลักษณะภายนอกบอกไม่ได้ว่า มีความผิดปกติ ข้าพเจ้าได้ส่งไปพิสูจน์ศพตามวิธีทางพยาธิ
วิทยา ซึ่งภายหลังผลออกมาว่า \”ทารกไม่มี ไต และมีความผิดปกติในส่วนกระดูกสันหลังที่คดงอ
แต่ส่วนอื่น ๆ ไม่มีความพิการ\”
ข้าพเจ้าดีใจ ที่ทารกมีความผิดปกติเฉพาะที่ \”ไต\” ซึ่งน่าจะมีผลกระทบมาจากการ
ช็อกครั้งนั้น หากไม่มีการช็อกเกิดขึ้น เธอคงไม่ต้องสูญเสียลูก น่าเสียดาย…ที่คนไข้อุตส่าห์เอา
ชีวิตเข้าแลกและจวนเจียน \”เฉียด\” ความตาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ลูก
\”ความจริง ตัวเราก็จวนเจียน \”เฉียด\” ตาย ไปเช่นกัน\” ข้าพเจ้าเล่าให้กับภรรยา
ฟัง \”เพราะถ้าหากไม่ชักชวน คนไข้และสามีให้มาตรวจดูอัลตราซาวนด์ในครั้งนี้ พอผ่าตัดเด็ก
คลอดออกมาตามฤกษ์ แล้วเด็กตาย ตัวเราเองคงต้อง ตาย ไปด้วย เนื่องจาก พ่อแม่,คนไข้,สามี
และญาติมิตรอาจเข้าใจผิด และฟ้องร้องกล่าวโทษเอาได้ แม้ว่าเราจะไม่ประมาทและบอกเตือน
สามีภรรยาคู่นี้มาโดยตลอด\”
คนไข้เฉียดความตาย ข้าพเจ้าเฉียดความโชคร้ายที่จะตกเป็นข่าวใหญ่ จนอาจเป็น
เหตุให้ ตาย ไปในวิชาชีพนี้ได้
\”ภายภาคหน้า ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้คนไข้โชคดีมีลูกที่สมบูรณ์ สม
ดังใจหวัง ด้วยเถิด\”

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *