ลูกผมตายได้ไง?(2)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกชายข้าพเจ้าได้ไปเข้าร่วมในพิธีบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ณ ศูนย์วิปัสสนาเยาวชนผาสุกวนิช ที่จังหวัดราชบุรี.. ก่อนบวชเณร 5 วัน ลูกชายต้องนุ่งขาวห่มขาว โกนหัวและเข้าฝึกอบรมเตรียมตัวที่นั่น ระหว่างนั้น ลูกข้าพเจ้าร้องไห้ทุกวัน เพราะคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ ส่วนการฝึกอบรมก็เข้มข้นจนแทบทนไม่ไหวสำหรับเด็กวัย 13 ขวบ.. ที่ทนไม่ไหว เพราะ ลูกชายข้าพเจ้าไม่เคยลำบาก เขาใช้ชีวิตแบบเจ้าชายน้อยมาโดยตลอด ก่อนบวชสามเณร 1 วัน พระพี่เลี้ยงสังเกตเห็นลูกชายข้าพเจ้าแอบไปร้องไห้ จึงอนุญาตให้เขาโทรศัพท์มาหาข้าพเจ้า ลูกข้าพเจ้าพูดไป ก็ร้องไห้อย่างสะอึกสะอื้น ตอนนั้น ข้าพเจ้าอยากจะโผผินโบยบินไปพบเขาทันที แต่เมื่อปรึกษากับภรรยา ก็ได้โทรศัพท์ไปบอกใหม่ว่า ‘คงต้องไปในวันรุ่งขึ้น’ ลูกก็ยอมรับ
วันที่ 12 เมษายน 2551 ลูกชายก็เข้ารับการบวชเป็นสามเณรสำเร็จเรียบร้อยดี แต่ทันทีหลังจากนั้น ลูกชายได้ขอลาสึก ทางฝ่ายคณะสงฆ์ รวมทั้งพ่อแม่ของเพื่อนๆ ที่บวชด้วย ต่างช่วยกันคัดค้านและชักจูงให้ทนต่อไป ข้าพเจ้าเองก็พูดโน้มน้าวให้อดทนอยู่ต่อด้วยเช่นกัน แต่คำตอบของลูกทำให้ข้าพเจ้าถึงกับน้ำตาไหล เขาบอกว่า “ผมทนไม่ไหวจริงๆครับ?” พระอาจารย์ถามว่า “ทนไม่ไหวตรงไหน อย่างไร? จะได้ช่วยกันแก้” ลูกชายพูดสาธยายอีกยืดยาว แต่ย่นย่อได้ว่า “ผมบอกไม่ถูก อธิบายไม่ได้ แต่ผมรู้ตัวว่า ผมทนต่อไปไม่ไหวจริงๆ ” พระอาจารย์ได้ให้ลูกชายช่วยทำงานเก็บข้าวของ โต๊ะเก้าอี้ที่ใช้ในงานพิธีอีก 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อทดสอบความตั้งใจที่จะสึก ลูกชายก็ยอมทำงานอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้ได้สึก… นี่คือ สิ่งที่ทนไม่ได้ของคนบางคนในโลกนี้
ข้าพเจ้าไม่เคยตำหนิใครที่ทนไม่ได้กับเรื่องราวบางเรื่อง ไม่ใช่เพราะ คนผู้นั้นไม่มีบุญ จึงทนไม่ได้ แต่…เพราะเกิดจากพื้นฐานทางจิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน.. ชาวนาสามารถทนอยู่กับท้องไร่ท้องนาได้เป็นเวลายาวนาน หากแต่เราอาจทนไม่ได้กับความเงียบเหงาเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนทนไม่ได้เหมือนๆกัน ก็คือ เรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับลูก โดยเฉพาะการสูญเสียลูก
เดือนก่อน ข้าพเจ้าประสบพบกับเรื่องราวไม่สบายใจเกี่ยวกับการสูญเสียลูกของคนไข้ 2 ครอบครัว ครอบครัวแรกสูญเสียลูกในครรภ์ปัจจุบัน อีกครอบครัวหนึ่งสูญเสียลูกในครรภ์ที่ผ่านมาแต่ยังมีผลสะท้อนมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก.. แต่..เรื่องราวเหล่านี้ มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เราควรมองย้อนกลับไปตรองดูอย่างพินิจพิเคราะห์ แม้ว่า จะแก้ไขไม่ได้แล้วก็ตาม!!!!
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ คุณชินรัตน์ได้ขอมาฝากครรภ์กับข้าพเจ้า ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากเดิมที่เคยฝากกับสูติแพทย์ท่านอื่น ข้าพเจ้าสังเกตว่า ใบหน้าของคุณชินรัตน์ค่อนข้างซีด แน่นอน!!! เธอน่าจะเป็นโรคโลหิตจาง หลังจากดูผลเลือดฝากครรภ์ ก็พบว่า เธอเป็นโรคเลือดทาลาสซีเมียแฝง ชนิด -thalasemia trait โดยมีคำแนะนำแนบท้ายว่า ‘ควรนำสามีมาตรวจเลือดสำหรับโรคทาลาสซีเมีย เพื่อหาภาวะเสี่ยงในบุตรที่จะเป็นโรคเลือดชนิด Homozygous -thalasemia (-thalasemia major) และ -thalasemia/ Hb E disease’ ซึ่งโรคเลือดทั้งสองชนิดนี้ มีผลทำให้ลูกเสียชีวิตในครรภ์ จากภาวะท้องบาตร (Hydrop fetalis) โชคดีที่ผลเลือดของสามีเธอไม่เป็นโรคทาลาสซีเมียชนิดแฝง มิฉะนั้น ลูกของเธอจะมีโอกาสเกิดโรคเลือดทาลาสซีเมียชนิดร้ายแรง
ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเลยตั้งแต่รับดูแลการฝากครรภ์ของคุณชินรัตน์ เพราะใบหน้าของเธอซีดเซียวมากจากโรคโลหิตจางทาลาสซีเมีย เธอและสามีชวนกันมาฝากครรภ์กับข้าพเจ้าตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หลังจากเคยตรวจครรภ์ครั้งหนึ่งกับสูติแพทย์ท่านอื่น ณ โรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อ 4 สัปดาห์ก่อน ก่อนหน้านั้น เธอยังได้ฝากครรภ์หลายครั้งที่โรงพยาบาลในเครือประกันสังคม แต่ไม่ประทับใจ จึงขอเปลี่ยนมาฝากที่โรงพยาบาลแห่งนี้
ข้าพเจ้าตรวจดูลูกคุณชินรัตน์ด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องตั้งแต่ครั้งแรกที่ฝากครรภ์ ผลการตรวจ พบว่า ทารกมีขนาดประมาณ 28 สัปดาห์เท่ากับอายุครรภ์จริง และไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังได้ส่งคุณชินรัตน์ไปเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์กับผู้เชี่ยวชาญอัลตราซาวนด์ระดับสูงอีกใน 2 สัปดาห์ถัดมา (อายุครรภ์ 30 สัปดาห์) ผลปรากฏว่า ทารกรูปร่างปกติ มีขนาดเท่ากับอายุครรภ์จริง ยกเว้นแต่มีรอยรั่วที่หัวใจ ซึ่งคุณหมอบอกว่า ‘อาจปิดได้เองเมื่อเวลาผ่านไป’ ดังนั้น คงต้องติดตามตรวจดูอัลตราซาวนด์อีกครั้งช่วงใกล้ครบกำหนดคลอด แต่..โชคร้ายก็มาเกิดกับคุณชินรัตน์เสียก่อน
เมื่ออายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ คุณชินรัตน์มาฝากครรภ์ตามนัด ข้าพเจ้าได้ขอทำการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์อีกครั้ง เนื่องจากระดับยอดมดลูกมีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ คุณชินรัตน์รู้สึกเป็นไข้และปวดท้องน้อย เธอเข้ามารับการตรวจที่แผนกสูติ-นรีเวช กับสูติแพทย์ท่านอื่น คุณหมอได้ฉีดแก้ปวดท้องให้กับเธอ 1 เข็ม และอนุญาตให้กลับบ้าน จากบันทึกในเวชระเบียน คุณหมอได้ใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก ซึ่ง..ได้ยินเสียงหัวใจเต้นตามปกติ
คิดไม่ถึงว่า 1 สัปดาห์ถัดมา คุณชินรัตน์ก็ต้องพบกับเรื่องเศร้าใจอย่างแสนสาหัส โดยที่เจ้าตัวไม่รู้มาก่อน วันนั้น เป็นวันจันทร์ ข้าพเจ้าได้ตรวจครรภ์ให้กับเธอตามปกติ ข้าพเจ้าสังเกตว่า ยอดมดลูกของคุณชินรัตน์มีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น ข้าพเจ้าใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกก็ไม่ได้ยิน ตอนนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้เฉลียวใจว่า ‘ทารกจะเสียชีวิต’ เพราะการฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์นั้น มีบ่อยครั้งที่เครื่องจับสัญญาณไม่ได้ แต่เมื่อนำคนท้องมาเข้ารับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ กลับพบการเต้นของหัวใจทารกอย่างชัดเจน สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยมดลูกมีการแข็งตัวช่วงนั้นพอดี เครื่องช่วยฟัง(Doptone)จึงไม่สามารถจับสัญญาณได้
อย่างไรก็ตาม พอหัวอัลตราซาวนด์สัมผัสกับผนังหน้าท้องของคุณชินรัตน์ ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจ เพราะมองไม่เห็นน้ำคร่ำในครรภ์เลยโดยเฉพาะตรงบริเวณศีรษะของทารก และเมื่อขยับเลื่อนหัวอัลตราซาวนด์ลงมาอีกแถวบริเวณหน้าอกของทารก ก็พบว่า ส่วนที่คาดว่าจะเป็นหัวใจทารก ไม่มีการเคลื่อนไหว… แค่นั้นแหละ!! ข้าพเจ้าก็รีบส่งคนไข้ไปที่แผนกเอกซเรย์ เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลก็ออกมาเช่นเดิม
ข้าพเจ้ารู้สึกหดหูใจ พยายามพูดจาปลอบโยนคนไข้และสามี อยู่นานเป็นชั่วโมง ‘ทารกอาจมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น หัวใจรั่วและมีอาการหัวใจวาย หรือขาดอาหารจนแคระแกรน (intrauetrine growth retardation) แล้วเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยจากการที่เด็กขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะรกเสื่อมสภาพ จากนั้น ตัวเด็กจึงไปเบียดทับถูกสายสะดือ ทำให้เสียชีวิต’ จริงๆแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า ทารกตายได้อย่างไร? คงต้องรอให้ทารกคลอดออกมาเสียก่อน
อนึ่ง จากการคาดคะเนช่วงเวลาการเสียชีวิตของทารก ข้าพเจ้าและคุณหมอเอกซเรย์คิดว่า ‘น่าจะเสียชีวิตมาเมื่อ 2 -3 วันมานี้เอง เพราะ แผ่นกระดูกศีรษะเพิ่งจะเริ่มมีการเกยกัน แต่ไม่ชัดเจนนัก ประกอบกับความรู้สึกของคนไข้ว่า ทารกดิ้นน้อยลงมา 2 -3 วัน ’
ตอนนั้น สามีคนไข้อยากให้เอาเด็กออกที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น แต่ข้าพเจ้าได้เสนอให้คุณชินรัตน์ไปเร่งคลอดที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเขียนจดหมายส่งตัวให้คุณชินรัตน์นำไปที่ห้องคลอด โรงพยาบาลตำรวจ เพราะไม่ต้องการให้เสียค่าใช้จ่ายมาก อย่างไรก็ตาม ได้บอกกับคุณชินรัตน์และสามีไปว่า หากกลับไปเอาเด็กออกที่โรงพยาบาลเอกชนในเครือประกันสังคม ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
วันถัดมา คุณชินรัตน์ไม่ได้เข้ามาที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับข่าวร้ายใหม่ขณะตรวจคนไข้ที่หอผู้ป่วยพิเศษชั้น 4 พยาบาลประจำหอผู้ป่วยคนหนึ่งบอกว่า “หมอ! หมอ! รู้หรือเปล่าว่า คนไข้ห้อง 412 ฟ้องหมอเกี่ยวที่ลูกเขาตายเมื่อครรภ์ที่แล้ว ”
“อะไรนะ!! ฟ้องเรื่องอะไร? ผมไม่เห็นจะทราบเลย ถ้ามีการฟ้องร้องจริง แพทยสภาต้องแจ้งให้ทราบ” ข้าพเจ้าตอบ พร้อมกับขอให้คนงานไปยืมแฟ้มประวัตเก่า เมื่อข้าพเจ้าเปิดแฟ้มดู ก็พบว่า ‘คนไข้ อายุ 31 ปี ครรภ์ที่แล้วเป็นครรภ์ที่ 3 บุตรสองคนแรกแข็งแรงดี อายุ 1 และ 7 ขวบ เธอฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มาทั้งหมด 4 ครั้ง ตอนอายุครรภ์ 27 สัปดาห์คนไข้ได้มาที่ห้องฝากครรภ์ด้วยเรื่องน้ำเดิน แต่เมื่อสูติแพทย์นำของเหลวในช่องคลอดไปทดสอบ ปรากฏว่า ให้ผลลบ แสดงว่า ไม่มีน้ำเดิน คนไข้จึงต้องกลับบ้าน เพราะทางโรงพยาบาลไม่ยอมรับตัวไว้ พออายุครรภ์ 30 สัปดาห์ เธอก็มาตรวจตามนัดอีก แต่ไม่ได้มีการบันทึกอะไรพิเศษ
ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ คนไข้ได้มาที่ห้องคลอดด้วยเรื่องน้ำเดินก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง คนไข้มาถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เมื่อพยาบาลรายงานให้ข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้าก็รีบขับรถออกจากบ้านเข้ามาตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้กับคนไข้ ผลปรากฏว่า ‘ในมดลูกของเธอมีน้ำคร่ำน้อยมาก’ แสดงว่า มีน้ำเดินจริง ดังนั้น หลังจากให้ยาเพื่อพัฒนาปอด (Dexamethasone) กับทารกน้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องผ่าตัดให้กับคนไข้รายนี้ทันที มิฉะนั้น หากทารกคลอดทางช่องคลอด ก็จะเกิดการคลอดที่ไม่มีน้ำคร่ำช่วยหล่อลื่น (dry labour) ผลร้ายก็จะเกิดระหว่างคลอด เช่น ทารกเสียชีวิตจากการที่สายสะดือถูกเบียด
การผ่าตัดเริ่มขึ้นเมื่อเวลาเที่ยงคืนเศษ ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 1,500 กรัม ทารกน้อยถูกส่งไปยังห้องทารกมีปัญหา (High risk neonatal room ) และส่งต่อไปยังห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด ทารกน้อยมีการติดเชื้อ (Sepsis) และมีชีวิตเพียง 10 วัน ก็สิ้นอายุขัย
แม้คนไข้รายนี้จะตั้งครรภ์ขึ้นมาใหม่ทันทีและกำลังจะคลอดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เธอก็ยังติดใจและร้องเรียนเรื่องราวเลวร้ายที่ผ่านมา.. ด้วยความไม่สบายใจ ข้าพเจ้าจึงถามพยาบาลคนหนึ่งของหอผู้ป่วยชั้น 4 ว่า “คนไข้ฟ้องใครและด้วยข้อหาอะไร?” พยาบาลคนนั้นตอบว่า “คนไข้ฟ้องโรงพยาบาลด้วยข้อหาว่า เธอได้มาห้องฝากครรภ์ก่อนหน้านั้นด้วยเรื่องน้ำเดิน แต่..ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ทำให้ลูกของเธอติดเชื้อหลังคลอดจนเสียชีวิต สำหรับกรณีที่ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดให้เธอทันทีที่ตรวจพบว่า น้ำคร่ำในมดลูกของเธอเหลือน้อยมาก (severe oligohydramnios) เธอไม่ได้ติดใจเอาความ ” ฟังแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจขึ้นมากและปล่อยวางเรื่องราวดังกล่าว
สำหรับกรณีคุณชินรัตน์ สามีได้พาเธอไปที่โรงพยาบาลเอกชนเครือประกันสังคมในวันรุ่งขึ้น แพทย์ได้ทำแท้งให้ โดยเร่งคลอดตั้งแต่เช้า คุณชินรัตน์แท้งบุตรตอนเที่ยงคืน ทารกน้อยไม่ได้มีรูปร่างผิดปกติ หรือพิการ วันหนึ่ง ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปสอบถามสามีคุณชินรัตน์ จึงได้ทราบความทั้งหมด สามีคนไข้ได้ถามข้าพเจ้าว่า “ ผมยังไม่ทราบว่า ทำไมลูกผมถึงตาย ? พยาบาลที่นี่บอกว่า ผมและภรรยาน่าจะตรวจโครโมโซม จะได้รู้ว่า ลูกมีโครโมโซมผิดปกติหรือเปล่า ” ข้าพเจ้าได้อธิบายให้ฟังมากมาย แต่ที่ดีใจ ก็คือคนไข้ปลอดภัย ข้าพเจ้ายังได้บอกกับสามีคนไข้ว่า ‘บุตรในครรภ์ต่อไปจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับครรภ์นี้ อาทิเช่น ทารกครรภ์ต่อไป ไม่จำเป็นต้องหัวใจรั่วเหมือนในครรภ์นี้ แต่…ต้องหมั่นเฝ้าสังเกตภาวะเด็กแคระแกนและน้ำคร่ำน้อย ซึ่งหากตรวจพบภาวะดังกล่าวที่อายุครรภ์มากพอที่เด็กจะอยู่รอดในโลกภายนอกได้ ก็ให้รีบเข้ารับการผ่าตัดคลอด ’
สาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตของลูกคุณชินรัตน์นั้น เราไม่อาจทราบได้ นอกเสียจากต้องตรวจศพ (Autopsy) และรก (placenta) ของลูกเธอ แต่สามีคนไข้ยืนยันว่า ไม่ต้องการให้ศพทารกถูกรบกวน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ‘ทารกน้อยน่าจะเสียชีวิตจากภาวะรกเสื่อม เมื่อทารกขาดเลือด ก็จะปัสสาวะออกมาน้อย น้ำคร่ำจึงมีปริมาณน้อย เพราะปัสสาวะของทารกเป็นส่วนประกอบเกือบทั้งหมดของน้ำคร่ำ ต่อมา ตัวเด็กก็เบียดทับสายสะดือ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด’
ไม่มีใครอยากสูญเสียลูกน้อยในครรภ์ แต่…ภยันตรายก็อาจแฝงไว้ในหลายรูปแบบ บางที ก็มีอยู่แล้วในตัวคุณแม่ อาทิ โรคโลหิตจาง โรคหัวใจ บางทีก็แฝงไว้ในตัวลูกน้อย อาทิ ภาวะโครโมโซมผิดปกติ สิ่งที่ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เสียชีวิตนั้น บางที ก็อยู่นอกเหนือจากความสามารถของหมอ…ข้าพเจ้าขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงช่วยดลบันดาลให้ ในครรภ์ครั้งต่อไปของทุกครอบครัวที่ประสบเคราะห์กรรม ดังที่เล่ามา…อย่าได้เกิดเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ซ้ำรอยอีก…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *