มดลูก (Uterus) หรือวังของทารกน้อย ตามคำเรียกภาษาจีนนั้น ผูกพันกับผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก ซ่อนอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน จับต้องภายนอกไม่ได้ ทำให้เธอเหล่านั้นเคยชินและเข้าใจว่า ‘ไม่น่าจะมีความผิดปกติอะไร’ จนกระทั่งวันหนึ่ง มันกลับกลายเป็นเนื้องอก (Myoma uteri) ก่อผลร้ายให้เจ้าตัวอย่างน่าตกใจ เช่น ตกเลือด, ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก….โชคดี!!! ที่ส่วนใหญ่เนื้องอกเหล่านี้ไม่ค่อยกลายเป็นมะเร็ง (Myosarcoma).. ไม่เช่นนั้น คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อย สำหรับผู้หญิงหลายคนที่ต้องผจญกับความทุกข์ทรมานจากโรคร้าย
คุณดารณี อายุ 40 ปี อาชีพข้าราชการ มีบุตร 1 คน เธอมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องมีระดูมากผิดปกติ (Menorrhagia) ตอนที่ข้าพเจ้าพบเธอที่ห้องตรวจนรีเวช คุณดารณีมีเลือดออกจากช่องคลอดจำนวนมากมาเป็นเวลา 11 วัน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังมีระดูพอดี! แต่…เลือดที่ออก ไม่มีทีท่าว่า จะหยุด! เธอจึงมาขอรับการตรวจที่แผนกนรีเวช โรงพยาบาลตำรวจ
ข้าพเจ้าตรวจภายในและตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางชองคลอดให้กับเธอ พบว่า มดลูกโตเป็นเนื้องอก ขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 12 – 14 สัปดาห์.. อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาที่ว่า เนื้องอกนั้น อาจเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial carcinoma) ซึ่งจะต้องให้การรักษาเป็นอย่างอื่น ข้าพเจ้าได้ทำการขูดเยื่อบุมดลูกของเธอแบบดูดจากหลอดแก้วเล็กๆ (endocell) ซึ่งผลชิ้นเนื้อ ก็เป็นเพียงเยื่อบุมดลูกธรรมดา (Proliferative endometrium) ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกำหนดให้คุณดารณี เข้ารับการผ่าตัดในสัปดาห์ต่อไป
วันนั้นเป็นวันศุกร์ ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) ให้กับคุณดารณี โดยเจาะท้องเป็นรูเล็กๆ 4 ตำแหน่ง คือ ที่สะดือ, ที่ด้านข้างของสะดือทั้ง 2 ข้าง และที่บริเวณเหนือหัวเหน่าด้านซ้ายของคนไข้…
การผ่าตัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเครื่องจี้ (Laparoscopic Biclamp) มีความผิดปกติ ทำงานไม่เต็มที่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องจี้จำนวนหลายตัว ที่สำคัญ คือ ตำแหน่งบริเวณเส้นเลือดใหญ่ที่มาเลี้ยงมดลูก (Uterine ateries) ข้าพเจ้าไม่สามารถหยุดเลือดได้ในเวลาอันสั้น ทำให้คนไข้ต้องเสียเลือดจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ข้าพเจ้าก็สามารถหยุดเลือดได้สำเร็จ
แต่…มีปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งกำลังรออยู่ กล่าวคือ เยื่อบุลำไส้ (peritonium) ที่คลุมบริเวณคอมดลูกนั้น ยึดติดแน่นกับกระเพาะปัสสาวะ (vesico-uterine reflection) เพราะเธอเคยผ่าตัดคลอด (Previous cesarean sectiion) มาก่อน ซึ่งต้องกรีดลงมีดผ่านที่นี่
ข้าพเจ้าได้ให้ผู้ช่วยใช้ตัวกระดกมดลูกรูปทรงกระบอก (Uterine elevator) ดันช่องคลอดบริเวณแถวคอมดลูกอย่างเต็มที่ จากนั้น ก็ใช้เครื่องมือเขี่ยเนื้อเยื่อบริเวณนี้และตัดแต่งให้บางลง จนสามารถมองเห็นส่วนของผนังช่องคลอดในช่องท้อง.. ครั้งนี้ นับเป็นโชคดีของข้าพเจ้า เพราะคนไข้ทุกรายที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อนนั้น ไม่เป็นการง่ายเลย ที่เราจะเขี่ยเอาเนื้อเยื่อบริเวณนี้แยกออกจนเห็นผนังช่องคลอดทางด้านบน ซึ่ง…ก็จะมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่กระเพาะปัสสาวะทะลุ (Bladder perforation) จากการผ่าตัดบริเวณนี้ จากนั้น ข้าพเจ้าก็ใช้กรรไกรตัดทะลุเข้าไปในช่องคลอดจากผนังด้านบนภายในช่องท้องส่วนที่อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ
หลังจากนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการผ่าตัดอีกต่อไป ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดเอามดลูกของคุณดารณีออกทางช่องคลอด โดยใช้เทคนิคการทำ V – Hysterectomy แม้การผ่าตัดจะไม่ยาก แต่ก็มีเลือดออกพอสมควรบริเวณอุ้งเชิงกรานด้านข้าง ซึ่งจำเป็นต้องใช้การจี้ผ่านกล้อง พร้อมกับใช้น้ำฉีดล้างเพื่อให้เห็นจุดเลือดออก เมื่อทำสำเร็จ ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจ ผลชิ้นเนื้อ ก็เป็นเนื้องอกมดลูกชนิดไม่ร้ายแรง (Adenomyoma)
คุณดารณีอยู่โรงพยาบาล 5วัน ก็ขอกลับบ้าน ช่วงหลังผ่าตัดตอนที่อยู่โรงพยาบาล เธอมีอาการปวดเอวด้านซ้ายและปวดหลัง ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า หลอดไตมีรูรั่วหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงให้นัดเธอมาทำการฉีดสีสังเคราะห์เข้าเส้นเลือดดำ โดยสีจะไปขับออกที่ไต (Intravenous pyelogram) เมื่อคนไข้มาตามนัด และดำเนินการดังกล่าว ก็ไม่พบว่า มีความผิดปกติอะไร คุณดารณีรู้สึกดีใจมากที่การผ่าตัดครั้งนี้ปลอดภัย และเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดคลอด
คุณพิชญา เป็นอีกคนหนึ่งที่มาด้วยเรื่องเลือดออกจากช่องคลอดมากและนานผิดปกติช่วงมีระดู (Menometrorrhagia) จนรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เธออายุ 51 ปี เป็นคนเพชรบูรณ์ การที่เธอเดินทางมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากสามีเป็นตำรวจ และเชื่อใจว่า โรงพยาบาลตำรวจจะให้การรักษาที่ดีกว่า โรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบูรณ์
ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในและดูอัลตราซานวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับคุณพิชญา ปรากฏว่า เป็นเนื้องงอกภายในโพรงมดลูก (Submucous myoma) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังได้ใช้วิธีการขูดเยื่อบุมดลูกของเธอแบบดูดจากหลอดแก้วเล็กๆ (endocell) เช่นเดียวกับกรณีคุณดารณี เพื่อให้ทราบว่า เธอไม่ได้เป็นมะเร็งของเยื่อบุมดลูก ซึ่งผลออกมาเช่นนั้น
หลังจากเตรียมพร้อมโดยการเจาะเลือด, เอกซเรย์ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ข้าพเจ้าก็นัดคุณพิชญาให้มาเข้ารับการผ่าตัดในอีก 3 สัปดาห์ถัดไป
เมื่อถึงกำหนดนัด คุณพิชญาได้เข้านอนที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมผ่าตัด ยังจำได้ว่า วันนั้นเป็นวันพุธ เธอมาในตอนเช้าและเข้านอนพักห้องพิเศษทันที พอตกตอนบ่าย พยาบาลประจำหอผู้ป่วย ได้โทรมาบอกว่า ‘วิสัญญีแพทย์ขอให้งดผ่าตัด เพราะคนไข้มีความเข้มข้นของเลือดต่ำ (Hematocrit) คือ มีค่าเพียง 24% เท่านั้น (ค่าปกติ เท่ากับ 35 – 45%) คนไข้มีอาการเพลียมาก’ ข้าพเจ้ารับทราบและรีบให้เลือดกับเธอทันที 2 ถุง และสั่งการให้เจาะเลือดดูความเข้มข้นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น โดยข้าพเจ้าวางแผนว่า ‘จะให้เลือดเพิ่มอีก 2 ถุงหากว่า ผลเลือดยังไม่ดีขึ้น’ วันพฤหัสบดี ความเข้นข้นเลือดของเธอเพิ่มเป็น 35% และอาการอ่อนเพลียดีขึ้น ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กำหนดผ่าตัดคุณพิชญาในวันศุกร์
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าเจาะท้องคุณพิชญาด้วยความระมัดระวัง โดยเจาะรูเป็นช่องเล็กๆ 4 ช่อง เหมือนกับของคุณดารณี การผ่าตัดเป้นไปอย่างราบรื่น ซึ่งทำคล้ายๆกับที่กล่าวข้างต้น ต่างกันก็เพียง คุณพิชญามีเนื้องอกรังไข่ร่วมด้วยขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร การผ่าตัดครั้งนี้ จึงเป็นการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด ผลชิ้นเนื้อ ก็เป็นเนื้องอกธรรมดา (Adenomyosis of uterus and serous cystadenoma of right ovary)หลังผ่าตัด คุณพิชญามีสุขภาพดี อยู่โรงพยาบาลเพียง 3วัน ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้
ก่อนกลับบ้าน มีเรื่องยุ่งๆให้เธอและสามีต้องปวดหัว กล่าวคือ คุณพิชญามีสิทธิของการรักษาพยาบาลอยู่ 2 ประเภท กล่าวคือ สิทธิระบบประกันสังคมอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์และสิทธิของครอบครัวตำรวจ แต่…ผลที่เธอได้รับกลับเป็น “ไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย”
ทั้งนี้ก็เพราะ ระบบในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยนั้น ขัดกันเอง กล่าวคือ ทุกคนที่มีสิทธิทั้งสองอย่าง ต้องใช้สิทธิระบบประกันสังคมก่อน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิอื่น ซึ่ง…คุณพิชญา เธอมีประกันสังคมอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบูรณ์ ดังนั้น เธอจำเป็นต้องใช้สิทธิการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือประกันสังคมที่จังหวัดเพชรบูร์ เท่านั้น
ถึงแม้คุณพิชญาจะต้องการไปรักษาที่อื่นใด (ยกเว้น ในกรณีฉุกเฉินเป็นอันตรายแก่ชีวิตเท่านั้น) เธอต้องได้รับความยินยอมจากโรงพยาบาลประกันสังคมเสียก่อน ซึ่ง…โรงพยาบาลในเครือการประกันสังคมของเธอและทุกแห่ง ย่อมจะไม่ยินยอมส่งต่อคนไข้ไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นอย่างแน่นอน เพราะต้องตามไปจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลที่ส่งต่อ (Refer) แม้ว่า โรงพยาบาลในเครือการประกันสังคมเหล่านั้น จะไม่สามารถให้การรักษาวิธีผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชได้ ก็ตาม (Laparoscopic surgery) คุณพิชญาจะใช้สิทธิของสามี ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ ก็ใช้ไม่ได้ เพราะรัฐกำหนดให้ใช้สิทธิในระบบประกันสังคมก่อน และ…แม้ว่า ช่วงนี้จะเป็นช่วงของการโอนย้ายสิทธิเลือกโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม แต่..โรงพยาบาลเดิมก็ไม่ยินยอมให้คุณพิชญาย้าย ทั้งที่โรงพยาบาลตำรวจเปิดโอกาสให้ย้ายได้ เนื่องจากสามีเป็นตำรวจ นี่คือเคราะห์กรรมของคุณพิชญา นอกจากนั้น คุณพิชญายังเล่าว่า ‘เธอได้ทำประกันชีวิตไว้ด้วย แต่ ไม่ทำประกันสุขภาพ เนื่องจาก เธอมีประกันสังคมอยู่แล้วและสามีเป็นข้าราชการแห่งรัฐ สุดท้าย ก็คือ คุณพิชญาและสามีต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไรเลย!!! ใช่แล้ว….เธอและสามีต้องเดินคอตกออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยอาการป่วยใจ แม้ร่างกายจะหายป่วย.. ช่างน่าเห็นใจจริงๆ
ความจริงแล้ว หนทางเลือกทางการรักษาของคุณพิชญา ยังมีอีก กล่าวคือ การผ่าตัดเนื้องอกในโพรงมดลูกผ่านกล้องที่ส่องผ่านทางช่องคลอด (Hysteroscopic surgery) แต่คุณหมอของโรงพยาบาลตำรวจ เกิดความไม่มั่นใจเนื่องจากเนื้องอกมดลูกก้อนใหญ่ (Large submucous myoma) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คุณพิชญาอายุมากถึง 51 ปี และยังมีเนื้องอกรังไข่ร่วมด้วย ข้าพเจ้าจึงคิดว่า การผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด ถือว่า เหมาะสม
เนื้องอกมดลูก มีหลายรูปแบบ บ้างก็เป็นที่ตัวมดลูก (Myoma uteri, Ademnomyosis) บ้างก็เกิดที่ผิวมดลูก (Subserous myoma) บ้างก็เกิดภายในโพรงมดลูก (Submucous myoma) เนื้องอกเหล่านี้มีโอกาสแปรเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้น้อยมาก (Adenosarcoma) แต่…ถ้าใครเกิดโชคร้ายเป็นมะเร็งของตัวมดลูกละก็ คงต้องปลงอายุสังขารและเตรียมการสั่งเสียไว้เลย
อยากให้โลกนี้ ไม่มีโรคร้าย คนเราจะได้อยู่จนแก่เฒ่า และมีโอกาสได้มองเห็นลูกหลานวิ่งเล่น.. มดลูกของมนุษย์นั้น สร้างคุณ สร้างคนมานับไม่ถ้วน หากแต่ด้วยกรรมแต่ชาติก่อน จึงทำให้คนผู้นั้นมีอันเป็นไป เป็นโรคที่ตนเองไม่เคยคิด ไม่เคยฝัน เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ราบเรียบ ดุจน้ำทะเลยามสงบ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่สร้างบุญกุศลไว้มาก ย่อมมีโอกาสห่างไกลจากโรคร้ายของมดลูก และมีชีวิตที่ยืนยาว
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน
ภั