ฝันร้าย หลังผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ฝันร้าย หลังผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

บรรยากาศแห่งความเหงาเศร้า ได้แผ่เข้าเกาะกินใจของข้าพเจ้า เหมือนหนอนปลวกที่ชอนไชขอนไม้ ยามเมื่อได้พบเห็นผู้ป่วย ที่ได้รับทุกข์ทรมาน จากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
อะไร…อะไรในโลกนี้ ย่อมไม่แน่นอน ซึ่งเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์ ท้องฟ้าที่มองดูสดใสในยามเช้า อาจปกคลุ่มไปด้วยกลุ่มเมฆในยามบ่าย… อย่างที่ทุกคนทราบกันดี!! ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับคนไข้หรอก………….
ความจริงแล้ว การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Laparoscopic surgery) เป็นกรรมวิธีที่ดีอย่างหนึ่งและปลอดภัยทีเดียว อย่างไรก็ดี อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้บ้างในบางราย
หลายวันมานี้ ข้าพเจ้าพบเห็นคนไข้หลังผ่าตัดผ่านกล้อง ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แล้ว รู้สึกจิตใจเศร้าหมอง เพราะเขาเหล่านั้นต้องทรมานกายและทุกข์ใจมาก โดยเฉพาะคนไข้ที่หลอดไตได้รับบาดเจ็บ (Ureteric injuries)
คุณนารีรัตน์ อายุ 41 ปี เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกเมื่อราว 1 เดือนก่อน ว่าไปแล้ว เนื้องอกมดลูกของคุณนารีรัตน์มีขนาดใหญ่พอๆกับมดลูกขณะตั้งครรภ์ประมาณ 4 เดือน การผ่าตัดจึงเต็มเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนั้น ยังมีบางก้อนแทรกอยู่ภายในเอ็นด้านข้างของมดลูก (Broad ligaments) รวมทั้ง มีเนื้องอกก้อนเล็กๆซ่อนอยู่ตามอุ้งเชิงกรานอีกมากมายหลายร้อยก้อน (Multiple myeloma) หลังผ่าตัดวันที่ 4 คุณนารีรัตน์เริ่มมีไข้ขึ้นและเป็นในลักษณะไข้สูงลอย ประมาณ 1 สัปดาห์ ช่วงแรก ข้าพเจ้านึกว่า น่าจะเป็นไข้จากยา (Drug fever) จึงขออนุญาตจากอายุรแพทย์ที่ปรึกษางดยาฆ่าเชื้อทุกตัว พอทำเช่นนั้น ปรากฏว่า ไข้ลดลง ข้าพเจ้าจึงให้คุณนารีรัตน์กลับบ้านได้.. ก่อนกลับบ้าน ข้าพเจ้าลองตรวจดูหน้าท้องของคนไข้ ปรากฏว่า พบก้อนถุงน้ำซ่อนอยู่ข้างใต้ผิวหนังหน้าท้องเหนือหัวเหน่า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร เมื่อตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ จึงรู้ว่า เป็นก้อนเลือด (Hematoma) อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้อนุญาตให้คนไข้กลับบ้าน โดยนัดให้มาตรวจอัลตาซาวนด์ซ้ำในอีก 1 สัปดาห์
การที่ข้าพเจ้าให้คุณนารีรัตน์กลับบ้านก่อน เพราะต้องการให้ก้อนเลือดละลายตัวมันเอง หากก้อนเลือดไม่ละลายตัว (Conservative treatment) จึงค่อยทำการผ่าตัดเจาะและดูดเอาก้อนเลือดทิ้งภายหลัง (Incision and drain) คุณนารีรัตน์กลับบ้านไปได้ 2 วัน ไข้ก็สูงลอยขึ้นอีก ทำให้เธอกินไม่ได้ นอนไม่หลับ สามีคุณนารีรัตน์โทรศัพท์หาข้าพเจ้าในวันอาทิตย์ว่า ‘คุณนารีรัตน์มีไข้สูงลอยตลอดเวลา หมอจะให้ทำยังไง?’ ข้าพเจ้าทราบทันทีว่า ‘ก้อนเลือดนั้นไม่ได้ละลายหายไป แต่กลับมีการติดเชื้อขึ้นมาอย่างรุนแรง (Infected hematoma)’ ข้าพเจ้าจึงขอให้คุณนารีรัตน์รีบเข้ามาโรงพยาบาลในวันจันทร์ โดยได้บอกกับสามีเธอว่า “ให้อดอาหารหลังเที่ยงคืนมาเลย เพื่อจะได้ผ่าตัดในตอนบ่ายของวันนั้น” แต่….คุณนารีรัตน์กลับเกรงใจ เธอรอจนถึงวันพุธ จึงมาเข้ารับการตรวจตามนัด ซึ่งทำให้สภาพของโรคเลวร้ายขึ้น และต้องรีบผ่าตัดกรีดเอาหนองออก
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ลงมีดบนหน้าท้องเหนือหัวเหน่าในลักษณะเพื่อความสวยงาม โดยกรีดแผลตามแนวรอบตะเข็บของกางเกงใน (Pfannensteil incision) เมื่อผ่านผนังหน้าท้องแล้ว ก็ลงมีดกรีดตรงๆต่อ (vertical incision) บนก้อนเลือดที่มีการติดเชื้อ แค่นั้นแหละ!! หนองจำนวนมากที่มีกลิ่นเหม็นเน่า ก็ไหลทะลักออกมา พร้อมทั้งเศษชิ้นเนื้อเละๆจำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าทั้งใช้เครื่องดูด และมือควักเอาหนองเหล่านั้นออกมา หลังจากนั้น ก็ล้างภายในถุงหนองเป็นการใหญ่ กลิ่นเหม็นของน้ำหนองนั้น คละคลุ้งเต็มไปทั่วห้องผ่าตัด ใครเดินผ่านเข้ามา เป็นต้องเบือนหน้าหนี ข้าพเจ้าใช้เวลาเช็ดล้างอยู่นาน เพื่อทำให้ถุงหนองนั้นสะอาดมากที่สุด
นักศึกษาแพทย์ผู้ช่วยถามว่า “ต้องใช้มีดผ่ากรีดทะลุเข้าไปในช่องท้องด้วยหรือเปล่า?”
ข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังว่า “ถุงหนองนั้นอยู่ภายนอกช่องท้อง เราอย่าได้กรีดมีดเข้าไปในช่องท้องเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีการติดเชื้อวุ่นวาย คนไข้ จะตกอยู่ในสภาพเลวร้ายทันที เรื่องง่ายจะกลายเป็นเรื่องยาก คนไข้อาจติดเชื้อทั่วร่างกายได้ (sepsis)”
ข้าพเจ้าได้เย็บปิดปากถุงแผล แต่..เย็บผนังหน้าท้องเพียงแค่ส่วนแผ่นพังผืด (Sheath) ซึ่งเราเรียกวิธีการนี้ว่า primary delayed suture จากนั้น ก็ใส่แผ่นยางยืดลักษณะเป็นท่อแบนๆพับได้ (Penrose drain) สอดใส่ไว้ในผนังถุงหนองนั้น โดยมีส่วนปลายโผล่ออกมาทางแผล เพื่อเป็นทางออกของหนองที่เหลือหรือของเหลวที่สะสม
เมื่อกลับมาที่ห้องพัก คุณนารีรัตน์รู้สึกดีขึ้นทันที ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เธอรับประทานข้าวได้ กินอาหารอร่อย อาการของของคุณนารีรัตน์ดีวันดีคืน แผลดังกล่าวได้รับการทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 3 วัน ข้าพเจ้าจึงให้นักศึกษามาตัดแผ่นยางยืดทิ้ง (Shorten Penrose drain) วันละ 1 นิ้ว เวลาผ่านไป 10 วัน น้ำเหลืองที่ออกมาทางแผ่นยางลดน้อยลงมาก ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้ดึงแผ่นยางนั้นทิ้ง และเย็บปิดผนังหน้าท้องส่วนที่เหลือ คุณนารีรัตน์ได้กลับมาดำเนินชีวิตตามวิถีปกติอีกครั้ง
ในเวลาที่ไม่ห่างกันนัก ข้พเจ้าได้พบคนไข้อีก 2 ราย คือ คุณมฤณา และคุณอุดม ที่ได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Total laparoscopic hysterectomy) อย่างรุนแรง คือ หลอดไตส่วนปลายเกิดรอยรั่ว (Diatal Ureteric Injuries) บริเวณที่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ
คุณมฤณา อายุ 43 ปี ได้รับการวินิจฉัยเมื่อ 2 เดือนก่อนว่าเป็น เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) ขนาดใหญเท่ากับมดลูกขณะตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เธอได้รับการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ผ่านกล้อง (total laparoscopic hysterectomy) เช่นเดียวกับคุณนารีรัตน์ โชคไม่ดี! ที่คุณมฤณาเกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญ คือ หลอดไตส่วนปลายรั่ว (Distal ureteric injury) คุณมฤณาปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงหลังผ่าตัดเพียงวันเดียว การวินิจฉัยในเบื้องต้น ใช้วิธีการฉีดสีร่วมกับถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อดูการทำงานของไตและหลอดไต (IVP หรือ Intravenous pyelogram ) หลังจากวินิจฉัยได้ คุณหมอแผนกศัลยทางเดินปัสสาวะ ได้ชักจูงให้คุณมฤณาเข้ารับการผ่าตัดเพื่อต่อท่อไต (End to end anastomosis) แต่..คุณมฤณาไม่ยินยอม ในที่สุด จึงใช้วิธีสอดสาย ที่ชื่อ Double J Stent เข้าไปในท่อไต ด้วยการสอดสายผ่านทางกล้องที่ส่องผ่านท่อปัสสาวะ เข้าไปในรูเปิดท่อไตภายในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเป็นแกนดามท่อไต, ผ่านรอยรั่วขึ้นไปที่กรวยไต (Pelvis) โดยทิ้งปลายทั้งสองซึ่งมีรูปร่างเหมือนตัว J ไว้ในกระเพาะปัสสาวะและกรวยไต วิธีการเช่นนี้ จะทำให้ปัสสาวะส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ และส่วนน้อยไหลผ่านออกทางรูรั่วเข้าสู่ช่องท้อง หลังจากใส่สาย Double J Stent ผู้ป่วยดีขึ้นทันที แต่…เพียงวันเดียว คุณมฤณาก็เจ็บท้องขึ้นมาอีก ทั้งนี้เพราะสาย Double J Stent หลุดหล่นเข้าไปขดตัวในกระเพาะปัสสาวะ
แน่นอน!! ท้องคนไข้ย่อมต้องป่องนูนขึ้นมาจากน้ำปัสสาวะที่ไหลทะลักเข้าไปเป็นจำนวนมาก ต่อมา คุณหมอศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะได้เอา Double J Stent อันเก่าออกและใส่อันใหม่เข้าไป คนไข้จึงมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ลักษณะท้องที่บวมนูน ยังคงมีอยู่ คุณมฤณาอยู่โรงพยาบาลไม่กี่วันก็ขอกลับบ้าน ช่วงนั้น พอดีมีโครงการอบรมพัฒนาจิตของยุวพุทธิกสมาคม 7 วัน 7 คืน ข้าพเจ้าได้ขอเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว
คุณมฤณากลับบ้านไปไ 4 – 5 วันก็ต้องมานอนโรงพยาบาลอีกด้วยเรื่องปวดท้อง และท้องบวม เธอได้รับการรักษาแบบโรคกระเพาะโดยแพทย์เวร อาการปวดก็ดีขึ้น เธออยู่โรงพยาบาล 2 วัน ก็ขอกลับบ้าน กลับบ้านไปได้ 1 สัปดาห์ อาการปวดท้องก็กำเริบ เธอรับประทานอาหารไม่ค่อยได้และคลื่นใส้อาเจียนบ่อยๆ ตอนนั้น ข้าพเจ้าเพิ่งกลับจากปฏิบัติธรรม ก็ได้โทรศัพท์ไปถามข่าวคราว พบว่า คุณมฤณามีอาการน่าเป็นห่วงมาก จึงขอให้คนไข้มานอนโรงพยาบาลอีกครั้ง และระดมทีมแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ รวมทั้งวิธีการแก้ไข
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่คนไข้ไม่หายจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ เพราะ คุณมฤณาไม่ยอมให้ทำอะไรที่มีผลให้เธอเจ็บตัวอีก พวกเราจึงต้องใช้วิธีรักษาแบบประคับประคอง เวลาผ่านไปอีก 1 สัปดาห์ อาการท้องบวม และปวดท้อง ทำท่าจะเลวลงไปอีก ซึ่งวันหนึ่งคนไข้แทบจะหายใจไม่ออก ข้าพเจ้าได้ฉีดยาแก้ปวดให้กับเธอ และส่งเข้ารับการตรวจอัลตราวนด์ผ่านทางหน้าท้องในวันรุ่งขึ้น ผลการตรวจปรากฏว่า มีน้ำปัสสาวะเต็มท้อง คาดว่า ปริมาณน่าจะไม่น้อยกว่า 1 ลิตร
ถึงแม้ว่า คุณมฤณาจะไม่อยากถูกเจาะท้องเพื่อระบายเอาน้ำปัสาวะที่คั่งค้างในท้องออก แต่ ก็จำเป็นต้องทำ ผลการเจาะเพื่อระบายน้ำในช่องท้องออกมา ปรากฏว่า ได้น้ำปัสสาวะออกมาจำนวนถึง 3500 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ภายใน 3 ชัวโมง หลังจากนั้น อาการแน่นท้อง ปวดท้อง ก็ค่อยๆดีขึ้น เธอรับประทานอาหารได้มากขึ้น…. ความรื่นเริงบันเทิงใจได้กลับคืนมาอีกครั้ง
อีกกรณีหนึ่งที่คล้ายๆกัน เพียงแต่เหตุการณ์ท่อไตรั่วเกิดขึ้นล่าช้าไปนานถึง 2 เดือนหลังผ่าตัด คุณอุดม อายุ 41 ปี ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกผ่านกล้องทางนรีเวช (TLH ย่อจาก Total Laparoscopic Hysterectomy) เช่นกัน ผู้ป่วยปวดท้องปวดเอวด้านซ้ายแบบพอทนได้มาโดยตลอดตั้งแต่ผ่าตัด น่าแปลก!! ที่บางครั้ง อาการปวดท้องปวดเอวด้านซ้ายก็หายไป คุณอุดมได้เข้ามารับการตรวจภายในหลังผ่าตัด 6 สัปดาห์ ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร
คาดไม่ถึง ประมาณ 1 สัปดาห์ถัดมา ยังจำได้ วันนั้น เป็นวันพฤหัส คุณอุดม ได้โทรศัพท์หาข้าพเจ้า บอกว่า “ปวดท้องมากและท้องอืด อึดอัด แทบจะทนไม่ไหว” ข้าพเจ้าบอกให้เธอรีบเดินทางมาโรงพยาบาลตำรวจโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เธอบอกว่า ‘จะลองไปหาสูติแพทย์ที่เมืองนครพนมก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น หนูก็จะเข้าไปตรวจกับหมอในวันพุธ’
วันเสาร์ และวันอาทิตย์ถัดมา คุณอุดมโทรศัพท์ติดต่อกับข้าพเจ้าอีกด้วยเรื่องปวดท้องเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การเดินทางจากจังหวัดนครพนมมากรุงเทพฯต้องอาศัยทางเครื่องบิน ซึ่งต้องจองล่วงหน้า จึงอาจทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนได้ วันจันทร์และวันอังคาร คุณอุดมไม่ได้เข้ามาที่โรงพยาบาล ข้าพเจ้านึกว่า เธอคงจะดีขึ้น ที่ไหนได้!!! พอวันพุธ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังตรวจคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอกของหน่วยนรีเวช พยาบาลคนหนึ่งได้เดินเขามาที่ห้องตรวจ บอกว่า “หมอ หมอ! เร็วๆเข้า มีคนไข้คนหนึ่งปวดท้องมาก มาจากห้องฉุกเฉิน”
ภาพที่เห็นตอนนั้น ข้าพเจ้าแทบจะช็อค คุณอุดมกำลังนอนอยู่บนเตียงเข็นคนไข้ ในสภาพทุกขเวทนามาก ท้องของเธอป่องโตเหมือนกับคนท้องครบกำหนด เธอต้องเอนหลังนอนบนเตียงในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน เพื่อให้หายใจได้ดีขึ้นกว่าท่านอนราบ ข้าพเจ้ารู้ได้ทันทีจากสามัญสำนึกว่า ภายในช่องท้องของเธอ คือ น้ำปัสสาวะที่ไหลออกมาจากรอยรั่วของหลอดไต ไม่ใช่น้ำเลือด ข้าพเจ้ารีบปรึกษาคุณหมอแผนกเอกซเรย์และศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะทันที ในที่สุด คุณหมอทั้งสองท่าน ได้ลงความเห็นว่า ควรทำ CT scan ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่า IVP (Intravenous Pyelogram) ในแง่ที่สามารถระบุตำแหน่งที่ท่อไตรั่วได้อย่างแน่นอน ผลปรากฏว่า หลอดไตรั่วด้านซ้ายตรงตำแหน่งสวนปลายใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ (Distal ureteric injury)
วันรุ่งขึ้น คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเอกซเรย์ได้ช่วยเจาะท้อง (PCD ย่อจาก Percutaneous drainage) และเจาะผ่านแผ่นหลังบริเวณไต (PCN ย่อจาก Percutaneous nephrostomy) ให้คุณอุดม เพื่อระบายน้ำปัสสาวะในช่องท้อง และกรวยไตโดยตรง (Pelvis) ผลปรากฏว่า น้ำปัสสาวะในช่องท้องไหลออกมาจากช่องท้องทันที 3,000 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) และยังไหลออกมาเรื่อยๆทุกวัน คุณอุดมนอนพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยนานถึง 1 เดือน จึงได้รับการสอดใส่สาย Double J Stent เข้าไปในหลอดไตด้านซ้าย เช่นเดียวกับคุณมฤณา นอกจากนั้น ยังได้รับการดึงเอาสายพลาสติกที่ต่อออกจากกรวยไต (PCN ย่อจาก Percutaneous nephrostomy) ทิ้งไปด้วย..บัดนี้ คุณอุดมได้กลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงปุถุชนอีกครั้ง
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช มีมากมายหลากหลาย ดั่งที่เล่ามา ซึ่ง..นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ตราบใดที่ยังมีเทคโนโลยีด้านนี้อยู่ และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้ในโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น คนไข้ทุกคนควรเรียนรู้เอาไว้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยสามารถขอเปลี่ยนวิธีการผ่าตัด ไปเป็นการผ่าตัดเปิดผนังหน้าท้องได้ตลอดเวลา
ศักยภาพของมนุษย์นั้น มีไม่สิ้นสุด ตราบใดที่มนุษย์ยังรักที่จะเรียนรู้ และฝึกฝน การมุ่งไปข้างหน้าทางวิทยาการในโลกนี้ มีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่..ย่อมมีบ้าง ที่จะเกิดการสะดุดจากภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนเหล่านั้น หาใช่ปัญหาที่จะมาขัดขวางการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการของเทคโนโลยี่พวกนี้…………………
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *