พอวางหัวตรวจอัลตราซาวนด์ลงบนหน้าท้องของคนไข้ ข้าพเจ้าต้องตกใจที่มองเห็น
\”ภาพเด็กในครรภ์เคลื่อนไหว แต่ไร้ซึ่งกะโหลกศีรษะ\” คำถามที่เกิดขึ้นในใจขณะนั้น คือ \”จะพูด
อย่างไร คนไข้และสามีจึงจะไม่ตกใจหรือช็อกไปเสียก่อน\”
ในระหว่างที่กำลังหาคำตอบอยู่ ข้าพเจ้าตัดสินใจส่งคนไข้ไปแผนกเอ๊กซเรย์เพื่อตรวจ
ดูอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้ง คนไข้รู้สึกแปลกใจ แต่ไม่กล้าถาม
สามีภรรยาคู่นี้หายไปนานเกินกว่าครึ่งชั่วโมง และกลับมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ไม่
ค่อยพูดจาสนุกสนานเหมือนแต่ก่อน
พอฟิล์มและผลการอ่านจากแผนกเอ๊กซเรย์มา ข้าพเจ้าจึงพูดว่า \”เป็นที่ยืนยันอย่าง
แน่นอนแล้วว่า ลูกในครรภ์ไม่มีกะโหลกศีรษะ\” คนไข้น้ำตาไหลออกมาทันที สามีของคนไข้อุทาน
ว่า \”ทำไมต้องมาเกิดกับเราด้วย\” และสิ่งที่สามีภรรยาคู่นี้อยากทราบมากที่สุด คือ \”มันเกิดขึ้น
ได้อย่างไร…\”
ข้าพเจ้าพยายามปลอบใจด้วยคำพูดว่า \”ไม่มีใครรู้ว่า สาเหตุเกิดจากอะไร แต่ท้อง
ต่อไปอาจจะไม่เกิดอีก\”
จากการศึกษาวิจัย พบว่า สาเหตุที่แท้จริงไม่มีใครรู้ น่าจะมีหลาย ๆ ปัจจัยมา
ประกอบกัน สิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าอย่างอื่น
ในส่วนของกรรมพันธุ์ มีรายงานใน ปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) โดย HORNE ว่า
เกิดซ้ำในครอบครัวเดียวถึง 4 ครั้งติดต่อกัน แต่โดยทั่วไป ถือว่า มีโอกาสเกิดซ้ำเพียงร้อยละ
5 เท่านั้น
ในส่วนของสิ่งแวดล้อม อาจจะเกี่ยวเนื่องกับสารอาหาร เช่น สารโฟลิค แอซิด
(FOLIC ACID) มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบประสาทเป็นอย่างยิ่ง หากร่างกายสตรีขาดสาร
ชนิดนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ระยะแรก มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ จึงมีคำแนะนำว่า ควรรับประทาน
วิตามินรวมก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวข้างต้น
คนไข้และสามี ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน
ถัดมาได้ 2 วัน สามีภรรยาคู่นี้ พร้อมคุณพ่อคุณแม่และญาติมิตร พากันมาโรงพยาบาล
อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำ เผื่อว่าจะมีปฏิหาริย์เกิดขึ้น
ข้าพเจ้าตามใจคนไข้และญาติ โดยอนุญาตให้คุณพ่อคุณแม่ของคนไข้สตรีผู้นั้นเข้าไปด้วย
ในระหว่างที่ทำการตรวจ ได้อธิบายและชี้แจ้งไปด้วยว่า ส่วนใดของร่างกายเด็กในครรภ์เป็น
อย่างไร
\”เด็กยังมีชีวิต เคลื่อนไหวได้ ด้านล่างเป็นกระเพาะปัสสาวะ ถัดขึ้นมาเป็นทรวงอก
มีหัวใจเต้นดังที่เห็น เหนือขึ้นไปจากหัวใจ แน่นอน จะต้องเป็นส่วนของศีรษะ ซึ่งปกติการตรวจ
อัลตราซาวนด์ภาคตัดขวางจะเห็นเป็นลักษณะกลมรี คล้ายลูก \”รักบี้\” แต่เด็กคนนี้ ไม่มีส่วนของ
กะโหลกดังกล่าว\” และพยายามพูดปลอบใจอีกมากมาย
\”เรารู้ก่อนในช่วงนี้ ยังดีกว่าปล่อยให้ใกล้คลอดแล้วถึงจะมารู้ ปีที่แล้วสตรีตั้งครรภ์
ใกล้คลอดรายหนึ่ง มาขอให้เร่งคลอด เนื่องจากเพิ่งทราบว่า ลูกไม่มีกะโหลกศีรษะ เพราะ
คุณหมอที่ดูแลไม่เคยดูอัลตราซาวนด์ให้เลย จวบจนใกล้คลอด คลำไม่พบส่วนนำ จึงทำ
อัลตราซาวนด์และพบภาวะดังกล่าว คิดดูซิว่า เสียความรู้สึกขนาดไหน ที่สำคัญ คือ เสียเวลาไป
อย่างไม่น่าให้อภัย\” ข้าพเจ้าบอกทุกคน
ความจริง คนไข้สตรีผู้นี้ มาฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มแรกเลย เนื่องจากเธอแต่งงานถึง 8
ปี เพิ่งจะมามีลูก จึงได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดขณะอายุครรภ์เพียง 8 สัปดาห์ ซึ่ง
พบว่า มีเงาทารกและหัวใจเต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ตรวจดูอัลตราซาวนด์ซ้ำทางหน้าท้อง แต่มองส่วนของกะโหลก
ศีรษะแปลก ๆ วัดไม่ได้ จึงเขียนเครื่องหมาย \”?\” ไว้ในส่วนของศีรษะ
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ข้าพเจ้ากำลังป่วยอยู่พอดี ได้ฝากให้แพทย์ท่านอื่นช่วยตรวจ
ครรภ์แทน จึงไม่ได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ซ้ำขณะคนไข้มาฝากครรภ์
ขณะนี้อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ พอตรวจอัลตราซาวนด์จึงพบลักษณะดังกล่าว
\”การทำแท้งเพื่อการรักษาในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์มีหลายวิธี สำหรับคนไข้
รายนี้ จะใช้วิธีเหน็บยาพรอสตาแกลนดิน (PROSTAGLANDIN) ทางช่องคลอด เพื่อเตรียมปาก
มดลูกให้นุ่ม จากนั้นจึงเร่งคลอดด้วยยาเร่งคลอดทางน้ำเกลือ แต่ถ้าไม่สำเร็จ เราก็เปลี่ยนเป็น
ใช้น้ำเกลือเข้มข้น (20% NACL) ฉีดใส่เข้าไปในถุงน้ำคร่ำจำนวน 100-150 ซี.ซี. หรือฉีดยา
พรอสตาแกลนดินเข้ากล้ามเนื้อ ในเวลาไม่มากกว่า 30 ชั่วโมง จะแท้งออกมาเอง\” ข้าพเจ้าได้
อธิบายวิธีการทำแท้งให้กับคนไข้พร้อมทั้งญาติมิตรที่มาฟังและได้ดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าว
เหน็บยาพรอสตาแกลนดิน (PGE2) ทางช่องคลอด ทุก 6 ชั่วโมง 3 ครั้ง ตรวจภาย
ในทุก 6 ชั่วโมง และให้พยาบาลสังเกตการแข็งตัวของมดลูกด้วย
เช้าวันถัดมา ตรวจภายในปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร แต่ยังค่อนข้างแข็ง จึงได้ใช้
ยาเร่งคลอด (SYNTOCINON) ความเข้มข้นสูง ผสมในน้ำเกลือหยดเข้าเส้นเลือด
เวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง ปากมดลูกเปิดมากขึ้นกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย แม้ว่ามดลูก
จะหดรัดตัวถี่อย่างมากก็ตาม ข้าพเจ้าตัดสินใจที่จะใช้วิธีฉีดยาพรอสตาแกลนดินเข้ากล้ามเนื้อ เป็น
การเสริมช่วยอีกทางหนึ่ง
คราวนี้ได้ผล คนไข้เจ็บมดลูกเพิ่มมากขึ้น และคลื่นใส้อาเจียนอย่างรุนแรง หลังจาก
นั้น 3 ชั่วโมง ปากมดลูกเปิดมากขึ้นเป็น 5 เซนติเมตร ถุงน้ำคร่ำแตก ทำให้ส่วนเท้าของ
เด็กทั้งสองข้างโผล่ออกมา ในที่สุด เด็กเจ้าปัญหาก็คลอด รวมเวลาที่ดำเนินการประมาณ 72
ชั่วโมง นับว่า ค่อนข้างนาน แต่หลังคลอด คนไข้ปลอดภัยดี ไม่มีการตกเลือด
ข้าพเจ้าได้เชิญสามีของคนไข้ มาดู \”ทารก\” สามีของคนไข้ตกใจเล็กน้อย แต่รู้สึก
โล่งอกที่เรื่องราวทั้งหมดจบลงแล้วด้วยดี
\”เดือนหน้า ผมจะพาภรรยาไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ไหม\” สามีคนไข้ถาม
\”ตามสบายเลย\” ข้าพเจ้าตอบ
สามีของคนไข้ สารภาพว่า \”รู้สึกขยาดกลัวที่จะให้ภรรยาตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพราะ
ไม่แน่ใจว่า จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ขึ้นมาอีกหรือไม่?\” และถามว่า \”ภาวะเด็กไม่มีกะโหลก
ศีรษะอย่างนี้มีบ่อยแค่ไหน?\”
ข้าพเจ้าตอบ \”ประมาณหนึ่งในพัน\”
สามีของคนไข้พูด \”โอกาสน้อยมากขนาดนั้น ทำไมถึงต้องมาเกิดกับครอบครัวเราด้วย\”
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน