2 – 3 วันมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า คือ ข้าพเจ้าเพิ่งทราบผลเลือดว่า เป็นเบาหวานระยะแรก ทันทีที่ทราบ ก็ทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนวิถีชีวิต มีดวงจิตที่เศร้าหมองและเป็นทุกข์ จนต้องเข้าวัดเพื่อสงบใจ ในระหว่างนี้ ได้มีกัลยาณมิตรหลายท่านเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาจารย์ 2 ท่าน ได้ให้ข้อคิดด้านธรรมะว่าด้วย ‘จิตมหัศจรรย์’ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจอย่างมาก และมีความมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้กรรมในอดีต
อย่างไรก็ตาม มีคนคนหนึ่งที่มีกรรมมากกว่าข้าพเจ้า เธอผู้นั้น คือ คุณสุมาลี อายุ 32 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 สำหรับครรภ์แรก ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมาในช่วงอายุครรภ์เกินไปเพียง 1 สัปดาห์ คือ ลูกของเธอเสียชีวิตในครรภ์ การรักษาก็ทำได้เพียงเร่งให้คลอดตามธรรมชาติ คุณสุมาลีปลอดภัย แต่จิตใจเศร้าหมองเรื่อยมา
สำหรับครรภ์นี้ คุณสุมาลียังคงฝากครรภ์มาตลอดที่โรงพยาบาลตำรวจ การฝากครรภ์ดำเนินไปโดยไม่มีปัญหา จนกระทั่งวันอังคารหนึ่ง ขณะอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ 4 วัน เธอมีไข้สูง หนาวสั่น 12 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูกใส มีมดลูกแข็งตัวเป็นพักๆ ลูกดิ้นน้อยลง ไม่มีน้ำเดิน ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด
คุณสุมาลีมาถึงห้องคลอดตอนใกล้เที่ยง ตอนที่ข้าพเจ้าไปดูคนไข้ คุณสุมาลียังไม่มีอาการแสดงอะไรมาก อาการทั่วไปคล้ายกับว่า ‘เธอเป็นหวัด’ ข้าพเจ้าสอนนักศึกษาแพทย์ว่า “คนไข้รายนี้ มีประวัติที่เลวร้าย (bad obstetric history) บุตรเสียชีวิตตอนตั้งครรภ์ครบแล้ว ดังนั้น หากครรภ์นี้ อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ พี่จะผ่าตัดคลอดให้ แต่ตอนนี้ อายุครรภ์เพียง 36 สัปดาห์เศษ เราทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหากเด็กออกมาไม่ดี เราจะกลายเป็นคนบาป ดังนั้น เราควรรอไปอีกสักสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ เพื่อให้ลูกของเธอแข็งแรงขึ้นและคลอดออกมาสมบูรณ์”
นั่นคือ ความโชคดีของข้าพเจ้า เพราะถัดจากนั้น คุณสุมาลีก็เริ่มปรากฏอาการชัดว่า เป็น ‘โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic fever)’ ซึ่งลักษณะของโรคโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่ จะมีอาการหน้าแดง มีจุดแดง ๆ ตามลำตัว แขน ขา บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียร และเบื่ออาหาร ในรายที่มีอาการรุนแรง พอไข้เริ่มลง คนไข้จะอยู่ในสภาวะที่อันตรายมาก คือ มีโอกาสช๊อค มือเท้าเย็น ส่วนใหญ่จะยังพูดคุยรู้เรื่อง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เพียงพอ ผุ้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีภาวะช๊อค
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ร้ายแรงสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่ค่อยพบในคนท้อง สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยพบคนท้องที่เป็นโรคไข้เลือดออกขณะตั้งครรภ์เลย อันตรายที่สำคัญของโรคนี้ คือ เลือดออกในสมองและส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(Low Platelet)
วันแรกของการนอนโรงพยาบาล คุณสุมาลีมีไข้ 38.6 องศา ชีพจร 116 ครั้งต่อนาที หายใจ 40 ครั้งต่อนาที มดลูกเริ่มแข็งตัว แต่ไม่รุนแรง วันนั้น ข้าพเจ้าให้การรักษาแบบประคับประคอง (Supportive treatment) รวมทั้งให้ยาฆ่าเชื้อด้วย จึงช่วยให้คนไข้ผ่านพ้นวันนั้นได้ โดยไม่ทราบว่า คุณสุมาลีเป็นโรคอะไรแน่ หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ติดตามคนไข้อีกหลายวัน ซึ่งหลายวันนั้น สภาพของคุณสุมาลีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
วันที่ 3 ของการรักษาตัว คุณสุมาลีมีไข้และชีพจรลดลงเล็กน้อย ไม่มีอาการเจ็บครรภ์ สูติแพทย์เวรได้ให้คนไข้ย้ายขึ้นไปนอนพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยชั้น 5
วันที่ 4 ของการรักษา คุณสุมาลีมีไข้สูง 38.8 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้น 100 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเป็น 130/90 มิลลิเมตรปรอท สุติแพทย์เวรได้ปรึกษาอายุรแพทย์ ตอนนั้น เริ่มสงสัยแล้วว่า คุณสุมาลีน่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก เพราะค่าเกล็ดเลือด (Platelet) ลดลงจาก 101,000 หน่วย เป็น 66,000 หน่วย ความเข้มข้นของเลือดก็เริ่มเพิ่มขึ้น
วันที่ 5 ของการรักษา คุณสุมาลียังมีไข้สูงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่สำคัญคือ เกล็ดเลือด (Platelet) ลดลงจาก 66,000 หน่วย เป็น 33,000 หน่วย ความเข้มข้นของเลือดพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้น คุณหมอยังให้เจาะเลือดเคุณสุมาลีพื่อดูระดับเกลือแร่, การทำงานของตับ และหัวใจอีกด้วย ซึ่งยังปกติอยู่
วันที่ 6 ของการรักษาตัว ไข้ของคุณสุมาลีเริ่มลดลง วันที่ไข้ลดลงถือเป็นวันที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพราะน้ำเลือดจะซึมออกนอกเส้นเลือด ทำให้เลือดข้นและเกิดอาการช็อค นอกจากนั้น ยังอาจมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000 หน่วย วันนั้น เผอิญ ข้าพเจ้าได้ทำการสอนข้างเตียงคนไข้ พอนักศึกษาแพทย์เลือกคุณสุมาลีมาเป็นกรณีศึกษา ก็ทำให้ข้าพเจ้าตกใจมาก
ข้าพเจ้าเริ่มเกริ่นกับนักศึกาแพทย์ว่า ‘คนไข้รายนี้ ข้าพเจ้าได้พบตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งข้าพเจ้าโชคดี ที่ไม่ได้นำคุณสุมาลีไปผ่าตัดคลอด เนื่องจากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด หากข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดตอนนั้น ผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร ยังคาดเดาได้ยาก’
ข้าพเจ้าถามนักศึกษาแพทย์ว่า “กรณีคนไข้รายนี้ เราจะดูแลคนไข้ยังไงต่อไป”
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งตอบว่า “รักษาตามอาการ(Supportive treatment) สำหรับคนไข้รายนี้ คงต้องให้เกล็ดเลือด (Platelet concentration) เพราะถ้าจำนวนเกล็ดเลือดน้อยกว่า 5,000 – 10,000 หน่วย คนไข้จะเกิดภาวะเลือดออกเองได้โดยไม่ต้องมีบาดแผล (Spontaneous bleeding) ตอนนี้เกล็ดเลือดของคุณสุมาลีลดลงเหลือ 9,000 หน่วยเท่านั้น”
ข้าพเจ้าบอกกับนักศึกษาแพทย์ต่อไปว่า “การให้เกล็ดเลือด (Platelet concentration) เราจะให้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะให้ไปแล้ว จำนวนเกล็ดเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว กรณีของคนไข้รายนี้ เราต้องรักษาแบบประคับประคองให้พ้น 2 วันนี้ให้ได้ หลังจากนี้ ภาวะต่างๆจะดีขึ้นเองอย่างรวดเร็ว คนท้องที่เป็นโรคไข้เลือดออก เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้นอนพักในห้อง ไอ.ซี.ยู. เพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด แต่แผนกสูติของเรา ไม่มีห้อง ไอ.ซี.ยู. ดังนั้น คงต้องรีบติดต่อห้อง ไอ.ซี.ยู.แผนกศัลยกรรมด่วน มินั้น คนไข้คงแย่แน่”
ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า “คนไข้รายนิ้ เราควรจะให้คลอดอย่างไร?”
นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ตอบว่า “ควรให้คลอดเองตามธรรมชาติ” แต่มีอยู่คนหนึ่งตอบว่า “น่าจะผ่าตัดคลอด เพราะตอนนี้ความดันโลหิตของคนไข้เพิ่มสูงขึ้นถึง 160/100 มิลลิเมตรปรอท” ข้าพเจ้าพูดว่า “ถึงแม้ความดันโลหิตจะสูงขึ้นเช่นนี้ เราก็ไม่กลัว เพราะเป็นครรภ์ที่2 คนไข้มีโอกาสเกิดครรภ์พิษ (severe preeclampsia) และชักไม่มากนัก” แต่ถ้าเกิดอาการชัก (Eclampsia) ขึ้นในคนไข้รายนี้ ก็จะทำให้มีเลือดออกในสมอง..และคนไข้มีโอกาสเสียชีวิตได้
วันถัดมา เกล็ดเลือดของคุณสุมาลีลดลงอีกจนเหลือ 6,000 หน่วย เท่านั้น อายุรแพทย์ได้พิจารณาให้เกล็ดเลือดจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งให้ ยา steroid ด้วย เนื่องจากไม่สามารถแยกจากโรคเกล็ดเลือดต่ำชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic thrombocytopenia) ได้
วันนั้น สภาพของคุณสุมาลี นับว่า วิกฤติเป็นที่สุด สูติแพทย์เวรได้ติดต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งทางโรงพยาบาลยินดีรับตัวผู้ป่วยไว้ พอทราบเรื่อง ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับนักศึกษาแพทย์บางคนว่า “การส่งตัวไปรักษายังโรงเรียนแพทย์ ถือว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เพราะเครื่องมือและบุคลากรมีพร้อมเพรียง ”
ข้าพเจ้าพยายามสอบถามกับสูติแพทย์ท่านนั้นว่า ‘คณะสูติแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชได้ให้การดูแลคนไข้รายนี้อย่างไร?’ เธอตอบว่า “ได้มีการนำกรณีของคนไข้รายนี้เข้าที่ประชุมวิชาการ สรุปว่า วันรุ่งขึ้นจะให้นำคนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอด เนื่องจากคุณสุมาลีมีความดันโลหิตสูง หรือ ครรภ์พิษร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดหาเกล็ดเลือดให้กับคนไข้จำนวนมากทั้งก่อนและหลังผ่าตัด” หลังผ่าตัดคลอด คุณสุมาลีถูกส่งตัวไปยังห้อง ไอ.ซี.ยู คุณสุมาลีและบุตรปลอดภัยดี
คนท้องที่เป็นโรคไข้เลือดออก นับว่า เธอผู้นั้นกำลังตกอยู่ในอันตราย ไม่ว่า คนไข้จะขยับตัวไปทางไหน ก็เสี่ยงต่อความตาย โดยเฉพาะหากมีภาวะครรภ์พิษร่วมด้วย เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในสมอง ไม่ว่าคนไข้รายนั้นจะมีอาการชักหรือไม่
การรักษาคนไข้เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก หนทางที่ดีที่สุด คือ การส่งคนไข้ต่อไปยังโรงเรียนแพทย์ เพราะมีพร้อมทั้งเครื่องมือ บุคลากร และสารจำเป็นบางอย่างที่สำคัญ อาทิ เกล็ดเลือด เป็นต้น
ปัจจุบัน คุณสุมาลีและบุตรได้รับอนุญาตให้กลับบ้านด้วยความปลอดภัย ยังความดีใจให้ข้าพเจ้าและผู้ที่รับรู้ทุกท่าน
คนเรานั้น เกิดโรคได้ ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่สำหรับข้าพเจ้า ที่เริ่มเป็นเบาหวานขึ้นมาคงเป็นด้วยความประมาทในอาหารการกิน ร่วมกับกรรมในอดีต ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเองแล้ว รวมทั้งเร่งความเพียรในการปฏิบัติธรรม และฝึกฝนปัญญาเพื่อให้หลุดพ้นจากโรคเวรโรคกรรมนี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า สามารถทำได้
ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต จนผิดพลาดเหมือนกับข้าพเจ้า…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน