การตั้งครรภ์ในคนท้องสูงวัย (Elderly gravida)

ข้าพเจ้าเพิ่งกลับจากการปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ซึ่งใช้เวลาปฏิบัติ 7 วัน 7 คืน ในโครงการพัฒนาจิตและสร้างสันติสุข รู้สึกว่า จิตโล่งโปร่งสบาย.. แต่ผ่านไปไม่นานนัก จิตใจก็กลับเข้าสู่วังวนของโลกที่วุ่นวาย เพียงแต่ว่า คราวนี้ ข้าพเจ้ามี ‘สติ’ รองรับ และปรับแก้ไขได้รวดเร็ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ตัวเองมีศรัทธาตั้งมั่นและกำลังก้าวไปในเส้นทางธรรม….
ใช่แล้ว!! โลกทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความว้าวุ่น ทุกคนจำเป็นต้องแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกันทำมาหากิน หนุ่มสาวต้องทำงานหนัก และเรียนรู้วิชาการยาวนาน ก่อนที่จะมีครอบครัว ทำให้แต่งงานช้า และเกิดความยุ่งยากจากการตั้งครรภ์บางอย่าง ว่าไปแล้ว!! ปัญหาการตั้งครรภ์ในคนท้องที่สูงวัย ยิ่งสูงวัย.. ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้น ควรที่เราทุกคนจะเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้
ที่จริงแล้ว!!!!! คำว่า ‘คนท้องสูงวัย’ นั้น ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นสูติแพทย์ท่านใดนำมาใช้ แต่…ย่อมเป็นที่เข้าใจกันดีสำหรับสูติแพทย์โดยทั่วไปว่า คนท้องที่มีอายุเกิน 35 ปี คือ บุคคลที่จะต้องได้รับการดูแลที่แตกต่างจากคนท้องธรรมดา อาทิ การเจาะน้ำคร่ำ, การเจาะเลือด เพื่อหา PAPPA (Pregnancy Associated Plasma protein A) หรือ Triple marker, การตรวจอัลตราซาวนวด์บ่อยครั้งอย่างพิถีพิถัน รวมทั้งการตัดสินใจผ่าตัดคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอใช้คำนี้สำหรับอธิบายคนท้องอายุเกิน 35 ปีทุกคน ไม่เว้นแม้จะเป็นครรภ์หลัง ก็ตาม
คนท้องสูงวัยนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะได้บุตรพิการปัญญาอ่อน (Down’s Syndrome) จากการศึกษา พบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นในอัตราส่วน 1:214 และ 1:19 หากแม่มีอายุ 35 – 39 ปี และ 45 ปี ตามลำดับ ขณะที่มีอัตราเสี่ยงเพียง 1: 1562 หากแม่มีอายุ 20 – 24 ปี ดังภาพที่แสดง

คุณบัวลี อายุ 37 ปี ตั้งครรภ์แรก เธอฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 11 สัปดาห์ ทันทีที่ฝากครรภ์ เธอได้รับการนัดหมายให้มาเจาะเลือด เพื่อตรวจเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (OGTT ย่อจาก oral glucose tolerance test) และเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis)
ผลการตรวจเลือดสำหรับภาวะเบาหวาน (oral glucose tolerance test) ของคุณบัวลีเมื่ออายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ซึ่งเธอได้รับการเจาะเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรก คือ ตั้งแต่เช้าหลังอดอาหารประมาณ 6 – 12 ชั่วโมง จากนั้น ได้ให้คุณบัวลีดื่มน้ำหวานซึ่งมีน้ำตาลจำนวน 100 กรัม แล้วให้คุณบัวลีมาเจาะหาน้ำตาลในเลือด ณ ชั่วโมงที่ 1, 2, 3 หลังดื่มน้ำหวาน ผลปรากฏว่า ปกติ (94,188,155,113 mg% ณ ชั่วโมงที่ 0, 1, 2, 3 ตามลำดับ ซึ่งค่าปกติของน้ำตาลในเลือดจะต้องไม่เกิน 100, 190, 165, 145 mg% ณ ชั่วโมงที่ 0, 1, 2, 3 )
ผลการเจาะน้ำคร่ำของคุณบัวลี เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์เช่นกัน ปรากฏว่า ปกติ ได้บุตรชาย (46,XY Normal male Karyotype) ไม่เป็นทารกพิการปัญญาอ่อน (Trisomy 21) นอกจากนั้น คุณบัวลียังได้รับการติดตามตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องอีกหลายครั้ง ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆในตัวทารก
พออายุครรภ์ได้ 28 ปดาห์ คุณบัวลีได้รับการเจาะเลือดตรวจหาน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง ผลปรากฏว่า ปกติเช่นกัน (88, 136, 107, 74 mg% ณ ชั่วโมงที่ 0, 1, 2, 3)
คุณบัวลีมีปัญหาอย่างหนึ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ถือว่ารุนแรง คือ ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย คือ ประมาณ 130 – 140 / 90 -100 มิลลิเมตรปรอท มาโดยตลอด แต่คุณบัวลีไม่เคยมีอาการที่จะนำไปสู่การชัก (Eclampsia) เช่น ปวดหัว ตามัว อาเจียน (Prodomal Symptom) ซึ่งทำให้สูติแพทย์ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก อย่างไรก็ตาม ภาวะความดันโลหิตสูง (hypertension) ย่อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ข้าพเจ้าตัดสินใจผ่าตัดคลอดง่ายขึ้น เมื่อคุณบัวลีอายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ พยาบาลห้องตรวจครรภ์ ได้มาปรึกษาข้าพเจ้าว่า “คนไข้รายนี้มีความดันโลหิตสูงถึง 152 / 90 มิลลิเมตรปรอท (วัดความดันโลหิตจำนวน 2 ครั้ง) หมอจะทำอะไรไหม? ” พอข้าพเจ้าทบทวนประวัติ ก็ทราบว่า เป็นคนไข้ท้องครรภ์แรกที่มีอายุเกิน 35 ปี (Elderly Primigravida) ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอดในวันรุ่งขึ้น (Elective cesarean section) ซึ่ง..ไม่ใช่สูติแพทย์ทุกคนจะตัดสินใจเช่นเดียวกับข้าพเจ้า เพราะไม่ใช่ข้อบ่งชี้เด็ดขาด
ผลการผ่าตัด คุณบัวลี คลอดบุตรเมื่อเวลา 9:30 น. ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,890 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9, 10 ตามลำดับ
แม้ คุณบัวลีและบุตรจะปลอดภัย จนดูคล้ายกับไม่มีปัญหาอะไร แต่..หากปล่อยให้คลอดเองแล้ว ก็อาจเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง จนนำไปสู่การเสียชีวิต หรือพิการของทารกน้อย และการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย
ในวันเดียวกันนี้ ยังมีคนไข้อีก 3 คนที่อายุเกิน 35 ปีมาคลอดที่โรงพยาบาลตำรวจ
คนแรก ชื่อ คุณสมจิตร อายุ 39 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 บุตรคนแรก เธอคลอดเองเมื่อ 8 ปีก่อน สำหรับครรภ์นี้ เธอตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ 2 วัน เธอเจ็บครรภ์มาช่วงตอนเย็น ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์สอบถามถึงน้ำหนักของบุตรคนแรกของคุณสมจิตรว่า เท่าใด พยาบาลให้คำตอบว่า ‘ประมาณ 3 กิโลกรัม’ ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า ‘ครรภ์นี้เทียบกับครรภ์ที่แล้ว ครรภ์นี้ใหญ่หรือเล็กกว่าครรภ์ที่แล้ว’ พยาบาลได้ไปถามคุณสมจิตร และกลับมาบอกว่า ‘น้ำหนักพอๆกัน’ ข้าพเจ้าหวั่นใจว่า ‘ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา คุณสมจิตรอาจจะลืมเรื่องการคลอดไปแล้ว’ แต่…ก็ตัดสินใจลองปล่อยให้คนไข้พยายามคลอดเองดูก่อน เนื่องจากเป็นเวลาค่ำ และ ปากมดลูกก็เปิดเพียงแค่ 2 เซนติเมตร เท่านั้น หากคุณสมจิตร ไม่คลอดบุตรในค่ำคืนนั้น เมื่อถึงตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าค่อยเข้าไปประเมินการคลอดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 4 นาฬิกา คุณสมจิตรก็คลอดบุตรเองตามธรรมชาติ ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,780 กรัม แข็งแรงดี สรุปว่า รายนี้ ไม่มีอะไรให้เป็นห่วง ข้าพเจ้านอนหลับสบายตลอดทั้งคืน โดยไม่ถูกโทรศัพท์ตาม
ตอนเช้า มีคนท้องอายุ 40 ปี มาอีกราย ตั้งครรภ์ที่ 2 เธอชื่อ คุณสุบรรณ ตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ 1 วัน ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตำรวจประมาณ 7 นาฬิกา ก็เข้าไปสำรวจตรวจดูห้องคลอด นักศึกษาแพทย์ได้รายงานถึงกรณีดังกล่าวให้ทราบ ข้าพเจ้าเข้าไปสอบถามคุณสุบรรณว่า ‘ท้องที่แล้วห่างจากท้องนี้กี่ปี และเปรียบเทียบกันแล้ว ท้องไหนใหญ่กว่ากัน’ คุณสุบรรณตอบว่า ‘ห่างกัน 8 ปี และรู้สึกว่าท้องนี้ใหญ่กว่า’ ข้าพเจ้าถามคุณสุบรรณว่า ‘ลูกคนแรก มีน้ำหนักแรกคลอดเท่าไหร่?’ คุณสุบรรณตอบว่า ‘ประมาณ 3 กิโลกรัม’ จากนั้น ข้าพเจ้าก็คลำหน้าท้องของเธอเพื่อประเมินน้ำหนักทารก (Estimated fetal weight) ตอนนั้น ข้าพเจ้าคาดคะเนว่า ทารกคงหนักประมาณ 3,400 กรัม และคิดว่า คุณสุบรรณคงคลอดลำบาก เพราะอายุมาก และว่างเว้นจากการคลอดมานาน อนึ่ง เนื่องด้วยเธอต้องการทำหมัน ข้าพเจ้าจึงเสนอทางเลือกของการคลอดให้กับเธอว่า ‘จะผ่าตัดคลอด (Elderly gravida) พร้อมกับทำหมันให้’ ซึ่งคนไข้ยินยอม ในที่สุด ข้าพเจ้าก็ผ่าตัดคลอดและทำหมันให้กับคุณสุบรรณเมื่อเวลา 9 นาฬิกา บุตรของเธอเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3,230 กรัม แข็งแรงดี
ถัดจากนั้นมา ก็เป็นเวรของสูติแพทย์ท่านอื่น ข้าพเจ้าลองตรวจสอบในทะเบียนคลอดบุตรของห้องคลอดดู ก็พบมีคนไข้อีกรายหนึ่งที่อายุ 40 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 40 ปี ได้รับการผ่าตัดคลอดด้วยข้อบงชี้ คือ Elderly Primigravida เช่นเดียวกัน เมื่อเวลาบ่ายโมง บุตรแข็งแรงดี
จะเห็นว่า ภายในวันเดียว มีคนท้องสูงวัย (อายุเกิน 35 ปี) มาที่ห้องคลอดถึง 4 ราย คนไข้ได้รับการผ่าตัดคลอด 3 ราย ด้วยเหตุผลที่ว่า การคลอดเองทางช่องคลอดนั้น เราคาดเดาได้ยากว่า จะมีปัญหาหรือเปล่า และหากเกิดปัญหาขึ้นกับทารกน้อย อีกนานสักเมื่อไหร่ คนไข้จะตั้งครรภ์กลับมาอีก
การที่คนเราได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในโลก อาจกล่าวได้ว่า ยากกว่าการเดินทางไปถึงดวงจันทร์ หรือ การถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เสียอีก เพราะฉะนั้น การตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้กับคนท้องสูงวัย จึงเป็นสิ่งสมควร โดยเฉพาะในครรภ์แรก (Elderly Primigravida ) ส่วนคนท้องสูงวัยในครรภ์หลัง (Elderly Gravida) หากว่า ตั้งครรภ์ห่างจากครรภ์แรกเกินกว่า 10 ปี ก็ให้ถือว่า น่าจะเข้าหลักเกณฑ์เดียวกัน คือ ผ่าตัดคลอดเมื่อครรภ์ครบกำหนด (คือ อายุครรภ์ 38 – 40 สัปดาห์)
ถึงแม้ ผู้คนจำนวนมากกำลังพยายามดิ้นรนไปสู่เส้นทางของ ‘การไม่เกิดอีก’ แต่..ขึ้นชื่อว่า ปุถุชน (คำแปล : ผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส) การได้เกิดมาเป็นมุนุษย์และมีอัตภาพที่สมบูรณ์ ก็ถือว่า โชคดี… ไม่ว่า จะอย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่หลงไหลไปกับกองกิเลส หมั่นถือศีล 5 ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชาติหน้า ก็จะเกิดมาป็นมนุษย์ได้อีก และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่พิกลพิการ ปัญญาอ่อน
฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *