10 กว่าปีก่อน ข้าพเจ้าได้เดินทางร่วมกับสูติ – นรีแพทย์อีก 4 ท่านไปที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเข้าฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ข้าพเจ้าได้เห็นคุณหมอ และเจ้าหน้าที่ชาวไต้หวันจำนวนมากไปเข้าอบรมเช่นกัน แต่..พวกเขาเหล่านั้นเดินทางไปเป็นหมู่คณะจำนวนราว 40 – 50 คน หลังจากนั้นมา การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชของประเทศไต้หวัน ก็ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ปัจจุบัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง สูติ – นรีแพทย์จำนวนมากมาย จากทั่วทุกมุมโลก กลับต้องไปดูงานที่ประเทศไต้หวัน เพราะอะไรหรือ? ทั้งนี้ก็เพราะ ผลงานการผ่าตัดอย่างดีเยี่ยมของพวกเขาเหล่านั้นเกี่ยวกับมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี นั่นเอง
โรงพยาบาลฉางเกิน เป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะมาดูงานการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Laparoscpic surgery) โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ในเขตปกครองหูโข่ว เขตปกครองนี้เป็นเมืองใหม่ เล่ากันว่า เดิมที คนไต้หวันส่วนหนึ่งประสบกับความยากลำบากมากในเข้ารับการรักษา สาเหตุเนื่องมาจากความยากจน ซึ่ง..โรงพยาบาลเอกชนเกือบทั้งหมดของไต้หวันต่างก็ทอดทิ้งหรือปฏิเสธการรักษาคนจนที่มาเยือน มหาเศรษฐีชาวไตหวัน นามว่า ‘หลีกาเซง’ เห็นความไม่เที่ยงธรรมนี้ จึงออกเงินจำนวนมากสร้างโรงพยาบาลฉางเกินขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ‘คนไข้เจ็บป่วยทุกคนที่เดินทางเข้ามาในโรงพยาบาล จะต้องได้รับการรักษา ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่’ ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลฉางเกินจึงเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยอานิสงส์แห่งความเมตตา อันเป็นปรัชญาของโรงพยาบาล
ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงในวันที่ 8 มีนาคม 52 ตอนเที่ยงวัน มิสเตอร์หลินและภรรยาได้มารับข้าพเจ้าที่สนามบิน ข้าพเจ้าดีใจมาก เพราะในที่ต่างแดนนั้น ยามที่ไปถึง เราจะรู้สึกโดดเดี่ยวมาก นี้เอง คนจำนวนมากที่ไปยังต่างประเทศ จึงมักถูกหลอกที่สนามบินปลายทาง ด้วยเลห์เหลี่ยมของทรชนจนสิ้นเนื้อประดาตัว หรือไม่ ก็กลายเป็นนักโทษติดคุกติดตาราง หรือกลายเป็นโสเภณี มิสเตอร์หลินเป็นเพื่อนของภรรยาข้าพเจ้ามากว่า 30 ปี จึงเป็นที่ไว้วางใจของข้าพเจ้า
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ข้าพเจ้ารู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว และคิดถึงบ้านมาก ข้าพเจ้าอยากให้ตอนบ่ายของวันนั้นผ่านพ้นไปโดยเร็ว จะได้เริ่มต้นดูงานที่โรงพยาบาลฉางเกิน เพื่อคลายความเหงา… ทั้งๆที่เป็นวันอาทิตย์ คุณ Emily Feng เลขาของศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (APAGE) ยังได้มาต้อนรับข้าพเจ้าและพาไปยังที่พัก ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจเธอมาก..
โชคดี!!!! ภรรยาข้าพเจ้าเตรียมของขวัญหลายชิ้นให้กับเพื่อนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเก้อเขินต่อน้ำใจของเขาเหล่านั้น
หอพักของที่นี่ เป็นห้องคู่ ใช้ห้องน้ำร่วมกันตรงห้องกลาง ภายในห้องมีที่นอนลักษณะเป็น 2 ชั้นจำนวน 2 ชุดวางติดกัน คือ มี 4 เตียง จึงสามารถนอนได้ถึง 4 คน แต่..เผอิญช่วงนี้ยังไม่มีคนมาดูงานเพิ่ม ข้าพเจ้าจึงอยู่ห้องนั้นคนเดียว หากกล่าวถึงระบบความปลอดภัยของที่นี่แล้ว ถือว่า อยู่ในขั้นดีเยี่ยม ทุกคนที่เข้าออกหอพักจะต้องมีบัตรประจำตัวและcard เพื่อรูดกับเครื่องอัตโนมัติที่ติดกับประตูและลิ๊ฟเวลาเปิดประตูและขึ้นลิ๊ฟ เพราะฉะนั้น คนแปลกหน้าจึงแฝงตัวเข้ามายาก
วันจันทร์เป็นวันแรกของการปฏิบัติงาน ประธานศูนย์ APAGE (Asea Pacific Association for Gynecologic Endoscopy ) Prof. Lee ได้ช่วยแนะนำตารางการทำงานและสถานที่ประชุมต่างๆ รวมทั้งห้องผ่าตัดให้กับข้าพเจ้าด้วยตนเอง การประชุมเชิงวิชาการ(Medical conferences) ของที่นี่ จะมีทุกๆวันพุธ พฤหัส และศุกร์ สำหรับวันพุธ การประชุมจะเริ่มต้นตอน 7: 30 น. เป็นการประชุมภายในหน่วยผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โดยแพทย์ประจำบ้านเป็นผู้นำเสนอบทความจากวารสารต่างประเทศ (Medical Journal) วันพฤหัส การประชุมเริ่มต้นตอน 7:00 น. เป็นการประชุมของทั้งแผนกสูติ-นรีเวช ว่าด้วยเรื่องวิชาการทั่วๆไปของโรคสตรี (General OB-GYN) วันศุกร์ การประชุมเริ่มตอน 7:00 น. เป็นการประชุมวิชาการเชิงลึกของแผนกสูติ-นรีเวชเช่นกัน ว่าด้วยวิชาการเชิงวิเคราะห์ (Mortality & morbidity) แต่ผู้พูดและผู้ให้ความคิดเห็นจะใช้ภาษาอังกฤษในการโต้ตอบ
สำหรับการผ่าตัดของแผนกสูติรรีเวชนั้นอยู่ที่ชั้น 8 ของตึกสีชมพู ข้าพเจ้านั้น นับว่า โชคดี เพราะมีคุณหมอพัณนิดาที่มาอยู่ก่อนช่วยแนะนำว่า ข้าพเจ้า ‘ควรทำตัวอย่างไรและเข้าดูใครผ่าตัดบ้าง’ ห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลแห่งนี้มีประมาณ 100 ห้อง แต่เฉพาะของหน่วยนี้มีอยู่ 4 ห้องหลัก และเพิ่มเติมได้อีก 3 ห้อง อุปกรณ์ภายในห้องผ่าตัดทันสมัยมาก อุปกรณ์ทุกอย่างติดต่อหากันได้ทั้งหมดด้วยระบบคอมพิวเตอร์.. ตามกำหนดการ ข้าพเจ้าจะเข้าดู (observation) การผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น แต่ด้วยคำแนะนำของคุณหมอพัณนิดา ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสดูการผ่าตัดตั้งแต่วันนั้นเลย ที่นี่มีการผ่าตัดด้วยกล้องอย่างมากมาย ตั้งแต่เช้าจรดค่ำจนกว่าคนไข้ที่กำหนดไว้จะหมด ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเห็นรูปแบบการผ่าตัดที่ง่ายและดีๆจำนวนมากของแพทย์หลายๆท่าน ไม่ว่า…จะเป็นการตัดมดลูก การลอกเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกจากมดลูก (Myomectomy) การลอกถุงน้ำรังไข่ (Cystectomy) หรือการต่อหมัน (End to end reanastomosis of fallopian tubes ) แม้แต่การผ่าตัดเนื้อร้ายมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ (ovarian/endometrial/cervical cancer)… ที่เมืองไทย เรายังมีการผ่าตัดผ่านกล้องเช่นนี้กันน้อย ต่อไป ก็คงจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน
ข้าพเจ้ายังคงมุ่งมั่นที่จะศึกษาการผ่าตัดผ่านกล้องต่อไป แต่บางครั้ง..ก็รู้สึกเหงาเหมือนกันยามกลับมายังห้องพัก เมื่อเวลาผ่านไปได้ 1 สัปดาห์ คุณหมออรัญญา ซึ่งเป็นคนไทยอีกท่านหนึ่งที่มาดูงาน เธอเพิ่งกลับมาจากโรงพยาบาลฉางเกินในเมืองเกาสง คุณหมออรัญญา นี่เอง ที่มีส่วนช่วยพาข้าพเจ้าออกไปเที่ยวสถานที่นอกโรงพยาบาล เธอสอนข้าพเจ้าให้นั่งรถเมล์ รถไฟฟ้า ว่าจะเข้าไปและกลับจากเมืองไทเปยังไง?? นี่เอง ข้าพเจ้าจึงสามารถคลายความว้าเหว่ใจได้ ด้วยการเข้าไปเที่ยวยังที่ต่างๆอย่างสะดวกสบาย
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของไต้หวัน อันเป็นที่นิยมมาก คือ สถานตากอากาศตานสุ่ย สถานที่นี้ มีลักษณะคล้ายกับสถานตากอากาศบางปูบ้านเรา เพียงแต่..ที่นี่เป็นเพียงทะเลสาบขนาดไม่ใหญ่ ช่วงตอนเช้าและค่ำมักจะมีหมอกลงมาก.. เวลาตอนเย็นค่ำ ประมาณ 17:00 – 19:00 น. จะช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดของสถานที่ห่งนี้ โดยเฉพาะยามพระอาทิตย์กำลังจะลับจากขอบฟ้า ผู้คนทั้งชาวไต้หวันและต่างประเทศพากันมาที่นี่ เพื่อเดินเล่น ออกกำลังกาย พรอดรัก และพักผ่อน นอกจากนั้น ยังมีนักดนตรี เช่น นักไวโอลิน นักกีต้า รวมทั้งนักแสดงมายากลมากหลาย มาให้ความสนุกสนานกับผู้มาเยือน โดยแลกกับเศษเงินเล็กๆน้อยๆ
ช่วงเย็นค่ำที่สวยงามเช่นนี้ ข้าพเจ้าเอง ไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะคุณหมออรัญญาไม่ว่างที่จะพามา แต่ได้รับการอธิบายรายละเอียดให้ข้าพเจ้าฟังก่อนที่เธอจะกลับมาเมืองไทย เพื่อไปประชุมวิชาการที่เมืองพัทยา ในวันที่ 25 -27 มีนาคม 52 อย่างไรก็ตาม ก่อนกลับเมืองไทย ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางไปสถานตากอากาศตานสุ่ยโดยลำพังในตอนเช้าของวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม…. จริงๆแล้ว ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจากชุมทางรถไฟไทเป (Taipei Railway Station) ไปสถานตากอากาศตานสุ่ย เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 30 – 40 นาทีเท่านั้น แต่ช่วงเวลาเตรียมตัวก่อนหน้านั้น เพื่อเดินทางไปที่ชุมทางรถไฟไทเป (Taipei Railway Station) ต่างหากที่อาจใช้เวลานาน
ตอน 10 โมงเช้าของวันเสาร์ เมื่อรถไฟเทียบชานชลาตานสุย สังเกตว่า หมอกบางๆยังคงปกคลุมทะเลสาบแห่งนั้น ซึ่งอยู่ห่างจากชานชลาไปไม่ไกลนัก หากเราหันหน้าไปทางทะเลสาบแห่งนี้ ทางด้านซ้ายจะเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ 3 – 4 ต้นยืนตระหง่านห่างกันสัก 20 วา แผ่กิ่งใบให้ความร่มเย็นแด่ผู้มาเยืยน นอกจากนั้น ยังมีลานคอนกรีต กว้างพอๆกับสนามเทนนิส สร้างไว้ติดกับทะเลสาบสำหรับนักขับขี่รถจักยาน หรือ ผู้มาออกกำลังกาย ส่วนทางด้านขวาห่างออกไป จะเป็นร้านค้าจำนวนมากมาย เรียงรายอยู่ข้างทะเลสาบและสันเขื่อน ช่วงเวลานั้น มีร้านค้าเปิดให้บริการเพียงไม่กี่แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในยามเช้า ถัดออกไป ก็เป็นที่ท่าจอดเรือ มีเรือเพื่อบริการนักท่องเที่ยวจอดเรียงกัน 4-5 ลำ เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปล่องทะเลสาบ
ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับการมาเยือนประเทศไต้หวันครั้งนี้ ไม่ว่า จะเป็นเชิงวิชาการและการท่องเที่ยว นับเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตอย่างหนึ่ง
โลกเรานี้กว้างใหญ่และกว้างไกลกว่าที่เราคิดมาก ในทุกๆสถานที่ล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อย่างเช่นประเทศไต้หวัน ไม่ว่า จะเป็นโรงพยาบาล หรือสถานที่ท่องเที่ยว หากเรารู้จักไฝ่หาและศึกษาจากสถานที่ต่างๆเหล่านี้ โดยไม่เบียดเบียน ก็เชื่อว่า จะนำพาประโยชน์มาสู่ตนเองและบ้านเมืองเราไม่น้อย…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน