ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

“ทำไม ผู้คนโลกใบนี้ จึงให้ความสำคัญกับวันขึ้นปีใหม่กันนัก…ทั้งๆที่ บางที ตามสภาพที่เห็น มันยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นเลย ในความคิดของข้าพเจ้า มองว่า ‘เศรษฐกิจของประเทศเรา ยังคงอยู่ในสภาพย่ำแย่…แม้จะดีขึ้นในภาพรวม’ ..แต่….คนยากจน จะอยู่ในสภาพยิ่งแย่ลง เพราะข้าวของพากันขึ้นราคา จนค่าครองชีพสูงลิ่ว…ผู้คนกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ กำลังจะตาย เพราะตกงาน…เนื่องจากชนชาติเพื่อนบ้าน พม่า ลาว เขมร ต่างทะยอยกันเข้ามายื้อแย่งงานของคนไทยไปทำ…ที่สำคัญ คือ ค่ารักษาพยาบาล..ของโรงพยาบาลต่างๆ นั้นแพงสุดโหด…. ชนชั้นล่าง ในตอนนี้ จึงกำลังอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น..ทำให้บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นโจรผู้ร้าย….เพื่อความอยู่รอด…\r\nปกติ ในช่วงใกล้วันหยุดยาว (Long Holidays) ข้าพเจ้าจะไม่ผ่าตัดใดๆ เนื่องจากกลัวปัญหาภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะหาคุณหมอมาช่วยผ่าตัดแก้ไขไม่ได้ ทำให้คนไข้ต้องรอจนกว่าจะเปิดทำงานราชการ… แต่..ปีนี้ มีคนไข้อยู่ 2 รายมีความจำเป็นส่วนตัว ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นใจ ดังนั้น ในวันศุกร์สุดท้ายของปี ข้าพเจ้าจึงได้กำหนดให้มีการผ่าตัดผ่านกล้องให้กับคนไข้ทั้ง 2 ราย รายหนึ่ง เป็นโรคเนื้องอกมดลูกหลายก้อน (Multiple myeloma) ส่วนอีกราย เป็นโรคถุงน้ำรังไข่ทั้งสองข้าง (Bilateral endometrioma) \r\nคนไข้รายแรก ชื่อ คุณเมตตา อายุ 47 ปี มีบุตรแล้ว 2 คน ลูกคนสุดท้อง อายุ 17 ปี..มาโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเรื่องคลำพบก้อนที่หน้าท้องเหนือหัวเหน่า คุณเมตตาบอกว่า ‘ขณะนี้ เธอกำลังกินยาละลายลิ่มเลือด เพราะมีเส้นเลือดอุดตันที่ปอด’ แต่..ที่ต้องการมาผ่าตัดเอามดลูกทิ้ง ก็เนื่องจากทนต่อสภาพตกเลือดอย่างรุนแรงเวลามีระดูไม่ไหว.. ข้าพเจ้าตอบตกลง โดยไม่ทราบว่า จริงๆแล้ว คนไข้รายนี้ เป็นโรคร้ายอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังกันแน่ เพราะเส้นเลือดอุดตันที่ปอด ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า ‘คุณเมตตาคงเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง’ แต่…เพื่อความไม่ประมาท ข้าพเจ้าจึงส่งคนไข้ไปเข้ารับคำปรึกษาจากอายุรแพทย์ว่า ‘คุณเมตตาสามารถเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องได้หรือไม่?’ ผลคือ อายุรแพทย์ ขอให้ คุณเมตตาหยุดยา 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด …ข้าพเจ้ายอมรับการตัดสินใจของอายุรแพทย์ และนัดให้ คุณเมตตาเข้ารับการผ่าตัดในศุกร์สุดท้ายปลายปี เนื่องจากคุณเมตตามาพบข้าพเจ้ในวันพุธสัปดาห์นั้นและขอเข้ารับการผ่าตัดเลย ด้วยเหตุผลบางอย่างไม่ทราบแน่ชัด ….ข้าพเจ้ายินดีทำตามประสงค์ ทั้งๆที่ไม่สบายใจ..แต่.. ก็เชื่อมั่นในคำปรึกษาของอายุรแพทย์ท่านนั้น\r\nวันพฤหัสก่อนผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามือถือของข้าพเจ้าพลางขอร้องว่า ‘อยากให้ข้าพเจ้าปรับเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Exploratory Laparotomy) แทน และจำเป็นต้องจอง ห้อง ไอ.ซี.ยู.ศัลยกรรมให้คนไข้ไว้ด้วย’ ข้าพเจ้าตอบตกลง เพราะไม่อยากเสี่ยงกับชีวิตคนไข้รายนี้หลังผ่าตัด… พอถึงตอนเช้าวันศุกร์ ข้าพเจ้าได้เดินไปที่ห้องผู้ป่วยก่อนเข้าห้องผ่าตัด และแจกแจงถึงข้อปัญหาว่า ‘คุณเมตตาอาจประสบกับผลร้ายหากผ่าตัดผ่านกล้อง เพราะปัญหาที่ปอด.. โดยผมจะขอให้วิสัญญีแพทย์… ช่วยให้ยาสลบผ่านทางไขกระดูกสันหลัง (Spinal block)’ \r\nที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในห้อง โดยกะว่า จะแจ้งให้คุณหมอดมยา ‘ช่วยให้ยาสลบผ่านทางไขกระดูกสันหลัง (Spinal block)’ แต่พอไปถึง วิสัญญีแพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจให้คนไข้ไปแล้ว (Intubation) …ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลห้องผ่าตัดว่า ‘ผมจะใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 45 นาทีเท่านั้น โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ในการหยุดเลือด (EBBE sealing bipolar cauterization)’ \r\nข้าพเจ้ากรีดลงมีดที่ผิวหนังเหนือหัวเหน่าในแนวขวาง (Pfannenstiel’s incision) เพื่อความสวยงามให้กับคุณเมตตา เพราะประเมินว่า เนื้องอกมดลูกมีขนาดเพียง 14 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ (Pregnancy size) หรือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตรเท่านั้น… เมื่อผ่าตัดเข้าสู่ช่องท้องแล้ว ข้าพเจ้าได้เลือกตัดเส้นเอ็น ที่ชื่อ Round ligament ด้านซ้ายก่อน เพระข้าพเจ้ายืนทางซ้ายของคนไข้..จากนั้น ก็ตัดเส้นเอ็นที่ชื่อ Infundibulo-pelvic ligament ต่อเนื่องกันไป ….การผ่าตัดทางด้านขวา ก็กระทำในทำนองเดียวกัน.. การผ่าตัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแทบไม่ได้เย็บผูกเส้นเลือดเลย นอกจากเส้นเลือดใหญ่ๆ สัก 2 – 3 ครั้งเท่านั้น ขั้นต่อไป คือ การตัดเส้นเลือดใหญ่ ที่ชื่อ Uterine arteries ทั้งสองข้าง โดยใช้เครื่องมือพิเศษ จากนั้น ก็หันมาตัดเอ็นที่ยึดด้านหลังของมดลูกส่วนล่าง (Utero – sacral ligaments) ทั้งสองข้าง แล้วเจาะเข้าสู่ช่องคลอดทางด้านหน้า (Anterior Colpotomy) หลังจากนั้น..ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปในการตัดเอามดลูกออกทั้งหมด\r\nพอมาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าก็ป้ายน้ำยา ที่เรียกว่า Betadine ซึ่งมีสีเหลืองเข้มเหมือนยาทิงเจอร์ ตรงบริเวณแผลเปิดช่องคลอดด้านบนและอุ้งเชิงกรานส่วนล่างสุด (Culdesac) ข้าพเจ้าค่อยๆเย็บปิดช่องคลอดทีละเข็มแบบ interrupted สไตล์ศิริราช ที่ข้าพเจ้าร่ำเรียนมา….พอผูกด้ายที่ตำแห่งส่วนตัดของเอ็นและกล้ามเนื้อต่างๆ (Stumps) เข้าหากัน ข้าพเจ้าสังเกตเห็นส่วนของน้ำยาที่เหลืออยู่บริเวณต่ำสุด มีสีแปลกๆ ข้าพเจ้านึกกลัวว่า จะมีการทะลุเข้าลำไส้ใหญ่ (Large bowel perforation) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งของการผ่าตัดมดลูก ข้าพเจ้าจึงขอให้พยาบาลห้องผ่าตัด ช่วยเปิดผ้าคลุมท้องน้อย และยกต้นขา งอเข่าทางด้านซ้ายของคุณเมตตาขึ้น ข้าพเจ้าใช้นิ้วชี้ของมือขวาล้วงก้นคนไข้ พลางกระดกปลายนิ้วมือ และดูลำไส้ใหญ่จากในช่องท้องน้อยด้านบนว่า ‘มีการทะลุ หรือไม่???’ ผลปากฏว่า ‘ไม่มีการทะลุ’ ข้าพเจ้า ดีใจมาก และเย็บปิดช่องท้อง…ด้วยความโล่งอก แต่..ก็ต้องติดตามอาการเกี่ยวกับลำไส้ในวันรุ่งขึ้นอีกที\r\nวันรุ่งขึ้น คุณเมตตาสามารถลุกเดิน และจิบน้ำได้ ..นั่นแสดงว่า คุณเมตตาไม่เกิดปัญหาใดๆเลยเกี่ยวกับลำไส้ ข้าพเจ้าเพียงแต่ตระหนกตกใจไปเองกับสีของน้ำยาที่ปะปนกับของเหลวในช่องท้อง คุณเมตตาอยู่พักโรงพยาบาลได้ 5 วัน อายุรแพทย์ก็มาสั่งการให้ยาละลายลิ่มเลือดอีก ข้าพเจ้าถือโอกาส ถอดลวดที่เย็บแผลท้องของคนไข้ (Off staple) ออกและปิดด้วย แผ่นกระดาษยึดแผล (Sterile strip) ก่อนที่จะให้ยาละลายลิ่มเลือด.. คนไข้พักต่ออีก 3 วัน ก็ขออนุญาตกลับบ้านโดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด \r\nคนไข้อีกราย ชื่อ คุณจงรัก อายุ 32 ปี แต่งงานได้ 3 ปี ยังไม่มีบุตร เธอมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดท้องน้อยเวลามีระดู (Dysmenorrhea) ในช่วง 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา… ปกติ คุณจงรัก รักษาอยู่กับสูติแพทย์ท่านหนึ่ง แต่..ต่อมาเธอต้องการเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้อง จึงมาหาข้าพเจ้า และขอผ่าตัดก่อนปีใหม่ด้วย เนื่องจากเธอเพิ่งผ่านพ้นระดูไปไม่นานนัก ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในให้คุณจงรัก ก่อนหน้านี้แล้ว พบว่า เธอเป็น ถุงน้ำรังไข่ขนิด ช็อคโกแลต ซีส 2 ข้าง (Bilateral endometrioma) ที่สำคัญ คือ ด้านขวาภายในช่องคลอด ของเธอมีลักษณะขรุขระ (right lateral fornix) อันหมายถึงว่า ในช่องท้องบริเวณเดียวกันนั้น เยื่อบุมดลูก (Endometriosis) น่าจะมาเกาะจนมีพังผืดหนา …แต่..ข้าพเจ้าก็คิดในทางที่ดีไว้ก่อนว่า น่าจะผ่าตัดได้ไม่ยากนัก …\r\nที่ห้องผ่าตัด…พอเจาะเข้าสู่ช่องท้อง ก็เห็นถุงน้ำช็อคโกแลต ซีสด้านขวาและซ้ายค่อนข้างใหญ่ ข้าพเจ้าเลือกเลาะถุงน้ำข้างซ้ายก่อน เพราะถุงน้ำและท่อนำไข่ด้านซ้ายเคลื่อนไหว (Mobile)ได้ดี.. ถุงน้ำ (Endometriotic cyst) นั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร…ข้าพเจ้าเลือกที่จะเจาะถุงน้ำก่อน เพื่อระบายเอาของเหลวสีเหมือนช็อคโกแลตภายในออกมา จากนั้น ก็ดูดล้างน้ำภายในถุง เพื่อให้ของเหลวเจือจางและเหลือน้อยที่สุด แล้วก็ทำการลอก (Laparoscopic cystectomy) เอาเปลือกถุงน้ำออกมาแบบไม่ยากนัก …เนื่องจาก ก้อนถุงน้ำมีส่วนยึดติดกับอุ้งเชิงกรานน้อยมาก และเบาบาง.. เพียงสะกิด..หรือเขี่ยไปมาเล็กน้อย พังผืดก็แตกออก ทำให้ปีกมดลูกและถุงน้ำด้านซ้ายเคลื่อนไหวอิสระ.. แต่..ถุงน้ำทางด้านขวา ไม่เหมือนกัน..ถุงน้ำมันเกาะค่อนข้างแน่นกับอุ้งเชิงกราน นอกจากนั้น ท่อนำไข่ส่วนปลาย ยังม้วนตัวเข้าไปยึดเกาะกับอุ้งเชิงกรานด้วย.. ผู้ช่วยของข้าพเจ้าในรายนี้ คือ แพทย์ประจำบ้านคนหนึ่ง ตอนนี้ คุณหมอเริ่มมีประสบการณ์ช่วยผ่าตัดได้คล่องแคล่วขึ้น โดยเฉพาะการถือกล้องให้สอดคล้องกับแนวทางการผ่าตัดของข้าพเจ้า คุณหมอสามารถขยับกล้องเข้าออกภายในช่องท้อง.. ได้ค่อนข้างถูกต้อง ข้าพเจ้าไม่ต้องอธิบายมาก การผ่าตัดจึงราบรื่นอย่างเห็นได้ชัด \r\n หลังจากเจาะและลอกถุงน้ำช็อคโกแลต ซีส (Laparoscopic cystectomy) ด้านขวาแล้ว ข้าพเจ้าก็หันมาเลาะส่วนปลายของท่อนำไข่ (Right fimbrial end) ซึ่งม้วนตลบลงล่างและเกาะยึดติดกับอุ้งเชิงกรานข้างมดลูก การเลาะพังผืดตรงนี้ ก็ไม่ยากนัก ข้าพเจ้าใช้คีมปลายมนจับปลายปากแตร.. ค่อยๆดึง.. และบางส่วนก็ใช้กรรไกร เลาะเนื่องจากพังผืด ไม่หนาแน่นมาก (not dense) การเลาะเอาปลายท่อนำไข่ออก ทำได้ไม่ยาก แต่..การเลาะเอามดลูกส่วนล่างที่ยึดติดกับอุ้งเชิงกราน บริเวณใกล้เอ็นขากางเกง (Utero-sacral ligaments) กระทำค่อนข้างยาก ข้าพเจ้าได้ใช้ปลายท่อฉีดน้ำ (Suction & irrigation pipe) เขี่ยและดันพังผืดที่ยึดติดไปทางมดลูก (blunt dissection directly to uterine side) ทำให้พังผืด แยกแตกออกมามากพอสมควร \r\nสุดท้าย เมื่อข้าพเจ้าสามารถทำให้ปีกมดลูกทั้งสองข้างเป็นอิสระทั้งท่อนำไข่และเปลือกรังไข่ ข้าพเจ้าได้เย็บเปลือกรังไข่ด้านซ้ายและขวาให้กลับมามีรูปร่างเป็นก้อนรังไข่เหมือนเดิม..ไม่เกะกะ กะรุ่งกะริ่ง…….ในท้ายที่สุด ข้าพเจ้าได้ใส่แผ่นตาข่ายคล้ายกะปิ้ง (ชื่อ Interceed) ขนาด 4×6 เซนติเมตร เข้าไปวาง ณ ตำแหน่งที่ข้าพเจ้าเลาะพังผืดแยกมดลูกส่วนล่างให้ออกจากอุ้งเชิงกราน (culdesac) เพื่อกันไม่ให้เกิดพังผืดซ้ำกลับมาอีกในระยะเวลาอันสั้น แผ่นตาข่าย Interceed จะละลายตัว ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งเชื่อว่า มดลูดส่วนล่างดังกล่าว จะไม่เกิดพังผืดยึดติดกับอุ้งเชิงกรานอีก….ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล 3 วัน ก็ขออนุญาตกลับบ้าน…\r\nทั้งคุณเมตตา และคุณจงรัก เป็นคนไข้ที่ข้าพเจ้าผ่าตัดผ่านกล้องส่งท้ายปีเก่า ..คุณเมตตานั้น ผ่าตัดง่าย …แต่.. คนไข้ก็อาจเสียชีวิตกระทันหันจากภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดอุดตันที่ปอดได้ นอกจากนั้น พอเห็นของเหลวที่อุ้งเชิงกรานก่อนปิดคล้ายของเหลวในลำไส้ ข้าพเจ้า ก็ขวัญเสีย…กลัวว่า ลำไส้จะทะลุ….แม้ในที่สุด จะไม่มีปัญหาอะไร…ข้าพเจ้า ก็รู้สึกหดหู่ใจกับการตัดสินใจผ่าตัดครั้งนี้.. ส่วนคุณจงรักนั้น ข้าพเจ้าคาดล่วงหน้าว่า น่าจะผ่าตัดยาก เนื่องจากตอนตรวจภายในให้กับคนไข้ ข้าพเจ้าพบร่องรอยขรุขระ (irregularity) ภายในช่องคลอดด้านขวา (right lateral fornix) และอาการปวดระดูของคนไข้ค่อนข้างมาก จึงคิดว่า พยาธิสภาพภายในอุ้งเชิงกรานของคุณจงรักน่าจะมีมาก… ซึ่งพอผ่าตัดเข้าจริงๆ ….การผ่าตัดกลับไม่ยากอย่างที่คิด..\r\nเรื่องราวที่เล่ามานั้น ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่คาดการณ์ล่วงหน้านั้น อาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป ….ภาระงานทุกอย่างนั้น.. จะยาก หรือง่าย ..เมื่อลงมือกระทำแล้ว จึงจะรู้ได้อย่างแน่ชัด…..เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการผ่าตัดข้างต้น ..ข้าพเจ้าคิดว่า ….ข้าพเจ้าน่าจะหาความสงบสุขให้กับชีวิตตัวเอง จะดีกว่า….ด้วยการอยู่เฉยๆ….นอนอยู่กับบ้าน…ดูทีวี หรือไปวัด.. สวดมนต์ข้ามปี…\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน \r\n \r\n\r\n”,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *