ผ่าท้อง..หรือคลอดน้องเอง..ดีกว่า

เมื่อวาน จู่ๆ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก็มีคุณหมอรุ่นน้อง บอกให้พยาบาลหอผู้ป่วย โทรศัพท์มาปรึกษาขอความช่วยเหลือจากข้าพเจ้าว่า ‘ให้ช่วยผ่าตัดคนไข้ สงสัยถุงน้ำรังไข่แตก???’ โดยใช้คำพูดว่า “เออ! เออ! หมอ! หมอ! มีคนไข้ Precaution รายหนึ่ง สงสัย Ruptured chocolate cyst หมอช่วยมาผ่าตัดให้หน่อยได้ไหม? ” ข้าพเจ้าไม่ทันคิดอะไร ก็ตกคำรับปาก.. พอไปถึง และเข้าไปในห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าไม่ทันระวังตัว ก็ลงมือผ่าตัด โดยใส่เพียงถุงมือเพียงคู่เดียว และไม่ได้สวมแว่นตา ขณะกำลังผ่าตัดเปิดช่องท้องอยู่ พยาบาลผู้ช่วยผ่าตัดคนหนึ่งได้ทักขึ้นว่า “หมอไม่ใส่ถุงมือ 2 ชั้นหรือ?” ข้าพเจ้าถามว่า ‘ทำไมละ?’

พยาบาลคนนั้นบอกว่า ‘อ้าว! ก็คนไข้มีเลือดเอดส์บวก นะซิ’

ข้าพเจ้าตกใจแทบจะช็อคและรีบสวมใส่แว่นตาทันที สวมถุงมือ 2 ชั้น พลางยกมือขึ้นพนมขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ อธิษฐานว่า ‘ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำบุญกุศล ขอให้การผ่าตัดครั้งนี้ ผ่านไปอย่างราบรื่นด้วยเถิด ขอให้มีดไม่บาดมือ และเข็มไม่ทิ่มตำนิ้ว’

ในที่สุดการผ่าตัด ก็ผานพ้นไปได้ด้วยดี ข้าพเจ้า ไม่ได้รับบาดเจ็บจากของมีคม ทั้งมีดและเข็ม เจ้าหน้าที่ตัวแทนของโรงพยาบาลกล่าวขอบคุณข้าพเจ้าอย่างมาก แต่ถ้าเลือกได้ ข้าพเจ้าคงไม่เลือกที่จะไปผ่าตัด เพราะ ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า คุณหมอของที่นั่นก็มี อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้น้อมจิตลงไปในกุศลขณะผ่าตัด..ว่า ‘ยินดีช่วยเหลือ ขอให้ไม่มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น’ และบอกกับพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่า ‘อย่าไปคิดอะไรมาก… วันนี้ ทุกคนได้ทำบุญใหญ่ เพราะคนไข้จะส่งต่อโรงพยาบาลอื่น คงยาก…ไม่มีโรงพยาบาลแห่งไหนจะรับ refer หรอกคนไข้ประเภทนี้’

นี่เอง ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ‘คนเราจะทำสิ่งใด เราควรรู้ความจริงและเหตุผล’ การคลอดเองทางช่องคลอด และการผ่าตัดคลอดมีข้อดีข้อเสียยังไง?? คนทั่วไปยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เลย….

เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี ค.ศ. 2009 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับคุณอรนุช ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ เพราะคนไข้และสามีถือฤกษ์ ณ เวลานั้น และอายุครรภ์ของเธอก็มากพอแล้ว คือ 38 สัปดาห์ 5 วัน ผลการผ่าตัดคลอด ไม่มีปัญหา บุตรของคุณอรนุช เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 3200 กรัม แข็งแรงดี ร้องเสียงดัง มีคะแนนศักยภาพแรกคลอดเต็ม 10 ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ผ่าตัดให้เธอในวันและวลาดังกล่าว เพราะ ครอบครัวเธอสุขใจเป็นอย่างยิ่ง

มีความขัดแย้งทางความคิดมากมาย เรื่องการคลอดเองตามธรรมชาติและการผ่าตัดคลอดว่า อย่างไหนดีกว่ากัน.. เคยมีสูติแพทย์ท่านหนึ่ง เขียนหนังสือว่าด้วย ‘การผ่าคลอดดีกว่าการคลอดเองอย่างไร??’ ปรากฏว่า สมัยนั้น มีการต่อต้านจากคณะกรรมการของราชวิทยาลัยสูติฯ โดยมีมติยับยั้งการพิมพ์เผยแพร่ จำหน่าย จ่ายแจกหนังสือเล่มนี้

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า นั่นคือ มุมมองหนึ่งของสูติแพทย์ ซึ่งเป็นความหลากหลายทางความคิด ประสบการณ์ของแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้

การคลอดเองทางช่องคลอด มีข้อดี คือ 1). คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วหลังคลอด 2). คลอดบุตรได้หลายคน หากต้องการคลอดตั้งแต่คนที่สองขึ้นไป คนไข้จะคลอดง่าย เหมือนกับไก่ออกไข่ เลยทีเดียว 3). ปอดและกระเพาะของเด็กจะถูกบีบอัดเวลาคลอด ดังนั้น เมื่อลูกน้อยเกิดออกมาแล้ว มักจะไม่เกิดการสำลักเอาน้ำคร่ำเข้าไปในปอด 4). เจ็บตัวน้อยกว่าการผ่าตัดคลอด แผลช่องคลอดมักจะเล็ก ดูแลง่าย 5). ปากมดลูกที่เปิดขยายกว้างตอนคลอด เพื่อให้ลูกน้อยผ่านออกมา ทำให้น้ำคาวปลาไหลออกได้ง่าย 6). มีความรู้สึกถึงความสำคัญและความผูกพันกับลูกที่ถือกำเนิดมา คุณแม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘แม่เบ่งออกมาเอง’

แต่มีข้อเสียคือ 1). คุณหมอผู้ทำคลอดจะไม่ทราบข้อมูลว่า ทารกที่อยู่ภายในครรภ์ขณะนั้น มีสายสะดือพันคอหลายรอบหรือเปล่า?? ดังนั้น เวลาคุณหมอทำคลอด คุณหมออาจดึงรั้งสายสะดือให้รัดคอเด็กมากขึ้น จนเป็นอันตรายแก่ชีวิต 2). อาจเกิดปัญหาคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia) โดยเฉพาะกรณีที่เด็กตัวใหญ่ เช่น ทารกที่แม่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้ทารกตายคลอด หรือพิการร่างกาย 3). ช่องคลอดหลวมหลังคลอด เพราะมีการขยายตัวตามหัวและตัวเด็กขณะคลอด ช่องคลอดที่ขยายตัวมากๆ เช่นนี้ มีผลทำให้กลับมากระชับเหมือนเดิม ได้ยาก เกิดปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ตามมา 4). เมื่อแก่ตัวเข้าสู่วัยทอง และฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เอ็นที่ยึดคอมดลูก (Cardinal ligament, Sacro-Illiac ligament) มักมีการหย่อนยาน จนเกิดกระบังลมหย่อน (relaxation of vaginal outlet) ปัสสาวะเล็ดลาด (Stress incontinent) หรือมดลูกยื่นหลุดออกมานอกช่องคลอด (Procedentia uteri) 5). เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการผ่าตัด การดมยา กรณีมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่นโรคหัวใจวาย กรณีเสียชีวิตเช่นนี้ ปัจจุบัน ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันแล้ว เพราะการผ่าตัดและดมยาปลอดภัยสูง ส่วนโรคของคนท้องที่เป็นอันตรายจากการผ่าตัด สูติแพทย์จะพิจารณาให้อย่างรอบคอบ ตามหลักวิชาการ

ส่วนการคลอดโดยการผ่าตัดนั้น นอกจากจะคลอดได้ตามฤกษ์และลดการสูญเสียทารก เนื่องจากคุณแม่ตกอยู่ในภาวะอันตราย เช่น ครรภ์พิษ (Hypertensive disorder) แล้ว ยังมีข้อดีอื่นๆอีก อาทิ 1). บุตรที่เกิดจากการผ่าคลอดปลอดภัยสูงกว่าการคลอดเองตามธรรมชาติ 2). ไม่เสียคุณสมบัติเรื่องเพศสัมพันธ์หลังคลอด 3). ไม่เจ็บตัวมากเวลาคลอด คนท้องทั่วไปคิดว่า การคลอดเองไม่เจ็บปวด ความจริงแล้ว ในครรภ์แรก ตอนคลอด ขณะที่เด็กกำลังจะโผล่ออกจากช่องคลอดนั้น ความเจ็บปวดจะสูงมากที่สุด กว่าความเจ็บปวดใดๆ เจ็บจนสามารถทนต่อการฉีกขาดของช่องคลอดได้โดยไม่ต้องฉีดยาชา มีคำกล่าวว่า ‘ถ้าเป็นผู้ชายคลอด เขาผู้นั้นอาจถึงขั้นเสียชีวิต เพราะทนความเจ็บปวดไม่ได้’ 4). ในกรณีที่สงสัยว่า ทารกในครรภ์กำลังตกอยู่ในอันตราย และอายุครรภ์มากกว่า 35 สัปดาห์ หรือ น้ำหนักเด็กน่าจะมากกว่า 2500 กรัม ตัวอย่างเช่น คุณแม่รู้สึกว่า ‘ลูกดิ้นน้อย’ แม้ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็กจะยังไม่ชัดเจน (Unsatisfied Non-stress test)

คุณอรนุชที่ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดให้ เธออายุ 34 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 มีประวัติที่น่าสนใจ คือ ครรภ์แรก เธอได้รับการผ่าตัดคลอดตอนอายุครรภ์เพียง 33 สัปดาห์ เนื่องจากว่า มีน้ำเดินออกมาจำนวนมากจนไม่สามารถรักษาแบบประคับประคอง (Conservative treatment) ได้ [ซึ่งบุตรออกมาตัวเล็กมาก แต่ก็แข็งแรงปลอดภัยในที่สุด] ดังนั้น เธอจึงมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด (Previous cesarean section) ซึ่งโดยปกติ ช่วงเวลาที่จะกำหนดให้คนท้องเข้ารับการผ่าตัดคลอด คือ ตั้งแต่อายครรภ์ 38 – 40 สัปดาห์ในครรภ์แรก และอายุครรภ์ 38 สัปดสาห์ในครรภ์หลัง แต่..กรณีของคุณอรนุช อายุครรภ์ของเธอได้เกินมา 5 วันแล้ว เนื่องจากเธอต้องการให้คลอด ในวันที่ 9 เดือน 9 ของปีนี้ ข้าพเจ้าได้บอกเตือนคุณอรนุชให้อดอาหารระหว่างมื้อทุกมื้อหลังจากอายุครรภ์ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป เพราะช่วงเวลาหลังอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คนท้องที่เคยผ่าตัดคลอดมาแล้ว มีโอกาสเจ็บครรภ์ทุกเวลา เจ็บครรภ์เมื่อไหร่ เธอจะต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอดทันที ทั้งนี้เนื่องจาก เราไม่สามารถยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกได้อีกต่อไป มิฉะนั้น มดลูกมีโอกาสแตกได้

การผ่าตัดคลอดและการคลอดเองตามธรรมชาตินั้นมีข้อดีข้อเสีย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นสูติแพทย์ ข้าพเจ้าอยากจะให้ความเห็นว่า ‘การผ่าตัดคลอดนั้นเหมาะสมกับคนท้องในยุคปัจจุบันมากกว่า เนื่องจากว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงยุคนี้จะแต่งงานช้าและตั้งครรภ์แรกอายุมักอยู่ระหว่าง 32 – 35 ปี ประการที่ 2 บุตรของคนในยุคปัจจุบันมักเป็น Precious child คือ ‘มีค่ามาก’ เนื่องจากมียากและแม่มักอายุมาก ประกอบกับคู่สมรสสมัยนี้นิยมมีบุตรแค่ 1 – 2 คนเท่านั้น ประการที่ 3 การคลอดโดยการผ่าตัดคลอด ปลอดภัยต่อทารกมากกว่าการคลอดเองทางช่องคลอด ส่วนมารดา ก็ปลอดภัยจากการผ่าตัดอย่างแน่นอน เหตุผลประการสุดท้าย คือ การผ่าตัดคลอด ผู้หญิงจะไม่มีปัญหาเรื่องช่องคลอดหลวม (relaxation of vaginal outlet) อันจะเป็นปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ในภายหลัง หรือ มดลูกหลุดออกมาจากช่องเมื่ออายุล่วงเลยเข้าสู่วัยทอง

ข้าพเจ้าได้ทำบุญกับการผ่าตัดให้กับคนไข้ที่โรงพยาบาลเอกชนดังที่เล่ามา ข้าพเจ้าใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 30 นาทีเท่านั้น เนื่องจากคนไข้เป็นถุงหนองที่รังไข่ข้างขวา ข้าพเจ้าจึงผ่าตัดเพียงเอารังไข่ข้างขวาทิ้งและตัดปีกมดลูกข้างซ้ายด้วย การทำบุญของข้าพเจ้าครั้งนี้มีผลต่อเนื่องอีกหลายประการ คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่จะต้องตามไปจ่ายยังโรงพยาบาลอื่นที่ส่งต่อ (Refer) ที่สำคัญคือ มีโรงพยาบาลน้อยมาก ที่จะรับคนไข้ส่งต่อ (Refer) ที่ผลเลือดเอดส์บวก สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ หากคนไข้รายนี้ไม่ได้รับการรักษาเลยในช่วงระยะเวลา 24 – 48 ชั่วโมงถัดจากนี้ คนไข้อาจติดเชื้อทั่วร่างกายและเสียชีวิต แต่..คนไข้รายนี้ ก็มีบุญคุณต่อข้าพเจ้าเช่นกัน เพราะทำให้ข้าพเจ้ามีเรื่องเขียนส่งนิตยสารแม่และเด็ก ทั้งๆที่วันวานยังคิดหัวเรื่องไม่ออกเลย……………………

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ.นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *