ชีวิตฉุกเฉิน

“ชีวิตฉุกเฉินชีวิตของคนทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า จะวุ่นวาย สับสน เร่งรีบกันเสียเกือบทุกอย่าง จนไม่รู้ว่า อะไรเป็นความฉุกเฉินที่แท้จริง?….ทุกเรื่องชวนให้เราร้อนเร่ง เพราะความไม่รู้….แต่..เรื่องที่สมควรรีบเร่งจริงๆ….. สังเกตว่า ผู้คนส่วนใหญ่กลับเฉื่อยชา…เสมือนว่า.. พวกเขากำลังคลำหาทางออกจากความมืดมิดฉะนั้น.. สำหรับ ชีวิตของคนท้องในห้องคลอดแล้ว มีหลายกรณี ที่ฉุกเฉิน จนน่ากลัว…น่าตกใจ.. บางกรณี ฉุกเฉินอย่างยิ่งยวด..หากไม่ได้รับการแก้ไขภายในเวลาไม่กี่นาที ทารกน้อยมีโอกาสเสียชีวิต…..อย่างไรก็ตาม.. ก็มีอยู่บ้าง..บางกรณี ที่ถือว่า ฉุกเฉิน.. แต่…สมควรชลอการคลอดไว้ก่อน.. ชั่วคราว เพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กเอง.. ตัวอย่างเช่น กรณีคนไข้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด วันนั้น ข้าพเจ้ายังจำได้ เป็นวันอังคาร เวลาประมาณ 3 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ พยาบาลห้องคลอด โทรศัพท์ขึ้นมาที่ห้องพักแพทย์เวรอย่างรีบด่วน ว่า มีคนท้องมาที่ห้องคลอด.. ชื่อ คุณกาญจนา เธอตั้งครรภ์เป็นท้องแรก..และไม่เคยฝากท้องมาก่อน พยาบาลบอกว่า ‘ คนไข้ท้องได้ประมาณ 6 เดือน และมีน้ำเดินจริง.. คุณหมอจะให้ทำยังไง?’ข้าพเจ้าตอบพยาบาลห้องคลอด โดยไม่ได้ลงไปตรวจดูคุณกาญจนา…ว่า ‘คนไข้ท้องแค่ 6 เดือน และมีน้ำเดินด้วย เราคงช่วยอะไรเธอไม่ได้หรอก คงต้องปล่อยให้เธอคลอดไปตามธรรมชาติ’ จากนั้น ข้าพเจ้าก็ล้มตัวลงนอน ด้วยความง่วง…. ถัดจากนั้น ไม่ถึง 10 นาที พยาบาลห้องคลอด ก็โทรศัพท์ขึ้นมาอีกครั้งว่า ‘หมอจะให้ สเตียรอยด์ (Steroid) กับคนไข้สักหน่อยไหม?’ ข้าพเจ้าได้รับคำเตือนสติที่มีค่ายิ่งเช่นนี้ ก็ตื่นขึ้นจากภวังค์ และตอบไปทางโทรศัพท์ว่า ‘เออ!! เออ!!.. ให้ สเตียรอยด์ (Steroid) กับคนไข้ด้วยนะ…ให้ตามสูตร.. ก็แล้วกัน ขอบคุณมาก’ การให้สเตียรอยด์ (Steroid) นั้น มีสูตรสำเร็จ ดังนี้ คือ เราจะให้ Dexamethasone 6 มิลลิกรัม ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง (2วัน) เพื่อช่วยพัฒนาปอดของทารกในครรภ์ การให้สเตียรอยด์ (Steroid) จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีที่คนท้องนั้น มีอายุครรภ์ 28 – 32 สัปดาห์ หากให้ยาสเตียรอยด์ ในคนท้องอายุครรภ์ระหว่าง 32 – 34 สัปดาห์ ทารกก็ได้รับผลจากยาบ้าง ไม่มากนัก…หากให้ในคนท้องที่มีอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ ยาตัวนี้ จะให้ผลต่อปอดทารกน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนทัก ข้าพเจ้าก็รู้สึกชะงัก ฉุกคิดได้ว่า ‘การให้สเตียรอยด์ (Steroid) ในรายนี้นั้น แน่นอน…ย่อมดีกว่า ไม่ให้เสียเลย.. เผื่อว่า คนท้องรายนี้ จำอายุครรภ์ ผิด อายุครรภ์จริงๆอยู่ระหว่าง 28 – 32 สัปดาห์ ยาสเตียรอยด์ ก็จะได้ให้ผลต่อการพัฒนาปอดของทารกน้อย’ พอถึงตอนเช้า ข้าพเจ้าได้ลงไปที่ห้องคลอด และตรวจดูหน้าท้องของคุณกาญจนา พบว่า อายุครรภ์ของเธอ น่าจะประมาณ 28 – 30 สัปดาห์ ไม่ใช่ 6 เดือนตามที่บอกไว้ในตอนต้น..ซึ่ง..ทารกน้อยจะได้รับประโยชน์จากยาสเตียรอยด์ อย่างมากเลย.. ข้าพเจ้าดีใจที่ตัดสินใจเช่นนั้นในเบื้องต้น และยังได้ยับยั้งการตั้งครรภ์ไว้ชั่วคราวด้วย หลังจากนั้น ก็ได้ฝากสูติแพทย์เวรถัดไปให้ช่วยดูแลคุณกาญจนา ต่อ ไม่น่าเชื่อ! พอสูติแพทย์เวร นำคุณกาญจนา ไปดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องในตอนเช้า ปรากฏว่า คุณกาญจนา มีอายุครรภ์ถึง 32 สัปดาห์เมื่อเปรียบกับส่วนมาตรฐานอื่นๆของร่างกาย ข้าพเจ้ามีความผิดพลาดจริงๆในการประเมินอายุครรภ์คุณกาญจนา เพราะเชื่อในคำบอกเล่าของคนไข้ที่บอกกับพยาบาล.. คุณกาญจนา ไม่เคยฝากครรภ์แต่ไหนแต่ไรมา ข้าพเจ้าสอบถามเธอว่า ‘ทำไมคุณถึงไม่ยอมฝากครรภ์?’ คุณกาญจนา ตอบว่า ‘หนูไม่ค่อยมีเวลา..เพราะต้องช่วยแม่สามีทำงาน หนูคิดไว้เหมือนกันว่า จะมาฝากครรภ์.. นี่..กะว่า อีก 2 -3 วันจะมาฝาก ก็พอดี เจ็บท้อง มีน้ำเดินเสียก่อน’คุณกาญจนาคลอดเองตามธรรมชาติในวันถัดมา หลังจากเธอได้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) ครบตามขนาดที่กำหนด ลูกของคุณกาญจนาไม่มีปัญหาใดๆเกี่ยวกับการหายใจ.. สุขภาพโดยทั่วไปค่อนข้างแข็งแรง น้ำหนักแรกคลอด 2,350 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9 และ 10 (คะแนนเต็ม 10) ตามลำดับ ข้าพเจ้าผิดพลาดมากที่ไม่ได้ไปดูคนไข้รายนี้ตั้งแต่แรกรับ เพราะเชื่อในประวัติที่คนไข้ให้มา แต่.. ก็อาศัยโชค ทำให้ข้าพเจ้ารอดพ้นจากการทำบาป เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตักเตือน.. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคุณกาญจนาไม่ได้ฝากครรภ์ จึงทำให้ ข้อมูลเกี่ยวกับอายุครรภ์คลาดเคลื่อนไป ชีวิตทารกน้อยเกือบตกอยู่ในอันตรายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมารดา…รวมทั้งความประมาทของข้าพเจ้า..นี่เป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งของภาวะฉุกเฉินเกี่ยวการดูแลคนไข้ที่กำลังจะคลอด..ถัดจากนั้นมา อีกวันหนึ่ง ก็มีกรณีที่น่าตื่นเต้นกว่าเรื่องราวของคุณกาญจนาเสียอีก คุณสิรินญา อายุ 24 ปี มาห้องคลอด ราว 4 นาฬิกาเศษของเช้าวันหนึ่ง เธอตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ คุณสิรินญามาด้วยอาการเจ็บครรภ์และน้ำเดิน เมื่อนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดใช้เครื่องมือสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด ก็เห็นน้ำคร่ำออกมาจริง.. แต่..พอใส่นิ้วสอดเข้าไปเพื่อตรวจปากมดลูก ปรากฏว่า ปากมดลูกเปิดถึง 5 เซนติเมตร และมีสายสะดือย้อยตามมือออกมาด้วยคราวนี้ พยาบาลห้องคลอดหลายคน ต่างกุลีกุจอมาช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ… คนหนึ่ง รีบโทรศัพท์หาข้าพเจ้าเพื่อบอกเหตุ หลังจากนั้น ก็รีบโทรศัพท์บอกกับพยาบาลดมยา ว่า ‘จะมีการผ่าตัดด่วน เพราะคนท้องมีสายสะดือย้อย (Prolapsed cord)ออกมาทางช่องคลอด’ ไม่รอช้า!! ข้าพเจ้ารีบลงมาที่ห้องคลอด เพื่อสั่งการดูแลรักษาคนไข้ แต่..ดูเหมือน ทุกคนจะรู้หน้าที่ .. ไม่ต้องรอคำสั่ง เพราะต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เตรียมคนไข้ให้เร็วที่สุดและส่งไปยังห้องผ่าตัดภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที พยาบาลคนหนึ่ง นำเอากระโถนรองฉี่ (Bedpan) สอดใต้ก้นคนไข้ พยาบาลอีกคน ก็ใส่สายสวนปัสสาวะให้กับคุณสิรินญา น้องนักศึกษาแพทย์ต้องนั่งอยู่บนเตียงตรวจคนไข้ และคอยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางที่สอดอยู่ในช่องคลอดยัน ศีรษะทารก เพื่อไม่ให้กดทับสายสะดือ ที่ย้อยผ่านออกมา พยาบาลบางคน กำลังแทงเส้นเลือดดำ ให้น้ำเกลือ และจองเลือด… เมื่อเจ้าหน้าที่ และพยาบาลห้องผ่าตัดมาถึงและ เข็นเตียงคนไข้เข้าเทียบเตียงปกติ.. คุณสิรินญา ก็ค่อยๆเขยับเคลื่อนตัวไปที่เตียงเข็นนั้น… พร้อมๆกัน… พยาบาลห้องคลอด ก็นำเอากระโถนรองฉี่ (Bedpan) ตามไปสอดเข้าที่ก้นคนไข้บนเตียงเข็น เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ข้าพเจ้ารีบรุดเดินผ่านประตูลัด เข้าไปที่ห้องผ่าตัด และเปลี่ยนชุดเตรียมพร้อมที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าสังเกตว่า ทีมงานทุกคนกำลังชุลมุนจัดแจงเกี่ยวกับการจัดท่าจัดทางของคนไข้ ยกเว้น พยาบาลดมยา ที่ยังไม่ได้มาปรากฏกาย ทั้งๆที่เป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่ง…..ทุกๆครั้ง พยาบาลดมยาจะมาอยู่เตรียมพร้อมก่อนเพื่อน ข้าพเจ้ารีบบอกให้พยาบาลห้องผ่าตัดคนหนึ่งโทรศัพท์ไปตามอีกครั้ง แต่ ..พยาบาลห้องผ่าตัด บอกว่า ‘เดี๋ยวคงจะมาเอง เพราะพวกเขาทราบแล้วว่าเป็น คนไข้สายสะดือย้อย (Prolapsed cord) ’ ข้าพเจ้าเห็นท่าไม่ค่อยดี เพราะเวลาผ่านไปนานพอสมควร พยาบาลดมยา ก็ยังไม่มาถึงห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้โทรศัพท์ตามพยาบาลดมยาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็ปูผ้าเขียวคลุมคนไข้ พร้อมที่จะผ่าตัด น่าแปลก!! ที่ภายในห้องนั้น ดูช่างเงียบสงัดเสียจริงๆ… แต่ยังไร้วี่แวว ของพยาบาลดมยา .. สักพักหนึ่ง ก็ๆได้ยินเสียงฝีเท้าของพยาบาลดมยา 2 คน วิ่งเข้ามาอย่างหน้าตาตื่น และจัดแจงเตรียมเครื่องมือดมยาอย่างเร่งรีบ… เพราะข้าพเจ้า นักศึกษาแพทย์ผู้ช่วย และพยาบาลห้องผ่าตัดอยู่ในลักษณะที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว พอคุณสิรินญาได้รับการใส่ท่อหายใจ และเดินยาสลบเข้าเส้นเลือดดำเรียบร้อย พร้อมกับคำพูดจากปากของพยาบาลดมยาว่า ‘ผ่าตัดได้แล้วค่ะ’ ข้าพเจ้าก็รีบลงมีดกรีดผนังหน้าท้อง เป็นแผลตรงจากสะดือ มาที่หัวเหน่า (Vertical incision) แล้วผ่าตัด พร้อมกับแหวกกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นชั้นๆอย่างรวดเร็ว จนเห็นตัวมดลูก หลังจากนั้น ก็ใช้กรีดมีดในแนวขวางที่คอมดลูก จนถึงถุงน้ำคร่ำ เมื่อเจาะน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าก็รีบล้วงมือ เข้าไปทำคลอดส่วนหัวของทารกน้อยทันที กรรมวิธีที่กล่าวมานี้ ใช้เวลา ไม่ถึง 5 นาที.. ทารกคลอดเมื่อเวลา 05 นาฬิกา 10 นาที มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 9, 10 (คะแนน 10) ตามลำดับ ทารกน้อยปลอดภัย ข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ปลอดภัยด้วยพยาบาลดมยาคนหนึ่งหันมาขอโทษทุกคน ที่ทำให้รอและเสียเวลานานก่อนจะลงมีด ข้าพเจ้าพูดว่า ‘เด็กดีเช่นนี้แล้ว ทุกอย่างก็ให้อภัยกันได้ แต่..ถ้าเด็กไม่ดีละก็ ทุกคนคงจะโชคร้าย ผมเองในฐานะหัวหน้าทีม คงแย่แน่’ ตอนนั้น เราจึงทราบว่า ความผิดพลาดทั้งหมดนั้น มาจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน.. ข้าพเจ้าค่อยๆเย็บแผลบนตัวมดลูกส่วนล่างอย่างช้าๆ สังเกตว่า เนื้อมดลูกส่วนล่างบางมาก แสดงว่า ปากมดลูกเปิดเกือบหมดแล้วการเย็บปากมดลูกที่บางเช่นนี้ (Lower uterine segment) เป็นกรณีที่เย็บยาก คนที่เย็บไม่เป็น จะก่อผลเสียต่อคนไข้อย่างมาก คนไข้อาจตกเลือดหลังคลอด และนำไปสู่การตัดมดลูกในที่สุด.. วิธีการเย็บ คือ การเย็บกล้ามเนื้อดี (myometrium) ที่อยู่ลึกๆ เข้าด้วยกันทั้งสองด้าน.. ส่วนบริเวณที่บางมาก (very thin lower segment of uterus) ก็ตัดออกบางส่วน หรือนำมาม้วนทบกันให้หนา แล้วเย็บควบ 2 ชั้นทีเดียว เมื่อเย็บครบตลอดแนวแผลแล้ว ก็เย็บซ้ำอีกรอบ หรือ เย็บซ่อมเป็นบริเวณๆ (interrupted stitches) ในลักษณะเลขแปด (Figure of eight pattern) เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งบริเวณที่เย็บวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคุณสิรินญา เธอมีสีหน้าสดชื่นดี และดีใจที่ลูกของเธอ ปลอดภัย ไม่มีภาวะขาดออกซเจนของสมอง (Cerebral hypoxia) เธอบอกว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง (เหตุการณ์) มันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทุกคนรีบร้อนจนน่าตกใจ เมื่อหนูหลับไป ก็ไม่รู้เลยว่า ลูกจะเป็นอะไรหรือเปล่า??? พอตื่นขึ้นมา แล้วทราบว่า ลูกน้อยแข็งแรงดี ไม่ต้องเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด หนูก็รู้สึกดีใจ’โลกเรานี้ มีสิ่งผิดธรรมชาติน่ากลัวเกิดขึ้นทุกวันในสถานที่ต่างๆ.. มนุษย์ต้องรีบเร่งหนีความตายกันไม่เว้นแต่ละวัน …พวกเราดูข่าว ฟังข่าว แล้วก็รู้สึกเฉยๆ เสมือนว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา..แต่…เรื่องราวในห้องคลอดที่น่ากลัวนั้น มันอยู่ใกล้ตัวเราเสียเหลือเกิน .. ขอให้ทุกคน โปรดทำใจเถอะว่า วันหนึ่ง มันอาจเกิดขึ้นกับตัวเราและลูก.. ขอให้ทุกคน จงโชคดี และอยู่รอดปลอดภัยต่อเหตุการณ์นั้นด้วยเถิด…….. &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน..”,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *