ฉุกเฉิน เกินห้ามใจ (Obstetric emergency)
วันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา…….ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังตรวจร่างกายประจำปี ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ เมืองหนองคาย จู่ๆ ข้าพเจ้าก็ปวดท้องน้อยขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน..อาการปวดคราวนั้นมันรุนแรงมาก จนทำให้ข้าพเจ้าต้องนั่งตัวงอ และหยุดทำภารกิจทุกสิ่ง.. ความจริง!!…ตอนเช้าราว 7 โมง ข้าพเจ้าก็เริ่มปวดท้องน้อย แต่..ได้กินยาแก้ปวดกระเพาะปัสสาวะ (Urispas) ที่หาซื้อจากร้านขายยาข้างถนนที่กรุงเทพฯแล้ว..จากนั้น ก็พยายามอดทนตรวจนายตำรวจทั้งหลาย ที่มายืนรอเข้าคิวตั้งแต่เช้ามืด….อย่างไรก็ตาม พอข้าพเจ้าตรวจตำรวจไปได้ประมาณ 50 คน อาการปวดท้องน้อยก็กำเริบขึ้นอย่างรุนแรง นั่นแสดงว่า ยาตัวนั้นไม่ถูกกับโรค.. ข้าพเจ้าต้องขอหยุดตรวจทันที และเดินไปบอกคนขับรถ ให้พาไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดหนองคาย
อาการปวดท้องน้อยอย่างนี้ ข้าพเจ้าเคยปวดมาก่อน และรู้ว่า มันเป็นอาการของโรค OAB (overactive bladder) หรือกระเพาะปัสสาวะไวต่อการกระตุ้นของระบบประสาท อาการปวดเช่นนี้กำเริบขึ้นมาเป็นระยะๆ ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า จะต้องรับประทานยาตัวไหน ถึงจะสยบอาการปวดที่ว่านี้ได้…อย่างไรก็ดี การปวดท้องน้อยคราวนี้ มันรุนแรงว่า ทุกครั้งที่ผ่านมา…..
เบื้องต้น เนื่องจากข้าพเจ้ากลัวความยุ่งยาก จึงได้บอกให้คนขับรถช่วย ขับวนเวียนไปหาร้านยาใหญ่ที่สุดของเมืองหนองคาย เมื่อไปถึง เจ้าของร้านถามข้าพเจ้าว่า ‘ต้องการซื้อยาอะไรครับ’ ข้าพเจ้าบอกเขาว่า‘ต้องการซื้อยา ชื่อ DIUTROPAN หรือ DETRUSITOL ก็ได้ครับ’ คนขายบอกทันทีเลยว่า ‘ไม่มี’ ดังนั้น…ข้าพเจ้าจึงบอกกับคนรถว่า ‘ไม่ต้องหาร้านยาอีก รีบขับไปที่โรงพยาบาลจังหวัดเถอะ ผมแทบจะทนไม่ไหวแล้ว’
พอไปถึง ที่โรงพยาบาลหนองคาย ข้าพเจ้ารีบเดินไปหาแผนกประชาสัมพันธ์ และบอกว่า ‘ขอโทษนะครับ…ผมเป็นหมอโรงพยาบาลตำรวจ ผมปวดท้องน้อยอย่างมาก..มีหมออะไรก็ได้ออกตรวจไหม?? ผมอยากได้ยาเกี่ยวกับโรคปวดท้องของผม’ เจ้าหน้าที่หญิงท่านนั้น จัดแจงให้คนไปทำบัตรโรงพยาบาลให้ทันที และรีบตามพยาบาลท่านหนึ่งมาช่วยอำนวยความสะดวก เหตุการณ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกทราบซึ้งใจเจ้าหน้าที่ และพยาบาลทุกคนของโรงพยาบาลจังหวัดหนองคายเป็นอย่างยิ่ง.. เจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยเหลือข้าพเจ้าเป็นอย่างดี…ตอนนั้น เป็นเวลาที่ค่อนข้างเช้าราว 8 นาฬิกา ซึ่งยังไม่มีคุณหมอท่านใดออกตรวจ พวกเขาพาข้าพเจ้าไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล..ข้าพเจ้ารีบบอกชื่อยาดังกล่าวข้างต้นกับคุณพยาบาล เพื่อให้ไปสอบทานกับทางห้องยา ปรากฏว่า มีตัวยาชื่อ DETRUSITOL เท่านั้น พอคุณหมอผู้หญิงจบใหม่ท่านหนึ่งเดินมาที่ห้องฉุกเฉิน ข้าพเจ้ารีบแนะนำตัวและขอซื้อยาดังกล่าว พอรับประทานยาเข้าไป ข้าพเจ้าได้กล่าวขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ที่นั่นและขอตัวกลับ..คนรถรีบขับพาข้าพเจ้ากลับโรงแรมที่พักทันที…ขณะเดินทางกลับ อาการปวดท้องน้อยของข้าพเจ้าไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง ข้าพเจ้าขอให้คนรถแวะร้านขายยาข้างทาง ขอซื้อยาแก้ปวดท้อง (Buscopan) และยาแก้ปวดหัวลดไข้ (Paracetamol) ..พลางรำพึงกับตัวเองว่า ’โง่จริงๆตัวเรา..ถึงแม้จะรับประทานยาเฉพาะโรคแล้ว ..แต่ยานั้นก็ต้องใช้เวลาออกฤทธิ์ในการรักษา ..ข้าพเจ้าจะหายปวดทันทีทันใดได้ยังไง..ทำไมถึงไม่ซื้อยาแก้ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ (Buscopan) ร่วมมาด้วยตอนที่อยู่โรงพยาบาลหนองคาย จะได้ลดอาการปวดท้องน้อยในคราวเดียวกัน..’ หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้กลับไปนอนพักที่โรงแรม และอดทนกับอาการปวดไปอีกระยะหนึ่งจนเผลอหลับไปประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อตื่นขึ้นมา อาการปวดท้องน้อย ทุเลาลงไปอย่างมาก …คงเหลือไว้เพียงเล็กน้อยตอนปวดปัสสาวะ นี่คือ อุทาหรณ์ของการรักษาที่ถูกกับโรค มิฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าคงทำงานตรวจตำรวจตลอด 3 วันนั้นไม่ได้เลย เรื่องราวข้างต้น เป็นเรื่องที่ฉุกเฉินมากเหลือเกินจริงๆสำหรับคนๆหนึ่ง.. แต่…มีเรื่องที่ฉุกเฉินยิ่งกว่าเสียอีก ซึ่ง..เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนท้องและลูกในครรภ์..
พอข้าพเจ้ากลับมากรุงเทพฯได้ไม่กี่วัน..ก็เกิดเรื่องเลวร้ายอันไม่คาดคิดขึ้นในคืนหนึ่ง….คืนนั้นเป็นวันศุกร์ ข้าพเจ้าอยู่เวรนอนที่โรงพยาบาลเอกชนย่านบางนา แทนสูติแพทย์สตรีที่จำเป็นต้องกลับไปดูแลลูก..คืนนั้น เวลาราว 4 ทุ่ม..คุณหมอเวรสูติฯ ได้ให้พยาบาลหอผู้ป่วยชั้น 5 โทรศัพท์หาข้าพเจ้าเป็นการด่วน คุณพยาบาลบอกว่า ‘มีคนท้องเป็นครรภ์พิษ (Severe Preeclamsia) รายหนึ่ง ความดันโลหิตสูงมากและกำลังจะชัก อยากให้อาจารย์มาดูคนไข้หน่อย ’ ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่า ‘อ้าว!! มีคุณหมอเวรอยู่..ไม่ใช่หรือ??’ คุณหมอเวร รีบคว้าโทรศัพท์มาแล้วพูดว่า ‘หนูเบื่อจริงๆ.. เพราะเมื่อชั่วโมงที่ผ่านมา ก็มีคนท้องรายหนึ่งมา ด้วยเรื่องลูกไม่ดิ้นและท้องแข็ง ปรากฏว่า เด็กหัวใจเต้นช้ามาก หนูเอาคนไข้ไปผ่าตัดคลอด ตอนนี้เด็กอยูห้อง ไอ.ซี.ยู. …คาดว่า เด็กน่าจะเสียชีวิต ..นี่ก็เป็นกรณีครรภ์พิษ อายุครรภ์ แค่ 32 สัปดาห์ เด็กก็อาจไม่รอดเช่นกัน’
คุณศศิธร คือ คนท้องรายแรกที่ลูกหัวใจเต้นช้าและลูกของเธอต้องเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด..เธออายุ 26 ปี ตั้งครรภ์ที่ 6 เคยแท้งบุตรมาแล้วครั้งหนึ่ง … คุณศศิธรมาที่ห้องคลอดแบบฉูกเฉิน ด้วยเรื่อง ตกเลือดออกจากช่องคลอดขณะตั้งรรภ์ครบกำหนด 3 ชม.ก่อนมาโรงพยาบาล
เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ..ที่คุณศศิธร ไม่ได้ฝากครรภ์ แต่..เคยไปตรวจครรภ์ที่คลินิกใกล้บ้านเป็นบางครั้งบางคราว คุณศศิธรมาถึงห้องคลอด เมื่อเวลา 17 นาฬิกา คุณหมอเวรฟังเสียงหัวใจทารก พบว่า เต้นด้วยอัตราช้ามาก ประมาณ 70 – 80 ครั้งต่อนาที (ปกติ หัวใจทารกจะเต้นอยู่ในราว 140 ครั้งต่อนาที หากน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที ถือว่า อยู่ในภาวะวิกฤต [Fetal distress]) คุณหมอจึงรีบตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่า รกของคนไข้ลอกตัวหรือไม่?? ก็มองเห็นไม่ชัดเจน คุณหมอจึงสั่งการให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินทันที (Emergency cesarean section).. ก่อนผ่าตัด คุณหมอได้ตรวจภายในให้คุณศศิธร.. พบว่า มีเลือดจำนวนหนึ่งออกมาจากปากมดลูก การวินิจฉัยเบื้องต้นในรายนี้ คือ รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta) ซึ่งหมายความว่า คนไข้มีความเสี่ยงอย่างมากต่อภาวะเลือดออกไม่หยุด (Disseminated Intravascular Coagulopathy) อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การตัดมดลูก เพื่อหยุดเลือด.. ส่วนทารกน้อย คงไม่ต้องพูดถึง…มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 จากการเสียเลือดของตัวเองเพียงเล็กน้อย
คุณศศิธรได้รับการผ่าตัดคลอดเมื่อเวลา 17:30 นาฬิกา ทารก มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด เพียง 1 และ 3 ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ (คะแนนเต็ม 10,10) ทารกน้อยถูกส่งเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดทันที และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
คุณชลธิชา คือ คนไข้อีกรายที่กล่าวถึง เธออายุเพียง 21 ปี ตั้งครรภ์ที่สอง ลูกคนแรก อายุ 3 ขวบ เธอคลอดเองตามธรรมชาติ น้ำหนักแรกเกิด 3000 กรัม เธอมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ โดยไม่มีปัญหาอะไร พออายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ 5 วัน, ความดันโลหิต ก็พุ่งขึ้นสูงถึง 180/100 มิลลิลิตร พร้อมกับมีอาการปวดศีรษะ จุกท้อง แน่นลิ้นปี่ คุณหมอเวรวันพฤหัส ได้ให้คุณชลธิชานอนโรงพยาบาลเจาะเลือดและเริ่มยารักษาภาวะครรภ์พิษ [Toxemia (ชื่อเดิม ซึ่ง ปัจจุบัน ไม่ใช้แล้ว) or Severe Preeclampsia ] โดยฉีดยา แมกนีซี่ยม ซัลเฟต (MgSO4) เพื่อป้องกันชัก, ยาลดความดันโลหิต ..และยาเพิ่มความสมบูรณ์ของปอด (Dexamethasone) ตามสูตรการรักษา (Follow by regimens) ตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี.. คนไข้นอนพักอยู่ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 ซึ่งมีการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่..สิ่งสำคัญที่ยังไม่ได้ทำ คือ การทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง..(อาทิ เร่งคลอดทางช่องคลอด หรือ ผ่าตัดคลอดเอาเด็กออก) อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการรักษา
วันศุกร์ ตอนเช้า ข้าพเจ้าอยู่เวรห้องคลอด โรงพยาบาลตำรวจ ก็ไม่ได้รับรายงานเรื่องภาวะครรภ์พิษของคุณชลธิชา พอตกเย็น ข้าพเจ้าออกจากเวร ไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และอยู่เวรนอนที่นั่น..เวลาประมาณ 4 ทุ่ม ก็เกิดเรื่องราวดังกล่าวข้างต้น คือ คุณชลธิชามีอาการเหมือนๆจะชัก ซึ่ง..ต้องการการรักษาเร่งด่วน..คุณหมอเวรคงเครียด….เนื่องจากคนท้องที่เพิ่งผ่าตัดคลอดไป เป็นรกลอกตัวก่อนกำหนด…แม้คุณแม่ไม่ต้องตัดมดลูก แต่..ก็ต้องถูกส่งไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ศัลยกรรม เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด… ส่วนกรณีคุณชลธิชาก็เป็นเหตุฉุกเฉินที่อันตรายทั้งแม่และลูกเช่นกัน..คุณชลธิชามีโอกาสเสียชีวิตจากเส้นโลหิตในสมองแตก (Stroke) ส่วนลูกก็อาจต้องเสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด (Premature baby)
คุณหมอเวรสูติฯ พูดผ่านทางโทรศัพท์บ่นว่าต่างๆนานา ข้าพเจ้าพูดตอบเธอไปว่า ’กรณีของคุณชลธิชา ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไรเลย คุณชลธิชาตั้งครรภ์มานานถึง 32 สัปดาห์ 6 วัน และได้ steroid มาเกือบครบ 48 ชม แล้ว เธอก็ให้อีก 12 มิลลิกรัม แล้วก็เอาคนไข้ไปผ่าตัดคลอด รับรองว่า..เด็กไม่มีปัญหาแน่ ’ คุณหมอเวรตอบกลับมาว่า ‘อย่างนั้น..อาจารย์มาผ่าตัดคลอดเอง ก็แล้วกัน ถ้าแม่หรือลูกเสียชีวิต จะได้ไม่เป็นความผิดของหนู’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง อยากจะไปผ่าตัดคลอดด้วยตัวเอง แต่ ก็ติดภารกิจที่โรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ก็คงต้องปล่อยให้คุณหมอเวรผ่าตัดคลอดไปก่อน มีปัญหาอะไร ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบอยู่แล้วในฐานะหัวหน้างาน
ทารกน้อยคลอดเมื่อเวลา 4 ทุ่ม 28 นาที เป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2000 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9 และ 10 (คะแนนเต็ม 10) แข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไรทั้งแม่และลูกตามที่คาด
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดและครรภ์พิษ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์อย่างยิ่ง..เพราะ ล้วนแต่อันตรายอย่างรุนแรง ต่อมารดาและทารก อันตรายที่ร้ายแรงที่สุด คือ การสูญเสียชีวิต ดังนั้น การแก้ไขอย่างรวดเร็ว และถูกต้องหรือ ‘ถูกกับโรค’ ถือ เป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้น ฝันร้าย ก็จะตามมา
เมฆหมอกในใจของคนเรา อันได้แก่ ความกังวลใจในปัญหานั้นๆ มันย่อมสามารถจางหายไปได้ หากเราบรรลุถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกกับโรค หรือปล่อยวางได้ อย่างพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การแก้ปัญหาฉุกเฉินในทางสูติศาสตร์นั้น นอกจากจะต้องอาศัย‘ความรู้’แล้ว ยังต้องอาศัย‘ประสบการณ์’ อันยาวนาน และอีกสิ่งหนึ่ง ที่สำคัญ คือ ‘โชค’ ด้วย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอย่างแน่นอน ดังเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน