ความงดงามแห่งชีวิต

ความงดงามแห่งชีวิต

ในโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ‘ลูก คือ ความงดงามแห่งชีวิต’ แต่..ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครลิขิตได้เลยว่า ตอนที่เราเกิดมา จะมีรูปร่างสวยงาม หรือ พิการอัปลักษณ์ตั้งแต่กำเนิด.. ใครเลย..จะอยากเกิดมาแล้ว มีความผิดปกติ ซึ่ง..หากมีความผิดปกติ ที่อวัยวะภายนอก ส่วนใหญ่ ก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้.. แต่ถ้ามีความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะภายใน..จะพบว่า อวัยวะภายในที่สำคัญหลายส่วน  ผ่าตัดแก้ไขไม่ได้เลย และชีวิตก็ต้องจบลงเพียงเท่านั้น.. ช่วงเวลาที่ผ่านมาเร็วๆนี้ ได้ปรากฏมีภาพทารกพิการแต่กำเนิดหลายราย เกิดขึ้นทั้งในโรงพยาบาลตำรวจและสื่ออินเตอร์เนต อาทิ แฝดสยาม, ทารกไร้กะโหลกศีรษะ, หรือทารกที่มีอวัยวะจำนวนมากผิดรูปผิดร่าง เนื่องจากโครโมโซมผิดปกติ  

ไม่นานมานี้ เพื่อนคนหนึ่ง ได้โทรศัพท์ติดต่อกับข้าพเจ้า เพื่อขอส่งต่อทารกพิการแต่กำเนิดรายหนึ่งจากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อมาผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยว่า ภรรยาของเพื่อนข้าพเจ้า คลอดบุตรออกมา แล้วมีปัญหาหลอดอาหารอุดตัน (Esophageal atresia)..กล่าวคือ หลอดอาหารส่วนที่ยาวลงมาจากคอ สิ้นสุดลง ก่อนที่จะต่อเข้ากับกระเพาะอาหาร ..ยังโชคดี!! ที่ปลายหลอดอาหาร มันไม่ต่อเข้ากับท่อหายใจ ซึ่ง..เป็นกรณีที่ร้ายแรงกว่า ทารกเสียชีวิตได้ง่ายกว่า จากการติดเชื้อเข้าในปอด..ข้าพเจ้าโทรศัพท์ติดต่อกับศัลยแพทย์เด็กของโรงพยาบาลตำรวจทันที ทารกน้อยได้เข้ารับทำการผ่าตัดต่อหลอดอาหารเข้ากับกระเพาะในค่ำคืนนั้นเอง ซึ่ง..โชคดี ที่การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่..ทารกน้อย ก็ยังคงต้องนอนอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดเป็นเวลานานนับเดือน เพื่อรักษาแผลผ่าตัดและป้องกันภาวะแทรกที่อาจเกิดขึ้น

หลังจากนั้น ก็มีทารกพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลตำรวจตามมาอีกหลายคน ซึ่ง..บางคนต้องจบชีวิตลง เพราะเป็นความพิการที่รุนแรง… มีทารกน้อยพิการแต่กำเนิดอยู่รายหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้า ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยตลอดชีวิตการเป็นสูติแพทย์ ๒๐ กว่าปี..ทารกน้อยรายนี้มีความผิดปกติหลายส่วนของอวัยวะ..

คุณอัญชลี อายุ ๓๒ ปี ตั้งครรภ์นี้ เป็นครรภ์ที่ ๓…. บุตร  ๒ คนแรกของเธอ เป็นหญิงทั้งคู่ อายุ  ๑๐ และ ๖ ปีตามลำดับ ปัจจุบัน แข็งแรงดี สำหรับครรภ์นี้ คุณอัญชลีเริ่มมาฝากครรภ์ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ เพียง ๙ สัปดาห์ จากนั้น เธอก็มาฝากตามนัดตลอด รวมทั้งสิ้น จำนวน ๘ ครั้ง….ณ ขณะนั้น เธอตั้งครรภ์ได้ ๒๕ สัปดาห์แล้ว.. ใครจะไปคาดคิดถึงว่า จะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับคุณอัญชลี…มันเกิดขึ้นในช่วงราวๆกลางเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูอัลตราซาวนด์ทางสูติฯ ได้ตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคุณอัญชลี จากการร้องขอการปรึกษาจากสูติแพทย์ทั่วไปที่ห้องตรวจครรภ์ ซึ่ง..พบว่า ลูกของคุณอัญชลี  มีแขนขาสั้นและกระดูกแขนขาทุกชิ้นของลูกเธอ มันสั้นกุดทุกชิ้น นอกจากนั้น ยังมีส่วนบริเวณหน้าอก ที่เว้าบีบเข้ามาจนแคบมาก ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นความพิการแต่กำเนิดชนิดร้ายแรง ซึ่ง…มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Thanatophoric dysplasia

จากตำรา กล่าวว่า ทารกในครรภ์ที่เป็นโรคนี้ คลอดออกมาถึงแม้จะครบกำหนด ก็จะเสียชีวิตอย่างแน่นอน (Lethal anomaly) ดังนั้น สูติแพทย์เจ้าของไข้ จึงได้ นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อขอให้ทำแท้งเพื่อการรักษา (Therapeutic abortion).. คุณอัญชลีขอคำอธิบายอีกเล็กน้อยว่า “ลูกของเธอเป็นเช่นไร เวลาแท้งออกมาและ เสียชีวิต.. จะได้สบายใจว่า เธอไม่ได้ทำบาปมากนัก”

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัลตราซาวนด์ ในคณะกรรมกายุติการตั้งครรภ์ พูดอธิบายให้คนไข้และสามีฟังว่า  ‘ลูกของคุณมีความพิการซ้ำซ้อน หลายประการ โรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของกระดูกอย่างรุนแรง มีลักษณะเด่น คือ ช่วงแขนขาทั้งหมดจะสั้น อย่างมาก (extremely short limbs)  รวมทั้งผิวหนังที่คลุมแขนขาจะย่นย้วยคลุมส่วนดังกล่าวด้วย (folds of extra [redundant] skin on the arms and legs) นอกจากนั้น ยังมีลักษณะพิการอื่นๆอีก ได้แก่ หน้าอกแคบ (narrow chest)  กระดูซี่โครงสั้น, ปอด ไม่พัฒนา , ศีรษะมีขนาดใหญ่ หว่างคิ้งกว้าง ทำให้แลดูนัยน์ตาห่าง (an enlarged head with a large forehead and prominent, wide-spaced eyes) ในบางคน รูปกะโหลก จะบีบรัดห่อตัว คล้ายใบไม้ห่อขนมหรืออาหาร ฉะนั้น ’

คำว่า  thanatophoric นั้นเป็นภาษากรีกโบราณ แปลว่า “การแบกถือความตายมากำเนิด”  ทารก ที่มีความพิการเช่นนี้ มักจะตายคลอด หรือเสียชีวิต หลังคลอดในเวลาไม่นานนัก เพราะมีระบบการหายใจล้มเหลว (respiratory failure) อย่างไรก็ตาม ก็มีบางรายที่รอดชีวิตอยู่จนถึงวัยรุ่น โดยอาศัยการช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างมากมาย สรุปรวมความว่า ทารกลูกคุณอัญชลี หากยังมีชีวิตอยู่ในครรภ์ต่อไปอีก ๕ เดือน เมื่อคลอดออกมา ก็ไม่น่าจะรอดพ้นจากเงื้อมมือแห่งมัจจุราชไปได้

คุณอัญชลี แม้จะมีความอาลัยรักในบุตรของตน แต่..ก็ต้องตัดใจเข้ารับการทำแท้งเพื่อการรักษา ในขณะอายุครรภ์ ๒๕ สัปดาห์ ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยคนไข้ได้รับการเหน็บยา (ขอสงวนนาม) ทางช่องคลอดตัวหนึ่ง ซึ่ง..ออกฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกนุ่ม และมดลูกแข็งตัวแบบเกร็งบ่อยๆ..ในที่สุด.. คุณอัญชลีก็แท้งบุตรออกมาเมื่อเวลา ๔ นาฬิกา ของคืนวันที่ทำแท้ง.. หลังจากเหน็บยาไปได้เพียง ๓ เม็ดเท่านั้น ทารกเป็นเพศชาย, น้ำหนักแรกคลอด ๙๐๘ กรัม ปรากฏรูปลักษณ์เป็นดั่งที่บรรยายมาข้างต้น ทุกประการ  

คุณอัญชลี แม้จะเสียใจในการจากไปของบุตร แต่..ก็ขอมอบร่างที่ไร้วิญญาณนั้น ให้กับทางโรงพยาบาล เพื่อเป็นวิทยาทานทางด้านการศึกษา เรื่องราวของ..คุณอัญชลี ได้ถูกนำมาเล่าต่อกันในห้องประชุมวิชาการกลุ่มงานสูติ-นรีเวชในตอนเช้าของวัน ที่คุณอัญชลีแท้งบุตร เพื่อการเรียนการสอน.. ข้าพเจ้าเองนั้น ไม่เคยเห็นสภาพของความพิการทารกเช่นนี้มาก่อนเลย แม้ว่าจะอยู่ในวงการสูติฯมากว่า ๒๐ ปี

ในฐานะ ที่ข้าพเจ้าก็เป็นบุพการีของบุตรผู้หนึ่ง ข้าพเจ้าจึงเข้าใจความรู้สึกของคนไข้เหล่านี้ได้ดี.. เวลาที่เราเฝ้ามองลูกของเราแบบเพ่งพินิจ แม้ว่า ลูกของเราจะมีรูปลักษณ์เช่นไร เราก็จะมีความรู้สึกว่า นั่นคือ แก้วมณีอันเลอค่าของจักรวาลนี้ น่ารัก สว่างไสว ไร้ตำหนิ จนไม่มีสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้… ‘ลูก’ จึงเป็นความงดงามแห่งชีวิตของมนุษยชาติ ..เป็นความหมาย รวมทั้งจุดมุ่งหมายในชีวิตของเรา…ข้าพเจ้าอยากให้ผู้คนบนโลกใบนี้ เมื่อให้กำเนิดลูกหรืออัญมณีแห่งชีวิตออกมาแล้ว ขอท่านจงแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง เพื่ออบรมสั่งสอน หรือ..ก็คือ การเจียรนัยอัญมณีเม็ดนั้น เพื่อให้ลูกเป็นคนดี.. มีความสุข และอยู่รวมในสังคมอย่างสร้างสรรค์…

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *