เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับสตรีนางหนึ่ง อายุ 39 ปี เธอตั้งครรภ์ที่ 2 และมีอายุครรภ์ เพียง 34 สัปดาห์เศษ เหตุที่ต้องผ่าตัดคลอด ก็เนื่องจากเธอมี’น้ำเดินมาหลายวันโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด..เมื่อวันวาน ยิ่งมีน้ำคร่ำออกมาก’ ที่น่าตกใจ คือ พอข้าพเจ้าทำคลอดส่วนศีรษะทารก ก็พบว่า ‘หนูน้อยมีความพิการบนใบหน้า ได้แก่ ปากแหว่ง เพดานโหว่ อย่างรุนแรง (และอาจจะมีอวัยวะส่วนอื่นพิการร่วมด้วย)’ ข้าพเจ้ารู้สึกหดหูใจมาก ทันที่พบเห็น… แม้ว่า ทารกน้อยจะร้องเสียงดังและหายใจได้ดี แต่..กว่าเด็กคนนี้จะเติบโตจนช่วยเหลือตัวเองได้ คนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ รวมทั้งตัวเขาเอง คงจะต้องทุกข์ทรมาน และผจญกับอะไร ต่อมิอะไร อีกมากมาย ‘หากรู้ว่า เด็กจะพิการเช่นนี้…ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ….ทำแท้งให้กับคนไข้ ก็คงจะดีกว่า’ ข้าพเจ้าพูดทิ้งท้ายไว้ก่อนออกจากห้องผ่าตัด
เมื่อคืนที่ผ่านมา ช่วงเที่ยงคืน ก็มีรายงานจากนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดถึงกรณีทำแท้งเพื่อการรักษา (Therapeutic abortion) ในคนไข้อีกราย ที่มีบุตรไร้กะโหลกศีรษะ (Anencephaly) ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเพราะเรื่องราวเลวร้ายเกิดขึ้นมาติดๆกันเลย
ทุกวันนี้ มีผู้คนแท้งบุตร (Spontaneous abortion) และทำแท้ง (Criminal abortion) กันมาก ในช่วงตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ จนถึงมากกว่า 20 สัปดาห์ การรักษาเยียวยาคนไข้เหล่านี้ ความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพียงแต่คุณหมอจะต้องไม่ประมาท เท่านั้น
วันพฤหัสที่ผ่านมา ก็เช่นกัน มีสตรีนางหนึ่ง อายุราว 30 ปี เป็นโรคจิต มาที่โรงพยาบาลตำรวจในตอนค่ำเกือบเที่ยงคืน คุณหมอและเจ้าหน้าที่พยายามซักประวัติ แต่ก็ไม่ได้ข้อมูลอะไรมาก เธอจำไม่ได้ว่า ‘ระดูครั้งสุดท้ายมาเมื่อไร? ขณะนี้ มีครรภ์หรือไม่?’ ญาติผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่า ‘เธอถูกชักชวนจากชายผู้หนึ่ง ให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยแลกกับอาหาร’ ในวันนั้น เผอิญคนไข้ตกเลือด ญาติๆนึกว่า คนไข้มีระดูมามากจนอาจเป็นอันตราย จึงรีบพามาที่โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ประจำบ้านของแผนกสูติได้ตรวจร่างกายคนไข้และทดสอบการตั้งครรภ์ ปรากฏว่า ให้ผลบวก (Positive) จึงวินิจฉัยว่าเป็น แท้งคุกคาม (Threaten abortion) และนัดให้มาใหม่ในตอนเช้า
วันรุ่งขึ้น ราวบ่ายโมง ผู้ป่วยได้เข้ามารับการตรวจที่แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าเป็นผู้ตรวจให้กับเธอ และได้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์ซ้ำ ซึ่งกลับให้ผลลบ (Negative) เมื่อดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ปรากฏว่า ภายในโพรงมดลูกของคนไข้ ‘มีอะไรสักอย่างหนึ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร’ ข้าพเจ้าคิดว่า น่าจะเป็นชิ้นเนื้อของการแท้งที่คั่งค้างภายใน จึงขอให้สูติแพทย์เวรช่วยขูดมดลูกให้คนไข้ ผลปรากฏว่า เป็นเศษชิ้นเนื้อเก่าๆของการตั้งครรภ์จริงๆ จำนวนมากถึง 50 กรัม หลังจากนั้น คุณหมอเวรได้ส่งตัวคนไข้กลับไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อเข้ารับการรักษา ฟื้นฟูสภาพทางจิตใจ เรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น คือ รูปแบบหนึ่งของการแท้ง แต่เป็นการแท้งค้าง (Missed abortion) ซึ่งวันดีคืนดี คนไข้ก็จะตกเลือดจากช่องคลอดออกมาจำนวนมาก หากไม่ได้รับการรักษาขูดมดลูก คนไข้ก็จะเสียเลือดไปเรื่อยๆ จนอาจช็อคได้
ในค่ำคืนที่คนไข้โรคจิตมานั้นเอง ก็มีคนไข้อีกรายหนึ่ง ชื่อ คุณสุวรรณา อายุ 31 ปี ตั้งครรภ์ที่ 4 เธอมีบุตรมาแล้ว 3 คน บุตรคนแรกคลอดเองตามธรรมชาติ แต่ 2 คนหลังได้คลอดโดยการผ่าตัดคลอด บุตรคนสุดท้ายของเธอมีอายุเพียง 10 เดือนเท่านั้น คุณสุวรรณาถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลราชวิถีอีกที เพราะเธอมีบัตรสุขภาพถ้วนหน้าของโรงพยาบาลตำรวจ โดยระบุว่าเป็น ‘แท้งบุตรชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion)’ ในใบส่งตัว ได้เล่าว่า คุณสุวรรณา เธอมีอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ นับจากระดูครั้งสุดท้าย เธอเดินทางไปที่โรงพยาบาลราชวิถีด้วยประวัติว่า ‘3 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล คุณสุวรรณามีน้ำเดิน ออกมาจากช่องคลอดจนผ้าอนามัยชุ่ม แต่ไม่มีเลือดออก’ เธอมีความดันโลหิต ชีพจรปกติ และไม่มีไข้ จากการคลำหน้าท้องโดยคูณหมอที่นั่น พบว่า มดลูกมีขนาด 2/3 เหนือหัวเหน่า จากการตรวจภายใน พบว่า ภายในช่องคลอดมีน้ำคร่ำจำนวนหนึ่ง มดลูกมีขนาดพอๆกับลูกส้มโอ ปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร และมีสายสะดือเล็กๆของเด็กย้อยออกมา
ขณะที่แพทย์ประจำบ้านรายงานข้าพเจ้าอยู่นั้น เป็นเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันพฤหัส แต่ เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนค่อนข้างดึก เราไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากนัก ข้าพเจ้าจึงบอกให้คุณหมอเวรช่วยเหน็บยา Cytotec จำนวน 1 เม็ดให้กับคนไข้ ทุก 6 ชั่วโมงจนกว่าจะมีการแท้งออกมา พร้อมทั้งฉีดยาแก้ปวดให้ด้วย… ตอนเช้า ประมาณ 6 นาฬิกาของวันศุกร์ คุณสุวรรณาก็แท้งบุตรออกมา
เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมคุณสุวรรณา ที่หอผู้ป่วยชั้น 4 ในตอนเช้า พยาบาลที่นั่นรายงานว่า “คนไข้แท้งบุตรประมาณ 6 โมงเช้า เป็นการแท้งครบ (Complete abortion) เพราะออกมาทั้งถุงการตั้งครรภ์ ตอนนี้เลือดก็ไม่ค่อยมีออกจากช่องคลอดแล้ว” ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็คิดว่า น่าจะเป็นไปตามนั้น แต่เพื่อความไม่ประมาท จึงสั่งการให้พยาบาลช่วยส่งคนไข้ไปที่ห้องตรวจนรีเวช เพื่อตรวจภายในและอัลตาซาวนด์ผ่านช่องคลอด เผื่อว่า อาจจะมีความผิดพลาดที่คาดไม่ถึง
ที่ห้องตรวจนรีเวช พอข้าพเจ้าใช้เครื่องถ่างปากช่องคลอดให้กับคุณสุวรรณา เลือดและก้อนเลือดจำนวนมาก ก็ทะลักออกมา จนเปรอะเปื้อนไปทั่วบริเวณ ข้าพเจ้าได้ใช้คีมคีบผ้าก๊อซ เช็ดเลือดภายในช่องคลอดที่เหลือ จากนั้น ก็ใช้เครื่องมือคล้ายคีมคีบยาวๆควานจับเข้าไปในโพรงมดลูก ปรากฏว่า สามารถคีบชิ้นเนื้อภายในออกมาได้จำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าลองใช้อัลตราซานด์ตรวจผ่านช่องคลอดของคุณสุวรรณา เพื่อประเมินสถานการณ์ ก็พบเศษชิ้นเนื้ออยุ่ภายในโพรงมดลูกเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3-4 เซนติเมตร
ไม่ได้แล้ว!! คนไข้คงต้องเข้ารับการขูดมดลูก ในช่วงเวลานั้น คงเป็นการง่ายหากจะขูดมดลูกของคุณสุวรรณา ที่ห้องตรวจนรีเวชนั้นเลย ข้าพเจ้าจึงลองใช้วิธีขูดมดลูกแบบเบาๆ (Light curettage) โดยให้ยาลดการเจ็บปวดร่วมด้วย ข้าพเจ้าขูดได้ชิ้นเนื้อมากถึง 30 กรัม เลือดที่เดิมไหลรินตลอดเวลาจากช่องคลอดของคุณสุวรรณา ก็หยุดเกือบสนิท
ข้าพเจ้าถามคนไข้ว่า ‘ได้ไปทำแท้ง (Criminal abortion) มาหรือเปล่า??’
คุณสุวรรณา ตอบว่า ‘แท้งเอง (Spontaneous abortion) เพราะหนูไปยกของหนัก’ เธอไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดการแท้ง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ในฐานะเป็นแพทย์ ก็ต้องคิดเผื่อไว้เสมอ ข้าพเจ้าสอนนักศึกษาแพทย์ว่า ‘เราควรซักประวัติเรื่องการทำแท้ง เพราะเราอาจต้องให้ยากันบาดทะยักและยาฆ่าเชื้อชนิดขั้นสูง เพราะเชื้อโรคเดี๋ยวนี้รุนแรงมาก’
‘แต่คนไข้เคยฝากครรภ์ ไม่ใช่หรือคะ’ นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งให้ความเห็น.. จริงๆแล้ว!! คนไข้รายนี้ยังไม่เคยฝากครรภ์ แต่เนื่องจากเธอเคยได้รับยาป้องกันบาดทะยักมาแล้ว ในทุกๆครรภ์ที่ผ่านมา ก็น่าจะไม่มีปัญหาสำหรับเรื่องนี้
“ยังไงก็ตาม พี่เคยเล่าเรื่องคนไข้ที่ไปทำแท้งมาและติดเชื้อทั่วร่างกาย จนเสียชีวิตถึง 2 รายให้กับนักศึกษาเกือบทุกรุ่นว่า เราต้องไม่ประมาทกับการดูแลคนเหล่านี้ รายหนึ่ง คนไข้เสียชีวิตบนเตียงผ่าตัด ส่วนอีกราย ไปเสียชีวิตที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.” ข้าพเจ้าบอกกับนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้ไปซักประวัติซ้ำในเรื่องทำนองนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตาม เราก็ได้ให้ยาฆ่าเชื้ออย่างดีจำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 6 ชั่วโมง….ในเย็นวันนั้น คุณสุวรรณาขอตัวกลับบ้าน เพราะเธอต้องจ่ายค่าห้องพิเศษ ซึ่งบัตรสุขภาพถ้วนหน้าไม่ครอบคลุม
การแท้งบุตรเอง ในไตรมาสที่สอง (13 – 24 สัปดาห์) นั้น เป็นสิ่งที่พึงระวังในส่วนของการคั่งค้างของเศษชิ้นเนื้อของการตั้งครรภ์… หากปล่อยคนไข้หลังแท้งกลับบ้านจากการเข้าใจผิดคิดว่า เป็นแท้งครบ (Complete abortion) โดยไม่ได้ตรวจภายในและตรวจอัลตราซานด์ผ่านทางช่องคลอด คนไข้มีโอกาสตกเลือดอย่างมากจนช็อคได้ นอกจากนั้น ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) ก็ยังถือว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ แม้จะเป็นการแท้งเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เพียงแต่เราจะให้ในขนาดเพื่อป้องกัน ไม่ใช่รักษา
เหตุที่ต้องตรวจภายในและตรวจอัลตราวานด์ซ้ำในคนไข้ที่แท้งในไตรมาส 2 ก็เพราะรกของคนไข้ในไตรมาส 2 นั้น เกาะแน่น เปรียบไป ก็เสมือนกับรากของต้นแสม (อ่าน: สะแหม) และโกงกางตามชายฝั่งทะเล ซึ่งคลื่นและลม ไม่สามารถถอนรากถอนโคนได้อย่างง่ายๆ แม้ต้นไม้เหล่านั้นจะบอบบาง เก้งก้าง… อนึ่ง พยาบาลอาจจะตรวจคไข้แล้วพบว่า ‘มีถุงการตั้งครรภ์หลุดออกมาจากช่องคลอดคนไข้จนครบ’ แต่…..คุณหมอก็ควรตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้งและมองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย
เรื่องราวของการแท้งบุตร ที่เขียนอยู่ในหนังสือตำรานั้น ก็เหมือนกับภาพยนต์ที่เราชมกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่…หากเป็นภาพยนต์ที่ทรงคุณค่า หนังก็จะชวนให้น่าติดตามชมจนจบและได้ข้อคิดคุณค่า ข้าพเจ้าเอง ก็มักชอบให้คนอ่านจดจำเรื่องราวที่ข้าพเจ้าเล่าเอาไว้เสมอ เมื่อพบเห็นเหตุการณ์คล้ายๆกัน ท่านก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ช่วยเหลือบอกต่อ อันจะก่อประไยชน์ได้ ไม่มากก็น้อย
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน