เพื่อน (2)

เพื่อน (2)

วันคืนล่วงเลยลับอย่างรวดเร็ว ราวกับสายลมที่พัดผ่าน เมื่อวันวานกลายเป็นอดีตที่นานแสนนาน และไกลแสนไกล ไม่อยากเชื่อเลยว่า เพื่อนภรรยาที่ชื่อว่า คุณกาญจน์ จะมีชีวิตอยู่ต่อมาหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไตได้อีกนานมากกว่า 15 ปี ข้าพเจ้าเพิ่งกลับจากประเทศไต้หวันไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ในใจกลับหวนคิดถึง สิ่งที่ได้พบประสบมา ณ ที่นั่น โดยเฉพาะการได้พบเห็นวิถีชีวิตของคุณกาญจน์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

วันที่ 8 – 21 มีนาคม 52 เป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้ไปดูงานเกี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (laparoscopic surgery) ที่โรงพยาบาลฉางเกิน ประเทศไต้หวัน ระหว่างนั้น ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบกับเพื่อนสนิทภรรยาคนหนึ่ง ที่มีชื่อว่า คุณกาญจน์

ยังจำได้ว่า วันหนึ่ง หลังจากอยู่ประเทศไตหวันมาได้ 4 วัน จู่ๆ ในตอนเย็น ข้าพเจ้าพลันนึกถึงคำของภรรยาที่ว่า ‘ต้องไปเยี่ยมคุณกาญจน์ให้ได้นะ ไม่รู้ว่า เธอยังมีชีวิตอยู่หรือปล่า?’ แว่วเข้ามาในโสตประสาท ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์กลับมาหาภรรยาที่เมืองไทย บอกเธอให้ช่วยหาเบอร์โทรศัพท์ของคุณกาญจน์ หลังจากได้รับเบอร์โทรศัพท์นั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบโทรหาคุณกาญจน์ทันที เพื่อให้ทราบว่า ‘เธอมีสุขภาพเป็นอย่างไร?’ เนื่องจากว่า คุณกาญจน์และภรรยาข้าพเจ้าไม่ได้ติดต่อกันมานานมากว่า 1 ปี

เมื่อราว 1 ปีก่อน ขณะที่ภรรยาข้าพเจ้ากำลังทำธุระบางอย่างอยู่ที่ประเทศไต้หวัน ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อกับคุณกาญจน์ เพื่อขอพบเจอหน้ากันสักครั้งในฐานะเพื่อนเก่า แต่คุณกาญจน์กลับปฏิเสธ เธอบอกว่า “กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตัดเอากระเพาะอาหารทิ้งทั้งหมด เนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่กระเพาะอาหาร” จากนั้น ก็ขาดการติดต่อ และไม่มีข่าวคราวของคุณกาญจน์อีกเลย ข้าพเจ้าและภรรยา ต่างคิดว่า ‘เธอคงเสียชีวิตไปแล้ว หลังจากผ่าตัดครั้งนั้นไม่นานนัก’

คุณกาญจน์กับภรรยาข้าพเจ้าเป็นเพื่อนสนิทกันมากว่า 20 ปี..เมื่อราว 15 – 16 ปีก่อน ตอนที่ข้าพเจ้าแต่งงานใหม่ๆ ยังจำได้ว่า ‘คุณกาญจน์มีรูปร่างที่ผอมบาง ท่าทางคล่องแคล่ว หลังจากรู้จักกันไม่นาน เธอก็ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง อันเนื่องมาจากโรคไต ต่อมา เธอจำเป็นต้องออกจากงานเพราะไตเสื่อมลงเรื่อยๆ ในที่สุด ก็เข้าสู่ภาวะไตวาย ข้าพเจ้าคิดว่า วาระสุดท้ายของเธอคงมาถึงแล้วในตอนนั้น เพราะสภาพร่างกายของเธอเลวลงอย่างรวดเร็ว แต่..ก็เหมือนกับพระเจ้ามีจริง เธอได้รับบริจาคไตจากพี่สาว โดยมีเพื่อนคนหนึ่งช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่ายผ่าตัดเปลี่ยนไต

เมื่อได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตเรียบร้อยแล้ว คุณกาญจน์ได้ย้ายนิวาสถานจากประเทศไทยไปอยู่ที่ประเทศไต้หวันเป็นการถาวร เธอมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขในราว 4 – 5 ปี ก็ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม (Breast cancer) ตอนนั้น เธอยังติดต่อกับภรรยาข้าพเจ้าอยู่ เธอบอกว่า ‘การเดินทางครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายของการเดินทางไกล และคงไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีก เพราะมัจจุราชกำลังจะฉุดคร่าชีวิตของเธอไป’ เธอได้รับการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด พร้อมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ทั้งสองข้าง ไม่น่าเชื่อเลยว่า หลังจากนั้น เธอกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น

การที่คุณกาญจน์ไม่ต้องลำบากใจในเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่มากมายนี้ ก็เนื่องจากว่า ระบบประกันสังคมของประเทศไต้หวันนั้นดีที่สุดในโลก โดยมีหลักการ คือ รัฐจะจัดเก็บเงินจำนวนหนึ่งทุกเดือนจากประชาชนทุกคน ตามสัดส่วนของระดับเงินเดือน ด้วยอัตราเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 1%

ช่วงนั้น ไตของคุณกาญจน์ทำงานแย่ลงตามลำดับ จนต้องเข้ารับการฟอกไตผ่านทางเส้นเลือดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง คุณกาญจน์มีการติดต่อกับภรรยาข้าพเจ้าน้อยลงทุกที เธอใช้เวลาส่วนใหญ่กับบุคคลรอบข้าง ตอนนั้น เธอเปลี่ยนสถานะจากคนทำงานมาเป็นคนป่วยอย่างถาวร โดยไม่มีวันย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้อีก โชคดี!! ที่พี่น้องของเธอที่ประเทศไต้หวันมีจำนวนมาก และแต่ละทุกคนล้วนมีความรักต่อเธอ ไม่มีใครเกี่ยงที่จะดูแลเธอ ทำให้เธอมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป….

ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่ได้รับ พร้อมกับความหวังที่จะได้ยินเสียงคุณกาญจน์สักครั้งหนึ่ง พอมีเสียงคนรับสายอีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจ เพราะเป็นเสียงของคุณกาญจน์ที่ดังกังวาลสดใส ไร้ซึ่งการหยุด สะดุดใดๆทั้งสิ้น เธอพูดว่า “จื่อฉีเหรอ! คุณมาไต้หวันใช่ไหม? มาเมื่อไหร่? ” เธอเรียกชื่อจีนของข้าพเจ้าอย่างชัดเจน โอ้!!! เธอยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมากอย่างบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องการมาดูงานที่โรงพยาบาลฉางเกินให้เธอฟัง เธอรู้สึกตื่นเต้นมากกับการปรากฏตัวของข้าพเจ้าที่ประเทศไต้หวันอย่างไม่คาดฝัน เพราะ..นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสได้พบกัน เสียดาย ก็เพียง ภรรยาข้าพเจ้าไม่ได้มาด้วย

“มาเจอหน้ากันหน่อยสิ” คุณกาญจน์พูด.. แน่นอน! ยังไง ยังไง ข้าพเจ้าต้องไปพบเธอแน่ แต่จะพบกันยังไงดีละ??? ในเมื่อข้าพเจ้ายังไม่รู้จักถนนหนทางในกรุงไทเปดี อีกประการหนึ่ง โรงพยาบาลฉางเกินที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น ก็ตั้งอยู่ที่เขตหูโข่ว ไม่ใช่กรุงไทเป จากนั้น เธอก็บอกถึงวิธีการเดินทางว่า ‘ตอนบ่ายสองโมง ให้นั่งรถบัสจากโรงพยาบาลฉางเกินหูโข่วไปลงที่โรงพยาบาลฉางเกินไทเปและรออยู่ที่นั่น จนกว่าน้องสาวของเธอจะไปรับ ’

ตอนนั้น ข้าพเจ้าพอทราบคร่าวๆว่า ‘มีรถเมล์รับส่งระหว่างโรงพยาบาลฉางเกินหูโขว่กับไทเป’ แต่ไม่เคยขึ้นรถเมล์ที่ว่านี้ ดังนั้น ตอนบ่ายวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม ข้าพเจ้าจึงลองไปนั่งรถเมล์ดังกล่าว นึกไม่ถึงว่า ‘ณ สถานที่รอรถ มีช่องเก้าอี้นั่งรอรถถึง 4 แถว’ ข้าพเจ้าได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ว่า “จะไปโรงพยาบาลฉางกินไทเป จะต้องนั่งรถมล์คันไหน?” เจ้าหน้าที่บอกว่า ‘ให้ไปต่อคิวช่องเก้าอี้แถวที่ 1’ ข้าพเจ้าจึงเดินไปต่อคิว พลันรู้สึกว่า ‘ช่องก้าอี้แถวนี้ ทำไมมีคนน้อยจัง’ แต่ก็ปล่อยเลยตามเลย ตอนขึ้นรถ ข้าพเจ้าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ยกมือชูบัตรประจำตัวแพทย์ให้กับคนขับรถ แล้วก็เดินผ่านเข้าไปนั่งอย่างสบายใจ โดยไม่ได้จ่ายค่าโดยสาร

รถเมล์ที่นั่ง แล่นไปอย่างช้าๆ รถจอดเพียง 3 ป้ายเท่านั้น ข้าพเจ้าพยายามมองออกไปทางช่องหน้าต่างรถ เพื่อจดจำบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะตำแหน่งต่างๆที่รถจอด เผื่อว่า จะเป็นแผนที่ในใจเวลาเดินทางกลับ ในที่สุด รถเมล์คันนั้นก็จอดที่ป้ายสุดท้าย ริมถนนบริเวณสี่แยกไฟแดงแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตว่า ‘ที่นี่ไม่เห็นมีโรงพยาบาลใดตั้งอยู่เลย มีแต่ธนาคารเฟิร์ส แบงค์ ตรงข้างถนนบริเวณที่รถจอด และมีร้านแมคดอแนลกับร้านเค. เอฟ. ซี. อยู่ตรงหัวมุมถนนด้านตรงข้าม’ ข้าพเจ้าพยายามสอบถามคนไต้หวันแถวนั้นถึง ‘โรงพยาบาลฉางเกินไทเป’ ทุกคนพากันส่ายหัว พร้อมกับบอกว่า “โรงพยาบาลฉางเกินไทเปไม่ได้อยู่แถวนี้” ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์ติดต่อน้องสาวคุณกาญจน์ เธอบอกให้ข้าพเจ้า ‘อย่าเดินไปที่แห่งอื่น’ และให้ส่งมือถือกับคนไต้หวันแถวนั้น เพื่อที่เธอจะสอบถามว่า เป็นถนนสายอะไร และอยู่ตรงไหน.. อย่างไรก็ตาม เธอสามารถแวะมารับข้าพเจ้าได้และพาไปยังงบ้านของเธออย่างปลอดภัย

น้องสาวคุณกาญจน์ เธอชื่อ โซเฟีย อายุประมาณ 40 ปี มีบุตร 2 คน คนโตเป็นผู้ชาย อายุ 13 ขวบ คนเล็กเป็นผู้หญิง อายุ 10 ขวบ เธอได้หย่าขาดกับสามีเมื่อหลายปีก่อนในขณะที่ลูกสาวอายุเพียง 8 เดือน เรื่องราวของเธอก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าพี่สาว เพียงแต่เธอไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็ง… ในอดีต เธอเป็นเพียงแม่บ้านที่ไร้เดียงสาและปล่อยเวลาอันมีค่าล่วงไปโดยไม่รู้ว่า จะทำอะไร เนื่องจากมีสามีคอยดูแลค่าใช้จ่าย หลังจากหย่าขาด คุณโซเฟียต้องทำงานด้วยตัวของเธอเอง หนักเอาเบาสู้ เธอเคยเดินทางไปทำงานถึงเมืองจีน ร่วมกับเพื่อนในการขายผลไม้ทุเรียน แต่ก็ถูกเพื่อนทรยศหักหลัง พอกลับมาไต้หวัน ได้พบกับพี่สาวที่ป่วยเป็นมะเร็งและเห็นใบหน้าของลูกๆ ทำให้เธอตัดสินใจหางานทำที่ไต้หวัน เธอทำงานประสบความสำเร็จพอสมควร ปัจจุบัน เธอดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษของบริษัทมือถือยี่ฮ้อดังที่สุดของไต้หวัน (hTC) และมีรายได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม รายได้ที่หามา ไม่เคยมีเหลือเก็บ เพราะหมดไปกับค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียนของลูกๆ

พอไปถึงที่พักอันเป็นคอนโดของเธอ ปรากฏว่า มีเด็กๆและญาติสนิทมิตรสหายมากมายกว่า 10 คนมาชุมนุมกัน ที่แท้ วันนั้นเป็นวันเกิดครบรอบ 13 ขวบของลูกชายคุณโซเฟีย ข้าพเจ้าเดินตรงเข้าไปทักทายคุณกาญจน์ก่อน พลางสังเกตว่า เธอลุกเดินไปไหน มาไหนได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องใช้รถเข็น คุณกาญจน์และคุณโซเฟียได้แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับเพื่อนๆและลูกหลาน ยกเว้นสามีเก่าของคุณโซเฟียที่มาร่วมในงานด้วย

เมื่อเสร็จสิ้นงานวันเกิดของลูกชายคุณโซเฟีย คุณกาญจน์และคุณโซเฟียก็พาข้าพเจ้าไปเที่ยวที่สะพานแห่งความรักช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม สะพานนี้เป็นสะพานแขวน อายุเก่าแก่กว่า 50 ปี มีชื่อว่า ‘ปี้ถาน’ หรือ ‘สายธารแห่งภูผา’ หนุ่มสาวจำนวนมากพากันมาพรอดรักที่นี่ และส่วนหนึ่งได้จบชีวิตลง ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อบูชารัก ข้าพเจ้าเดินขึ้นไปบนสะพานแขวน พยายามทอดอารมณ์ไปตามสายลมที่พัดมาเอื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ นี่คงเป็นเพราะชีวิตได้เลยช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว คุณกาญจน์พาร่างกายที่ทรุดโทรมมาเป็นเพื่อนข้าพเจ้า เธอเดินไกลมากไม่ได้ จึงนั่งรออยู่ที่ร้านค้าแห่งหนึ่งบริเวณลานเรียบริมแม่น้ำ เมื่อเดินกลับมาร่วมโต๊ะกับคุณกาญจน์ ข้าพเจ้าได้ลงนั่งจิบน้ำชา พลันรู้สึกซาบซึ้งถึงคุณค่าของคำว่า “เพื่อน” ณ สถานที่แห่งนี้

คุณกาญจน์เล่าให้ฟังว่า ‘หลังจากถูกตัดเอากระเพาะอาหารทิ้งทั้งหมด ก็กินอาหารไม่ได้มากในแต่ละมื้อ บ่อยครั้งที่มีอาการเรอและผายลม บางทีรู้สึกอายอย่างมากหากนั่งรถร่วมกับคนอื่น

มะเร็งของเต้านมตอนนี้ได้ลุกลามไปยังที่ต่างๆหลายแห่ง อาทิ กระดูก ตับ คุณหมอบอกว่า เธอเป็นมะเร็งระยะที่ 3’ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า เธอเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย……

“ทำไมคุณกาญจน์ ยังมีสุขภาพที่ดีเช่นนี้” ข้าพเจ้าถาม เธอเล่าว่า ‘จริงๆแล้ว เธอเคยไปหาหมอคนหนึ่ง เพื่อรักษาเคมีบำบัด พอหมอทราบเรื่องราวทั้งหมด ก็บอกให้เธอทำใจและไปเข้าร่วมในโครงการวาระสุดท้ายของชีวิต ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ’ เธอฟังแล้ว หมดเรี่ยวแรง เดินไม่ไหวในทันที อย่างไรก็ดี มีคนแนะนำเธอให้ไปพบคุณหมอคนหนึ่งที่โรงพยาบาลไถต้า คุณหมอผู้นี้เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เมื่อได้พบคุณหมอ เธอก็มีกำลังใจขึ้นมา เพราะคุณหมอบอกว่า “ไม่ต้องไปเข้าร่วมโครงการดังกล่าวหรอก ยังพอมีทางรักษา โดยจะลองให้ยาเคมีบำบัดไปก่อน พอก้อนเนื้องอกยุบ ก็จะผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ” ทุกวันนี้ เธอได้รับยาเคมีบำบัดไปแล้วจำนวน 3 รอบห่างกันทุกๆ 3 สัปดาห์ อาการของเธอดีขึ้นอย่างน่าประหลาด เธอกลับมากินอาหารได้อีก น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 10 กิโลกรัม ที่สำคัญ คือ มีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพ

วันอาทิตย์ เวลาประมาณ 7:00 น. สองสาวพี่น้องได้พาข้าพเจ้าพร้อมกับเด็กๆ ไปรับประทานอาหารเช้า ข้าพเจ้าเลือกเอาแฮมเบอร์เกอร์แบบจีนและกาแฟเป็นอาหารเช้า ส่วนคนอื่นๆล้วนรับประทานอาหารไต้หวันแบบแปลกๆ เช่น โรตีทอดไข่ จากนั้น ทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าได้ไปโบสถ์เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ข้าพเจ้าพยายามไม่แสดงกิริยาอะไรที่ไม่เหมาะสม นั่งสงบเสงี่ยมเจียมตัวจนจบพิธี และแล้ว สองพี่น้องก็ได้พาข้าพเจ้าไปเดินเล่นที่ตึกระฟ้าสูงที่สุดของไต้หวัน ชื่อว่า ‘ไทเป 101’ ข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไรเลยเกี่ยวกับนวตกรรมนี้ ที่ผู้คนพยายามแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อความเป็นหนึ่ง ซึ่ง..ข้าวของภายในตึก‘ไทเป 101’ ล้วนแพงหูฉี่แบบสุดๆ ที่นี่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม แต่ก็คงต้องแลกมาด้วยเงินตรามิใช่น้อย หลังจากนั้น พี่น้องสองสาวยังได้พาข้าพเจ้าไปชม ‘หอที่ระลึก พณฯ เจียง’ (ประธานาธิบดีเจียงไคเชค) และอยู่ที่นั่นจนถึงเวลา 5 โมงเย็น ซึ่งมีพิธีสวนสนามของบรรดาทหารผู้ยืนยามจำนวน 8 นาย ผู้ชมทุกคนต่างรู้สึกสนุก เพราะทหารพวกนั้นแสดงการเดินมาร์ช การโยนและควงอาวุธปืน ได้สวยงามมาก พอจบจากการแสดงดังกล่าว สองสาวพี่น้องได้มาส่งข้าพเจาที่โรงพยาบาลฉางเกินไทเป ข้าพเจ้านั่งรถเมล์จากที่นั่นกลับถึงหอพักเมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ขากลับนี่เอง ที่ข้าพเจ้ายื่นแสดงบัตรประจำตัวแพทย์อีกครั้ง แต่คนขับรถคันนั้นส่ายหน้า บอกว่า ‘ไม่รู้ว่ามันคืออะไร’ ข้าพเจ้าจึงได้ทราบทันทีว่า บัตรนั้นไม่ได้มีค่าอะไรในการขึ้นรถเมล์

ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ วันนั้นเป็นวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 52 ข้าพเจากลับจากการดูงานในห้องผ่าตัดตอนเวลาประมาณ 1 ทุ่ม พอกลับมาถึงห้องพัก ก็ต้องตกใจ เพราะสภาพห้องถูกจัดแจงใหม่ คุณหมอคนใหม่จากที่ไหนไม่รู้ ได้เข้ามาอยู่ร่วมห้องกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารีบเก็บข้าวของใส่กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าคอมพิวเตอร์ จากนั้น ก็รีบโทรศัพท์หาเพื่อนของภรรยาเพื่อเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินเป็นวันเสาร์รุ่งขึ้น เพื่อนภรรยาข้าพเจ้าไม่ได้รับปาก เพราะเลยช่วงเวลาทำการของบริษัทการบินไทยแล้ว นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังได้โทรศัพท์หาคุณกาญจน์และคุณโซเฟียด้วย คุณกาญจน์ไม่ได้รับสาย เพราะกำลังฟอกไต ส่วนคุณโซเฟียได้บอกให้ข้าพเจ้าไปที่บ้านของเธอ ข้าพเจ้ารู้สึกเกรงใจมาก แต่ก็ต้องไป เพราะคุณกาญจน์ได้ซื้อของฝากประเภทของกินให้กับภรรยาข้าพเจ้ามากมาย โดยแช่ตู้เย็นไว้ หากข้าพเจ้าไม่ไปในตอนนั้น ก็อาจไม่สามารถไปรับของฝากได้

ข้าพเจ้าตัดสินใจหอบหิ้วเอากระเป๋าคอมพิวเตอร์ขึ้นรถเมล์สาย 2 ไปที่โรงพยบาลฉางเกินไทเป และขึ้นรถเมล์ประจำทางสาย 909 ไปที่บ้านของคุณโซเฟีย ข้าพเจ้าไปถึงที่นั่นเกือบ 4 ทุ่ม เหตุอีกประการหนึ่งที่ต้องย้ายสถานที่นอน ก็เพราะข้าพเจ้ากรนเสียงดังราวกับฟ้าผ่า ข้าพเจ้ากลัวว่า จะเป็นการรบกวนคุณหมอที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่คนนั้น จนเกิดมีการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม คุณโซเฟียได้ชักชวนให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านเธอ เพราะพี่สาวได้ไปโรงพยาบาลไถต้า เพื่อเข้ารับยาเคมีบำบัด ข้าพเจ้าเองก็เกรงใจ แต่ที่บ้านคุณโซเฟียยังมีห้องเล็กๆขนาด 2×2 เมตร เป็นสัดส่วน ป้องกันไม่ให้เสียงกรนข้าพเจ้าเล็ดลอดออกไป อีกประการหนึ่ง ลูกๆของเธอและเพื่อนๆลูกก็อยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าจึงพอรับคำเชิญได้..

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น คุณโซเฟียมีกำหนดการจะไปเยี่ยมพี่สาวตอนประมาณเที่ยง ข้าพเจ้าจึงขออนุญาติออกไปข้างนอกในตอนเช้า โดยอ้างว่า ‘อาจจะไปหอพักที่โรงพยาบาลฉางเกินหูโข่ว’ คุณโซเฟียได้พาข้าพเจ้าขึ้นรถเมล์ไปส่งที่ชุมทางรถไฟไต้ดินซิงเตี่ยน จากนั้น ข้าพเจ้า ก็โดยสารรถไฟไปยังสถานตากอากาศตานสุย เพียงคนเดียว โดยแวะที่ชุมทางรถไฟไทเปก่อน

ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงสถานตากอากาศตานสุยเมื่อเวลา 9:30 น. สังเกตว่า ‘ช่วงเวลาเช้า สถานที่ตากอากาศแห่งนี้ มีสภาพที่เรียบง่ายเงียบเหงา เพราะไม่ค่อยมีผู้คน ร้านค้าส่วนใหญ่ปิดทำการ’ ข้าพเจ้าเยี่ยมชมสถานที่และเมฆหมอกยามเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง ก็รับทราบข่าวจากเพื่อนภรรยาว่า ‘สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินได้สำเร็จ’ ข้าพเจ้าเดินทางกลับมาที่ชุมทางรถไฟไทเปอีกครั้ง เพื่อหาซื้อของขวัญแถวนั้นไปฝากคุณกาญจน์และคุณโซเฟีย จากนั้น ก็รีบเดินทางโดยรถไฟไต้ดินไปที่โรงพยาบาลไถต้า เพื่อเยี่ยมคุณกาญจน์ ในตอนเที่ยงเพื่อร่วมรับประทานอาหารกับสองสาวพี่น้อง ข้าพเจ้าไม่ได้ย้อนกลับไปที่บ้านคุณโซเฟีย แต่ขอให้เธอช่วยหอบหิ้วกระเป๋าคอมพิวเตอร์และของฝากของคุณกาญจน์มาพบกันที่โรงพยาบาลไถต้า อาหารกลางวันมือนี้อาจเป็นมื้อสุดท้ายที่ข้าพเจ้าจะได้เห็นคุณกาญจน์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าอยากให้เธอมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปอีกนานๆ

คุณกาญจน์อยากจะมาเที่ยวเมืองไทย ในอีก 3 – 4 เดือนข้างหน้า โดยจะมาพักอยู่ที่บ้านข้าพเจ้าประมาณ 2 เดือน นั่นคือ ความหวังอย่างหนึ่งของเธอก่อนที่จะจากโลกนี้ไป ข้าพเจ้าอวยพรขอให้เธอโชคดี และอยากให้เธอมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้น….. จนกว่าเราจะพบกัน…….ขอให้คุณกาญจน์และคุณโซเฟีย พร้อมกับครอบครัว บุคคลใกล้ชิด จงมีความสุขและสุขภาพดี ……

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *