ส้วมคนจน กับคนเจ็บครรภ์

“วันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้าเดินออกกำลังกาย ไปตามถนนย่านพัฒนาการ เพื่อมุ่งหน้าสู่ ‘สวนหลวง ร๙’ พลันก็ปวดทุกข์หนักขึ้นมา ข้าพเจ้าพยายามมองหาร้านอาหาร หรือปั้มน้ำมัน เพื่อไปเข้าส้วม.. แต่..ไม่ทันเสียแล้ว อาการปวดทุกข์มันมากเหลือเกิน เผอิญ!! บริเวณนั้น มีอู่จอดรถเมล์ของรัฐอยู่สายหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงแวะเข้าไปถามที่ร้านค้าเพิงชั่วคราว หลังจากซื้อน้ำอัดลม 1 ขวด ก็ขอเข้าห้องน้ำ… คนขาย ชี้ให้ไปเข้าห้องส้วมทางด้านหลัง.. ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งถ่ายทุกข์ ก็รู้สึกว่า ‘แม้ห้องส้วมนี้สกปรก และอับชื้น แต่..ก็ช่วยปลดทุกข์ให้เราได้’ ซึ่ง…ถ้าข้าพเจ้าเกิดปวดทุกข์หนักขึ้นมา แถวๆ ย่านคนรวย ที่มีบ้านสวยๆ ข้าพเจ้าคงไม่สามารถขอเข้าห้องน้ำได้.. เพราะอะไรหรือ?? ทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า…ใครจะยอมให้คนแปลกหน้าเข้าไปในบ้านหรูๆ ด้วยเหตุผลแค่นั้น…ข้าพเจ้าจึงว่า ‘ยามทุกข์ฉุกเฉิน…เหล่าคนจนๆ ชาวบ้านธรรมดา นี่แหละ มักช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้’ยามเช้ารุ่งอรุณวันเสาร์สัปดาห์ก่อน ขณะที่ท้องฟ้ายังเป็นสีหม่น แสงทองยังไม่สาดส่องเข้ามาในห้องนอน ข้าพเจ้าก็ถูกปลุกจากเสียงโทรศัพท์มือถือ คุณหมอเวรห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) แจ้งว่า ‘มีคนท้องรายหนึ่ง อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ เมื่อคืนมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 4 นาฬิกา หลังจากนั้น ก็เจ็บครรภ์ ท้องแข็งมาตลอด พี่จะให้ผมทำยังไง?? ’ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็นึกถึงกรณี คนท้องที่ปากมดลูกไวต่อน้ำอสุจิ (sensitive to semen) ทันที.. ในน้ำอสุจินั้น มีสารตัวหนึ่งจำนวนมาก ชื่อ ‘พรอสตาแกรนดิน’ สารตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบทั้งหลาย รวมทั้งกล้ามเนื้อมดลูก หดรัดตัวอย่างรุนแรง….ในคนท้อง มันสามารถก่อให้เกิดการแท้งได้ทุกอายุครรภ์.. เมื่อราว 10 ปีก่อน เคยมีคนท้องรายหนึ่ง ท้องแรก มีเพศสัมพันธ์ ขณะตั้งครรภ์ ได้ 20 สัปดาห์ หลังจากนั้น มดลูก ก็บีบตัวแข็งค่อนข้างถี่ ตอนนั้น แม้ข้าพเจ้าสามารถยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้นานถึง 20 ชั่วโมง แต่..สุดท้าย เธอก็แท้งบุตรออกมา หลังจากนั้น ข้าพเจ้า จึงมักสั่งคนท้องที่มาฝากครรภ์กับข้าพเจ้าเกือบทุกราย ห้ามมีเพศสัมพันธ์ตลอดการตั้งครรภ์คุณนฤมล อายุ 23 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์ที่นั่นตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ เธอมาที่ห้องฉุกเฉินด้วยเรื่องเจ็บครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่นาน… เธอเจ็บครรภ์ตลอดเวลา เนื่องจากมดลูกบีบรัดตัวค่อนข้างถี่ คุณหมอเวรที่ห้องฉุกเฉินตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกยังปิดอยู่ จึงส่งตัวคุณนฤมลมาที่ห้องคลอด คุณหมอยังได้ให้ยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูกด้วย (Bricanyl 10 amp in 5% D/W 1000 cc.).. สักพักหนึ่ง พยาบาลห้องคลอด ก็โทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงที่ตื่นตระหนกว่า ‘หมอ! หมอ! คนไข้ปวดท้องมากเลย มดลูกแข็งตัวทุก 2 นาที และมี show (มูกเลือด) ออกมาด้วย.. หมอรีบมาดูคนไข้เร็วๆหน่อยนะ!!!’ ข้าพเจ้าฟังคำพูดจากโทรศัพท์แล้ว ก็รีบลุกจากเตียง และขับรถออกเดินทางจากบ้านทันที จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า สิ่งที่พยาบาลห้องคลอดพูดมานั้น บ่งบอกถึงว่า คนไข้กำลังจะคลอดหรือใกล้คลอดเต็มที จริงๆแล้ว ตอนเช้าของทุกๆวัน ข้าพเจ้าจะออกไปทำบุญตักบาตร แต่…วันนั้น ข้าพเจ้าคงทำบุญตักบาตรไม่ได้แล้ว… ข้าพเจ้าได้แต่ยกมือขึ้นไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรดจงช่วยคุ้มครองคนไข้รายนี้ด้วยเถิด…การไปช่วยเหลือคนไข้รายนี้ในเบื้องต้น ก็ถือได้ว่า เป็นการทำบุญ เช่นกัน คิดดังนั้นแล้ว…. ข้าพเจ้า ก็ไม่ได้แวะเวียนที่ตลาดสดพัฒนาการ.. แต่..ขับรถมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น……ระหว่างอยู่ในรถ ข้าพเจ้าได้เปิดบทสวดมนต์ต่างๆ รวมทั้ง คาถาชินบัญชรไปด้วยพอไปถึงโรงพยาบาลแห่งนั้น สังเกตว่า…คุณนฤมลกำลังนอนบิดตัวอยู่ไปมาบนเตียงคนไข้ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้ฉีดยา Pethidine 50 มิลลิกรัม (ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน) แก่คุณนฤมล ผลคือ คุณนฤมลนอนหลับสนิททันที มดลูกหยุดการแข็งตัว ตอนนั้น เป็นเวลาประมาณ 8 นาฬิกา พยาบาลห้องคลอด ได้เข้าไปเกลี้ยกล่อมคุณนฤมลให้ย้ายออกไปคลอด ณ ที่โรงพยาบาลระดับศูนย์ (Tertially care hospital) พอคนไข้ตื่นรู้สึกตัว ข้าพเจ้าก็เข้าไปพูดทำความเข้าใจกับคุณนฤมลและสามีว่า ‘ ไม่ใช่ว่า …ผมทำคลอดให้คุณไม่ได้… แต่..ลูกคุณที่กำลังจะคลอดออกมา..คิดว่า จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างดีเยี่ยม มิฉะนั้น ลุกคุณจะปอดแตก..ที่นี่..เราไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากนั้น ยังไม่มีกุมารแพทย์ พยาบาลผู้ชำนาญการด้านทารกคลอดก่อนกำหนดประจำการอีกด้วย ดังนั้น ถ้าคุณคลอดที่นี่ ก็เสมือนว่า คุณทำลายชีวิตของลูกน้อย…’ ข้าพเจ้าพูดความจริงกับคนไข้และสามี เพื่อให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงว่า ‘เราไม่ได้ทอดทิ้งคนไข้ แต่..เราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพอจะช่วยเหลือชีวิตทารกน้อย .. ลูกของเธอ’จากนั้น ข้าพเจ้าก็ขอตัวไปอยู่ในห้องพัก..สักครู่หนึ่ง พยาบาลห้องคลอด ก็เดินมาบอกข้าพเจ้าว่า ‘ คุณหมอช่วยไปตรวจภายในคนไข้หน่อย..’ ข้าพเจ้างงมากกับคำพูดนี้ เพราะการตรวจภายในคนไข้นั้น ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพยาบาลห้องคลอด แต่..ก็เดินตามพยาบาลคนนั้น ออกไปตรวจภายในให้คุณนฤมล.. พอตรวจเสร็จ…ก็ต้องตกใจ ที่พบว่า คนไข้ปากมดลูกเปิดหมดข้าพเจ้าสั่งการกับเจ้าหน้าที่พยาบาลทันทีว่า ‘refer (ส่งต่อคนไข้ไปยัง โรงพยาบาลอื่น) คนไข้ด่วน.. โดยให้คนไข้อยู่ในสภาพนอนบนเตียง…ห้ามนั่งรถเข็น อย่างเด็ดขาด’ ระหว่างรอเตียงเข็นอยู่นั้น พยาบาลคนดังกล่าวได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดธรรมดา เพื่อแสดงตนเป็นเพียงญาติคนไข้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่พยาบาล เธอยังเล่าให้ฟังว่า ‘หนูเคย โทรศัพท์ติดต่อขอ refer ( แจ้งขอส่งต่อคนไข้) คนไข้แบบนี้ ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ถึง 18 แห่ง แต่..ไม่มีที่ไหนรับ สุดท้าย จำเป็นต้องส่งคนไข้ไป โรงพยาบาลจุฬาฯ แบบให้คนไข้ขึ้นรถแทกซี่ไปเอง สำหรับกรณีคุณนฤมล ก็โทรศัพท์ refer ไปแล้ว 4 -5 แห่ง ผลก็เหมือนเดิม คือ ถูกปฏิเสธ’ ข้าพเจ้าถอนหายใจ พลางรำพึงรำพันว่า ‘ทุกวันนี้ ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นแหละ โรงพยาบาลระดับ 2 ซึ่งไม่ค่อยมีเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้อง refer (ส่งต่อ) คนไข้ไปยังโรงพยาบาลใหญ่ๆ แต่โรงพยาบาลใหญ่ๆเหล่านั้น ไม่ยอมรับ refer หรอก เพราะกลัวว่า โรงพยาบาลเล็กๆจะไม่ยอมจ่ายเงิน.. ’ นี่แหละ!! ระบบประกันสุขภาพและระบบประกันสังคมของบ้านเรา ซึ่งคราวนี้ แน่นอน! เราก็ต้อง refer แบบลักไก่ คือ ให้คนไข้ไปเอง อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าและพยาบาลจะไปส่งด้วย ทำนองเป็นญาติพอรถเตียงเข็น มาถึง พวกเราก็ย้ายคุณนฤมล ส่งไปที่รถกระบะ 4 ประตู.. คนขับ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปอเต็กตึ้ง วิทยุบอกกับหน่วยงานอะไรสักอย่าง เพื่อขอทางบนถนนที่รถจะต้องเดินทางผ่านและติดต่อห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่ง(ขอสงวนนาม)ด้วย..คุณนฤมลลุกจากตียงเข็น เดินขึ้นไปนอนบนเบาะหน้าด้านซ้ายของคนขับ ที่เอนลงจนเกือบเป็นแนวราบ ส่วนข้าพเจ้า ก็เข้าไปนั่งเบาะหลังด้านคนขับ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ทำคลอด ข้าพเจ้ายังคิดในใจอยู่เลยว่า ‘ถ้าคุณนฤมลเกิดคลอดในรถขึ้นมาจริงๆ ข้าพเจ้าจะทำคลอดยังไง?’ การเดินทางใช้เวลาไม่นานนัก ประมาณ 20 นาที ก็ถึงที่หมายพอรถจอดเทียบด้านหน้าของห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลศูนย์แห่งนั้น เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ก็เข็นเตียงมาเทียบกับรถ และให้คนไข้ขึ้นนอน ข้าพเจ้าลุกเดินออกจากรถและยืนมองดูคนไข้เคลื่อนย้ายหายเข้าไปในห้องฉุกเฉิน โดยไม่ได้ติดตามเข้าไป.. ชีวิตคนท้องเหล่านี้ ทำไมถึงยากลำบากเสียเหลือเกิน!! ข้าพเจ้าเอง ก็ได้แต่ทอดถอนใจ ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้ เพราะโรงพยาบาลศูนย์จำนวนมากมาย ต่างก็ไม่ต้องการคนไข้ส่งต่อจากโรงพยาบาลระดับ 2 เพราะโรงพยาบาลระดับสองเหล่านั้น ติดค้างค่ารักษาพยาบาลอย่างมากมายของคนไข้ที่ส่งต่องวดก่อนๆ นอกจากนั้น โรงพยาบาลศูนย์หลายแห่ง ยังมีการตั้งเป้าหมาย ให้มีจำนวนทารกคลอดก่อนกำหนด (Premature baby) ตลอดทั้งปี ในอัตราที่ต่ำมาก อาทิ น้อยกว่า 1% ของการคลอดทั้งหมด ดังนั้น จึงมิอาจรับคนท้องเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้ข้าพเจ้ายืนรอพยาบาลคนนั้น ณ ที่จอดรถ อยู่นาน จึงทราบว่า ‘คุณนฤมลถูกส่งต่อไปที่ห้องคลอด ส่วนเธอ..ก็ไปช่วยทำบัตรโรงพยาบาลให้กับคนไข้ ’ เมื่อช่วยเหลือจนเสร็จเรียบร้อย เธอก็กลับมาที่จอดรถ และเดินทางกลับโรงพยาบาลเก่า พร้อมกับข้าพเจ้า เมื่อกลับมาที่โรงพยาบาลสักพักหนึ่ง พยาบาลก็โทรศัพท์ไปถามสามีคุณนฤมล ได้ความว่า ‘คุณนฤมล คลอดเวลา 10:30 น ได้ลูกชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 1,350 กรัม ทารกได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจทันที และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ ห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด’ ข้าพเจ้าคิดว่าลูกคุณนฤมล จะมีชีวิตรอด ปลอดภัยดีอย่างแน่นอน เพราะที่นั่น มีเครื่องมืออุปกรณ์ดูแลทารกอย่างดีเยี่ยมนี่แหละ..ปัญหาของโรงพยาบาลระดับสองของเมืองไทย โรงพยาบาลเหล่านี้ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือช่วยชีวิตทารกที่คลอดก่อนกำหนด เพราะเครื่องมือเหล่านั้น ราคาแพงมาก พยาบาล และกุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการ ก็หายาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะคนท้องที่มาฝากครรภ์มีน้อย รวมทั้ง ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น พวกเราควรช่วยกันเอง ด้วยการอนุญาตให้มีการส่งต่อ (refer) คนท้องที่เจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้ หากปิดกั้นการส่งต่อ เพราะปัญหาการเงินแล้ว ทารกจำนวนมากมายจะต้องจบชีวิตลงในโรงพยาบาลเล็กๆที่คนจนๆไปคลอด.. หากเป็นไปได้ ข้าพเจ้าอยากจะให้รัฐบาล จัดตั้งกองทุนสนับสนุนช่วยเหลือการดูแลรักษาทารกที่คลอดก่อนกำหนด ..แน่นอน..ย่อมต้องใช้เงินทุนมหาศาล เงื่อนไขมีอยุ่ว่า….คนท้องคนใดก็ตาม มีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด และพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่อุปกรณ์เครื่องมือดูแลทารกน้อยไม่ดีพอ คนท้องเหล่านั้นมีสิทธิ์เดินทางไปคลอดยังโรงพยาบาลศูนย์ (Tertially care hospital) อย่างเปิดเผย และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนดังกล่าว แต่..ในระหว่างนี้ สำหรับ โรงพยาบาลศูนย์ (Tertially care hospital) ต่างๆของรัฐบาลทั่วทุกแห่งในประเทศไทย… ขอได้โปรดทำตัวเป็น ‘ส้วมคนจน’ ช่วยปลดทุกข์ให้กับคนท้องที่เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด..ด้วยเถิด..เพราะ ‘ส้วมคนรวย’ อันได้แก่ โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ อาทิ รพ บำรุงราษฎณ์ รพ สมิตติเวช รพ กรุงเทพฯ และ รพ อื่นๆ อีกมากมาย คงช่วยไม่ได้อย่างแน่นอน &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน “,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *