มหัศจรรย์แห่งชีวิต
วันวาน ข้าพเจ้าได้สัมผัสเรื่องราวที่น่าหดหู่ใจของสตรีรายหนึ่ง ที่เพิ่งสูญเสียบุตรในครรภ์ ไปในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เธอมาตรวจหลังคลอดกับคุณหมอสูติแพทย์เวร ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจไปกับเรื่องราวของเธอ เพราะวันศุกร์ก่อน เธอได้มาตรวจที่หน่วยฝากครรภ์ พยาบาลที่นั่นยังฟังเสียงหัวใจลูกของเธอได้เลย.. พอตกบ่ายวันเสาร์ ลูกของเธอก็หยุดดิ้น เมื่อเดินทางมาถึงห้องคลอด โรงพยาบาลตำรวจ คุณหมอเวรได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้ ปรากฏว่า ลูกของเธอไม่มีสัญญาณชีวิตใดๆ.. คุณหมอเวรได้สอดยา (Cytotec) เพื่อช่วยชักนำให้ปากมดลูกของเธอนุ่ม จากนั้นก็เร่งคลอดทันที วันอาทิตย์ ตอนบ่าย คนไข้ได้คลอดร่างของบุตรที่ไร้วิญญาณออกมาด้วยความโศกเศร้า ไม่น่าเชื่อ..ว่า บุตรของเธอจะมีน้ำหนักมากถึง 3.5 กิโลกรัม นั่นหมายถึงว่า หากเธอคลอดเร็วกว่านี้ อาจสัก 1 สัปดาห์ ลูกเธอก็จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เหมือนดั่งเราๆท่านๆๆ..ไม่มีใคร..ทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิตของหนูน้อยในคราวนี้….แต่..เชื่อว่า น่าจะเป็นผลจากการติดเชื้อภายในร่างกายของทารกในครรภ์…เรื่องของชีวิตมนุษย์เรา……ใครเลยจะทราบได้…มันเป็นเรื่องของชะตา ฟ้าลิขิต
วันจันทร์ถัดมา ข้าพเจ้าอยู่เวรที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คืนนั้น ตอนค่ำ ทำท่าว่า จะเงียบสงบ เพราะไม่มีการปรึกษาใดๆจากห้องฉุกเฉิน หรือหอผู้ป่วย… ที่ไหนได้…. ปรากฏว่า..
มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณวราภรณ์ อายุ 31 ปี ครรภ์ที่สาม อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ 5 วัน ฝากครรภ์ อยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่ง ณ จังหวัดชลบุรี..เธอมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ จึงโทรศัพท์เข้ามาที่โรงพยาบาล เพื่อจะขอย้าย พยาบาลห้องฉุกเฉินพูดปรึกษากับข้าพเจ้าว่า ‘ หมอ..หมอ!! มีคนไข้รายหนึ่งติดต่อเข้ามาจากโรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรีว่า จะขอเข้ามาตรวจหน่อยได้ไหม?? เป็นคนไข้ท้องที่สาม หน้าท้องใหญ่มากจนหายใจไม่ค่อยออก… อายุครรภ์ ประมาณ 34 สัปดาห์’ นั่นเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ข้าพเจ้าได้รับ…ใจหนึ่ง ก็ไม่อยากรับเนื่องจาก น่าจะเป็นคนไข้เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (Preterm labour) ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น คือ ปัญหาใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน เพราะทารกน้อยมักจะบอบบาง เสียชีวิต ก็ง่าย …มีความพิการแต่กำเนิด ก็พบบ่อย..อาทิ ตาบอด..ปอดอักเสบ..สมองขาดก๊าซออกซิเจนจนปัญญาอ่อน..พ่อแม่ของเด็ก จึงมักจะถูกยุยงให้ฟ้องร้องสูติแพทย์ และกุมารแพทย์ ..หารู้ไม่ว่า …สูติแพทย์ แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับทารกน้อยที่คลอดออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว…การจะผ่าตัดคลอดบุตรนั้น สูติแพทย์จะกระทำ ก็เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ..
ราวๆ 2 นาฬิกา คุณวราภรณ์พร้อมพี่สาว ก็เดินทางมาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนนาม) ที่ข้าพเจ้าอยู่เวร เมื่อลงไปดู ก็พบว่า คุณวราภรณ์อยู่ในสภาพ..กึ่งนั่งกึ่งนอนบนเตียง ทำท่าหายใจลำบาก หน้าท้องของเธอสูงใหญ่ยันลิ้นปี่ ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ทำไมถึงมาโรงพยาบาลแห่งนี้’ เธอตอบว่า ‘ที่โน่น (ชลบุรี) ..ไม่มีใครรักษาดิฉัน..ดิฉันไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นไร ความจริง!! ดิฉัน แทบจะตายอยู่แล้ว หายใจลำบากมาก แต่..คุณหมอกลับบอกว่า กลับบ้านไปก่อน ดิฉันโทรศัพท์ไปติดต่อยังโรงพยาบาลต่างๆหลายแห่ง ปรากฏว่า ไม่มีหมออยู่เวร.. พอดี พี่เขยเคยมารับการรักษาที่นี่ เขาจึงบอกให้ดิฉันลองติดต่อมา ซึ่งก็มีสูติแพทย์อยู่ประจำจริงๆ.. ดิฉันจึงตีรถยนต์มาทันที ’
ข้าพเจ้าเปิดดูแฟ้มประวัติการฝากครรภ์ของคุณวราภรณ์ที่คลินิกใกล้บ้าน ก็พบมีแผ่นกระดาษเขียนบันทึกผลการตรวจอัลตราซาวนด์ของคนไข้ก่อนส่งต่อ (Refer) ไปรักษาต่อ ที่โรงพยาบาลระดับศูนย์แพทย์ ลงวันที่ก่อนหน้านี้ 2 วัน ในนั้นเขียนว่า
คุณวราภรณ์ฝากครรภ์ที่คลินิก 8 ครั้ง ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 8 สัปดาห์ ผลเลือดทุกอย่างปกติ เลือดกรุ๊ป บี และ Rh positive (ปกติ).. 3 วันก่อน คนไข้มีอาการแน่นท้อง ไม่มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือเจ็บครรภ์ …ยอดมดลูกอยู่ชิดติดกับยอกอก วัดได้ 40 เซนติเมตรจากหัวเหน่าจากการดูอัลตราซาววนด์โดยละเอียด พบว่า ทารกน่าจะมีขนาดเข้าได้กับอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ น้ำหนักคร่าวๆ เท่ากับ 2170 กรัม รกเกาะด้านบนกลางมดลูก น้ำคร่ำ มีจำนวนมาก (Polyhydramnios…AFI=26 Cm.) ทารกมีภาวะท้องมาน (Ascites) และมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion) โดยให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นภาวะทารกท้องบาตร (Hydrop fetalis) ข้าพเจ้าลองตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องของคนไข้ ก็พบลักษณะเช่นเดียวกัน.. ข้าพเจ้ารีบคุยกับพี่สาวของคนไข้ว่า ‘อาจจะต้องผ่าตัดคลอดบุตรให้กับน้องสาวคุณ เพื่อให้คุณแม่ปลอดภัย..แต่..ลูกอาจไม่รอด’ พี่สาวของคุณวราภรณ์ตกลงยินยอมตามที่ข้าพเจ้าเสนอ โดยยืนยันว่า หากลูกคุณวราภรณ์เสียชีวิต จะถือเป็นเหตุสุดวิสัย…ไม่เป็นไร?? ข้าพเจ้ารูสึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย แต่ เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็คิดว่า น่าจะผ่าตัดคลอดในตอนเช้า จะดีกว่า เพราะบุคลากรพร้อม เผื่อว่า ลูกคุณวราภรณ์จะรอดชีวิต ตอนนั้น ข้าพเจ้าใช้คำว่า ‘อาจมีปาฏิหาริย์’
ข้าพเจ้าลงมือผ่าตัดคลอดให้กับคุณวราภรณ์ เมื่อเวลา 7 นาฬิกา 30 นาที…ทารกคลอดเมื่อเวลา 7 นาฬิกา 56 นาที เป็นทารก เพศชาย น้าหนักแรกคลอด 3055 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอดเท่ากับ 2 และ 4 (คะแนนเต็ม 10) ณ เวลา 1 และ 5 ตามลำดับ หมายความว่า ทารกน้อยกำลังจะเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษา ลูกคุณวราภรณ์ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ และถูกปั้มหัวใจทันที หลังจากนั้น ก็ถูกส่งไปที่ห้องไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด…
กุมารแพทย์ได้เดินมาพูดกับข้าพเจ้าขณะผ่าตัดว่า ‘สงสัย เด็กจะเป็น Hydrop fetalis (ทารกท้องบาตร[หมายถึง ทารกที่มีภาวะหัวใจวายและตัวบวม เนื่องจากเลือดจางมากๆ])’ คำพูดของกุมารแพทย์ คล้ายๆจะสื่อสารว่า ทารกรายนี้ ไม่น่าจะรอดชีวิต…ซึ่งหมายถึงว่า คงจะมีชีวิตได้ไม่น่าจะข้ามวัน…ข้าพเจ้าเองก็คิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าชะโงกหน้าไปมองดูคนไข้ ปรากฏว่า คุณวราภรณ์กำลังหลับลึกจากยาดมสลบ..อย่างไรก็ตาม หลังผ่าตัดเสร็จ ข้าพเจ้าได้เดินขึ้นไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกคลอด เพื่อตามหาญาติคนไข้ ..เป็นจริงตามคาด ..สามีคนไข้และลูกสาว กำลังยืนชะเง้อดูทารกน้อย ข้าพเจ้าอธิบายให้สามีคนไข้ฟังว่า ‘ลูกของคุณอาการไม่ค่อยดีนะ ตอนที่เขาคลอดออกมา หัวใจเต้นด้วยอัตราเพียง 40 ครั้งต่อนาที (ปกติ หัวใจทารกจะเต้นในอัตรา 140 ครั้งต่อนาที หากต่ำกว่า ๑๐๐ ครั้งต่อนาที ถือว่า ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งจะเสียชีวิตได้ทุกเวลา)’
จากนั้น ข้าพเจ้าก็เดินทางกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าง่วนอยู่กับงานจนลืมคนไข้รายนี้ พอกลับมาเยี่ยมคนไข้และญาติในตอนเย็น ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันความคิดเห็นเดิมเกี่ยวกับทารกน้อยว่า อยู่ในภาวะวิกฤติ แต่…คาดไม่ถึงว่า ลูกคุณวราภรณ์ ยังอยู่ในสภาวการณ์ที่ค่อนข้างดี..โดยมีคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญเรื่องทารกวิกฤติ ดูแลอย่างใกล้ชิด อาจารย์แพทย์ท่านนี้ เป็นถึงรองคณบดีโรงพยาบาลรามาธิบดี..ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น ลูกคุณวราภรณ์จึงถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี…คุณวราภรณ์อยู่โรงพยาบาล ๓ วันก็กลับบ้าน
อีก 1 สัปดาห์ถัดมา คุณวราภรณ์มาตัดไหมที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ลูกของคุณ เป็นยังไงบ้าง??’ คนไข้ตอบว่า ‘ตัวบวมลดลง…รูปร่งเกือบเหมือนเด็กปกติเลย ลูกดิ้นดีขึ้น คุณหมอพูดเหมือนกับว่า ลูกของดิฉันมีโอกาสจะอยู่รอดได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน!! ’
ข้าพเจ้ายิ่งรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อพบคุณวราภรณ์วันนี้ (ถัดมาอีก 1 สัปดาห์) ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ตกลง..ลูกคุณเป็นโรคอะไรกันแน่….ดีขึ้นหรือยัง’ คุณวราภรณ์ตอบว่า ‘ตอนนี้ลูกของหนูดีขึ้นมากเลย ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ต้องอยู่ในตู้อบแล้ว’ ข้าพเจ้าถามต่อว่า ‘สาเหตุที่ทำให้เด็กหัวใจวาย คืออะไร?? ’
‘ตอนแรก คุณหมอที่นั่นก็หาสาเหตุไม่ได้’ คุณวราภรณ์บอก ‘แต่…สุดท้าย คุณหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็พบสาเหตุว่าเป็นจาก รก’ ข้าพเจ้าอุทานว่า ‘อะไรนะ???’
‘คือว่า คุณหมอบอกว่า รกมันส่งเลือดไปเลี้ยงลูกน้อยลงมากๆ จนลูกเกิดภาวะหัวใจวายจากการขาดเลือด’ คุณวราภรณ์อธิบายต่อ…ข้าพเจ้าบอกกับเธอว่า ‘ผมไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้เลยในชีวิต.. เจอแต่ว่าทารกหัวใจวายในครรภ์จากสาเหตุอื่น อาทิ โรคเลือดทาลาสซีเมีย หรือ กรุ๊ปเลือด Rh negative (ผิดปกติ) ของแม่ แล้วเกิดภาวะทารกท้องบาตร (Hydrop Fetalis) ซึ่ง..สุดท้าย ทารกน้อยจะไม่รอดหากคลอดออกมาสู่โลกภายนอกและมักเสียชีวิตในครรภ์ กรณีของคุณวราภรณ์ จึงถือว่า มหัศจรรย์มาก’
ชีวิตของทารกน้อยนั้น..เปรียบไป ก็เหมือนกับบทเพลง ที่มารดาเป็นผู้รังสรรขึ้นนับแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์…..ช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ท่านก็บรรจงเรียงร้อยถ้อยคำ ประดิษฐ์ประดอยอย่างเต็มความสามารถ จนใกล้กำหนดคลอด..ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 และ 3.. หากพบมีอุปสรรคขัดขวาง แล้วมารดาแก้ไขปัญหาเองได้.. บทเพลงนั้น ก็ยังสำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมา.. แต่..หากทารกน้อยต้องจบชีวิตลง บทเพลงนั้น ก็จะขาดบทสรุปสุดท้าย ไม่ได้เป็นบทเพลงที่สมบูรณ์ ซึ่ง….จะไร้คุณค่าในทันที..บางครั้ง เมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤติ..ผู้แต่ง อันได้แก่ มารดา คงจำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น ช่วยขัดเกลาเนื้อเพลง เพื่อทำให้ชีวิตลูกปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงว่า ‘บทเพลงแห่งชีวิตนั้น แค่คนเรามีชีวิตรอดออกมาจากท้องแม่ได้.. ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว’
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน