ผลกระทบทางสุขภาพของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
โดย พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์
ศาสตราจารย์ นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์
ศาสตราจารย์ นพ. สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์
อาจารย์ วีนัส อุดมประเสริฐกุล
การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual assault) เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายถึง การประกอบกิจทางเพศที่ไม่เหมาะสมหรือมีการบังคับล่วงเกินอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ว่าจะมีการสอดใส่ เข้าไปในปาก ช่องคลอด รูทวาร หรือไม่ก็ตาม. การข่มขืน (Rape) เป็นการบังคับ และข่มขืนใจอีกฝ่ายหนึ่งให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยมีการบังคับ ขู่เข็ญทางร่างกาย หรือทางจิตใจ. การข่มขืน มักมีการสอดใส่อวัยวะเพศของผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในช่องคลอด ช่องรูทวาร หรือช่องปากของเหยื่อ ซึ่งรวมไปถึงการสอดใส่ด้วยวัตถุ เช่น ขวดแก้ว หรือสถานการณ์ ที่เหยื่อไม่สามารถต่อสู้ขัดขืน เนื่องด้วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือได้รับสารพิษ. จากการสำรวจ พบว่า ในชั่วชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก ร้อยละ 20 จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในทางใดทางหนึ่ง ในประเทศไทย คาดว่า ร้อยละ 5 ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น ที่มีการรายงานให้สาธารณชนทราบ ตัวเลขที่แท้จริงไม่เคยมีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมมีบทบาทสำคัญในสังคมและสถาบันครอบครัวคนไทยอย่างยิ่ง การที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และมีเวลาเพียงน้อยนิดให้กับลูกๆ ทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีความเปราะบางยิ่งขึ้น ความเป็นอยู่ของครอบครัวยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เนื่องจากความยากจน อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และการแพร่ขยายของยาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี ที่สำคัย คือ ส่งผลให้แรงยึดเหนี่ยวภายในครอบครัวแย่ลง รวมทั้งทำให้เกิดความรุนแรงภายในท้องถิ่นและการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น
โรงพยาบาลตำรวจ [Police General Hospital (PGH)] เป็นโรงพยาบาล ขนาด 750 เตียง ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร, เป็นแหล่งรับการส่งต่อเหยื่อผู้เสียหายของการล่วงละเมิดทางเพศของให้โรงพยาบาลต่างๆ. คาดว่า ในแต่ละเดือน จะมีการส่งต่อเหยื่อผู้เสียหายประมาณ 100 รายมาที่โรงพยาบาลตำรวจ
เนื่องด้วยในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานการวิจัยอย่างเป็นระบบมาก่อน เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ คณะผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการวิจัยในลักษณะเก็บข้อมูลไปข้างหน้าระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึง 30 กันยายน 2548 โดยมีหลักเกณฑ์ที่เป็นระเบียบแบบแผน ดังนี้
1.เหยื่อผู้เสียหายที่ถูกสอดใส่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายผู้ข่มขืน หรือสิ่งของเข้าไปในช่องคลอด ช่องปาก รูทวารหนัก อยู่ภายใต้สภาพที่ร่างกายหรือจิตใจถูกควบคุมบังคับ……..หรือ……เหยื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ยินยอมให้กระทำเช่นนั้น. ผู้ถูกข่มขืนข้างต้นยังรวมถึงเหยื่อที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่า เด็กคนนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม (ภายใต้กฏหมายไทย)
2.เหยื่อผู้เสียหายที่มาถึงโรงพยาบาลภายใน 14 วันหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เข้ามาในโรงพยาบาลตำรวจ แห่งประเทศไทย
โดยทั่วไป เมื่อเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตำรวจครั้งแรก หากมาในเวลาราชการ ก็จะถูกพามาที่ห้องฉุกเฉิน (Emergency room) เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย หลังจากนั้น พวกเขาเหล่านั้น ก็จะไปแพทย์ทั่วไป หรือ นรีแพทย์ เพื่อตรวจภายในและเก็บรวบรวมหลักฐานสำหรับ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น กามโรค [Neisseria gonorrheae (GC)], พยาธิในช่องคลอด [Trihomonas vaginalis(TV)] โดยการย้อมสี Gram stain และตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ (wet smear) ตามลำดับ วัตถุพยานจากในช่องคลอด จะถูกเก็บเพื่อหาตัวอสุจิ และทดสอบกรดแอซิด ฟอสฟาเตส (acid phosphatase) [เป็นการทดสอบเพื่อหาน้ำอสุจิ ซึ่งมีกรดแอซิด ฟอสฟาดเตสจำนวนมาก] ภายหลังจากตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว เหยื่อผู้เสียหายจะได้รับการพาไปที่หน่วยส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Center) เพื่อรับคำปรึกษา รับยาป้องกันไวรัสเอดส์ (ถ้าพวกเขาเหล่านั้นมาถึงโรงพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมงหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ) และตรวจเลือดสำหรับโรคเอดส์(anti HIV), และซิฟิลิส [Venereal Disease Research Laboratory (VDRL)] เหยื่อผู้เสียหายที่มานอกเวลาราชการ พวกเขาจะได้รับการซักประวัติเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ตรวจร่างกายและเก็บรวบรวมวัตถุพยานทันที พวกเขาจะได้รับยาฆ่าเชื้อเมื่อมีอาการอาการและแสดงของการติดเชื้อ แต่จะไม่ได้รับยาป้องกันไวรัสเอดส์ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ข้างต้น สำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ของเหยื่อ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ (guideline) ของโรงพยาบาล เหยื่อที่ถูกข่มขืนในช่วงไข่ตกและมาโรงพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง ทุกคนจะได้รับยาคุมฉุกเฉิน พวกเขาจะได้รับการนัดหมายให้มาที่แผนกสูติ-นรีเวชกรรม และหน่วยส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลตำรวจเป็นระยะๆต่อไป เพื่อตรวจร่างกายหรือเจาะเลือด
ผู้ให้คำปรึกษาของหน่วยส่งเสริมสุขภาพ จะให้กำลังใจ และอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ กับเหยื่อผู้เสียหาย ซึ่งตกลงใจที่จะเข้าร่วม โดยจะลงลายมือชื่อไว้ในแบบฟอร์มใบยินยอม ผู้ให้คำปรึกษาจะสัมภาษณ์เหยื่อผู้เสียหาย ตามแบบสอบถามที่เตรียมไว้ เหยื่อผู้เสียหายบางคนจะต้องไปที่หน่วยสังคมสงเคราะห์ เพื่อรับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน พวกเขาทุกคนจะได้รับการนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจภายในอีก 2 สัปดาห์นับแต่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเจาะเลือดตรวจไวรัสเอดส์ ซิฟิลิส ในอีก 3 เดือนถัดมา วัตถุประสงค์ของการติดตามใน 2 สัปดาห์หลังถูกข่มขืน ก็เพราะต้องการตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอด (leucorrhea) ,โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, กามโรค ด้วยการย้อมสี Gram stain และพยาธิในช่องคลอด [Trichomonas vaginalis (TV)] ด้วยการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ ผู้ให้คำปรึกษาจะสัมภาษณ์อีกครั้ง และบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับเหยื่อผู้เสียหายที่มาหลังจาก 12 วันหลังการล่วงละเมิดทางเพศ พวกเขาจะได้รับการนัดหมายให้กลับมาในอีก 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจร่างกายอีกครั้ง รวมทั้งทดสอบการตั้งครรภ์ โดยใช้ปัสสาวะด้วยกรณีขาดประจำเดือน
การเก็บรวบรวมข้อมูล
ข้อมูลที่จะเก็บ ได้แก่ 1) ลักษณะเฉพาะทางประชากร, ความประพฤติ และ บุคลิกภาพของเหยื่อผู้เสียหาย 2) ลักษณะเฉพาะทางประชากรของผู้ถูกกล่าวหา 3) ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับผู้ข่มชืน, กรรมวิธีที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงและควบคุมเหยื่อ. 4) ข้อมูลของเหยื่อผู้เสียหาย เกี่ยวกับการบาดเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ และร่างกายทั่วไป รวมทั้งผลทางห้องปฏิบัติการและการรักษาตั้งแต่แรก จนวันสุดท้ายของการติดตาม
ความรุนแรงของการบาดเจ็บ แบ่งออกได้เป็น
1. ระดับเล็กน้อย : บาดแผลและร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บ คาดว่า จะหายดีภายใน 7 วันนับแต่ถูกข่มขืน.
2. ระดับปานกลาง: บาดแผลและร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บ คาดว่า จะหายดีระหว่าง 8 ถึง 20 วันนับแต่ถูกข่มขืน.
3 ระดับรุนแรง: บาดแผลและร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บ คาดว่า จะหายดีภายหลัง 20 วันนับแต่ถูกข่มขืน.
การศึกษาครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและของโรงพยาบาลตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หมายเหตุ อ่านต่อใน ผลกระทบทางสุขภาพของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (2)