ฉันเลือกที่จะ “ไม่ลืม”

“ฉันเลือกที่จะ “ไม่ลืม”\r\nบัดนี้ ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มงานแผนกสูติ-นรีเวชกรรมของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว เวลาในการดูแลคนไข้ของข้าพเจ้า จึงหดหายไปมาก ข้าพเจ้าใช้เวลาส่วนใหญ่ประชุม เพื่อรับทราบนโยบายมาปฏิบัติ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะมีใจสนุกสนานกับการบริหาร แต่..สัญชาติญาณของการเป็น ‘แพทย์’ ทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจลืมกลิ่นไอของการรักษาผ่าตัดคนไข้ไปได้ ข้าพเจ้าไม่อยากจะกลายเป็น ‘แพทย์ แต่เพียงในนาม’ เหมือนกับสูตินรีแพทย์ผู้บริหารหลายๆท่าน \r\nในอดีต เคยมีสูติแพทย์ท่านหนึ่งสอนข้าพเจ้าว่า ‘คนเราสามารถ ‘เลือก’ ที่จะจดจำ และ “ไม่ลืม” ความรู้ที่สำคัญบางอย่างได้…ยามฉุกเฉิน จึงสามารถหยิบฉวยเอามาใช้ได้ดังประสงค์’ ดังเช่น กรณีความรู้ในการผ่าตัดทางสูตินรีเวชกรรม..ที่ข้าพเจ้าสะสมประสบการณ์มานานกว่า 20 ปี ข้าพเจ้าเคยถามตัวเองว่า ‘จำเป็นด้วยหรือ ที่ข้าพเจ้าจะต้องทอดทิ้งความรู้เหล่านั้น เพียงเพราะว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้บริหาร..’ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยังคงทำการรักษาผ่าตัดคนไข้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนเดิม.. \r\nสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนั้นเป็นวันอังคาร ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เวรประจำการใดๆ แต่..สูติแพทย์เวรได้โทรศัพท์มาบอกว่า ‘ลูกของเธอ ไม่ค่อยสบาย เธอจะเข้ามาถึงโรงพยาบาล.. สายๆหน่อย.. เผอิญ..ตอนนั้น มีคนไข้ท้อง 2 รายที่กำลังรอการผ่าตัดอยู่ จึงอยากจะรบกวนให้ข้าพเจ้าช่วยผ่าตัดคลอด ..โดยไม่ต้องรอเธอ’ ข้าพเจ้ากล่าวตอบรับด้วยความยินดีและขอให้เธออยู่ดูแลลูกต่อไป จนกว่าอาการของลูกจะดีขึ้น แล้วจึงค่อยเดินทางเข้ามาทำงาน..\r\nระหว่างเดินสำรวจตรวจตราคนไข้ในห้องคลอด ข้าพเจ้าพบคนท้องรายหนึ่ง ชื่อ คุณนิตยา อายุ 25 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณนิตยามีภาวะรกเกาะต่ำด้วย เธอเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาล และได้รับการยับยั้งการตั้งครรภ์ไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการคลอดก่อนกำหนด แต่..ตอนนั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่า มดลูกของเธอดื้อ….และมีการแข็งตัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ… \r\nตอนบ่าย ประมาณ 4 โมงเย็น ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะกลับบ้าน เผอิญ! ข้าพเจ้าเดินผ่านห้องคลอด พยาบาลห้องคลอดได้เดินมาหาพร้อมกับรายงานว่า ‘คุณนิตยากำลังตกเลือดออกมาจากช่องคลอดค่อนข้างมาก’ หลังจากประเมินคนไข้แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ไม่ควรจะยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกของเธอต่อไป’ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกให้พยาบาลนำคนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอดอย่างฉุกเฉิน \r\nที่ห้องผ่าตัด.. คุณหมอสูติแพทย์เวรขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ผ่าตัดหลัก โดยมีเธอเป็นผู้ช่วย เนื่องจากกลัวว่า เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา อาทิ ต้องตัดมดลูก เธออาจแก้ไขไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่รอช้า รีบลงมือผ่าตัดคุณนิตยาทันที.. ไม่นานนัก ข้าพเจ้าก็สามารถผ่าตัดเข้าถึงถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าใช้อุ้งมือจับหัวของทารกน้อยไว้ก่อน เพื่อกันไม่ให้ศีรษะเด็กขยับหนี แต่…..พอเจาะถุงน้ำคร่ำเท่านั้น ลูกคุณนิตยา ซึ่งตัวเล็กมาก กลับหลุดจากมือข้าพเจ้าไป.. ลอยตัวขึ้นข้างบนมดลูกและวางตัวอยู่ในท่าขวาง ขณะเดียวกัน น้ำคร่ำ ก็ไหลออกมาอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าพยายามควานหาเท้าของลูกคุณนิตยา เพื่อทำคลอดในท่าก้น แต่…ก็ทำไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าเสียเวลาอยู่นานในการควานหาเท้าของทารกน้อย..เมื่อกระทำไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจ ใช้กรรไกรตัดกล้ามเนื้อมดลูกตรงกลางแผลมดลูกที่กรีดไว้แล้ว ในลักษณะ Inverted T หรือ ตัว T หัวกลับ…..ข้าพเจ้าตัดกล้ามเนื้อมดลูกขึ้นไปทางยอดมดลูกเป็นแนวยาวมากพอสมควร จากนั้น ก็ดึงเท้าทำคลอดทารกน้อยออกมา สำหรับการเย็บแผลนั้น ข้าพเจ้าต้องกระทำอย่างประณีต โดยเย็บส่วนที่เป็นตัวTแกนแนวดิ่งเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาเย็บส่วนของตัวTแกนแนวนอน จากนั้น ก็เย็บเยื่อบุช่องท้องคลุมอีกที….นี่คือ ตัวอย่างการเย็บแผลรูปตัว T หัวกลับบนตัวมดลูกคนท้อง ซึ่ง…ข้าพเจ้าไม่เคยคิดฝันเลยว่า มันจะเป็นปัญหาใหญ่ให้ข้าพเจ้า ตอนพบเจอคนท้องที่ถูกผ่าคลอดด้วยลักษณะนี้ ในเวลาต่อมา \r\nเมื่อวาน เป็นวันที่สยองขวัญสำหรับข้าพเจ้าวันหนึ่ง เพราะข้าพเจ้าพบกับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวอย่างมาก ตอนเช้าของวันอาทิตย์ ซึ่ง…..เป็นวันหยุดทั่วไปของชาวบ้าน…มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณฟ้าลั่น อายุ 38 ปี ตั้งครรภ์ครบกำหนด เข้ามาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดคลอดที่นั่น โดยกำหนดฤกษ์ไว้ ที่เวลา 9 : 30 นาฬิกา….พอตื่นขึ้น ข้าพเจ้าก็รีบเดินทางไปยังโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่ง เพื่อออกตรวจแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่ง..มีกำหนดการออกตรวจเริ่มจาก 9:00 น. และสิ้นสุดตอนเที่ยงวัน..การที่ข้าพเจ้าเดินทางไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งที่ 2 แต่เช้า ก็เพราะจะได้ขอลากลับไปผ่าตัดคลอดให้กับคุณ ฟ้าลั่น ที่โรงพยาบาลลเอกชนแห่งแรกได้ตามฤกษ์ \r\nคาดไม่ถึง..ว่า เมื่อถึงเวลาจริงๆ ข้าพเจ้าไม่สามารถออกเดินทางจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งที่สอง.. กลับมาถึงห้องผ่าตัด รพ. แห่งแรกได้ทันตามกำหนด ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงเมื่อเวลา 9:40 น. เมื่อมาถึง ข้าพเจ้าได้ลงมือทำการผ่าตัดคลอดให้กับคนไข้ทันที \r\nที่ห้องผ่าตัด… คุณฟ้าลั่นกำลังนอนอยู่บนเตียงผ่าตัดแบบสบายๆ ข้าพเจ้ารีบล้างมือ แต่งตัวด้วยชุดปราศจากเชื้อ แล้วเข้าไปประจำที่อย่างรีบเร่ง..พลางกล่าวทักทายกับวิสัญญีแพทย์ และคุณฟ้าลั่น แบบเป็นกันเอง จากนั้น ก็ลงมีดกรีดแนวขวางตามขอบกางเกงใน (Pfannenstiel’s incision) บนหน้าท้องบริเวณเหนือหัวเหน่าของคุณฟ้าลั่น โดย..ตัดเนื้อแผลเป็นอันเดิม (Incision scar) ทิ้งไปด้วย..ขณะที่กำลังผ่าตัด ปากข้าพเจ้าก็พร่ำพูดกับคนไข้และพยาบาลผู้ช่วยอย่างสนุกสนาน พอลงมีดเลาะไปถึงชั้นของกล้ามเนื้อ (Rectus muscle) บริเวณใต้ต่อสะดือ และทะลุเข้าสู่ช่องท้องของคุณฟ้าลั่น ข้าพเจ้า ก็แหวกกล้ามเนื้อ (Rectus muscle) แยกให้เห็นตัวมดลูกอย่างชัดเจน \r\nทันใดนั้น! ข้าพเจ้า ก็ตกใจสุดขีด ถึงกับอ้าปากค้าง ทันทีที่เห็นถุงน้ำคร่ำ มันโผล่ยื่นแทรกตัวออกมาระหว่างช่องว่างของกล้ามเนื้อมดลูก ที่แยกตัวออกทางด้านบนชิดผนังหน้าท้อง บริเวณกลางตัวมดลูก ข้าพเจ้าทราบได้ทันทีเลยว่า ‘เนื้อมดลูกมันกำลังจะแตกและแยกออกตามแนวผ่าตัดเดิมที่เคยทำไว้’ เมื่อสังเกตดู จะเห็นว่าถุงน้ำคร่ำแผ่เป็นบริเวณกว้างราวหนึ่งฝ่ามือ บนตัวมดลูก ข้าพเจ้าไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไม กล้ามเนื้อตรงนี้ มันถึงแยกแตกออก??? อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ารีบแหวกกล้ามเนื้อมดลูกส่วนที่ฉีกแยกนั้นให้กว้างมากขึ้น ในลักษณะเดียวกับการแหวกกล้ามเนื้อมดลูกสำหรับการผ่าตัดคลอดปกติ… จากนั้น ก็เจาะถุงน้ำคร่ำให้แตก\r\nข้าพเจ้ารีบทำคลอดทารกน้อยอย่างรวดเร็วและนิ่มนวล เพราะกลัวว่า รกของคนไข้จะลอกตัวเสียก่อน อันจะส่งผลให้ทารกเกิดการขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือด (Hypoxia).. อย่างไรก็ตาม ลูกคุณฟ้าลั่น ได้ส่งเสียงร้องดังลั่นหลังคลอดทันที บ่งบอกถึงว่า แข็งแรงดี หนูน้อยเป็นทารกเพศชาย คลอดเมื่อเวลา 9:50 น. ซึ่งยังอยู่ในฤกษ์งามยามดีที่คนไข้เลือกไว้ ทารกน้อยมีน้ำหนักแรกคลอด 4,100 กรัม มีคะแนนศักยภาพแรกเกิด เท่ากับ 9 และ 10 ณ นาทีที่ 1 และ 5 (คะแนนเต็ม 10) ตามลำดับ\r\nข้าพเจ้าชะโงกหน้าผ่านแผงผ้าสะอาดกันเปื้อนที่คลุมส่วนหัวของคนไข้ไป แล้วพูดกับคุณฟ้าลั่นว่า ‘ลูกคุณแข็งแรงดีนะครับ’ จากนั้น ก็รีบสำรวจตรวจดูมดลูกของคุณฟ้าลั่น ที่หดรัดตัวลงมา ว่า ‘มีลักษณะเป็นยังไงบ้าง? ’ คิดไม่ถึงเลยว่า ข้าพเจ้าจะพบรอยแตกแยกประหลาดบนตัวมดลูกเป็นร่อง 3 แพร่ง กล่าวคือ ตัวมดลูกทางด้านบนมีรอยแผลแยกเป็น 3 ทาง ในลักษณะตัว T หัวกลับ (Inverted T)\r\nใช่แล้ว!! ร่อยรอยเหล่านี้ คือ ผลพวงจากการผ่าตัดครั้งก่อนของคุณฟ้าลั่น หมายความว่า ‘การผ่าตัดคลอดคราวก่อนนั้น น่าจะมีปัญหา..เด็กอาจจะตัวใหญ่ คุณหมอผู้ทำ ไม่สามารถผ่าตัดคลอด เอาเด็กออกไม่ได้ เลยต้องใช้วิธีผ่าในลักษณะ Inverted T ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ข้าพเจ้าใช้ผ่าตัดคลอดคุณนิตยา นั่นเอง วิธีผ่าตัดแบบตัว T หัวกลับนี้ เป็นวิธีเดียวที่สูติแพทย์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาเวลาทำคลอดทารกในโพรงมดลูก ไม่สำเร็จ…ดังนั้น ในคนท้องที่เคยผ่าตัดมาแล้ว จำนวนมากมาย อาจมีรอยแผลเช่นนี้บนตัวมดลูก ซึ่ง…แน่นอน!!….ผลที่ตามมา คือ บาดแผลที่รอการแตกบนตัวมดลูก หากระยะเวลาการตั้งครรภ์นานเกินกว่า 38 สัปดาห์ เพราะปกติแล้ว เราจะผ่าตัดคลอดให้กับคนท้องที่เคยผ่าตัดคลอด ไม่เกิน 38 สัปดาห์ ซึ่ง ณ เวลานั้น มดลูกคนไข้มักจะยังไม่มีปัญหา สำหรับคุณฟ้าลั่นนั้น เธอตั้งครรภ์ครบ 39 สัปดาห์ ณ วันที่เธอเลือกที่จะผ่าคลอด… \r\nสำหรับการเย็บแผลบนตัวมดลูกของคุณฟ้าลั่นนั้น จะแตกต่างจากของคุณนิตยาพอสมควร เพราะส่วนที่แยกของกล้ามเนื้อมดลูกกรณีของคุณฟ้าลั่นนั้น มันคอดกิ่ว(บาง) ตรงรอยแยกตลอดทั้งแนว 3 ทิศทางเลย แต่..กรณีของคุณนิตยา จะมีความหนาของกล้ามเนื้อตรงรอยแยกมากกว่า เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกเพิ่งถูกตัดให้ขาดออกจากกัน \r\nสำหรับวิธีการเย็บรอยแผลแตกแยก 3 ทางบนตัวมดลูกของคุณฟ้าลั่นนั้น ข้าพเจ้าเลือกใช้เอ็น Polysoft เนื่องจากเอ็นชนิดนี้มีการละลายตัวช้า ( 90 วัน) กว่า catgut ( 30 วัน) ซึ่งใช้เย็บแผลบนตัวมดลูกของคุณนิตยา ข้าพเจ้าเย็บแผลบนตัวมดลูกในแนวตั้งของขา T ก่อน โดยเย็บถึง 3 ชั้นจากยอดมดลูกลงมาจนถึงขอบแผลในแนวนอน (ของตัว T) จากนั้น ก็เย็บแผลของมดลูกส่วนล่างตามแนวนอน (Horizontal incision wound) ข้าพเจ้าเย็บแผลแบบเงื่อนหมายเลขแปด (Figure of eight) ที่มุมขอบแผลทั้งสองข้าง ส่วนตรงกลางแผล ข้าพเจ้าก็เย็บแบบ Continuous lock และเย็บเสริมอีกชั้นหนึ่งด้วย เพื่อให้แน่นหนา…คุณฟ้าลั่นนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 4 วันเท่ากับคนท้องหลังผ่าคลอดทั่วไป โดยไม่ทราบว่า เธอและลูก เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์รุนแรงมาเมื่อ 2 -3 วันก่อนแค่นั้น เพราะหากข้าพเจ้าเดินทางไปถึงห้องผ่าตัดช้าไปสัก 1 -2 ชั่วโมง มดลูกของคุณฟ้าลั่นคงแตกแยก ทารกน้อยอาจเสียชีวิตในทันที….ข้าพเจ้าเอง ก็คงจะมีความผิดติดตัวไปด้วย แบบไม่ต้องสงสัย ถึงแม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ตาม…\r\nปัจจุบัน ข้าพเจ้ายังคงผ่าตัดคนไข้ทางสูตินรีเวชเป็นประจำ โดยรักษามาตรฐานไว้ได้เหมือนเดิม แม้ระหว่างผ่าตัด จะมีปัญหาอะไร ข้าพเจ้าก็สามารถแก้ไข้ได้ โดยไม่ตื่นเต้นตกใจแบบคนที่ร้างเวที.. เพราะอะไรหรือ.. ก็เพราะ ข้าพเจ้ายังคงผ่าตัดคนไข้อยู่บ่อยๆ ทุกสัปดาห์ ในคนไข้ทางสูตินรีเวชทุกประเภท รวมทั้งยังผ่าตัดผ่านกล้อง อีก ซึ่งต้องใช้ทักษะขั้นสูงด้วย…\r\nพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ’ แต่…พระองค์ท่าน ไม่ได้กล่าวลอยๆ แบบด้วนๆ เช่นนั้น ท่านกล่าวเป็นเหตุเป็นผลว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะฝึกได้ และมนุษย์สามารถฝึกได้ ไปจนถึงขั้นสำเร็จดังที่ใจปรารถนาด้วย’ \r\nเมื่อข้าพเจ้าได้ฝึกและสามารถทำได้ ซึ่ง..การผ่าตัดรักษาที่ยาก.. ดังที่กล่าวมา ….ข้าพเจ้าย่อมอยากจะทนุถนอมความสามารถอันนี้เอาไว้ ….คุณหมอหลายท่านอาจมีชีวิตอยู่อย่างสบายตัว จากความร่ำรวยด้วยเงินทองหรือยศศักดิ์… …เลยทอดทิ้งทักษะดีๆเหล่านั้น..ข้าพเจ้าคิดว่า…โปรดอย่าทำเช่นนั้นเลย…เพราะอย่างน้อย… ก็ได้ทำบุญช่วยเหลือชีวิตคนไข้ผู้ทุกข์ยาก…อย่างไม่อาย..ต่อฟ้าดิน…\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน \r\n \r\n”,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *