คุณแม่ยังเด็ก

“\r\nสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับเด็กหญิงวัย 12 ขวบรายหนึ่ง วันเดียวกันนั้น ยังอนุญาตให้คุณแม่วัย 16 ปี คลอดเองตามธรรมชาติอีกราย ด้วยว่า ลูกของเธอในครรภ์ตัวเล็ก และตัวแม่ค่อนข้างใหญ่ สูงกว่า 160 เซนติเมตร คุณแม่วัยอ่อนทั้งสอง รวมทั้งลูกน้อย…หลังคลอด ก็ปลอดภัย แข็งแรงดี…ตอนนั้น ข้าพเจ้าเกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า คุณแม่วัยเด็กเหล่านี้น่าจะมีอยู่มากในปัจจุบัน อันถือเป็นเรื่องที่ชวนศึกษา ซึ่ง…ก็เป็นจริงตามที่คิด…..คุณแม่อายุน้อยๆจำนวนมากมาย ได้มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ จนกลายเป็นกลุ่มคนท้องหลักกลุ่มหนึ่ง..บางที อาจเนื่องมาจาก เด็กสาวสังคมยุคนี้ ไม่เน้นเรื่องการรักนวลสงวนตัวเหมือนสาวสมัยก่อน…\r\nวันก่อน ข้าพเจ้าเดินขึ้นไปที่หอผู้ป่วยหญิง ชั้น 5 ตึกสูติฯ รพ.ตำรวจ เพื่อสอบถามว่า ‘มีคุณไข้หลังคลอดของข้าพเจ้า อายุ 17 ปีหรือเปล่า? ’ คำตอบที่ได้ คือ ‘คนท้องหลังคลอด อายุราว 16 – 17 ปี มีอยู่เต็มหอผู้ป่วย’ ข้าพเจ้าอึ้งอยู่สักพักหนึ่ง พูดไม่ออกเลย.. \r\nวันวาน เจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง นำเอาแฟ้มประวัติคนไข้เด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ สุนีย์ อายุ 15 ปี มาให้สรุป ด้วยว่า เธอแท้งบุตร เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ที่ตัวเด็กเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน (Embryonic death in Utero) \r\nคืนนั้น ยังจำได้ เด็กหญิงสุนีย์ มาโรงพยาบาลฯด้วยเรื่องปวดท้องน้อยและมีเลือดระดูออกมาก โดยไม่ได้บอกว่า ‘เธอตั้งครรภ์’… เมื่อข้าพเจ้าตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้กับเด็กหญิงสุนีย์ กลับพบถุงการตั้งครรภ์ (Gestational sac) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปะมาณ 2.5 เซนติเมตร และเงาทารกภายใน (Fetal echo) ไม่มีการเต้นของหัวใจ (No heart action) สรุปว่า เป็นตัวอ่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว (Embryonic Death in Utero)\r\nใช่แล้ว!! ไม่มีใครเสียใจกับเหตุการณ์ที่ว่านี้ คุณแม่ของแฟนผู้ชาย เสนอตัวออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด..ส่วนคุณแม่ของเด็กหญิงสุนีย์ ก็มาเฝ้าดูแลเคียงข้างหลังขูดมดลูกจนเธอรู้สึกตัวเป็นปกติ\r\nสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนท้องรายหนึ่ง จำได้ว่า เธอนอนเตียงที่ 2 ของห้องรอคลอด ชื่อ กุลิกา อายุ 16 ปี ยังเป็นนักเรียนมัธยมฯอยู่เลย ขณะนี้ ก็เพียงหยุดเรียนชั่วคราว… สามี เป็นนักเรียนในชั้นปีเดียวกัน..เธอมาฝากครรภ์ทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ข้าพเจ้าเป็นคนตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้เธอเอง แต่..จำไม่ได้ ..มาพบอีกที ที่ห้องรอคลอด ด้วยประวัติ..ว่า ‘เด็กหญิงกุลิกา มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ กับอีก 1 วัน ปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร ความบาง 100%’ \r\nข้าพเจ้าประเมินน้ำหนักทารกน้อยลูกเด็กหญิงกุลิกาว่า น่าจะหนักประมาณ 2,500 กรัม….ซึ่ง..เธอคงสามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าสั่งเตรียมพร้อมที่จะผ่าตัดคลอดไว้ด้วย โดยให้เด็กหญิงกุลิกา อดอาหารและน้ำ พร้อมกับสวนถ่ายอุจจาระ… เวลาผ่านไป 4 ชั่วโมง คนไข้นอนร้องไห้ฟูมฟาย กอดหมอนข้างเหมือนเด็กน้อย เพราะเจ็บครรภ์ค่อนข้างมาก… ข้าพเจ้าเห็นแล้ว รู้สึกสงสาร จึงบอกกับเธอว่า ‘หมอจะผ่าตัดคลอดให้..เอาไหม??’ เด็กหญิงกุลิกาถามว่า ‘หนูจะคลอดเองได้ไหม..และหนูจะต้องรอนานอีกสักเท่าไหร่…ถ้าผ่าตัดคลอด หนูจะเจ็บไหม?’….ข้าพเจ้าตอบกับเธอว่า ‘ผ่าตัดคลอด ..ไม่เจ็บหรอก และปลอดภัยสำหรับลูกด้วย’\r\nที่ห้องผ่าตัด..ข้าพเจ้าลงมีดกรีดแนวขวางตามรอยขอบกางเกงใน(Pfannenstiel incision) ของเด็กหญิงกุลิกา เพื่อความสวยงาม แล้วก็ผ่าตัดเลาะกล้ามเนื้อลงไปเรื่อยๆ ในแนวกึ่งกลาง จนพบตัวมดลูก จากนั้น ก็กรีดที่คอมดลูกในแนวขวาง จนถึงถุงน้ำคร่ำ.. พอเจาะถุงน้ำคร่ำทะลุ ก็เห็นสีของน้ำคร่ำที่ทะลักอออกมา ปะปนด้วยขี้เทา (Meconium) นั่น…แสดงว่า ‘ลูกของเด็กหญิงกุลิกาเริ่มขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือดแล้ว’ \r\nช่วงเวลานั้น หัวเด็กลูกเด็กหญิงกุลิกา มุดลงต่ำลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกราน จนไม่สามารถจะล้วงมือลงไปในซอกช่องว่างระหว่างหัวเด็กกับอุ้งเชิงกรานได้ ข้าพเจ้านึกตกใจอยู่เหมือนกัน..ว่า ‘หากทำคลอดช้าเกินไป…ลูกคนไข้คงแย่แน่’ ข้าพเจ้าตัดสินใจใช้มือซ้ายดึงหัวไหล่เด็กให้ลอยขึ้น และใช้แรงยึดปลายนิ้วมือขวาลงลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกรานจนเลยยอดศีรษะเด็ก จากนั้น ก็ล้วงให้ปลายนิ้วทั้งสี่ดันศีรษะเด็กลอยขึ้นมาในท่าก้มหัว จนพ้นอุ้งเชิงกรานและคลอดออกมาได้ ข้าพเจ้ารีบดูดของเหลวออกจากปากและจมูกเด็กด้วยลูกยางแดง.. ตัดสายสะดือ รีบส่งให้กุมารแพทย์ ช่วยดูแลต่อ สักครู่เดียว ลูกเด็กหญิงกุลิกา ก็ส่งเสียงร้องดังลั่น..นั่นหมายถึง ลูกคนไข้พ้นขีดอันตรายจากการขาดก๊าซออกซิเจนแล้ว\r\nลูกเด็กหญิงกุลิกา เป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,280 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9 และ 10 (คะแนนเต็ม 10) ณ เวลาที่ 1 และ 5 นาที ตามลำดับ \r\nพอข้าพเจ้าหันกลับมาเย็บแผลของมดลูกส่วนล่างของคนไข้ ที่ฉีกขาดจากการล้วงมือทำคลอด ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจที่เห็นมันฉีกขาดยาวเป็นทางด้านข้างจนสุด…ส่วนด้านล่างเฉียงไปทางขวาขวา ก็ฉีกขาดลงลึกจนเกือบทะลุเข้าไปในช่องคลอด… การฉีกขาดทางด้านข้างนั้น ไม่ใช่ปัญหาในการเย็บ…ปัญหาใหญ่ คือ การเย็บปากมดลูกส่วนที่ฉีกขาดลงล่างต่างหาก\r\nข้าพเจ้าเริ่มวางแผนว่า ‘จะเย็บอย่างไรกับแผลของมดลูกส่วนล่าง (Lower uterine segment) เช่นนี้ เพราะมดลูกส่วนล่างของคนไข้บางมาก และอ่อนยวบยาบ’…ตอนนั้น คิดว่า ปากมดลูกของเด็กหญิงกุลิกา คงเปิดมากจนเกือบหมดแล้ว (Fully dilated)…จึงทำให้มดลูกส่วนล่างบางอ่อนยวบยาบ.. การเย็บแผลบนมดลูกส่วนล่าง(Lower uterine segment) เช่นนี้….. ยากมากทีเดียว… หมอที่ไม่มีประสบการณ์หรือเพิ่งจบใหม่ อาจไม่สามารถทำได้\r\nการเย็บแผล เริ่มด้วย… ใช้คีมหนีบปากมดลูกที่ฉีกลงล่างทั้งสองข้าง (Verical tear) แล้วเย็บแผลส่วนที่ต่ำสุดก่อน (Deepest of the vertical wound) ด้วย ‘เงื่อนรูปเลข แปด (Figure of eight technique) ทบกัน 2 ชั้น’ แล้วเหลือปลายด้ายเอาไว้ ดึง เพื่อหารอยฉีกของแผลต่ำสุด ลึกลงไปอีก.. เมื่อหาพบแล้ว ก็เย็บเช่นเดิมอีกในลักษณะ 2 ทบด้วยเงื่อนเลขแปด… การเย็บลักษณะดังกล่าวเป็นการเย็บทีละคำๆ (Stiich) จนเสมอกับรอยแผลเดิมในแนวราบ (Horizontal) \r\nจากนั้น ข้าพเจ้า ก็หันมาเย็บมุมทั้งสองข้างของรอยแผลบนตัวมดลูกส่วนล่าง (Lateral ends of wound on Lower segment of the uterus) ซึ่งมีเส้นเลือดใหญ่มาเปิด (uterine arteries)…. บริเวณดังกล่าวมีเลือดไหลพุ่งออกมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่..ข้าพเจ้าใช้คีมจับเอาไว้ ข้าพเจ้าเย็บมุมทั้งสองของแผลทางด้านข้าง…ข้างละ 2 ปม (Stitches) เพื่อให้หยุดเลือดอย่างมั่นคง โดยไม่หลุดแน่… \r\nข้าพเจ้าเย็บแผลของมดลูกส่วนล่าง 2 ชั้น โดยมั่นใจว่า มุมแผลและแผลทุกส่วนปิดสนิทอย่างแน่นอน…การเย็บเป็นไปได้ด้วยดี…จากนั้น ก็เย็บปิด เยื่อบุช่องท้อง (Peritonium) คลุมทับบริเวณดังกล่าว (Lower segment of the uterus) อีกครั้ง เมื่อสำรวจเรียบร้อยว่า ไม่มีจุดเลือดออกอื่นใด ข้าพเจ้าก็เย็บปิดผนังหน้าท้อง\r\nวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยม คนไข้ ปรากฏว่า เด็กหญิงกุลิกานอนซมอยู่บนเตียง ไม่ยอมให้ถอดสายสวนปัสสาวะ เพราะเธอลุกไม่ไหว แม้แต่จะลุกนั่ง เหตุทั้งนี้ อาจเนื่องจากมีการฉีกขาดของแผลมดลูกส่วนล่างที่ฉีกขาดลงลึกจนเกือบทะลุลงไปในช่องคลอด (Vertical tear of lower uterine segment) และมีการเย็บซ่อมแวมอย่างมาก…\r\nถัดไปอีก 2 วัน…. เด็กหญิงกุลิกาสามารถลุกเดินได้ ข้าพเจ้าจึงสั่งให้เอาสายสวนปัสสาวะออกในวันนั้น คนไข้อยู่โรงพยาบาล รวมทั้งหมด 5 วัน ก็ขออนุญาตกลับบ้าน เธอกลับบ้านพร้อมบุตร โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด\r\nเมื่อคืน ข้าพเจ้าอยู่เวรอีก ก็มีคุณแม่วัยนักเรียนมาคลอดอีก 2 ราย อายุ 15 และ 17 ปี …ทั้งสองคลอดเองได้ตามธรรมชาติ ด้วยว่า เธอทั้งสองตัวใหญ่ และลูกน้อย ตัวไม่ใหญ่นัก ..เด็กหญิงอายุ 15 ปี คลอดบุตรหนัก 3100 กรัม ส่วน รายที่อายุ 17 คลอดบุตรหนัก 2,600 กรัม ..คุณแม่ทั้งสองคนตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage) ต้องช่วยเหลือกันอยู่นาน จึงรอดพ้นวิกฤติไปได้ โดยไม่ต้องตัดมดลูก\r\nปัญหา คุณแม่วัยเด็กนั้น มีมากขึ้นทุกวัน ซึ่ง..อันตรายตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอดเลยทีเดียว บางรายจบชีวิตวัยเด็ก เพียงแค่ทำแท้งเถือน และติดเชื้อทั่วร่างกาย..บางรายถูกตัดมดลูก จากการติดเชื้อจากการทำแท้ง หรือตกเลือดหลังคลอด …เรื่องราวที่เล่ามาข้างต้นนี้ น่ากลัวมาก สำหรับ นักเรียนสาวที่เรียนรักเร็วเกินไป …\r\nโลกนี้ ยังมีสิ่งสวยงามมากมาย ที่นักเรียนเด็กหญิงอายุน้อยๆเหล่านี้ ควรเรียนรู้ …อย่าเพิ่งทำลายวันเวลาแห่งความสดใสเหล่านี้ ด้วยการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร…เพราะโลกที่กำลังเป็นอยู่ในยุคนี้… โหดร้าย เกินกว่า.. ที่ เด็กหญิง กระเตงลูก น้อยๆ จะมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ…..\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน \r\n\r\n\r\n”,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *