การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Acute/Chronic Pelvic Inflammatory Disease )

“การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Acute/Chronic Pelvic Inflammatory Disease )เมื่อไม่นานมานี้ มีสตรีนางหนึ่ง จุดไฟ รมควัน ฆ่าตัวตาย ต่อหน้าต่อตาสหายหลายคน ผ่านการถ่ายทอดทางอินเตอร์เน็ต เธอพูดคุยกับเพื่อนๆผ่านโปรแกรม Social Network โดยเปิดกล้องให้คนอื่นได้ดูด้วย มีผู้ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับเธอถึง 18 คน ปรากฏว่า มี 7 คน ยกนิ้วให้เธอ พร้อมกับ พูดยกย่องเธอว่า ‘เยี่ยม..สุดยอด คุณตัดสินใจถูกต้องแล้ว’… ส่วนอีก 11 คน พยายาม ห้ามปรามเธอ ผ่านทางตัวอักษรและคำพูดเท่าที่พอจะทำได้.. เธอผู้นั้น ฆ่าตัวตายสำเร็จ!!!.. ด้วยสาเหตุ คือ แฟนของเธอออกไปเที่ยวข้างนอก และไม่กลับมาในวันเกิดของเธอ …จริงๆแล้ว! ยังมีความเลวร้ายอีกมากมาย ที่เกิดจากผู้ชาย กระทำต่อกายของอิสตรี แม้หญิงและชาย จะเกิดมาเป็นคู่รักกัน แต่..ก็อาจเป็นคู่สร้างคู่สม หรือคู่แค้น ทั้งนี้ คงขึ้นอยู่กับบุพกรรมแต่ชาติปางก่อน พิษร้ายจากผู้ชาย ต่อหญิงสาว อาจซ่อนมาในรูปแบบแปลกๆ อาทิ โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease) ซึ่งก่อทุกข์ทรมานไปตราบชั่วกาล และทำให้มีลูกยากด้วย เชื้อโรคที่เป็นตัวนำ มักเป็นเชื้อกามโรคหรือหนองในแท้ (Gonorrhea).. โรคนี้ เป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คุณผู้หญิง มีปัญหาเป็น ‘ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)’ รวมทั้ง ถุงหนองในอุ้งเชิงกราน (Tubo-ovarian abscess: TOA) ด้วย เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคนไข้หญิงรายหนึ่ง ชื่อ คุณวารี อายุ 23 ปี มาตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก ด้วยเรื่องปวดท้องน้อย มา 2 -3 วันก่อนมาโรงพยาบาล เธอมาพร้อมกับพี่สาว ตอนนั้น เป็นเวลาใกล้เที่ยง แล้ว.. พี่สาวของคุณวารีค่อยๆพยุงร่างของเธอเข้ามาในห้องตรวจ ข้าพเจ้าสังเกตดู ก็รู้ว่า ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ ยังไม่แน่ใจว่า เธอป่วยเป็นโรคอะไร?? เพราะอาการเดินย่อตัว และเอามือกุมท้องของเธอ ถือว่า น่าจะมีพยาธิสภาพในท้องน้อย ค่อนข้างมาก… ข้าพเจ้าคาดการณ์ไว้ในใจว่า เธอมีโอกาสเป็น 2 – 3 โรค อาทิ โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Acute PID) , ถุงน้ำรังไข่แตก (Ruptured Functional cyst) , ท้องนอกมดลูกที่กำลังจะแตก (Impending rupture of ectopic pregnancy) หรือไส้ติ่งอักเสบ (Acute Appendicitis) ข้าพเจ้าเริ่มสอบถามเธอว่า ‘เป็นอะไรมาครับ?’คุณวารีตอบว่า ‘ปวดท้องน้อย มา 1 วัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วย’ ข้าพเจ้าเปิดดู แฟ้มประวัติคนไข้ที่ส่งต่อมาจากแผนกศัลยกรรม ได้ทราบความเพิ่มเติมว่า ‘คนไข้มีอาการปวดแสบ ที่บริเวณยอดอกและท้องน้อยทั่วๆไป เธอไม่ถ่ายอุจจาระมา 2 วัน…. เธอปวดท้องน้อย ด้านซ้ายมากกว่า ด้านขวา.. ไม่มีไข้… ไม่มีตกขาว…ปัสสาวะ ไม่แสบขัด..’ และผลการตรวจหน้าท้องคุณวารีของศัลยแพทย์ พบว่า ‘เมื่อกดบริเวณท้องแล้ว จะปวดท้องน้อยทางด้านล่างทั่วๆไป (tender on palpation)… แต่..ผนังหน้าท้อง ค่อนข้างนิ่ม (Soft)’ ข้าพเจ้าได้ตรวจหน้าท้อง ให้กับคุณวารี อีกครั้ง พบว่า ‘เวลากด และปล่อย บริเวณ ท้องน้อย เธอมีอาการปวดสะดุ้ง (Rebound tenderness) ด้วย ’เมื่อตรวจภายในให้กับคุณวารี ก็พบว่า ‘ไม่มีตกขาว ในช่องคลอด ปากมดลูกปกติ เวลาโยกปากมดลูก จะมีอาการเจ็บ ที่ปีกมดลูกทั้งสองข้าง แต่..คลำไม่พบก้อน (Mass) ในอุ้งเชิงกรานชัดเจน’ ตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ก็พบ.. ของเหลว (free fluid) จำนวนหนึ่งในอุ้งเชิงกรานด้านซ้าย ประมาณ 40 – 50 มิลลิลิตร… ข้าพเจ้าให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า คุณวารี เป็นถุงน้ำรังไข่แตก (Ruptured Corpus luteum cyst) และสั่งการผ่าตัดผ่านกล้องให้คุณวารีเป็นกรณีเร่งด่วน ในช่วงบ่ายวันนั้น เนื่องจาก คิดว่า คุณวารีมีเลือดออกภายในช่องท้อง (Hemoperitoneum)… เช่นนี้แล้ว ย่อมจะปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ จำเป็นต้องผ่าหรือเจาะท้อง เข้าไปหยุดเลือดเสียก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่ง..ช่วงนั้น ประจวบเหมาะกับ.. คุณวารีไม่สามารถทานอาหารได้เลย ตั้งแต่ เมื่อคืน เธอจึงมีท้องว่าง และสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ทันที โดยไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดก่อนผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ให้คุณวารีตรวจปัสสาวะ เพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ด้วย พร้อมกับเจาะเลือด เตรียมตัวสำหรับผ่าตัด ระหว่างนั้น ก็แจ้งห้องผ่าตัดว่า จะผ่าตัดคนไข้ ณ เวลา ประมาณบ่ายโมง ตอนนั้น วิสัญญีแพทย์ โทรศัพท์มาถามข้าพเจ้าว่า ‘คุณหมอจะผ่าตัดผ่านกล้องหรือ ทำไมละ? จำเป็นต้องทำด้วยหรือ?’ ข้าพเจ้าตอบคุณหมอดมยาว่า ‘สงสัยว่า คนไข้จะเป็น ถุงน้ำรังไข่แตก (Rupture corpus luteum cyst) แต่..ก็อาจเป็นอย่างอื่นได้ ผมแค่ต้องการเจาะท้องส่องกล้องลงไปดู เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นที่ว่า นั้นจริง ผมก็เพียง ดูดล้างเอาก้อนเลือดออกจากช่องท้อง และเย็บ เพื่อหยุดเลือด ที่รังไข่ ตรง Corpus luteum บริเวณที่แตกเท่านั้น เสียเวลา ไม่น่าจะถึงครึ่งชั่วโมง’ ข้าพเจ้าพูดถึงแผนการผ่าตัดให้คุณหมอดมยาฟัง เพื่อให้ทราบว่า การผ่าตัดครั้งนี้ น่าจะไม่กินเวลานาน พยาบาลห้องผ่าตัด โทรศัพท์ถามข้าพเจ้าว่า ‘คนไข้อยู่ที่ไหน จะให้รับคนไข้เลยไหม?’ ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลคนนั้นว่า ‘รับได้เลย คนไข้อยู่ที่ ห้องตรวจนรีเวช’ พยาบาลห้องผ่าตัดถามต่อว่า ‘จะให้รอผลเลือดก่อนไหม??’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ไม่ต้องรอหรอก’ เพราะกฎของห้องผ่าตัด คือ ห้ามผ่าตัดผ่านกล้อง หลัง บ่าย สอง โมง ถ้ารอผลเลือด คนไข้รายนี้ อาจไม่ได้ผ่าตัดผ่านกล้อง…ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้ารู้สึกมั่นใจลึกๆ ว่า ‘คุณวารีน่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่แตก (Rupture corpus luteul cyst)’ แต่.. ก็คิดว่า อาจเป็นท้องนอกมดลูกได้ ซึ่ง…ต่อมา ผลทดสอบการตั้งครรภ์ ให้ผลลบ จึงอาจตัดทิ้งการวินิจฉํยนี้ไปได้ก่อนเข้าห้องผ่าตัด.. พอเจาะท้องของคุณวารีเข้าไป และส่องดูในเบื้องต้น ข้าพเจ้า ก็ต้องตกใจ ที่ไม่ได้เห็น กองเลือดในช่องท้องเลย (Hemoperitoneum) แต่..มันกลับเป็นน้ำสีเหลืองๆ คล้ายหนอง (Purulent discharge) จำนวนมาก ประมาณ 200 มิลลิลิตร ในอุ้งเชิงกราน และปีกมดลูกด้านขวา โป่งพองขึ้นมา เป็นถุงน้ำขนาด 4x5x6 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายไส้กรอก ฝรั่ง (Hotdog) ขนาดใหญ่พอตัวทีเดียว ข้าพเจ้าเอง ตอนนั้น ยังไม่แน่ใจว่า จะเป็น ถุงหนองของรังไข่ และปีกมดลูก (Tubo – ovarian abscess: TOA) หรือเปล่า? การจะผ่าตัดเลาะเอาถุงหนอง รังไข่ และปีกมดลูกออกนั้น ต้องระมัดระวังเป็นที่สุด!! เพราะมีโอกาสทำให้ลำไส้ใหญ่ทะลุได้ง่าย เหมือนกับที่เคยทำมาแล้ว เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน จนต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องเข้าไปต่อลำไส้…. คิดได้ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้พยาบาลห้องผ่าตัดช่วยโทรศัพท์ หาคุณหมอสูตินรีเวช อีกสักคน เพื่อขอความคิดเห็น‘เออ!! พี่เจอคนไข้ Acute PID (โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ที่มี Phregmon (ก้อนถุงหนอง) ของท่อนำไข่ข้างขวา (Right hydrosalpinx) เธอคิดว่า พี่ควรจะตัดมันทิ้งไหม?? ’ ข้าพเจ้าถามคุณหมออมรรัตน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช และอยู่เวรในวันนั้น เผื่อว่า มีปัญหาอะไร จะได้ผ่าเปิดหน้าท้อง และรับผิดชอบร่วมกัน คุณหมออมรรัตน์ให้ความเห็นว่า ‘หนูว่า พี่น่าจะตัดปีกมดลูกทิ้ง (Laparoscopic salpingectomy) จะทำให้รักษาง่ายขึ้นนะ’ พอมีความคิดเห็นเหมือนกัน ข้าพเจ้าก็ลงมือตัดถุงหนองของท่อนำไข่ข้างขวาทิ้งทันทีการผ่าตัด ข้าพเจ้าเรื่มจากการจี้ตัดตรงขั้วท่อนำไข่ บริเวณที่ติดกับตัวมดลูกก่อน (Proximal part of fallopian tube) จากนั้น ก็ตัดย้อนไปทางปลายท่อนำไข่ ตอนนั้น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นตัวรังไข่ คงเนื่องจากมันฝังตัวซ่อนอยู่ทางด้านล่างเกาะกับพื้นอุ้งเชิงกราน (Pelvic floor) การผ่าตัด ก็ไม่ยากนัก เพราะเนื้อของท่อนำไข่นั้น ไม่ยุ่ย (Infected hydrosalpinx) เหมือนกรณีถุงหนอง (TOA: Tubo-ovarian abscess) ของปีกมดลูก..หลังผ่าตัด ในวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคนไข้ คุณวารีมีสีหน้าสดใสมาก เธอไม่มีไข้ ผนังหน้าท้องนุ่ม (Soft) ฟังได้ยินเสียงการเคลื่อนไหว ของลำไส้ (Bowel sound) ข้าพเจ้าสั่งการให้ถอดสายนำเกลือ และสายสวนปัสสาวะ เพื่อให้คนไข้ได้เคลื่อนตัว ลุกเดินไปมา อย่างไรก็ตาม เธอยังจำเป็นต้องได้รับยาฉ๊ดผ่านเส้นเลือดดำ (Heparin lock) จนครบ 3 วัน จึงจะเปลี่ยนเป็นยากินได้วันก่อนเมื่อเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ คุณวารีมาเข้ารับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก นรีเวช เธอมีสุขภาพที่ดีมาก ข้าพเจ้ายังคงสอบถามข้อมูลที่ยังสงสัยอยู่ คือ ‘คุณไม่ได้อยู่กับแฟนจริงๆหรือ เพราะโรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์’ คุณวารีตอบว่า ‘ไม่ได้ มีเพศสัมพันธ์ มา 4-5 ปีแล้ว เคยมีตอนอายุ 18 – 19 ’ ซึ่งบ่งบอกว่า ถุงหนองของท่อนำไข่ (Infected hydrosalpinx) ในครั้งนี้ เกิดจากการติดเชื้อผ่านทางกระแสเลือด ข้าพเจ้าได้พูดถึงอนาคตของเธอไว้ด้วยว่า ‘จะมีบุตรโดยธรรมชาติ ไม่ได้ เพราะท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ถูกทำลายหมดแล้ว หากต้องการมีบุตร ต้องทำเด็กหลอดปก้วอย่างเดียว’ คุณวารีพยักหน้า ยอมรับ นี่แหละ! ชะตากรรมของผ็หญิงคนหนึ่ง ซึ่งไร้เดียงสา แต่..ต้องมาเผชิญกับ โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จนกลายเป็นหมันตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่างไรก็ตาม ชีวิต ก็ยังต้องดำเนินต่อไป ภายภาคหน้า เธอยังมีโอกาสมีบุตร เพราะมดลูกยังปกติอยู่คนเรานั้น มีมากมายหลายครั้งที่หลงผิด คิดว่า คู่รักของตนนั้น คือ สิ่งวิเศษ วิจิตรพิสดาร จนถึงกับยอมฆ่าตัวตาย ยามผิดหวัง ชอกช้ำใจ.. จริงๆแล้ว!! มันไม่เป็นเช่นนั้นเลย… ตรงกันข้าม เราต้องรักตัวเราให้มากที่สุด.. โดยให้ความเคารพต่อตัวเอง อย่าทำลายตน เพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่นที่กล่าวมา… ชีวิตในโลกนี้ ยังมีอีกยาวนัก..ยังมีคนที่พร้อมจะรักเราอยู่มากมาย …ขอเพียงอย่างเดียว คือ มีกำลังใจ และอย่าสิ้นหวัง….&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน “,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *