สูตรรักสตรีสูงวัย

ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ในทางสูติ – นรีเวชวิทยา เรามักเรียกว่า ‘สตรีสูงวัย’ เพราะรังไข่ของเธอทำหน้าที่มาจนใกล้ถึงวาระสุดท้ายแล้ว มันสร้างไข่ได้จำนวนน้อยลง และไข่บางส่วนก็ด้อยคุณภาพ ทำให้เธอผู้เป็นเจ้าของ ตั้งครรภ์ยากขึ้น ด้วยเหตนี้ สูติ – นรีแพทย์จำนวนมาก ต่างก็พยายามค้นหาสูตรวิเศษ หรือวิธีการ ที่จะทำให้คนไข้ตั้งครรภ์ได้ มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้\r\nเมื่อไม่นานมานี้ มีบริษัทฯ แห่งหนึ่ง ค้นพบว่า สาร Beta HCG มีผลต่อการกระตุ้นไข่ด้วย จึงนำมันไปใส่ในตัวยาฉีดกระตุ้นไข่ เพื่อใช้แทนฮอร์โมน LH เพราะสารทั้งสองมีสูตรโครงสร้างของอนุมูลธาตุ 108 ตัวแรก เหมือนกัน ผลคือ การกระตุ้นไข่ในสตรีสูงวัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น.. ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ‘ยังคงมีโอกาสเป็นไปได้เสมอ ในการช่วยเหลือสตรีสูงวัยให้ ตั้งครรภ์และมีบุตรได้’ นอกจากนั้น สูตรการกระตุ้นไข่ รูปแบบใหม่ (ที่เรียกว่า GnRH antagonist Protocol) ที่พัฒนาจากสูตรเก่า ก็ถูกนำมาใช้ในสตรีสูงวัยมากขึ้น จนก่อให้เกิดผลสำเร็จดีกว่าเดิม \r\nคุณสุภาพร ชาวชลบุรี เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ เธออายุ 37 ปี แต่งงาน 2 ปี เธอมาพบข้าพเจ้าเมื่อปีที่แล้ว เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก.. การรักษาในเบื้องต้น คือ การฉีดเชื้อ หรือ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘การผสมเทียม’ ตอนนั้น เธอเข้ารับการฉีดเชื้ออยู่ 3 ครั้ง แต่..เนื่องจาก จำนวน เชื้อของสามี อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุดของค่าปกติ (14 – 21 ล้านตัว ต่อ มิลลิลิตร) ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เธอทำเด็กหลอดแก้ว เผอิญ!! ในช่วงนั้น กลุ่มแพทย์รักษาผู้มีบุตรยาก ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการเรื่องการใช้สูตรยากระตุ้นไข่ตัวใหม่ด้วย ข้าพเจ้าพิจารณาแล้ว เห็นว่า น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ \r\nความจริง!! มันก็เป็นสูตรตัวเดิม ที่ข้าพเจ้าเคยใช้กระตุ้นไข่เมื่อราว 10 ปีก่อน แต่..ตอนนั้น ยังไม่มีการศึกษากันมาก และปรับขนาดยาได้ ไม่ค่อยเหมาะสม ดังนั้น จึงให้ผลไม่ค่อยดี.. คราวนี้ เริ่มมีการใช้สูตรนี้มากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากนักวิจัยชั้นนำของประเทศ.. ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นสิงที่ดี จึงปรับเปลี่ยนสูตรการกระตุ้นไข่นี้ นำมาลองใช้กับคนไข้สตรีสูงอายุหลายคน ปรากฏว่า ไข่ของคนไข้มีจำนวนมากขึ้น และคุณภาพดีขึ้น นั่น..ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เพราะยากระตุ้นไข่ ที่เราใช้กันมาอย่างยาวนานนั้น มีเพียงแค่ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ผลิตเท่านั้น ตอนนี้ กลับมีอีกหลายบริษัท ผลิตยาที่มีคุณภาพตัวอื่น ออกมา เพื่อต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 บริษัทนั้น \r\nคุณสุภาพร ได้รับการกระตุ้น โดยใช้ยาตัวใหม่ และสูตรการกระตุ้นไข่แบบใหม่ เธอได้ไข่ 5 ฟอง และเมื่อทำอิ๊กซี่ ก็ได้ตัวอ่อน 3 ตัวอ่อน.. ปกติ ข้าพเจ้าจะหยอดตัวอ่อนในระยะฝังตัว (Blastocyst transfer) ให้กับคนไข้ แต่..เวลานั้น ข้าพเจ้าฉุกคิดขึ้นว่า อยากจะหยอดตัวอ่อนทางปีกมดลูก น่าจะดีกว่า (ZIFT = Zygote Intrafallopian Tube transfer) เพราะธรรมชาติมากกว่า และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ามีความถนัด เนื่องจากข้าพเจ้าผ่าตัดผ่านกล้องอยู่เนื่องๆ….ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจหันกลับมาใช้วิธีเก่า คือ หยอดตัวอ่อนทางปีกมดลูก ซึ่ง..เป็นวิธีที่ข้าพเจ้าชอบใช้เมื่อ 10 ปีก่อน.. แต่ต่อมา…ก็ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมของแพทย์ยุคปัจจุบัน\r\nตอนนั้น ข้าพเจ้ามักพูดเล่นๆกับคุณสุภาพรว่า ‘คุณทำบุญสวดมนต์อยู่บ่อยๆ… แบบนี้ คุณท้องแน่!! เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งยากที่สุดอย่างหนึ่งในโลกนี้ คนที่มีบุญเท่านั้น ถึงจะโชคดี ได้จุติมาเป็นมนุษย์’ คาดไม่ถึง ในที่สุด จากการหยอดตัวอ่อนเพียง 3 ตัว คุณสุภาพรก็ตั้งครรภ์แฝดสาม… โดยมีผลเลือด Beta HCG ณ วันที่เจาะหลังหยอดตัวอ่อน 14 วัน เท่ากับ 728.8 หน่วย (mIU/ml) ซึ่ง..ค่าที่มากกว่า 25 mIU/ml ถือว่า ตั้งครรภ์\r\nข้าพเจ้ารู้สึกดีใจกับผลสำเร็จครั้งนี้ แต่…ก็หนักใจในเวลาเดียวกัน เพราะการตั้งครรภ์แฝดสาม (Triplet) นั้น ไม่ใช่สิ่งที่สูติแพทย์ต้องการ! เพราะ นั่น..เป็นเรื่องเสี่ยงมากๆ กับการดูแลคุณสุภาพรระหว่างตั้งครรภ์ หากเธอประสบกับสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นมา และเกิดความเสียใจ…ข้าพเจ้าอาจถูกฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความดีใจของคนไข้ ข้าพเจ้าก็ต้องพยายามประคับประคองการตั้งครรภ์ครั้งนี้ให้ดีที่สุด \r\nพอคุณสุภาพร ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 11 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ส่งเธอไป โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อตรวจหาความเสี่ยงต่อภาวะปัญญาอ่อน โดยการตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง เพื่อดูที่บริเวณคอทารกน้อย (Nuchal thickness) ขณะเดียวกัน ก็ได้เจาะเลือดมารดา เพื่อตรวจหาสารชื่อ PAPPA ด้วย คุณสุภาพรได้รับการเจาะเลือดและอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้ง ตอนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ (Triple screening test) โดยอาจารย์แพทย์ที่นั่น ด้วยเหตุผลว่า จะช่วยให้ผลการวิเคราะห์ แม่นยำยิ่งขึ้น เมื่อผลการตรวจออกมา ปรากฏว่า บุตรทั้งสามของคุณสุภาพร ไม่น่าจะเสี่ยงต่อภาวะปํญญาอ่อน (Down’s syndrome) นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังให้คุณสุภาพร เข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ ผ่านทางหน้าท้อง โดยสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูอัลตราซาวนด์ (MFM = Maternal Fetal Medicine specialist) ขณะอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ และนัดตรวจเพิ่มเติมอีก ตอนอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ซึ่งคุณหมอ ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติหรือความพิการของทารกแต่อย่างใด นอกจากนั้น คุณสุภาพรยังได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกตั้งแต่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ เป็นต้นไป เพื่อป้องกันอาการแข็งเกร็งของมดลูก \r\nคุณสุภาพรตั้งใจจะคลอด ตอนอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ แต่ ..ข้าพเจ้าพูดเตือนเธอว่า อย่าได้คาดหวังเช่นนั้น เพราะครรภ์เดี่ยว สามารถจะคลอด ตอนอายุครรภ์ 38 – 40 สัปดาห์ได้.. ครรภ์ แฝดสอง ส่วนใหญ่จะคลอด ตอนอายุครรภ์ประมาณ 36 – 37 สัปดาห์.. ส่วนครรภ์แฝดสาม มักจะคลอดตอน อายุครรภ์เพียง 34 – 36 สัปดาห์ เท่านั้น หรือ น้อยกว่านี้ \r\nพออายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณสุภาพร ทำท่าจะยอมแพ้ ขอให้ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดเลย แต่.. ข้าพเจ้าขอให้เลื่อนความตั้งใจออกไปอีกสัก 1 สัปดาห์ เมื่อถึงกำหนด คุณสุภาพร ขอคลอดในวันศุกร์ เพราะ ปีนี้ วันศุกร์เป็นวันสิริมงคล ข้าพเจ้าได้แจ้งให้กุมารแพทย์ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมทีมช่วยเหลือ.. การผ่าตัดแฝดสามนั้น ความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่..เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะ หากเกิดอะไรขึ้น อาทิ ทารกพิการ หรือหายใจไม่ดี จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ…. ข้าพเจ้าคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ กุมารแพทย์ พร้อมเครื่องมือช่วยชีวิตทารกที่ทันสมัย…\r\nยังจำได้… วันนั้นเป็นวันศุกร์ เวลาประมาณ 7 นาฬิกา ข้าพเจ้า เริ่มลงมีดกรีดหน้าท้อง ไปตามแนวขอบกางเกงในของคนไข้ (Pfannenstiel’s incision) และผ่าตัดผ่านชั้นต่างๆของผนังหน้าท้องของคุณสุภาพร จนถึงถุงน้ำคร่ำ \r\nแฝดคนแรกเป็นท่าหัว มองเห็นชัดเจน ข้าพเจ้าใช้คีม (Simson ‘s Forceps) ประคองที่ศีรษะเด็กบริเวณกกหู ก่อนถุงน้ำคร่ำจะแตก และค่อยๆเจาะถุงน้ำคร่ำ หัวของทารกน้อย ค่อยๆ เคลื่อนออกจากแผลที่หน้าท้องของคนไข้ \r\n‘ผู้หญิง’ เสียงพยาบาลผู้ช่วยกุมารแพทย์ร้องตะโกนบอกเพศเด็ก กุมารแพทย์รีบนำเด็กหญิงแฝดคนแรกไปที่เตียงเด็กเพื่อดูแลเบื้องต้น ทารกน้อยร้องเสียงดัง ซึ่ง..ถือเป็นเสียงสวรรค์ ที่พวกเราอยากได้ยิน ถัดจากนั้น ข้าพเจ้าก็คลำไปที่ถุงน้ำคร่ำที่โป่งยื่นออกมา ข้าพเจ้าคลำได้ขาเด็ก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขยับไปจับถุงน้ำคร่ำถัดไปที่อยู่ข้างล่าง คราวนี้ ข้าพเจ้าคลำได้ส่วนหัว ข้าพเจ้าจึงเลือกที่จะทำคลอดทารกตัวล่างสุดก่อน โดยใช้คีมคีบจับศีรษะ และประคองจนทารกคลอดส่วนหัวออกมา จากนั้น ข้าพเจ้าจึงทำคลอดทารกตัวสุดท้าย ซึ่งเป็นท่าก้น (Breech presentation)\r\nหากความผิดพลาดเกิดขึ้น ณ ขั้นตอนใด ขั้นตอนหนึ่ง อาทิ ทารกตัวที่เป็นท่าก้นเกิดมีถุงน้ำคร่ำแตก ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องทำคลอดทารกตัวนี้ก่อน ถ้าคางทารกท่าก้นเกยกับคางของทารกอีกตัวในท่าหัว ก็จะเกิดการล็อกที่คอของทารกทั้งสองขึ้น (Locked Twins) หรือ รกมีการลอกตัวก่อนกำหนด (Placenta abruption) หรือทารกตัวที่สอง ท่าก้น เปลี่ยนท่าขณะถุงน้ำคร่ำแตก กลายเป็นท่าขวาง (Transverse lie) อะไรทำนองนี้?? มีหวัง..เกิดโศกนาฏกรรมแน่..โชคดี จะกลับกลายเป็นโชคร้ายในวินาทีนั้นทันที………\r\nทารกคนแรกคลอดเมื่อเวลา 7 นาฬิกา 27 นาที เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2,230 กรัมทารกคนที่สอง เป็นเพศชาย หนัก 1,600 กรัม ทารกคนที่สาม เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 1,945 กรัม ทารกทั้งสาม เกิดห่างกัน เพียง 1 ถึง 2 นาที เท่านั้น และมีคะแนนศักยภาพแรกคลอดเท่ากัน คือ 9, 10, 10 ( คะแนนเต็ม เท่ากับ10) ตามลำดับ หลังคลอด ไม่นานนัก ทารกตัวที่ สองและสาม มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่ง…ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะทารกทุกคนหายใจได้ดี เพียงแค่ให้น้ำเกลือ ก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ทารกคนแรก กลับบ้าน พร้อมกับมารดา ส่วนทารกอีก 2 คน ได้กลับบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ \r\nทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปแล้ว ความหนักอกหนักใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง พลันก็มลายหายสิ้น ทารกแฝดทั้งสาม ได้ปรากฏกาย ขึ้นมาในโลกหล้าอย่างสมบูรณ์..พวกเขาเหล่านั้น ยังต้องเผชิญกับโลกภายนอกอีกนาน ส่วนพวกผู้ใหญ่อย่างเรา ก็กำลังแก่ชราลง ตามวันเวลาที่ล่วงไป ข้าพเจ้าดีใจที่มีส่วนร่วมในการดุแลคนไข้ และเด็กๆครั้งนี้.. ใครจะไปรู้ได้ว่า พวกเทวดาองค์น้อยเหล่านี้ จะมีอนาคตเช่นไร? นั่น..คงต้องขึ้นกับ โชคชะตา และบูญวาสนา ของพวกเขาเอง ตราบใด ที่ยังมีพุทธศานาหยั่งรากฝังอยู่บนผืนแผ่นดินไทย เชื่อว่า…คนที่เกิดมา ก็ยังโชคดี แต่… วัตถุนิยม กำลังแผ่สยายเงาเข้ามาบดบังพุทธศาสนามากขึ้นทุกที พวกผู้คนหล่านี้ จะมีไอกาสเกิดดวงตาเห็นธรรม บ้างหรือเปล่าหนอ……..\r\n &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *