โชคดี!!!..ไม่ต้องซีเรียส

โชคดี!!!..ไม่ต้องซีเรียส

ตั้งแต่เป็นเด็ก เวลาไหว้พระ ข้าพเจ้าจะอธิษฐานว่า “ขอให้(ข้าพเจ้า)โชคดี” นั่น..จึงเป็นที่มาขอคำว่า “โชคดี!!” ที่ข้าพเจ้ามักพูดกับคนไข้เกือบทุกคนที่มาเข้ารับการรักษา.. ซึ่งส่วนใหญ่ ไม่ว่าเกิดเรื่องเลวร้ายอะไร คนไข้มักรอดปลอดภัย ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า คำพูดนี้มีส่วนหรือไม่! แต่…เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คำพูดนี้ กลับต้องใช้เพื่อการปลอบใจหลังผ่าตัดให้กับคนไข้รายหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ช่วยผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านกลางกรุง (ขอสงวนนาม)…การผ่าตัดค่อนข้างยุ่งยาก เพราะมีพังผืดมาก แต่ก็เป็นไปได้ด้วยดี… ระหว่างผ่าตัดนั้น….ข้าพเจ้าสังเกตว่า เนื้อเยื่อที่โผล่ออกมาจากปากมดลูก ซึ่งเจริญต่อเนื่องออกมาจากในโพรงมดลูก มีลักษณะยุ่ยๆ ชอบกล ข้าพเจ้าคิดว่า มันอาจเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก!!! จึงไต่ถามข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้..คุณหมอท่านนั้นได้เล่าให้ฟังว่า ‘คนไข้รายนี้อายุเพียง 31 ปี อาชีพเป็นนักแสดงโรงละคร ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไม่เคยมีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด แต่..มดลูกมีขนาดโตค่อนข้างเร็ว’ ไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณหมอท่านนั้นได้โทรศัพท์มาบอกข้าพเจ้าว่า “ผลชิ้นเนื้อของคนไข้เป็น มะเร็ง (Poorly differentiated endometrioid adenocarcinoma) ของเยื่อบุโพรงมดลูก จริงๆ” ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจมากกับข่าวร้ายนี้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้คนไข้โชคดี จากการรักษาในภายภาคหน้าต่อไป

วันนี้ ก็เช่นเดียวกัน คุณอรชุลี ซึ่งเป็นคนไข้มีบุตรยากรายหนึ่ง ได้ไปเจาะเลือดทดสอบการตั้งครรภ์หลังหยอดตัวอ่อน ปรากฏว่า ‘ตั้งครรภ์’ สำเร็จ แต่…เธอกลับรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เหตุทั้งนี้เพราะ ครรภ์แรกของเธอที่ตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วเช่นกัน ปรากฏว่า ได้ทารกพิการแต่กำเนิด จนต้องทำแท้งออกมา ส่วนการตั้งครรภ์ครั้งนี้ ก็มีเลือดเก่าๆออกมาเมื่อคืนที่ผ่านมา คุณอรชุลีนอนไม่หลับตลอดทั้งคืน เพราะคิดว่า ‘คงล้มเหลว’ ไม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งครรภ์จริงๆ เธอก็กลัวว่า ลูกคนนี้อาจพิการเช่นเดียวกับลูกคนก่อน ข้าพเจ้าเข้าใจและเห็นใจเธออย่างมาก จึงพูดปลอบว่า “ไม่ต้องซีเรียสหรอก คนท้องหลายรายที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้ว มีเลือดออกทางช่องคลอด..เป็นเลือดเก่าๆเช่นนี้ในวันทดสอบผลเลือด ดังนั้น ควรทำใจสบายๆ จะดีกว่า สิ่งที่ผมอยากให้คุณอรชุลีทำ คือ ให้ไปทำบุญใหญ่ และปฏิบัติธรรมอีกครั้งหลังจากที่เคยไปปฏิบัติธรรมกับสำนักแม่ชีแห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว……” นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังได้สั่งยากันแท้งเพิ่มเติมให้กับเธอและแนะนำให้พักผ่อนมากๆ….

วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเข้าเวรตามปกติ ปรากฏว่า ตลอดทั้งวัน รวมทั้งช่วงหัวค่ำ ไม่มีคนไข้สักรายให้ต้องลงมือผ่าตัด ข้าพเจ้าจึงกลับไปพักผ่อนที่บ้านและรอฟังการปรึกษาจากนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด

ประมาณ 4 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ นักศึกษาแพทย์เวรได้โทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้าว่า “มีคนท้องรายหนึ่ง มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องน้ำเดิน และเพียงแค่ 30 นาที ที่ผ่านมา หัวใจทารกก็เต้นช้าลงอย่างผิดสังเกตถึง 3 ครั้งในขณะที่ไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก (late deceleation) อัตราการเต้นอยู่ที่ประมาณ 90 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น” ข้าพเจ้าย้อนถามไปว่า “คนไข้ตั้งครรภ์กี่สัปดาห์?” นักศึกษาแพทย์คนนั้นตอบว่า “41 สัปดาห์ หากนับจากระดูครั้งสุดท้าย แต่หากนับจากใบฝากครรภ์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ คนไข้จะมีอายุครรภ์เพียง 36 สัปดาห์เศษ” ข้าพเจ้าฟังแล้วคิดว่า คนท้องรายนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการสูญเสียลูก จึงรีบแต่งตัว ขณะที่กำลังจะขับรถออกจากบ้าน ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ไปถามพยาบาลห้องผ่าตัดอีกครั้ง เพราะยังไม่แน่ใจในคำพูดของนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด นักศึกษาแพทย์มักพูดรายงานเรื่องราวของคนไข้ไม่ชัดเจนและเกินความเป็นจริง

ข้าพเจ้าถามพยาบาลห้องคลอดว่า “เป็นยังไงบ้าง? เมื่อกี้ น้องหมอ Extern (นักศึกษาแพทย์ฝึกหัด) รายงานว่า มีคนท้องรายหนึ่งที่ลูกมีการเต้นของหัวใจช้าแบบตกวูบ (late deceleation) ”

พยาบาลห้องคลอดตอบว่า “อ๋อ คุณมาเรีย (Mrs. Marie) ชาวฟิลลิปปินส์นะเหรอ.. ตอนนี้ อัตราการเต้นเฉลี่ยของหัวใจลูกเธออยู่ที่ประมาณ 150 ครั้งต่อนาที สามีคนไข้ไม่อยากให้เธอนอนโรงพยาบาล คุณมาเรีย (Mrs. Marie) มีประวัติน้ำเดินมาเมื่อ 4 ชั่วโมงก่อน หมอ extern ตราจภายในและทดสอบแล้ว ไม่มีน้ำเดินจริง”

ข้าพเจ้าถามต่อว่า “อ้าว! แล้วเมื่อสักครู่  น้อง extern บอกว่า เด็กไม่ค่อยดี เพราะหัวใจเด็กเต้นค่อนข้างช้า (late deceleation) ในขณะที่มดลูกไม่มีการหดรัดตัว (Uterine contraction)”

พยาบาลคนเดิมตอบว่า “อ๋อ ไม่มีอะไรหรอก ลักษณะของกราฟจากการตรวจ NST (ย่อจาก Non-stress test) เป็น variable deceleration…กราฟที่แสดงค่าพื้นฐานการเต้นของหัวใจเด็ก (Basseline) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150 ครั้งต่อนาที นอกจากนั้น เส้นกราฟหัวใจนั้นยังเป็นลักษณะมี variability ด้วย”

ข้าพจ้าฟังแล้ว จึงยังไม่ได้ออกเดินทางจากบ้าน เนื่องจากคนไข้รายนี้ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินแล้ว ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ทารกน้อยยังมีสุขภาพดีอยู่… ด้วยเหตุผล คือ

ประการที่ 1 กราฟที่แสดงอัตราการเต้นของหัวใจเด็ก ส่วนใหญ่ปกติ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150 ครั้ง ต่อนาที (อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ มีค่าปกติอยู่ที่ 140 -180 ครั้งต่อนาที หากมีอัตราการเต้นต่ำกว่า 120 ครั้งต่อนาที แสดงว่า ทารกเริ่มขาดก๊าซออกซิเจน… และถ้าต่ำกว่า 100 ครั้ง ต่อนาที แสดงว่า ทารกอยู่ในสภาพขาดออกซิเจนในกระแสเลือดอย่างมาก [Severe hypoxia])

ประการที่ 2 กราฟที่แสดงการเต้นของหัวใจทารกมีลักษณะ Variability ‘ดี’ หมายถึง มีการเต้นของหัวใจที่แกว่งขึ้นและลงเป็นหยักๆค่อนข้างมาก คือ มีค่าความแตกต่างระหว่างจุดสูงสุดและต่ำสุด มากกว่า 10 หน่วย

เมื่อทราบรายละเอียดของสภาพคนไข้ที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงยังคงพักผ่อนอยู่กับบ้าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าวางแผนที่จะผ่าตัดคลอดให้กับคุณมาเรีย (Mrs. Marie) ในตอนเช้า โดยให้ติดเครื่อง NST ไว้กับคนไข้ตลอดเวลา

ตอนเช้า ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตำรวจ เวลาประมาณ 7 นาฬิกา แล้วก็เผลอหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย พอเวลา 7 นาฬิกา 45 นาที เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลุกข้าพเจ้าตื่นจากภวังค์

นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดคนเดิมโทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้าว่า “อาจารย์ คนไข้ฟิลลิปินส์เมื่อคืน ตอนเช้านี้ การเต้นของหัวใจเด็กผิดปกติ คือช้าลง อีกครั้งหนึ่งแล้ว (Deceleration) ”

ข้าพเจ้าถามว่า “หัวใจเด็กเต้นตอนที่มีปัญหา มีอัตราเท่าไหร่? และเต้นช้าลงกี่ครั้ง”

นักศึกษาแพทย์ตอบ “80 ครั้งต่อนาที ตอนเช้า มีการเต้นของหัวใจช้าลงเพียงครั้งเดียว”

ข้าพเจ้าถามว่า “คนไข้อายุเท่าไหร่?”  ความจริง ข้าพเจ้าน่าจะถามคำถามนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่เผอิญตอนนั้น ยังงัวเงียอยู่ จึงลืมถามไป

นักศึกษาแพทย์ตอบ “อายุ 15 ปี” ข้าพเจ้าร้องอุทานเสียงหลงว่า “โธ่เอ๋ย!! แล้วทำไม่ไม่บอกตั้งแต่แรก ” เหตุที่ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้น เพราะ เฉพาะอายุของคนท้องอย่างเดียว เราก็สามารถตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ได้แล้ว ในข้อบ่งชี้ Teenage pregnancy

ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้เห็นคุณมาเรีย เป็นครั้งแรก ตัวคนไข้ค่อนข้างใหญ่และสูง แต่หน้าท้องค่อนข้างเล็ก ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า เด็กจะมีปัญหาหรือเปล่า บางที คุณมาเรียอาจมี ‘น้ำเดิน’ ตามที่เธอบอก พยาบาลห้องผ่าตัดเดินเข้ามาถามข้อบ่งชี้ขณะกำลังผ่าตัดอยู่ ข้าพเจ้าตอบว่า “สงสัย เป็นครรภ์เกินกำหนด (Postterrm) และมีน้ำเดิน (Premature rupture of membrane) รวมทั้งแม่มีอายุน้อย (Teenage pregnancy) ด้วย” 

ข้าพเจ้าลงมีดกรีดเป็นแผลขวางตามรอยตะเข็บกางเกง (Pfannenstiel incision) บริเวณท้องน้อยเพื่อความสวยงาม เพราะเห็นว่า เธอยังเป็นสาววัยรุ่น จากนั้น ก็ผ่าตัดเปิดเข้าไปในมดลูกส่วนล่าง เมื่อเอามือล้วงหัวเด็กเงยหน้าโผล่ขึ้นมาจากมดลูก เด็กขยับส่ายหน้าไปมา ข้าพเจ้าใช้ลูกยางแดงดูดน้ำคร่ำจากช่องปากและจมูกของเด็ก เมื่อเห็นว่า ทางเดินหายใจเด็กโล่งพอ ก็ใช้มือทั้งสองดึงตัวเด็กคลอดออกมา ข้าพเจ้าสังเกตว่า น้ำคร่ำในรายนี้มีค่อนข้างน้อย (Oligohydramnios) แต่..ไม่มีขี้เทาปะปน (Meconium stain) [ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึง ภาวะขาดอ๊อกซเจนในกระแสเลือดของทารกในครรภ์] นี่จึงเป็นการยืนยันว่า อัตราการเต้นของหัวใจลูกคุณมาเรียที่ตกวูบ 3 – 4 ครั้ง ที่ผ่านมา เป็นผลจากการถูกกดทับชั่วคราวของสายสะดือ (Variable deceleration) ไม่ใช่ทารกขาดอ๊อกซิเจนในครรภ์ ลูกคุณมาเรียืที่คลอดออกมา เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 1,990 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 10 และ 10 (คะแนนเต็ม = 10 ) ณ นาที ที่ 1 และ 5 ตามลำดับ นับว่า แข็งแรงสมบูรณืพอสมควร อย่างไรก็ตาม เด็กน้อยจะต้องถูกส่งไปที่ห้องความเสี่ยงของทารก (High risk room ) เพราะเด็กมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,000 กรัม

ในรายนี้ ข้าพเจ้าถือว่า โชคดีมากๆ เพราะหากปล่อยเวลาผ่านไปให้เนิ่นนานกว่านี้ ทารกมีโอกาสเกิดภาวะขาดอ๊อกซิเจนจริงๆจากการที่สายสะดือถูกกดทับนานๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิต หรือพิการทางสมองในเวลาต่อมา การตัดสินใจผ่าตัดครั้งนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจเพียงแค่จะช่วยคนไข้เท่านั้น เพราะเห็นคนไข้มีอายุน้อย ส่วนภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) นั้น นักศึกษาแพทย์ได้พิสูจน์แล้ว แต่ให้ผลลบ ด้วยผลบุญจากความคิดดี ทำให้ข้าพเจ้าและคุณมาเรีย รวมทั้งลูกของเธอโชคดี ทุกคนมีความสุข ไม่ต้องมาคิดร้าย เคียดแค้นหรือฟ้องร้องต่อกันภายหลัง

 ไม่ว่า จะเป็นคุณมาเรีย ที่คลอดลูกปลอดภัยที่เมืองไทยทั้งแม่และลูก หรือคุณอรชุลี ที่ตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วครั้งที่สอง  นั่นก็เป็นเพราะบุญเก่าที่เคยสั่งสมไว้ในอดีตชาติ ส่วนคนไข้ที่โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก เธอก็อาจโชคดี ที่พบในระยะต้นๆขณะที่ยังไม่มีอาการ หากเวลาผ่านเลยเนิ่นนานกว่านี้ เธออาจไม่มีแม้กระทั่งโอกาสจะเข้ารับการผ่าตัดเอาตัวมดลูกออก เรื่องราวที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังนี้ เป็นเพราะความโชคดี โดยแท้ สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านที่เป็นคนไข้และคนปกติ จงโชคดี ปลอดภัยจากสิ่งมีอันตรายทั้งปวง และหากพบประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ ก็ไม่ต้องซีเรียส!!!!!! .ใจเย็น… ค่อยๆคิด ทุกอย่างมีทางออกเสมอ……

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *