มือถือในถังขยะ

มือถือในถังขยะ

ไม่กี่วันก่อน ข้าพเจ้าได้ไปซื้อของกินที่ร้าน เซเว่น อีเลเว่น บริเวณชั้นไต้ดิน ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้น ก็ขึ้นลิ๊ฟไปออกตรวจคนไข้สูตินรีเวช ที่ชั้นสองของโรงพยาบาลฯ  ตอนนั้น ข้าพเจ้า เดินพลางก็โทรศัพท์ด้วยมือถือเครื่องหนึ่งไปด้วย.. แต่พอไปถึงห้องตรวจ ข้าพเจ้าสังเกตว่า มือถือข้าพเจ้าอีกเครื่องหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในกระเป๋ามือถือเสียแล้ว แต่..ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจ จวบจนเช้าวันใหม่..ข้าพเจ้าจำเป็นต้องใช้มือถือเครื่องนั้น ข้าพเจ้าพยายามเสาะหา โดยการโทรฯเข้ามือถือหลายครั้ง เวลาเข้าไปในรถ หรือในห้องพัก แต่ก็ไม่ได้ยินเสียง ..เมื่อเดินทางมาถึง โรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าได้โทรฯกลับไปที่ห้องคลอด โรงพยาบาลเอกชนนั้น แจ้งกับพยาบาล ให้ช่วยไปหามือถือในห้องพัก เจ้าหน้าที่พยาบาลหายังไง ก็ไม่พบ..ข้าพเจ้าหมดปัญญา และคิดว่า มือถือเครื่องนั้น ได้อันตระธานหายไปแล้ว  อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความหวังเล็กๆว่า คงจะได้พบสักวันหนึ่ง จึงไม่ได้โทรไปยังศูนย์ เพื่อระงับสัญญาณการทำงานของมือถือ…

ราวๆ 9 นาฬิกาเช้าวันนั้น.. ภรรยา ข้าพเจ้าได้โทรฯมาเข้ามือถือหลักของข้าพเจ้า และบอกว่า ‘ข้าพเจ้าลืมมือถือเครื่องหนึ่งไว้ในถังขยะ ที่ชั้นไต้ดิน ของโรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนนาม)’ พลัน!!! ข้าพเจ้าก็รำลึกขึ้นได้ และจินตนาการออกมาว่า ‘พอไปซื้อขนมที่ร้านเซเว่น อีเลเวน ข้าพเจ้าก็เอามือถือใส่เข้าไปในถุงใส่ของ เมื่อรับประทานขนมหมด ก็ทิ้งถุงใส่ของ โดยไม่ได้มองว่า มีมือถืออีกเครื่องหนึ่ง อยู่ในถุงนั้น’ ข้าพเจ้าโทรฯเข้ามือถือเครื่องนั้น หลายครั้ง ก็ไม่มีคนรับสาย ก็เพราะไม่มีคนไปค้นที่ถังขยะ.. ต่อมา ภรรยาข้าพเจ้าโทรเข้าไปยังมือถือนั้นบ้าง.. เผอิญ!! แม่บ้าน ที่ทำความสะอาด ได้ยินเสียงโทรศัพท์ ดังมาจากถังขยะ เธอจึงไปได้ลื้อค้นเศษขยะดู  และรับสายโทรศัพท์… เราจึงได้รู้ว่า มือถือเครื่องนั้น อยู่ในถังขยะ..

เรื่องการลืมมือถือไว้ในถุงใส่ของ และลงไปนอนยังก้นถังขยะนั้น  สอนให้รู้ว่า หากเราไม่ใส่ใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ในที่สุด เรื่องราวนั้น มันก็จะเลือนหายไป ดุจขยะที่เราทิ้ง

ราว 1 เดือนที่ผ่านมา มีคนท้องแฝดสาม รายหนึ่ง ชื่อ คุณสุนีย์ อายุ 42 ปี มาคลอดที่โรงพยาบาลตำรวจ..เธอมีประวัติเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยการหยอดตัวอ่อน ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ 2 เดือนก่อน ผลคือ ตั้งครรภ์แฝดสาม (Triplet)..  คุณสุนีย์ ได้รับคำอธิบายจากคุณหมอที่นั่นว่า ‘ลูกแฝดทั้งสามของเธอมีโอกาสสูงมาก ที่จะคลอดก่อนกำหนด ซึ่ง..ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ย่อมสูงมาก เธอจึงควรจะไปฝากครรภ์ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะสามีเป็นตำรวจ’ ดังนั้น คุณสุนีย์จึงตัดสินใจมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่ 12 สัปดาห์.. ตอนนั้น สูติแพทย์ที่รับฝากครรภ์ ได้แนะนำให้คุณสุนีย์เจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis) แต่..ก็แนะนำเรื่องการเจาะเลือดแม่ เพื่อส่งหาโครโมโซมลูก (Nifty’s test หรือ Non-Invasive Prenatal Test) ไปด้วย  คุณสุนีย์และสามีเลือกวิธี Nifty’s test ..ไม่เลือกวิธีเจาะน้ำคร่ำ  ผลคือ ทารกทั้งสาม ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะโครโมโซมผิดปกติ ในคู่ที่ 13,18,21

คุณสุนีย์ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และได้รับการเจาะเลือด (Nifty’s test) ตอนอายุครรภ์ 15 สัปดาห์  หลังจากนั้น คุณสุนีย์ก็มาตามนัดทุกครั้ง คือ ทุก 4 สัปดาห์ จนอายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์.. ระหว่างนั้น คุณหมอสูติ ที่รับฝากครรภ์ ได้ตรวจติดตามเรื่องความพิการของทารกทั้งสาม หลายครั้ง จนมั่นใจว่า ทารกทั้งสามสมบูรณ์แข็งแรงดี มีรกแยกจากกันโดยสิ้นเชิง และความพิการแต่กำเนิด ก็ไม่มี

คุณสุนีย์ได้รับการผ่าตัดคลอด หลังจากเจ็บครรภ์เข้ามาโรงพยาบาลตำรวจในเช้าวันหนึ่ง ขณะอายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ 6 วัน ทารกคนแรกเป็นเพศ หญิง หนัก 1700 กรัม, คนที่สองเป็นเพศหญิงหนัก 1552 กรัม คนที่ สามเป็นเพศชาย 1960 กรัม ฝาแฝดทุกคน มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 9, 10, 10 จากคะแนนเต็ม 10 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ทารกทุกคนถูกส่งตัวไปยัง ห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด และต่อมา ก็ทะยอยส่งกลับมาที่ห้องความเสี่ยง และห้องเด็กอ่อนปกติ… หลังจากนั้น ไม่กี่วัน..    คุณสุนีย์ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านหลังคลอดในเวลาไม่นานนัก.. ส่วนลูกๆทั้งสาม ก็ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี และจะได้รับอนุญาติให้กลับบ้านได้ เมื่อมีน้ำหนักตัว ประมาณ 2500 กรัม

ถัดจากนั้นมาอีก 2 สัปดาห์.. ก็มีคนไข้น่าสนใจอีกราย ชื่อ คุณนันทภัส  อายุ 26 ปี มาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนนาม) ที่ข้าพเจ้าทำงาน เธอบอกว่า ‘ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง มาประมาณ 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา และตรวจการตั้งครรภ์ แล้วให้ผลบวก’

น่าแปลกใจ! ที่..พอข้าพเจ้าเห็นเธอ  เธอกลับมีอาการแสดงออกมา เสมือนว่า ‘ไม่เจ็บปวดเลย’ ซึ่ง..ความเจ็บปวดที่เพิ่งผ่านมา..อันทำให้เธอจดจำ และนำมาบอกเจ้าหน้าที่พยาบาลว่า ‘เจ็บปวดมาก คิดเป็นคะแนนความเจ็บปวด ก็มากถึง คะแนน 8 เต็ม 10’นั้น ทำให้ ข้าพเจ้าต้องนำมาคิด พิจารณาว่า ‘เป็นกรณี ท้องนอกมดลูก..ที่จำต้องผ่าตัดฉุกเฉินหรือไม่??’..ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในและดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับเธอ ผลปรากฏว่า ‘ภายในช่องคลอด ไม่มีเลือด, ภายในโพรงมดลูก ไม่มีถุงการตั้งครรภ์ (Gestational sac) มีเพียงเยื่อบุโพรงมดลูกหนาประมาณ 10 มิลลิเเมตร, ข้าพเจ้าโยกปากมดลูกและเอามือกดด้านข้างของปากมดลูก.. ก็มีลักษณะตึงๆด้านขวาเล็กน้อย คนไข้ไม่ค่อยเจ็บเท่าที่เราคาด แต่..มีของเหลวจำนวนหนึ่ง อยู่ในส่วนต่ำสุดของอุ้งเชิงกราน[น่าจะเป็นเลือด]’ จากการตรวจปัสสาวะ พบว่า เธอตั้งครรภ์.. ข้าพเจ้าได้สั่งเจาะเลือดหาค่าการตั้งครรภ์ (beta HCG) ของเธอ ก็ได้ค่า เท่ากับ 1173 หน่วย..ซึ่งโดยปกติ ค่าการตั้งครรภ์ที่มากกว่า 3000 หน่วย เราจะสามารถมอเห็นถุงการตั้งครรภ์ (Gestational sac), ได้ .. ในรายนี้ ข้าพเจ้าจึงสงสัยว่า เธอจะเป็น ท้องนอกมดลูก ชนิดที่เรียกว่า Tubal abortion  ..เพราะมองไม่เห็นถุงการตั้งครรภ์

Tubal abortion  คืออะไร Tubal abortion  คือ การแท้งของก้อนการตั้งครรภ์ (Conceptive product) โดยที่มันหลุดออกจากท่อนำไข่ ทั้งหมด และ เข้าไปนอนอยู่ในช่องท้อง ..ซึ่งตำแหน่งที่ ก้อนการตั้งครรภ์ เกาะติดภายในท่อนำไข่เดิมนั้น ย่อมจะมีเลือดออก.. หยดเข้าไปในช่องท้อง.. มากบ้าง…น้อยบ้าง…หยุดเองได้บ้าง..หรือไหลรินตลอดเวลา..

กรณีของคุณนันทภัส  ก็เช่นกัน.. คนไข้มีอาการปวดท้องน้อย…ลดลงอย่างมาก ที่ห้องฉุกเฉิน..จนข้าพเจ้าไม่แน่ใจ ในการวินิจฉัย..เพราะตรวจภายใน คนไข้ ไม่ค่อยเจ็บเวลาโยกปากมดลูก..ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ เธอปวดท้องน้อยแทบตาย.. ข้าพเจ้าถามถึง การกินอาหารครั้งสุดท้ายว่า ‘นานเท่าไหร่แล้ว’ คนไข้ตอบว่า ‘5 โมงเย็น’ ข้าพเจ้าคิดคำนวณ ว่า ‘การผ่าตัดใดๆ ในตอนกลางคืนแบบฉุกเฉินสำหรับรายนี้นั้น อาจไม่จำเป็น ’ จึงบอกกับคุณนันทภัส  และสามีว่า ‘ขอสังเกคอาการและอาการแสดง ไปก่อน.. ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น.. จะเจาะเลือดตรวจค่าการตั้งครรภ์ ซ้ำ .. หากยังสูง และคนไข้ยังปวดท้อง ก็จะเจาะช่องท้องเข้าไปดูภายใน ว่า เป็นอะไรแน่’ คืนนั้น..ทั้งคืน คุณนันทภัส  นอนหลับได้

9 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ คนไข้ได้รับการเจาะเลือด เพื่อหาค่า Beta HCG  ซึ่งระยะเวลาของการตรวจ ห่างจากเดิม 12 ชั่วโมง ผลคือ ได้ 1033 หน่วย…ค่าลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย ทำให้ข้าพเจ้า ไม่แน่ใจว่า เธอเป็นอะไรกันแน่ ระหว่าง…ท้องนอกมดลูก ในท่อนำไข่ (Tubal pregnancy) ..หรือท้องนอกมดลูก ที่แท้งเข้าไปใน ช่องท้อง (Tubal abortion)

ในสภาพการณ์ เช่นนี้ วิธีการดีที่สุด ทางการแพทย์  เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยโรคว่า เป็นท้องนอกมดลูกหรือไม่ คือ การเจาะท้องส่องกล้องเข้าไปดู (Laparoscopy) ..เพราะการปล่อยให้คนไข้กลับบ้านไปโดยไม่แน่ใจในสภาพภายในช่องท้องของคนไข้ ..คนไข้อาจได้รับอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต..กรณีของคุณนันทภัส..ก็เช่นกัน เธอน่าจะเป็นท้องนอกมดลูก แต่..ตำแหน่งที่ก้อนเลือดอุดอยู่ภายในท่อนำไข่..มันหยุดแน่นิ่งหรือยัง??..เลือดอาจจะออกซ้ำได้อีก (Repeated bleeding)..จากท่อนำไข่ บริเวณที่ตัวอ่อนเคยเกาะหรือกำลังเกาะอยู่

จากการเจาะท้องส่องกล้อง ผลปรากฏว่า มีเลือดในช่องท้อง กองอยู่ที่ อุ้งเชิงกรานส่วนต่ำสุด ประมาณ 300 มิลลิลิตร (ซีซี) ..ปีกมดลูกด้านขวา..บวมแดงบริเวณใกล้ปลายปากแตร (Fimbrial end) ..แต่เลือดที่หยดจากปลายท่อนำไข่..หยุดแล้ว.. ข้าพเจ้าได้ใช้เครื่องมือ บีบท่อนำไข่ (milking) ..ไล่เรียงจากต้นจนถึงปลายปากแตรของท่อนำไข่ (Milking from proximal to fimbrial end) ก็ไม่มีเลือดไหลออกมาอีก ดังนั้น การผ่าตัด จึงสิ้นสุดเพียงเท่านี้ ไม่ต้องตัดท่อนำไข่ทิ้ง…คุณนันทภัส  ลุกขึ้นจิบน้ำได้หลังจากเจาะท้องส่องกล้องไม่ถึง ๖ ชั่วโมง และกลับบ้านในวันถัดไป

เรื่องราว ทั้งสองเรื่องข้างต้น น่าสนใจมาก..โดยเฉพาะ คนท้องแฝดสาม (Triplet) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและควรนำมาเผยแพร่..แต่..ข้าพเจ้า ไม่ใส่ใจ..กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป จนจำรายละเอียดได้น้อยมาก ..ยังดี..ที่กรณี ท้องนอกมดลูก ที่ก้อนการตั้งครรภ์หลุดเข้าไปในช่องท้อง (Tubal abortion).. เวลาล่วงเลย ไปไม่นานมากนัก.. ข้าพเจ้ายังพอจำได้บ้าง..จึงสามารถนำมาปะติดปะต่อ เขียนเล่าสู่กันอ่านได้บ้าง..มิฉะนั้น ก็จะลืมเลือนไปอย่างสนิท.. เหมือนกับที่ข้าพเจ้าลืมมือถือไว้ในถังขยะ  นั่นเอง..

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ  นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

 

 

   

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *